รวมเรื่องเล่า

เที่ยวเกาะเต่า ทั้งแห้งทั้งเปียก

เที่ยวเกาะเต่า เดี๋ยวแห้ง เดี๋ยวเปียก

กรกฏาคม 2565

เกาะเต่า เกาะขนาดกลางๆในทะเลอ่าวไทย ที่หลายคนคิดว่าอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดชุมพร (เราด้วยนี่แหละ) แต่ความจริงแล้ว เกาะเต่าอยู่ในเขตพื้นที่ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมกับ เกาะพะงัน เกาะสมุย แต่ด้วยว่า ถ้านั่งเรือจากท่าเรือชุมพรไปเกาะเต่าใกล้กว่า คนก็เลยนิยมมาลงเรือที่ชุมพรไงล่ะ

การเดินทางไปเกาะเต่าด้วยเรือเฟอร์รี่ ใช้บริการบริษัท ลมพระยา มีหลายเส้นทาง หลายเวลา มีทั้งเป็นแพคเกจรวมเดินทางจากกรุงเทพฯ(ถ.ข้าวสาร) หรือจาก หัวหินก็มี หรือจะนั่งเครื่องบินไปลงสนามบินชุมพร ก็ติดต่อรถให้ไปรับจากสนามบินก็ได้อีก มีบริการทุกรูปแบบ หรือเดินทางไปเองก็ไปที่ ท่าเรืออ่าวทุ่งมะขามน้อย อ.เมือง จ.ชุมพร ควรจองตั๋วไปก่อน เพราะเต็มอยู่ตลอดๆ

เรือข้ามเกาะ | LOMPRAYAH HIGH SPEED CATAMARAN to Koh Tao-Koh Nangyuan-Koh Samui-Koh Phangan

พวกเราเลือกการขับรถไปจากกรุงเทพฯแต่เช้ามืด ไปจอดรถที่ท่าเรือ จองเรือเที่ยว 13:15 (มีที่รับฝากรถหลายที่ใกล้ท่าเรือคิดราคาเป็นวัน) ไปถึงท่าเรือก็ไปติดต่อรับตั๋วจริงและสติ๊กเกอร์มาติดเสื้อ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้รู้ว่าเราจะนั่งเรือไปไหน เพราะในเรือเดียวกันจะวิ่งจาก ท่าชุมพร ไปเกาะเต่า เกาะพงัน เกาะสมุย แล้วสุดทางที่ท่าเรือสุราษฎร์ธานี ถ้าซื้อแบบแพคเกจรวมนั่งรถต่อไปสนามบินหรือสถานีรถไฟ ก็มีสติ๊กเกอร์สีแยกไปอีก ถือว่าระบบจัดการดีทีเดียว

ตรงท่าเรือลมพระยา อ่าวทุ่งมะขามน้อย มีร้านอาหาร ร้านกาแฟ ให้ฝากท้องได้อยู่ ถึงเวลามีประกาศเรียกขึ้นเรือตามหมายเลข ไม่ต้องเบียดกันเดิน แต่พอขึ้นเรือแล้วก็ไม่ได้มีเลขที่นั่งอะไร หาที่นั่งกันตามสะดวก ห้องแอร์นั่งสบาย หลับไปสัก 2 ชม.ก็ถึงเกาะนางยวน ปล่อยคนที่จะนอนที่นี่ลงก่อน แล้วต่อไปที่ท่าเรือเกาะเต่าที่หาดแม่หาด

คนลงที่เกาะเต่ากันค่อนข้างเยอะ ตรงนี้เป็นมหาวิบากกรรม เพราะรอออกจากเรือนานมาก ตอนพวกเราไปมีเรือเข้าพร้อมกัน 2 ลำ (อีกลำน่าจะมาจากเกาะพะงัน) ต้องรอคิว แถมพอออกมาคนติดเต็มสะพาน เสียเวลาเกือบครึ่งชม. แล้วต้องเดินเบียดๆตามกันไปทีละกระดี๊บ มารู้ตอนที่เดินจนสุดสะพานว่าติดกันมากเพราะโดนกั้นเพื่อเก็บค่าธรรมเนียมคนละ 20 บาท วุ่นวายมาก นักท่องเที่ยวหลายคนหมดความอดทน เพราะเสียเวลากันครึ่งค่อนชั่วโมงแล้ว ก็มีปีนแนวกั้นกันออกไป บางคนไปถึงโต๊ะจนท.ก็ปฎิเสธไม่จ่ายเงินก็มี วุ่นวายมากมาย ควรปรับปรุงด่วนๆ

การเที่ยวเกาะเต่าก็มีการเที่ยวแบบแห้งกับแบบเปียก คือบนบกกับในทะเล กิจกรรมเด่นๆก็คือ ว่ายน้ำ ดำน้ำ ทั้งน้ำตื้น น้ำลึก นอกจากนั้นก็มี คายัค ซัพบอร์ด หรือจะแค่นอนเล่นพักผ่อน อาบแดด ถ้าขี่มอเตอร์ไซค์เป็นก็เช่ารถขี่เล่นรอบเกาะได้ เดี๋ยวนี้มีจุดชมวิวหลายจุดมาก แล้วก็มีหาด มีอ่าว ให้เข้าไปเที่ยวชม หรือเล่นน้ำ ดำน้ำ เยอะแยะ บางคนก็ซื้อเดย์ทริป นั่งรถพาเที่ยวรอบเกาะ มีทั้งแบบรวมกรุ๊ป หรือแบบเหมารถ ดำน้ำก็เหมือนกัน มีทั้งแบบเรือรวม และเรือเหมา ลำเล็กลำใหญ่ตามจำนวนคน

เที่ยวเกาะเต่าแบบแห้งคือเที่ยวเล่นบนเกาะ นอกจากหาอะไรอร่อยๆกินตามร้านต่างๆแล้วก็ไปเที่ยวตามจุดชมวิวต่างๆ ส่วนมากก็ต้องเดินขึ้นไปบนยอดเขา แต่ไม่ได้สูงชันอะไรมาก จุดชมวิวบนยอดเขาดังๆก็มี จุดชมวิวจอห์น-สุวรรณ, Summit viewpoint, Westcoast view pint, ตโนดพีค ถ้าไม่ปีนเขา จุดชมวิวตามร้านอาหารหรือรีสอร์ทหลายที่ก็เป็นวิวหน้าผาสวยๆ สั่งอาหาร เครื่องดื่ม มากินไปชมวิวไปก็มีหลายที่ เช่น Two View, Moondance, Blue Heaven

พวกเราเหมารถพาเที่ยวรอบเกาะ เป็นรถกระบะมีหลังคา ใช้บริการ แสงทองทัวร์ มีคนขับกับไกด์มาคอยพาเที่ยวด้วย ทัวร์เสนอทริปมาตรฐานจุดชมวิว 6 จุด Two View / Love Koh Tao / Blue Heaven (ทานเที่ยง) / Moon Dance / John Suwan View point / Freedom Beach ราคา 2,500 บาท (ไม่รวมค่าเข้าและค่าอาหาร) เริ่ม 11:00 ถึง 16:00 โดยประมาณ

ติดต่อรถพาเที่ยว | แสงทองทัวร์

ถึงเวลาจริงเราก็ปรับโน่นนี่ เช่น เริ่มต้นด้วยการไปกินข้าวหน้าเป็ด ร้าน 995 Roasted duck ก่อน แล้วแวะซื้อกาแฟร้านคนเยอะฝรั่งตรึม แต่ไม่อร่อยเอาซะเลย (ไม่บอกชื่อละกัน) กว่าจะเสร็จก็เที่ยงกว่าแล้วถึงได้เริ่มเที่ยวที่แรก จุดชมวิวจอห์น-สุวรรณ / Freedom Beach เสียค่าเข้าคนละ 50 บาท

ทางเดินขึ้นจุดชมวิวก็ไม่ได้ชันอะไรมากมายนัก ต้องปีนป่ายนิดๆหน่อยๆ ใส่รองเท้าผ้าใบหรือแบบรัดส้นก็ดีกว่ารองเท้าแตะ แต่เอาจริง ฝรั่งมันใส่แตะคีบขึ้นกันฉลุย ขึ้นถึงบนยอดเขา ที่ไม่ได้กว้างมากนัก ถ้ามีนักท่องเที่ยวเยอะก็รอคิวกันขึ้นหน่อย ถ่ายรูปกันแต่พอประมาณ จะได้ไม่รอกันนาน

บนจุดชมวิวจอห์น-สุวรรณมองเห็นอ่าวโฉลกบ้านเก่าและอ่าวเทียน

ลงจากจุดชมวิวจอห์นสุวรรณ มาถึงทางแยกเลี้ยวซ้ายไปที่ Freedom Beach ได้เลย เป็นหาดเล็กๆแต่เป็นส่วนตัวใช้ได้ ฝรั่งชอบมาก มาอาบแดดมาเล่นน้ำกันเยอะเลย พี่ไกด์บอกว่าสมัยก่อนเป็น Nude beach ด้วย เดินกินลมชมวิวสาวๆสวยๆหนุ่มๆหล่อๆเพียบ เพลินตาเพลินใจ หรืออยากจิบอะไรเย็นๆก็มี Beach bar อยู่ด้วย หรือถ้าใส่ชุดพร้อมลุยก็กระโดดลงทะเลได้เช่นกัน (แต่อย่าเลยเสียเวลาต้องไปชมวิวที่อื่นต่อ)

จากหน้าหาดเดินไปทางขวา จะเป็นทางเดินเลาะเขาเลียบทะเลไปเรื่อย วนไป หาดตาโต๊ะ อ่าวโฉลกบ้านเก่า แล้วถึงตรงที่เราจอดรถได้เลย วนได้เป็นวงกลมไม่ต้องเดินอ้อมไปอ้อมมา

นั่งรถต่อไปที่ Two view ตรงนี้เป็นร้านอาหารเป็นคาเฟ่ที่มีจุดชมวิวสวยงามพอสมควร ถ้ามาจิบเครื่องดื่มชมวิวที่ร้านก็จ่ายปกติ แต่ถ้าจะเดินเลยเข้าไปจุดชมวิวด้านในอีก 2 จุด ต้องเสียค่าผ่านทางคนละ 100 บาท! ราคาแรงมากจ้า แลกเครื่องดื่มได้ 1 แก้ว ไหนๆมาแล้วพวกเราก็เอาวะ เข้าไปจุดชมวิวยอดฮิตด้านในที่เรียกว่า West coast view point เป็นเหมือนเขาพิงกัน เดินผ่านช่องเขาไปจะเป็นหน้าผาชมวิวได้กว้างๆ วิวเดียวกับที่ Two View แต่อยู่สูงกว่ามุมเปิดกว้างกว่า สวยงาม บรรยากาศดีไม่น้อย

West coast view point

นอกจาก West coast view point จะมีทางแยกขึ้นเขาไปอีกหน่อยที่ยอดเขามีมุมมองวิวได้ 360 องศา ชื่อว่า โตนดพีค แต่สมาชิกเริ่มขี้เกียจก็เลยไม่ไปกัน

ทางขึ้นตโนดพีค

พวกเราไปจบทริปที่ Moondance ซึ่งเป็นที่พัก + คาเฟ่ วิวดี อยู่ด้านบนมองวิวได้กว้างๆสวยงาม เดินลงไปด้านล่างเป็นลานไม้กว้างๆ บรรยากาศยามบ่ายแก่ๆในวันที่ไม่มีแดดแบบนี้ ก็ดีเหมือนกัน นั่งชิลๆกันได้เลย

ทัวร์เราจบประมาณ 4 โมงเย็นก็เลยไม่ได้ดูพระอาทิตย์ตก จบทริปชมวิวรอบเกาะ แบบเบาๆ ไม่ได้ไปทั่วทุกจุด แต่ก็ได้เห็นวิวหลายๆจุด กลับไปที่พักเล่นน้ำก่อนมื้ออาหารเย็นกันล่ะ

มาเกาะเต่าทั้งทีไม่ควรพลาดออกไปดำน้ำ ใครถนัดดำน้ำลึกอย่าง Scuba ก็ได้ ใครถนัดดำผิวน้ำแบบ Snorkeling ก็ดี หลายๆคนก็มาเรียนดำน้ำเอาที่เกาะเต่านี้เลย มีที่เรียนดำน้ำแบบได้รับการรับรองอยู่หลายเจ้า นอกจากเรียน Scuba แล้วตอนนี้กำลังนิยม Free dive กัน มีคนเรียนกันเยอะ

พวกเราเลือกการเหมาเรือหางยาวออกไปดำน้ำกัน ไม่ซื้อทัวร์รวมกับคนอื่น เพราะเป็นช่วงวันหยุดยาว คิดว่าเรือทัวร์น่าจะคนเยอะเกิน กลัวโควิดด้วย และก็ได้เห็นเรือทัวร์ที่แน่นจริงๆ ติดต่อเหมาเรือหางยาวกับพี่แจ็ค เป็นเรือหางยาวใหญ่หน่อย พี่แจ็คขับเรือด้วย ลงน้ำพาคนว่ายน้ำไม่เก่งไปดำน้ำด้วย พี่แกเอาแผ่นโฟมมาให้เกาะแล้วพี่แจ็คก็ลากไป ชี้จุดดำน้ำให้พวกเราด้วย มีอุปกรณ์ดำน้ำมีชูชีพให้ครบคน มีน้ำเปล่า มีผลไม้ แต่อาหารกลางวันพวกเราเอาข้าวกล่องขึ้นเรือมาเอง จะแวะกินหาดไหนก็ว่าไปหรือนั่งกินบนเรือได้ถ้าไม่เมาเรือ เช่าเหมาเรือพี่แจ็คเต็มวันในราคา 3,000 บาท พาไปเกาะนางยวน และดำน้ำ 4 จุด

ติดต่อเรือพาดำน้ำตื้น | Jack sparrow อ่าวจุนเจือ FB

ข้อดีของการเช่าเหมาเรือแบบนี้ก็คือ เดินทางรวดเร็ว คล่องตัว ชอบตรงไหนก็อยู่นาน ไม่ชอบตรงไหนก็ปรับเปลี่ยนเอาได้ แต่ถ้าวันที่คลื่นแรงๆ เรือทัวร์ลำใหญ่ก็จะดีกว่าเรือเล็ก

พี่แจ็คเอาเรือมารับพวกเราที่หาดทรายรี พาพวกเราไป เกาะนางยวน เป็นที่แรก เสียค่าขึ้นเกาะคนละ 50 บาท พวกเราเดินขึ้นจุดชมวิว กับเที่ยวเล่นหาดทรายขาวสวย ทางเดินขึ้นจุดชมวิวเป็นบันไดเดินง่าย ไม่ชันมาก บนยอดเขาก็แคบๆ รอคิวขึ้นถ่ายรูปเหมือนจุดชมวิวจอห์นสุวรรณที่เกาะเต่านั่นแหละ ถ้าใครไปจังหวะไม่ดีเจอเรือทัวร์มาพอดีคนจะเยอะมาก ยืนรอคิวกันเป็นแถวยาว (เราโชคดีตอนมา เรือทัวร์ยังไม่เข้า มาเจอทัวร์เดินสวนขึ้นไปตอนเราเดินลง แบบว่าเดินขึ้นกันเป็นทิวแถว น่าจะต้องรอคิวขึ้นยอดเขากันนานเลย)

จุดดำน้ำจุดแรกคือ Japanese Garden ด้านหลังเกาะนางยวนนั่นแหละ แต่พี่แจ็คพาขับเรือวนมาให้เราโดดลงน้ำก็ดำได้เลย ตรงนี้สวยมาก ดอกไม้ทะเลเยอะ ปลาเยอะ จนตั้งชื่อว่าสวนญี่ปุ่น วันที่ไปแดดดี น้ำใส ดำกันเพลินเลย

จุดต่อไปคือ อ่าวม่วง หรืออ่าวมะม่วง ตรงนี้ปะการังเขากวางเยอะ ปลาก็มีพอสมควร

จุด 3 คือ อ่าวหินวง ที่พี่แจ็คบอกว่าตรงนี้มีปลาเยอะๆ แต่ให้มองดีๆ ก็ไม่เข้าใจว่ามันยังไง ดำไปดูก็ไม่เห็นอะไร จนเริ่มจับโฟกัสตาได้ เฮ้ย! ปลามันเยอะจริงๆ เยอะแบบอยู่กันเป็นฝูงเลย ปลาอะไรไม่รู้ตัวเล็กๆ เสียดายว่าตรงนี้น้ำไม่ใส และปลาอยู่ลึกลงไปหน่อย แถมอยู่ใต้ท้องเรือ แต่มันเยอะจริงๆ เยอะเหมือนมด ขนลุก

จุดที่ 4 คือ อ่าวลึก ตรงนี้มีปะการังแผ่น กับปะการังสมอง ปลาก็มีพอสมควร

จุดสุดท้ายคือการตามล่าหาเต่าที่ อ่าวเทียน พอเรือพี่แจ็คมาถึง คนเรืออีกลำก็บอกเลยว่า เต่าอยู่ตรงนี้เลย ก็ลงน้ำปุ๊บเจอปั๊บเลย เต่าตัวใหญ่กว่าที่คิด พี่แจ็คบอกว่าตรงอ่าวนี้มีเต่าหลายตัว ช่วงเย็นๆ จะขึ้นมาให้เห็นหลายตัว เรามาถึงบ่ายๆ เจอตัวเดียว แต่ก็ดีใจแล้ว พี่เต่าอยู่ใต้หิน แต่ก็ว่ายขึ้นมาเหนือน้ำด้วย ขึ้นๆลงๆ 2-3 รอบ เราก็ลอยตัวดูได้ใกล้ๆเลย น่ารักมากๆ

บรรลุเป้าหมาย ได้เจอพี่เต่าสมปรารถนา สบายใจ กลับได้

ขากลับพี่แจ็คขอส่งพวกเราที่หาดหน้าบ้านตรง อ่าวจุลเจือ แล้วให้แฟนพี่แจ็คขับรถไปส่งเรากลับที่พัก เลยได้แวะเห็นอ่าวจุลเจือ มีหาดเล็กๆ ทรายขาวจั๊ว น้ำใสกริ๊ก เลยหาดออกไปไม่ไกลมีปะการังเป็นแถบเลย เป็นจุดพักที่สงบสวยงามน่าสนใจดี

เที่ยวเกาะเต่าแบบรถ 1 วัน แบบเรืออีก 1 วัน อิ่มเอมใจ แต่ก็ยังมีอะไรให้เที่ยวอีกหลายอย่าง ถ้ามีเวลาก็พักผ่อนในที่พัก ออกไปพายคายัก หรือไปพายซัพบอร์ด หรือออกไปตระเวนกินอะไรอร่อยๆตามร้านริมผาวิวสวยๆก็ได้อีก

เที่ยวเกาะเต่าใน 7 นาทีที่ Youtube channel : https://youtu.be/_5CB48hQ3q0

ว่าด้วยเรื่องที่พัก

Cape Shark Villa ที่พักแบบวิลล่าราคาแรง แต่คุ้มค่าเงินจริงๆ ห้องพักอยู่แยกๆห่างๆกันไปตามหน้าผา เป็นส่วนตัวมาก แต่ละยูนิตมีสระน้ำริมผา มี่ทั้งแบบห้องเดียว หรืออยู่แบบกลุ่มแบบครอบครัว มี 3-4 ห้องนอน มีพื้นที่ส่วนกลางร่วมกันก็มี ที่พักดีควรใช้เวลาพักผ่อนให้คุ้มค่า พวกเรามาถึงที่พักช่วงบ่ายแก่ๆก็ไม่ไปไหนเลย พักผ่อนลงสระน้ำ เดินลงไปดำน้ำก็ได้ สั่งอาหารเข้ามาปาร์ตี้ยามเย็นเลย บรรยากาศดีสุดๆ เกินบรรยาย เช้าก็มีอาหารเช้ามาส่งให้ที่พักเลย ชอบมาก แต่พักหลายคืนไม่ไหว งบหมด 555

Ban’s Diving Resort ที่พักริมหาดทรายรี ที่เป็นโรงเรียนสอนดำน้ำชื่อดังด้วย มี่ที่พักหลายแบบหลายราคา พวกเราได้ห้องพักแบบห้องโรงแรมอยู่ไม่ใกล้หาด อยู่บนเนินเขาด้านใน มีรถ Shuttle รับส่งจะเดินก็ไม่ได้ไกลมาก มีสระว่ายน้ำหลายสระ อยู่ตรงอาคารที่พัก ตรงริมหาดมีร้านอาหารของที่พัก ที่อาหารอร่อยมาก กินที่นี่มื้อเย็น 2 วันเลย นอกจากร้านอาหารก็มี Beach bar ที่มีดนตรีสดเล่น ยิ่งดึกยิ่งสนุก เหมือนฝรั่งทั้งเกาะมารวมกันที่นี่ Happy Hour 6 โมงเย็น ถึง 4 ทุ่ม

ว่าด้วยเรื่องของกิน

995 Roasted Duck ร้านข้าว-ก๋วยเตี๋ยว เน้นเป็ดย่าง แต่ก็มีเป็ดตุ๋น มีหมูแดง มีข้าวอื่นๆด้วย เขาว่าอร่อย เป็นร้านดัง แต่ชิมแล้วก็ไม่ได้เด่นอะไรนัก เอาเป็นว่ากินได้

ก๋วยเตี๋ยวเรือทองพันชั่ง ร้านก๋วยเตี๋ยวบนถนนเส้นในแถวหาดทรายรี ร้านที่ไกด์แนะนำว่าอร่อย ก็เลยส่งเพื่อนไปชิม (ที่เหลือไปดำน้ำ) เพื่อนบอกว่าก็ใช้ได้แหละนะ แต่ร้านติดริมหาดได้บรรยากาศด้วย

Ban’s restaurant ร้านอาหารของที่พัก Ban’s diving resort อยู่ติดริมหาดทรายรี บรรยากาศยามเย็นดีสุดๆ วันแรกมากินเพราะจะใช้คูปองเราเที่ยวด้วยกัน กลายเป็นว่าอาหารอร่อย โดยเฉพาะแกงเหลือง น้ำพริกก็อร่อย อาหารฝรั่งอย่างพิซซ่า สปาเก็ตตี้ก็ดี มื้อเย็นอีกคืนก็เลยกินที่เดิม เพราะไปดำน้ำมาทั้งวันหมดแรงเดินด้วย

Fish bowl beach bar ร้านนั่งดื่มริมหาดทรายรี มีดนตรีเล่น Happy Hour 6 โมงยัน 4 ทุ่ม บาร์อยู่ติดกับร้านอาหาร Ban เลย ติดแบบสั่งอาหารมากินกันได้ นั่งเพลินๆอาจจะนึกว่าอยู่ไมอามี่ เพราะมีแต่ฝรั่ง สั่งเครื่องดื่มก็ต้องพูดอังกฤษเพราะเด็กเป็นพม่า พูดไทยไม่เข้าใจ ฮา…. ดนตรีดีคนก็เยอะยิ่งดึกยิ่งสนุก

Blue water cafe’ & restaurant ร้านคาเฟ่เก๋ๆริมหาดทรายรีอีกร้าน ตั้งโต๊ะกันบนหาดทรายเลย บรรยากาศนั่งจิบเครื่องดื่มเย็นๆฟังดนตรีเล่นสดตอนดูพระอาทิตย์ตกดีงามมาก อาหารมีไม่มาก เน้นนั่งดื่ม ราคาแรงพอสมควรแลกกับบรรยากาศดีๆ

ยังมีของกินอีกหลายอย่างที่เพจต่างๆแนะนำ อย่างโรตี น้ำเต้าหู้ หรือเบเกอรี่ดีร้าน French market ร้านคาเฟ่เก๋ๆตามจุดชมวิว คงต้องอยู่หลายวันกว่านี้ถึงจะชิมได้ครบ คราวนี้ได้ลองร้านกาแฟ 2 ร้าน ไม่ไหวเลย ไม่แน่ใจว่าร้านไหนบนเกาะเต่าถึงจะเจอกาแฟดีๆ

รายการเที่ยวของทริปนี้ 4 วัน 3 คืน

D1 : ขึ้นเฟอร์รี่รอบ 13:15 ใช้เวลา 2 ชม.ถึงเกาะเต่า > เข้าที่พัก Cape Shark Villa พักผ่อน เล่นน้ำ ดำน้ำ แถวที่พัก

D2 : เหมารถพาเที่ยวจุดชมวิวรอบเกาะ : John Suwan View point / Freedom Beach / Two View / West coast View point / Moon Dance > เข้าที่พัก Ban’s Diving Resort หาดทรายรี

D3 : เหมาเรือออกดำน้ำตื้นรอบเกาะ : เกาะนางยวน / Japanese Garden / อ่าวม่วง / อ่าวหินวง / อ่าวลึก / อ่าวเทียน > เข้าที่พัก Ban’s Diving Resort หาดทรายรี

D4 : ขึ้นเฟอร์รี่รอบ 10:00 กลับฝั่ง ใช้เวลา 1.30 ชม.

เที่ยวงงๆที่ปัตตานี

เที่ยวแบบงงๆที่ปัตตานี | มิถุนายน 2565

ทริปต่อเนื่องจาก เที่ยวเท่ๆที่ยะลา เที่ยวช้าๆที่เบตง แล้วมา เที่ยวงงๆที่ปัตตานีต่อ

“ปัตตานี” 1 ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่คนห่างไกลอย่างเราๆ ได้ยินแต่ข่าวความไม่สงบ แต่เมื่อ ททท. ส่งเสริมการท่องเที่ยว เบตง จ.ยะลา แสดงว่าปัตตานีที่ติดกับยะลา ก็น่าจะปลอดภัยพอเที่ยวได้ซินะ

เริ่มต้นทริปเที่ยวเบตงที่บินตรงจากกรุงเทพไปลงสนามบินเบตงในราคา 3,000 บาท ++ ถ้าไป-กลับ ก็ฟาดไปเกือบ 7,000 บาท หน้ามืดกันเลยทีเดียว ลองหาช่องทางใหม่ คิดไปคิดมากลับจากหาดใหญ่ดีกว่า ค่าเครื่องก็พันกว่าบาท ส่วนต่างเอาไปเที่ยวเพิ่มที่ปัตตานีดีกว่า คิดได้ดังนั้นทริปก็เลยงอกการนอนที่ปัตตานีเพิ่มมา 1 คืน (แทนที่จะประหยัดเงิน เที่ยวเพิ่มงบบานออกไปอี๊กกกก 555)

จากเบตง พวกเรานั่งแท้กซี่เบ๊นซ์ไปยะลาในราคาเหมา 800 บาท และให้ต่อไปส่งที่ปัตตานีในราคาเหมา 600 บาท รวมเป็น 1,400 บาท (รถนั่งได้ 4 คน) เป็นราคามาตรฐานของคิวรถ นั่งสบายสไตล์เบ๊นซ์ ขับนิ่ม สาดโค้งกำลังงาม แวะเที่ยวที่ตัวเมืองเบตงนิดหน่อย แล้ววิ่งตรงมาส่งที่โรงแรม CS Pattani เลย ตอนแรกกะให้พี่คนขับพาแวะวัดช้างให้ก่อน แต่พี่แกบอกว่ามันคนละทาง จะให้ไปก็ได้แหละ แต่ก็คิดว่างั้นไม่เป็นไรเพราะทางใหม่จากยะลาไปปัตตานีวิ่งฉิว 40 นาทีก็ถึงแล้ว เดี๋ยวบ่ายๆเรียกตุ๊กๆออกไปเที่ยวก็ได้ จะได้ให้พาเที่ยวที่อื่นด้วย (ซึ่งคิดผิดอย่างแรง!!!)

โรงแรมซีเอสปัตตานี เป็นโรงแรมใหญ่สุด ดีสุดในปัตตานี เป็นโรงแรมเก่าแก่ที่เคยได้ยินชื่อเสียงมานาน เก่าแต่ไม่แก่ เพราะด้านในตกแต่งสวยงาม ห้องก็กว้างขวาง วิวสวยงาม แต่….. โรงแรมไม่เหมาะกับคนไม่มีรถอย่างมาก ถ้าไม่มีรถคุณก็เหมือนติดเกาะ ไปไหนแทบไม่ได้ แม้จะบอกกันว่าโรงแรมอยู่กลางเมือง ก็ไม่ใช่กลางเมืองแบบเดินทางสะดวกสบาย ถ้าให้เทียบกับกรุงเทพฯ กลางเมืองเดินทางสะดวกก็เช่นแถวอนุสาวรีย์ชัยฯ แต่ที่พักอยู่แถวถนนวิภาวดี แบบนั้น และที่นี่แทบไม่มีรถสาธารณะให้เรียก ก็คือติดเกาะนั่นเอง ตอนโทรจองที่พัก ถามว่าจะออกไปข้างนอกยังไง น้องคนรับจองบอกว่าโรงแรมพอมีรถไปส่งได้แต่ขากลับให้หาเรียกรถกลับมาเอง แต่พอจริงๆแล้ว โรงแรมแนะนำว่าให้เราเดินออกไปที่ถนนเลี้ยวซ้ายเดินไปหน้ามอ. (ดูแผนที่แล้วเกือบ 3 กม.!!) หรือเลี้ยวขวาเดินไปหน้าบิ๊กซี (เกือบ 1 กม.) น่าจะพอหารถได้บ้าง อืมมมมม ก็ต้องตามนั้น

วิวจากห้องพัก ตัวโรงแรมเข้ามาลึกจากถนนพอสมควร จะไปบิ๊กซีต้องเดินผ่านอาคารพาณิชย์หลายสิบห้องนั่นออกไป เจอถนนก็เลี้ยวขวาเลาะริมถนนไปเรื่อยๆ

แผนการเที่ยวปัตตานีพังตั้งแต่เริ่ม ที่คิดว่าจะไปกิน ราดหน้านำรส หรือต้มเนื้อในตลาด ก็ไม่น่าจะไปได้ง่าย เดินออกไปแดดเปรี้ยงๆ เจอผัดไทยข้างทางก็เลยขอซัดเอาแรงก่อนจะเดินต่อไปบิ๊กซี เจอรถกระป๊อจอดเลยลองถามดูว่าไปวัดช้างให้คิดเท่าไหร่ รถบอกว่า 800 บาท แพงกว่านั่งรถไปยะลาอี๊กกกกก ก็เลยล้มแผนไปวัดช้างให้ งั้นไปเดินเที่ยวเล่นในย่านเมืองเก่าดีกว่า ซึ่งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำเลยนั่น จะไปยังไง เข้าไปตั้งหลักในบิ๊กซีก่อน นั่งแอร์เย็นๆลองโทรถามหาแท้กซี่ปัตตานี ตามที่เคยเห็นผ่านตาตามเฟซบุ๊ค ปรากฏว่าไม่ไช่รถในปัตตานีสักคัน บางเบอร์บอกอยู่หาดใหญ่ ชื่อแท้กซี่ปัตตานีนะ งงไปอีก เลยลองถามคนขายของดูว่าคนแถวนี้เขาเดินทางกันยังไง น้องคนขายมองหน้างงๆบอกว่า ขี่รถกัน ฮา…. แต่น้องแนะนำว่า ให้เดินออกไปริมถนนมองหาสองแถวที่เป็นเหมือนรถประจำทาง โบกเรียกเอา จะไปไหนก็บอกเขาไป เอาวะ ลองดู

สองแถวของปัตตานีหน้าตาไม่บ่งบอกว่าเป็นสองแถวเหมือนที่กรุงเทพฯ ไม่เหมือนรถแดงที่เชียงใหม่ เพราะเป็นรถขนาดเล็ก สีเขียวๆ และวิ่งเร็วดั่งผีพอล วอร์คเกอร์มาขับ ซิ่ง Fast & Furious ชิดขวาตลอด เราพลาดคันแรกเพราะไม่ทันโบก ไม่รู้ว่านั่นคือสองแถว พี่คนขายน้ำข้างถนนบอกต้องเล็งดีๆแล้วรีบโบก และถามว่าจะรอสองแถวจริงเหรอมันนานๆจะมาทีนะ อาจจะชั่วโมงละคัน! แต่เราไม่มีทางเลือกนี่ ก็ยืนเล็งไป โชคดีว่าไม่ถึง 1 ชม. ก็มีมาให้โบกแบบไม่แน่ใจ โบกไว้ก่อน ก็ใช่จริงๆ แต่เลยไปเป็นร้อยเมตร รีบวิ่งอย่างไวอย่าให้พลาด ฉันต้องได้ออกจากตรงนี้สักที

ให้เพื่อนไปนั่งประกบคนขับ บอกทาง เพื่อนบอกพิกัดไปร้านกาแฟก่อนเลย ร้อนๆอย่างนี้ขอไปร้านกาแฟ ตามที่เพจกาแฟแนะนำมา ดูจากแผนที่ก็อยู่กลางๆเมืองนี่เอง ไปถึงจริงๆ ก็ไม่เชิงกลางเมือง ออกไปข้างๆเมืองมากกว่า ไร้รถสาธารณะสัญจรเหมือนเดิม แต่ช่างมัน ขอจิบกาแฟก่อน ร้านสภากาแฟ 36 (Sapakafe’36) เหมือนโอเอซิสโผล่กลางทะเลทราย เป็นร้าน Specialty coffee ที่มีเมล็ดให้เลือกหลากหลาย มีวัยรุ่นนั่งจับกลุ่มจิบกาแฟกันเต็มร้าน เหมือนคนนั่งจับกลุ่มจิบชาตามร้านชาอย่างนั้นเลย จิบกาแฟเย็นๆดับร้อนแล้วก็ปรับทุกข์กันต่อว่าจากนี้จะไปยังไง ลองถามน้องบาริสต้าดูว่ามีรถอะไรผ่านบ้าง น้องบอกไม่มี น้องคงสงสารลุงกับป้าเลยให้คนในร้านขี่รถไปตามวินมอเตอร์ไซค์จากหน้าโรงพยาบาลปัตตานีมาให้ 2 คัน ขอบคุณน้องๆมาก ไม่งั้นคงต้องเดินแบบไร้อนาคต

น้องๆร้านสภากาแฟผู้มีพระคุณ ขอขอบคุณน้องๆอีกที ใครไปปัตตานี หาโอกาสไปจิบกาแฟดีๆที่นี่นะครับ

ให้พี่วินไปส่งที่ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ในราคา 60 บาท ลงรถแล้วพี่วินบอกเอาเบอร์ผมไว้ หารถไม่ได้โทรเรียกเลย เดี๋ยวไปรับ โอ้โห… ใจชื้นเลย สบายแล้วเรา จากนั้นก็เดินเที่ยวกันยาวๆ จากศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ที่พวกเราไหว้แก้ชงกันชุดใหญ่ แล้วก็เดินเที่ยวย่านเมืองเก่าปัตตานี ทะลุไปที่ชุมชนอาเนาะซืองา เดินไปถึงมัสยิดกลางปัตตานี ตอนบ่ายแก่ๆ อยากจะอยู่รอถ่ายรูปตอนมืดที่ใครๆว่าเปิดไฟสวยงาม แต่ก็ยังต้องรออีกสัก 2 ชม. ก็ไม่รู้จะไปรอตรงไหน ที่เดินผ่านมาไม่มีร้านอะไรให้นั่งเล่นได้ เท่าที่เห็นร้านน่านั่งก็อยู่แถวเมืองเก่า ต้องเดินกลับไปเกือบกิโล เลยว่ากลับโรงแรมแล้วกัน โทรหาพี่วินที่ให้เบอร์ไว้ก็ไม่รับสาย จะกลับยังไงกันล่ะ ไม่เคยรู้สึกท้อแท้ในการท่องเที่ยวเท่านี้มาก่อน เดินหารถกันอีกรอบ ต้องถามชาวบ้านอีก พี่เขาบอกให้เดินไปแถวสี่แยก เจอลุงวิน 2 คันพอดี เรียกกลับไปโรงแรมราคาเดิม 60 บาท

พอถึงโรงแรมแล้ว ก็ไม่รู้สึกอยากออกไปไหนอีกเลย มันช่างยากลำบากอะไรเช่นนี้ ก็เลยกินข้าวเย็นมันที่โรงแรมนี่แหละ อาหารอร่อยใช้ได้ นอนเร็วๆไปเลย พรุ่งนี้โชคดีที่เราตัดสินใจจองเช่าเหมารถไว้แล้ว โดยเหมาให้พาเที่ยวประมาณครึ่งวัน ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น แล้วให้รถไปส่งที่สนามบินหาดใหญ่เลย จบการเที่ยวงงๆในปัตตานีเท่านี้

ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว (ศาลเจ้าเล่งจูเกียง)

มาถึงปัตตานีก็มาตั้งต้นที่ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวก่อนเลย ชาวจีนปัตตานีและชาวไทยเชื้อสายจีนทั่วไปนับถือเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ในด้านความเมตตา ด้านโชคลาภ ส่งเสริมการค้าขาย ผู้คนนิยมมากราบไหว้ของพรให้ธุรกิจรุ่งเรือง เรา 2 คนก็ขอไหว้แก้ชงกันสักหน่อย เหมือนวัดจีนใหญ่ๆทั่วไปที่มีชุดไหว้ ธูปกำใหญ่ เทียนแท่งโต กระดาษฝากดวง ก็ไหว้ตามลำดับที่เจ้าหน้าที่แนะนำ องค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวอยู่ในตู้ด้านข้างขององค์ประธาน เป็นไม้แกะสลักที่ตำนานบอกว่าแกะมาจากต้นไม้ที่ลิ้มกอเหนี่ยวผูกคอตาย ตำนานว่ายังไงลงไปอ่านที่ สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวด้านล่าง

ข้างๆศาล มีศาลาทรงจีนอีกหลังชื่อ ศาลาสันติสุขเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเรื่องราวของชุมชนชาวจีนในปัตตานี และเป็นที่เก็บเกี้ยวสำหรับแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวประจำปี โดยจะมีงานแห่กัน หลังวันตรุษจีน 15 วันของทุกปี เจ้าแม่องค์จริงที่ใช้แห่อยู่ในศาลเจ้า องค์ที่เกี้ยวเป็นองค์จำลอง

กือดาจีนอ – ย่านเมืองเก่าปัตตานี

จากศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เดินไปตามถนนอาเนาะรู จะเป็นย่านเมืองเก่า – กือดาจีนอ – บริเวณนี้เป็นชุมชนเก่าแก่มาแต่ยุคสงครามโลก ชุมชนกือดาจีนอ หรือชุมชนจีนหัวตลาด เคยรุ่งเรืองคึกคักแต่ก็กลายเป็นอดีตเหลือแต่ความเงียบเหงา จนมาเกิดกระแสอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและวัฒนธรรม จึงมีการเข้ามาปรับปรุงดูแลสถานที่ประวัติศาตร์เหล่านี้ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่ได้คึกคักเพราะคนในชุมชนแต่คึกคักเพราะนักท่องเที่ยว ตลอดถนนมีบ้านแบบจีนเดิมๆให้เห็น บางหลังยังมีคนอาศัยอยู่ หลายหลังปิดตายมีแต่ป้ายบอกเล่าประวัติด้านหน้า บางหลังก็ปิดทิ้งร้างเป็นบ้านนก

เดินสุดถนนตรง 4 แยกเล็กๆ ที่ถนนอาเนาะรูตัดกับถนนปัตตานีภิรมย์ มีบ้านขุนพิทักษ์รายาอยู่ตรงหัวมุมถนน เดิมข้ามแยกผ่านบ้านท่านขุนไปนิดเดียวก็สุดทางที่แม่น้ำปัตตานี เดินเลี้ยวซ้ายตรงสี่แยกไปตามถนนปัตตานีภิรมย์ต่อได้ แถบนี้เคยเป็นย่านธุรกิจที่เจริญรุ่งเรืองมากในอดีต เคยมีโรงเตี๊ยม โรงหนัง โรงโบว์ลิ่ง ร้านค้า ร้านอาหาร ตอนนี้ยังมีบ้านเก่าๆ ตลอดรายทาง บางหลังเริ่มตกแต่งปรับปรุงให้กลายเป็นคาเฟ่เก๋ๆ ที่หลังร้านทะลุไปริมแม่น้ำได้

ชุมชนอาเนาะซืองา

เดินตามถนนปัตตานีภิรมย์มาเรื่อย เจอสามแยกมีป้ายแนะนำชุมชนอาเนาะซืองา ก็เลยเลี้ยวเข้าไปตามถนนมายอ เลียบคลองอาเนาะซืองาไปเรื่อยๆ สมเป็นเมืองพหุวัฒนธรรมจริงๆ เพราะเดินเล่นย่านเมืองเก่าชุมชนชาวจีนอยู่ดีๆ แค่เลี้ยวซ้ายก็กลายเป็นชุมชนมุสลิมเก่าแก่ซะแล้ว

จากแถบนี้เดินไปอีกไม่ไกลก็จะไปถึงมัสยิดกลางปัตตานีได้ ก็เดินชมเมืองไปเรื่อยๆได้เลย

มัสยิดกลางปัตตานี

มัสยิดกลางปัตตานีเป็นมัสยิดประจำจังหวัดปัตตานี หลายคนบอกว่ารูปทรงคล้ายกับทัชมาฮาล ด้านหน้ามีสระน้ำขนาดใหญ่ มากลางวันก็สวยแบบเรียบๆ เขาว่าตอนกลางคืนเปิดไฟสวยกว่า แต่เราไม่ได้เห็น ก็น่าเสียดาย

วันต่อมา เราเช่าเหมารถพร้อมคนขับไว้ รถมารับตรงเวลา 9 โมง ก็เช็คเอาท์เอากระเป๋าออกไปเลย บอกแผนที่คิดไว้ว่า อยากเริ่มด้วยไปล่องเรือชมป่าโกงกางที่ ชุมชนบูนาดารา จากนั้นก็อาจแวะวังยะหริ่งถ้ามีเวลา แล้วขากลับแวะ มัสยิดกรือเซะ แล้วก็ไปวัดช้างให้ (ยังต้องไปให้ได้ ฮา…) แล้วไปส่งที่สนามบินประมาณ 4 โมงเย็น เช่าเหมา 1,300 บาท ไม่รวมน้ำมัน เหมือนเช่าขับเองแต่มีคนขับ (ปกติเช่ารถวันละ 1,000 บาท เพิ่มอีก 300 บาทเป็นค่าคนขับ) ก็ราคาไม่ได้แพง นับว่าดี คิดถูกที่จองรถไว้ล่วงหน้า

ซี สยาม แทรแวล-รถเช่ารายวันปัตตานี โทร : 083-190-2200, 082-822-1388, 086-481-3988

ชุมชนมท่องเที่ยวตะโละกาโปร์ (กลุ่มบูนาดารา)

กิจกรรมท่องเที่ยวยอดนิยมอย่างหนึ่งของการมาเที่ยวปัตตานีคือ ล่องเรือชมป่าโกงกาง ทะลุออกทะเลใน ไปทะเลนอก ชมธรรมชาติ ชมนกชมไม้ ชมปูชมปลา หาหอย แต่ต้องออกนอกตัวเมืองปัตตานีไปหน่อย มีหลายกลุ่ม หลายชุมชนที่ทำท่องเที่ยวคล้ายๆกันนี้ เช่น บ้านบางปู บ้านบานา ที่เราเลือกกลุ่มบูนาดารา เพราะอ่านเจอมาว่า ในตัวหมู่บ้านตะโลกาโปร์มีการทำเรือกอและจำลองด้วย อยากไปดูตรงนี้

ชุมชนท่องเที่ยวตะโละกาโปร์ เป็นชุมชนประมงเพราะอยู่ติดทะเล อยู่ในเขตอำเภอยะหริ่ง ห่างจากตัวเมืองปัตตานี 25 กม. ท่าเรือที่พวกเราจะไปลงเรืออยู่ก่อนถึงตัวหมู่บ้าน คนจัดการท่องเที่ยวคือกลุ่มบูนาดารา คำว่า “บูนา” เป็นชื่อชุมชนเก่าแก่ดั้งเดิม คำว่า “ดารา” เป็นคำภาษามลายู “กาแลดารอ” คือ ท่าเรือดารอ ที่พวกเราจะไปลงเรือกัน

กิจกรรมท่องเที่ยวตะโละกาโปร์ คือการล่องเรือ ซึ่งเป็นเรือกอและ ผ่านเห็นวิถีชีวิตประมงพื้นบ้านของชาวมาลายูในอ่าวปัตตานี ผ่านป่าโกงกางที่อุดมสมบูรณ์ จอดลงหา”หอยกัน” ที่เป็นหอยในท้องถิ่นอยู่ตามป่าโกงกาง หน้าตาเหมือนหอยตลับ ถ้ามาตรงมื้ออาหารให้ชาวบ้านทำอาหารให้กินได้เลย เขาว่าเนื้ออร่อยมาก จุดไฮท์ไลต์อีกจุดคืออุโมงค์ป่าโกงกาง ที่โค้งเข้าหากันอย่างสวยงาม

วันที่เราไปคือวันศุกร์ซึ่งชาวมุสลิมจะหยุดงานวันศุกร์เพื่อไปมัสยิดกัน แต่เราลืมคิด ไม่ได้จองเรือมาก่อน มาโทรตอนเช้าที่เริ่มออกเดินทาง เกือบจะไม่ได้ล่องเรือซะแล้ว แต่พอบอกว่าเรากำลังไปน่าจะถึงก่อนสิบโมง ก็จะล่องเรือช่วงเช้า พี่เขาบอกงั้นได้เลย เพราะคงล่องเรือเสร็จในครึ่งวัน คนขับเรือจะไปมัสยิดช่วงบ่าย ก่อนลงเรือก็มีแจกเสื้อชูชีพ แจกหมวกปีกกันแดด เรือจะเป็นลำเล็กๆนั่งได้ 5-6 คน และไม่มีหลังคา เพราะต้องลัดเลาะไปตามป่าโกงกาง เราโชคดีได้แบแยะมาเป็นไกด์ แบเล่าเรื่องราวความเป็นมา ชี้ชวนดูต้นไม้ ดูปูดูปลา เล่าเรื่องสนุกสนานไปตลอดทาง แบบอกว่ามาช่วงเช้าน้ำขึ้น ก็เลยเข้าได้ทุกซอกทุกซอย นั่งเรือมาถึงจุดที่เป็นแหล่งหาหอยกัน ก็พาแวะลงไปเดินหาหอยได้มา 5-6 ตัว สนุกไม่น้อย

แล้วนั่งเรือทะลุออกไปทะเลใน เจอนกกาน้ำเป็นพันตัวเลย เยอะมาก แบบอกว่าพวกเราโชคดี(อีกล่ะ) บางวันมีนกแค่ไม่กี่ตัว ล่องเรือไปพักที่ลานโกงกาง แพไม้ไผ่ลานกว้าง ได้ขึ้นไปนั่งชมวิว จุดนี้ถ้ามาแบบรวมอาหารกลางวันก็เอาอาหารมากินบนนี้ได้เลย วิวดี ลมเย็น บางคนมาล่องเรือตอนเย็นก็มานั่งดูพระอาทิตย์ตกได้ คงจะสวยงามน่าดู

จุดสุดท้ายคือล่องผ่านอุโมงค์ป่าโกงกาง ช่วงนี้เป็นร่องน้ำกว้าง ต้นโกงกางโค้งเข้าหากัน มีแสงแดดส่งลงมารำไรๆ สวยงาม ประทับใจ แบบอกว่าตรงนี้เล่นน้ำได้ บางกรุ๊ปก็เตรียมชุดมาเล่นน้ำตรงนี้ด้วย

ล่องเรือไป 2 ชม. ชอบมาก ชอบตั้งแต่ตรงท่าเรือ มีเรือกอและลายสวยๆจอดอยู่เพียบเลย แต่จะเป็นลำเล็กถึงขนาดกลางๆ เป็นเรือของชาวประมงพื้นบ้าน ถ้าอยากดูลำใหญ่ๆกว่านี้ต้องไปดูที่ทะเลนอก

#กอดป่าให้หายเหนื่อย

ชุมชนท่องเที่ยวล่องเรือ Buna Dara หรือ ติดต่อ แบแยะ 093-335-6658 และ 089-975-6067

หาดตะโละกาโปร์

ล่องเรือแล้ว ก็ตั้งใจไปดูต่อเรือกอและจำลอง แต่ก็เพราะมาวันศุกร์เขาหยุด บ้าจริงๆ เสียดาย เลยไปชมชายหาดดีกว่า นั่งรถผ่านตัวหมู่บ้านไปก็เจอชายหาดแล้ว ริมหาดมีร้านขายของเยอะเลย เหมือนบางแสน หรือสวนสน คาดว่าตอนเย็นๆ หรือวันหยุดน่าจะมีคนมาเที่ยวเยอะ เราก็ลงไปเดินดูหาดกันสักหน่อย ทรายก็ขาวอยู่แต่มีเศษไม้เศษขยะกลาดเกลื่อนไปหน่อย

มองไปสุดหาด เห็นเรือกอและจอดลอยลำอยู่หลายลำ เลยให้พี่คนขับขับรถไปดู ตรงปลายหาดเหมือนศูนย์ซ่อมบำรุงเรือกอและ มีหลายลำที่เข้าอู่ซ่อมแซมบนชายหาด บางลำก็จอดลอยลำอยู่ในทะเล ได้เห็นเรือกอและลำใหญ่ๆ ลายสวยสดใส สมใจ

ตอนแรกตั้งใจจะไปดูวังยะหริ่งต่อ แต่ด้วยความหิวเลยบอกพี่คนขับว่าหาอะไรกินเถอะ พี่คนขับแนะนำให้ไปทานข้าวที่บาราโหมเป็นอาหารพื้นบ้าน เราก็เออไปๆ ข้าวเที่ยงวันนี้เรียกว่า “นาสิอีแดกำปง” เป็นชุดอาหารที่ทำจากวัตถุดิบที่มีภายในท้องถิ่นตามฤดูกาล ทำแล้วมาจัดวางบนใบตอง วันนี้มีปลาทอด น้ำพริกกะปิ น้ำบูดูยำ(ที่อร่อยมาก เติม 2 รอบ) มีไข่เจียว ผักลวกผักสด ยำผักกูด(กาบูปูโจ๊ะปากู) กับแกงปลาที่ลืมถามชื่อ และถ้าให้ถูกต้องตามวิถีก็ต้องใช้มือกิน เราก็ใช้ช้อนบ้างมือบ้าง กินกันเลอะเทอะไปหมด อร่อยอิ่มในราคา ร้อยกว่าบาทต่อคน

ที่ ชุมชนบ้านบาราโหม ก็มีกิจกรรมล่องเรือชมป่าโกงกางเหมือนกัน ใกล้ตัวเมืองปัตตานีแค่ 7 กม.เองด้วย ใครสนใจล่องเรือ พร้อมทานอาหาร มีกิจกรรมอื่นๆเพิ่มด้วย เช่นทำผ้าบาติค ทำผ้ามัดย้อม ก็ลองเข้าไปดูในเพจ ชุมชนท่องเที่ยวบาราโหม หรือติดต่อไปตามเบอร์ร้านได้

สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว

ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวกับสุสานเจ้าแม่อยู่คนละที่กัน ศาลเจ้าสร้างขึ้นมาตอนหลัง สร้างเอาไว้ในตัวเมือง แต่สุสานหรือฮวงซุ้ยที่ว่ากันว่าฝังศพเจ้าแม่อยู่ออกมานอกเมือง ระหว่างทางที่จะไปตะโละกาโปร์และไปนราธิวาสได้ อยู่ริมถนนหลัก เห็นชัดเจน ติดกับมัสยิดกรือเซะเลย

มัสยิดกรือเซะ

ติดกันกับสุสานเจ้าแม้ลิ้มกอเหนี่ยวคือมัสยิดเก่าแก่ 200 กว่าปีที่สร้างไม่เสร็จ “มัสยิดกรือเซะ” มีตำนานว่า สร้างมาแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย เพราะเกิดสงครามจึงทำให้สร้างไม่เสร็จ และต่อมาสร้างยังไงก็มีเหตุให้สร้างไม่เสร็จ เราไปโดยไม่รู้ประวัติอะไรของมัสยิดเลย เพียงแต่จำชื่อได้จากเหตุการณ์รุนแรงเมื่อปี พ.ศ. 2547 ก็เลยอยากมาเห็น มัสยิดแม้จะดูเหมือนสร้างไม่เสร็จ แต่ก็ใช้งานเป็นศาสนสถาน มีคนเข้ามาละหมาดเหมือนมัสยิดเสร็จสมบูรณ์สวยงามทั่วไป แต่วันนี้ไม่มีคนละหมาดที่นี่เพราะไปละหมาดในมัสยิดประจำอำเภอ จะว่าโชคดีก็ได้ แต่จะคิดว่าโชคร้ายก็ได้เพราะกลายเป็นมัสยิดว่างร้างผู้คน ขาดชีวิตชีวาไปเลย

มีตำนานเรื่อง เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเกี่ยวพันกับมัสยิดกรือแซะ เล่ากันว่า มัสยิดกรือเซะนี้สร้างโดยลิ้มโต๊ะเคี่ยม ชาวจีนที่มาพบรักจนได้แต่งงานกับลูกสาวพระยาตานีไม่กลับเมืองจีน และเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม “ลิ้มกอเหนี่ยว”น้องสาวของลิ้มโต๊ะเคี่ยม ก็เลยโล้สำเภามาตามพี่ชายกลับเมืองจีน แต่ไม่สำเร็จและรู้ว่าพี่ชายเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม ลิ้มกอเหนี่ยวจึงได้สาปแช่ง ขออย่าให้สร้างมัสยิดสำเร็จ และได้ผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมก็เลยฝังศพน้องสาวไว้ที่หน้ามัสยิด และมัสยิดกรือเซะก็เป็นไปตามคำสาป ไม่สามารถสร้างเสร็จจนทุกวันนี้

ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใดก็มีตำนานลักษณะนี้เหมือนๆกัน

วัดช้างให้ (วัดราษฎร์บูรณาราม)

มาถึงปัตตานีแล้วไม่ได้มากราบหลวงปู่ทวดวัดช้างให้ก็เหมือนมาไม่ถึงปัตตานีจริงๆ พลาดไปเมื่อวานเลยเอาโปรแกรมมาบวกวันนี้ พี่คนขับบอกว่าได้เลย ปกติแล้วจากปัตตานีไปหาดใหญ่จะใช้เส้นทางใหม่วิ่งแป๊บเดียวก็ถึง แต่ไปวัดช้างให้ต้องออกไปทางเส้นเก่า มาที่ อ.โคกโพธิ์ ตัววัดอยู่ติดทางรถไฟ มีสถานีวัดช้างให้อยู่ใกล้ๆด้วย

หลวงปู่ทวด เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดและอัฐของท่านก็ถูกบรรจุไว้ที่วัดแห่งนี้

ใครชอบลุยๆก็ไปวัดช้างให้ทางรถไฟก็ได้นะ นั่งรถไฟมาจากหาดใหญ่ก็มาลงสถานีวัดช้างให้ แต่เที่ยวรถที่จอดสถานีวัดช้างให้น่าจะน้อยมาก แต่ถ้าจะมาจากตัวเมืองปัตตานีด้วยรถไฟไม่ได้นะ เพราะไม่มีสถานีรถไฟในตัวเมือง สถานีรถไฟปัตตานีอยู่ที่ อ.โคกโพธิ์ ห่างจากกลางเมือง 25 กม. คือมาเที่ยวปัตตานีต้องทำความเข้าใจเรื่องการเดินทางมากๆหน่อย

จากวัดช้างให้ ก็ไปสนามบินหาดใหญ่ นั่งรถไปชั่วโมงกว่าๆก็ถึง

จบการเที่ยวงงๆที่ปัตตานี ที่สนามบินหาดใหญ่ แม้จะเดินทางท่องเที่ยวลำบากไปสักหน่อย แต่ก็ยังอยากมาเก็บตกปัตตานีอีกสักรอบ ปัตตานียังมีหลายที่ๆน่าไป อย่างชายหาดอีกหลายหาดที่สวยๆ หรือเมืองเก่าอย่าง ยะหริ่ง สายบุรี ก็ต้องใช้เวลาในการทำความรู้จัก ชุมชนต่อเรือกอและก็ต้องไปดูให้ได้สักครั้ง คราวหน้าก็คงเช่ารถขับเที่ยวเองเลย คนพื้นที่เขาบอก ปลอดภัยเที่ยวได้ เตือนมาแค่ว่า อย่าขับรถตอนมืดๆออกไปนอกเขตเมืองก็แล้วกัน

ที่พักปัตตานี

โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี (C.S. Pattani Hotel)

เราเลือกพักที่โรงแรมนี้ เพราะหารีวิวที่พักในปัตตานีได้น้อยมาก ที่อ่านเจอใครๆก็แนะนำโรงแรมซี.เอส.ปัตตานีนี่แหละ ปัตตานีดูเหมือนแบ่งเป็นฝั่งเมืองใหม่กับเมืองเก่าด้วยแม่น้ำปัตตานี ที่เที่ยวจะอยู่ฝั่งเมืองเก่าอย่าง ย่านเมืองเก่า ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว มัสยิดกลาง แต่ที่พักฝั่งเมืองเก่าใกล้แหล่งท่องเที่ยวหาไม่มีเลย ที่พักส่วนมากอยู่ฝั่งเมืองใหม่ ที่มีโรงพยาบาล มีมหาวิทยาลัย โรงแรมซี.เอส.ปัตตานีก็อยู่ฝั่งเมืองใหม่ แต่ตัวโรงแรมก็อยู่เลยออกไปจากย่านกลางเมืองไปอีก 2-3 กม. ถ้าไม่มีรถ ก็คือเดินทางลำบากมาก ไม่มีรถสาธารณะให้เรียก แต่ตัวโรงแรมใหญ่โต สวยงาม คนเยอะ ทั้งคนมาพัก คนมาทานอาหาร ห้องอาหารบุหงารายาของโรงแรม เป็นร้านดังของจังหวัดด้วย นอกจากร้านอาหารก็มีซุ้มขายโรตีกับชาชัก อร่อยดี คนเยอะทั้งวัน

เที่ยวเท่ๆที่ยะลา เที่ยวช้าๆที่เบตง

เที่ยวเท่ๆที่ยะลา เที่ยวช้าๆที่เบตง | มิถุนายน 2565

อ.เบตง จ.ยะลา เป็นเป้าหมายของใครหลายๆคนมาเนิ่นนาน อาจเป็นเพราะเป็นจังหวัดที่ห่างไกลสุดชายแดนใต้ชิดติดประเทศมาเลเซีย ทำให้เหมือนเมืองลึกลับที่หลายคนอยากไปเห็น การจะไปถึงก็ไม่ง่ายนัก ต้องนั่งรถไฟ 20 ชม. ไปลงสถานียะลา แล้วต่อรถอีก 2 ชม. หรือนั่งเครื่องบินไปลงสนามบินหาดใหญ่ แล้วต่อรถข้ามเขาไปอีก 4-5 ชม. กว่าจะถึงเบตง แต่ความลำบากในการเดินทางอาจไม่ใช่ปัญหาเดียว หลายคนวิตกกังวลเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่ชายแดนใต้ ที่มีข่าวเหตุการณ์ไม่สงบในพื้นที่อยู่บ่อยๆ

ปัจจุบันนี้ …
ททท.ส่งเสริมการท่องเที่ยวเบตง นอกจากสตรีทอาร์ทเบตงที่เพิ่มความกิ๊บเก๋ให้ตัวเมืองชายแดนแล้วยังมี สกายวอร์คอัยเยอร์เวง เป็นจุดท่องเที่ยวยอดนิยม แถมชูเรื่องอาหารอร่อย อย่างไก่เบตง ปลานิลสายน้ำไหล หรือวุ้นดำเบตง ล่าสุด เมษายน 2565 สนามบินเบตงเปิดบริการ มีเที่ยวบินตรงไปเบตงได้อย่างสบาย พักในเมืองก็มี Day trip จากตัวเมืองพาไปดูทะเลหมอกที่อัยเยอร์เวงได้ง่ายๆ เบตงกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวเต็มตัวแล้ว แม้จะมีจุดตรวจอยู่ตลอดทุกเส้นทาง มีเจ้าหน้าที่เดินตรวจตราทั่วไป ก็เพื่อความมั่นใจของนักท่องเที่ยว

เบตง | Betong

อ.เบตง จ.ยะลา เป็นอำเภอใต้สุดของประเทศไทย ห่างจากตัวเมืองยะลา 125 กิโลเมตร ห่างจากชายแดน ไทย-มาเลเซีย 8 กิโลเมตร ล้อมรอบไปด้วยแนวเขาสันกาลาคีรี คำว่า เบตง มาจากภาษามลายู ว่า “Buluh Betong” หมายถึง “ไม้ไผ่ขนาดใหญ่” คือ ไผ่ตง เป็นไผ่ที่มีมากในแถบนั้น ชาวเบตงประกอบด้วยคนหลากหลายเชื้อชาติศาสนา ทั้งไทยพุทธ มุสลิม ไทยเชื้อสายจีน โดยส่วนมากเป็นชาวมุสลิม รองลงมาเป็นไทยเชื้อสายจีน

“เมืองในหมอก ดอกไม้งาม ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน”

ในเมืองเบตงมีอะไรน่าสนใจบ้าง

จุดเริ่มต้นที่เด่นสุดของเมืองเบตงคือ วงเวียนหอนาฬิกา กลางเมืองเบตง ใครไปใครมาก็ต้องมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ทั้งกลางวันและกลางคืน ถ้ามาช่วงเย็นเป็นต้นไปรอบวงเวียนจะได้ยินจิ๊บๆดังระงม จากเจ้านกนางแอ่นนับพันตัว ที่มาเกาะบนสายไฟรอบวงเวียน ยืนถ่ายรูปก็ระวังเจ้าถิ่นปล่อยอะไรลงมาด้วยนะ นอกจากหอนาฬิกาแล้ว หัวมุมถนนสุขยางค์กับถนนอมรฤทธิ์ ก็มีสัญญลักษณ์ของเบตงอีกอย่าง คือ ตู้ไปรษณีย์สูงและใหญ่ที่สุดในโลก ที่ใช้งานได้จริง คือหย่อนจดหมายได้จริง มีบุรุษไปรษณีย์มาเปิดตู้จริง

จากวงเวียนหอนาฬืกามองไปทางเนินเขาจะเห็นอุโมงค์รถยนต์ที่เจาะผ่านเนินเขามีชื่อเรียกทางการว่า อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ ว่ากันว่าเป็นอุโมงค์รถยนต์ลอดภูเขาแห่งแรกของประเทศไทย เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2544 ตอนกลางวันมองเห็นแค่โค้งของปากทางเข้าอุโมงค์สีขาว แต่ถ้ามาตอนกลางคืนมีไฟประดับสวยงามตั้งแต่ปากทาง และด้านในอุโมงค์ก็มีการตกแต่งภาพจุดท่องเที่ยวในเบตงไปตลอดทาง มีทางเดิน 2 ข้างทางให้เดินเข้าไปจนทะลุอุโมงค์ได้ แต่ขอเตือน ไม่ควรลงไปยืนถ่ายรูปบนถนนนะ อันตราย

ทะลุอุโมงค์ออกมาก็จะเจอรูปปั้นไก่เบตง สัญญลักษณ์อย่างหนึ่งของเบตง กับรูปปั้นพี่ตูน ที่ปั้นไว้เป็นที่ระลึกในคราวที่พี่ตูนวิ่งระดมทุนในโครงการก้าวคนละก้าว วิ่งจากใต้สุดที่เบตง จ.ยะลาไปเหนือสุดที่แม่สาย จ.เชียงราย ถ้ามาตรงนี้ช่วงกลางคืนก็มีโคมไฟประดับแสงสีสวยงาม มีคนมานั่งเล่นมาถ่ายรูปกันเยอะ

ช่วงกลางวันถ้าไม่เดินลอดอุโมงค์ แต่เดินขึ้นเนินเขาตามทางเดินข้างอุโมงค์ไปด้านบนจะมีจุดชมวิวเมืองเบตงได้ กับมี พิพิธภัณฑ์ศิลปะ 410 เบตง ค่าเข้าชม 40 บาท ให้เข้าไปเดินดูงานศิลปะเล็กๆน้อยๆ กับมีภาพเก่าๆเรื่องราวของเมืองเบตง กับข้าวของเก่าๆให้ดู แล้วรับบัตรขึ้นจุดชมวิวบนดาดฟ้าได้ฟรี

เดินเลยพิพิธภัณฑ์ 410 ขึ้นไปบนเนินเขาด้านบนจะเจอ สวนสุดสยาม เป็นสวนสาธารณะ เป็นสนามเด็กเล่น เลยไปมีสระว่ายน้ำ มีสนามฟุตบอล เป็นโซนสุขภาพของชาวเบตงนั่นเอง เช้าๆเย็นๆมีคนมาออกกำลังกายกันเยอะ ทั้งวิ่ง ทั้งเล่นกีฬา

ตึกในตัวเมืองเบตงเป็นแบบเดียวกับหลายๆจังหวัดในภาคใต้ ที่เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูนบ้างอาคารไม้ผสมปูนบ้าง มีโถงทางเดินหน้าอาคารเดินต่อเนื่องกันไปได้ไม่โดนแดดโดนฝน เป็นการออกแบบอย่างชาญฉลาดตามสภาพอากาศที่กลางวันแดดร้อนมาก เย็นๆฝนตกบ่อย ทางเดินแบบนี้ทำให้ยังคงทำมาค้าขายได้ ไม่ร้อนแดดไม่เปียกฝน

เดินเที่ยวในตัวเมืองเบตง จะเห็นเจ้าหน้าที่อส. ตำรวจ ทหาร เดินอยู่ทั่วทุกที่ ตามแผนการรักษาความปลอดภัยสร้างความมั่นใจให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวของเทศบาลเมืองเบตง มีการตั้งกองกำลังพิทักษ์เมืองเบตง 4 ฝ่าย ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร อส. และกำลังภาคประชาชน ร่วมกันดูแลเมือง

ว่ากันว่าตู้ไปรษณีย์หน้าศาลาประชาคมเบตง ใหญ่กว่าตู้ตรงวงเวียนหอนาฬิกา แต่คนไม่นิยมเท่าตรงวงเวียหอนาฬิกา

เพราะเบตงมีคนหลากหลายเชื้อชาติศาสนา ก็เลยมีศาสนสถานครบครันทั้ง พุทธ คริสต์ อิสลาม และจีน

วัดนักบุญเปโตร / มัสยิดกลางเบตง

วัดโพธิสัตโตเจ้าแม่กวนอิมเบตง

วัดพุทธาธิวาส / พระพุทธธรรมกายมงคล / พระมหาธาตุเจีย์พระพุทธธรรมประกาศ

สตรีทอาร์ตเบตง | Street Art Betong

เบตงเมืองลึกลับห่างไกล เปลี่ยนภาพลักษณ์เป็นเมืองชิคๆคูลๆด้วย สตรีทอาร์ต ที่อยู่ตามผนังอาคารต่างๆในเมืองเบตง เพื่อโปรโมตงาน 111 ปี เล่าขานตำนานเมืองเบตง ตอนปี 2560 ต่อเนื่องมาถึงโครงการ “ATM Spray X Betong Street Art” ในปี 2563 โดยศิลปินกราฟฟิตี้และสตรีทอาร์ตระดับแนวหน้าของไทย ทำให้มีภาพสตรีทอาร์ตเต็มเมืองเบตงไปหมด ทุกซอกทุกซอย

การจะได้เห็นสตรีทอาร์ตเบตงได้ทั่วๆใช้วิธีเดินดีที่สุด เมืองเบตงไม่ได้ใหญ่โตมาก เดินเที่ยวได้ง่าย ยึดวงเวียนหอนาฬิกาเป็นจุดศูนย์กลาง เดินไปได้ทุกทิศทางมีสตรีทอาร์ตหมดทุกซอกทุกซอย หลายคนแนะนำว่าให้เดินช่วงกลางวันจะได้ไม่มีร้านค้ามาตั้งร้านบังสตรีทอาร์ต แต่เรากลับชอบเดินช่วงเช้า ช่วงเย็น ในตอนที่มีร้านมาเปิดขายของ มันดูมีชีวิตชีวาดีมาก หลายๆภาพบนผนังก็สะท้อนการใช้ชีวิตจริงๆของชาวเบตง รูปร้านกาแฟถ้ามาตอนเช้าก็จะได้เห็นรถเข็นชงกาแฟตั้งโต๊ะมีสภากาแฟนั่งคุยกันจริงๆ หรือผนังที่เป็นรูปผักผลไม้ยามเช้าก็มีแผงขายผักผลไม้จริงๆ ถ้ามีเวลาพอก็มาถ่ายรูปผนังเปล่าๆเทียบกับตอนมีพ่อค้าแม่ค้าดูก็ได้นะ

ภาพในหลวง ร.๙ บนผนังตึกโรงเรียนอนุบาลเบตง สวยงามมาก

ออกนอกตัวเมืองเบตงไปเที่ยว เลือกได้ตั้งแต่เช่ารถ ขับ/ขี่ เอง หรือเช่าเหมารถสองแถวเล็ก รถแท้กซี่ รถตู้ พาเที่ยว ไปเช้าเย็นกลับมานอนในเมือง หรือจะซื้อแบบ Day trip พาไปเที่ยวรวมกับนักท่องเที่ยวอื่นเป็นกรุ๊ป ราคาแล้วแต่ตกลง (ราคาเหมาประมาณ 800-1000 ต่อวัน)

ด่านพรมแดนเบตง เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวชอบไปเยี่ยมชมถ่ายรูปกับป้าย “ใต้สุดสยาม” อารมณ์เหมือนไปเที่ยวเชียงรายก็ต้องไปแม่สาย ถ่ายรูปกับป้าย เหนือสุดแดนสยาม จากตัวเมืองเบตงมีรถบัสนั่งมาถึงด่านได้ ราคา 5-60 บาท แต่ไม่แน่ใจรอบรถ ชาวบ้านบอกว่าให้ไปรอแถวหน้ารร.โมเดิร์นไทย ส่วนขากลับก็ไม่รู้ต้องรอรอบเวลาไหน นักท่องเที่ยวส่วนมากถ้าไม่มีรถก็เลยไม่ค่อยไปเพราะลองถามรถแท้กซี่ว่าเหมาไปเที่ยวด่านคิดเท่าไหร่ แท้กซี่คิด 500 บาท ดังนั้นไม่ควรจ้างรถออกไปเที่ยวด่านเฉยๆไม่คุ้ม แนะนำว่าให้เหมารถขับพาเที่ยวในเมืองไปเลย ไปด่าน แล้วพาเที่ยวจุดอื่นๆ อย่าวัดพุทธาวาส ศาลเจ้าแม่กวนอิม มัสยิดเบตง พวกนี้อยู่ห่างกันนั่งรถไปเที่ยวก็สะดวกดี

ด่านพรมแดนอยู่ห่างจากตัวเมือง 10 กม. ถนนดีใหญ่โต ขับรถไปถึงด่าน บอกเจ้าหน้าที่ว่าจะเข้าไปเที่ยวถ่ายรูปตรงป้าย เขาจะให้บัตรชั่วคราววางหน้ารถ ขับเข้าไปจอดด้านในได้ เดินไปนิดเดียวก็ถึงป้ายแล้ว มองไปเห็นเขตเมือง Perak ของมาเลเซีย เจอนักบิดชาวมาเลย์บิดข้ามด่านกลับมาเลย์เยอะมาก เพราะด่านเพิ่งเปิดให้เข้าหลังจากปิดในช่วงโควิดมาเป็นปี นักท่องเที่ยวมาเลย์เริ่มเข้ามาเที่ยวในเบตง และเลยไปถึงหาดใหญ่ ขีรถข้ามประเทศเที่ยวกันได้ง่ายๆเลย

เที่ยววงรอบโอเคเบตง

ออกจากตัวเมืองเบตงไปตามถนน 410 เส้นที่จะไปตัวเมืองยะลา จะผ่านจุดเช็คอินยอดนิยมของนักท่องเที่ยวคือ ป้ายยินดีต้อนรับสู่เบตง กับคำว่า OK BETONG วลียอดฮิตจากชื่อหนังไทย “โอเคเบตง” เมื่อหลายปีก่อนที่ทำให้คนรู้จักและอยากมาเที่ยวเมืองเบตงมากขึ้น

จากโอเคเบตงไปตามถนน 410 แยกซ้ายตรงหมู่บ้านจีนฮากกา กม. 4 ถนนจะพาไปจุดท่องเที่ยวหลายจุด คือ บ่อน้ำร้อนเบตง อุโมงค์ปิยะมิตร สวนไม้ดอกเมืองหนาวเบตง แวะทานอาหารกลางวันอาหารขึ้นชื่อที่ฟาร์มปลานิลสายน้ำไหล (โกหงิ่ว) แล้วขับต่อเป็นวงกลมกลับมาที่แยกกม. 4 กินวุ้นดำ (เฉาก๊วย) ตรงสามแยก ครบวงรอบพอดี แต่ทัวร์ส่วนมากจะเอาโปรแกรมเที่ยววงรอบนี้รวมกับการออกไปดูทะเลหมอกที่สกายวอร์คอัยเยอร์เวง ออกจากเมืองเบตงแต่เช้ามืดดูทะเลหมอกแล้วมาเที่ยววงรอบนี้ก่อนกลับเข้าเมืองเบตง ถ้าใครเที่ยวเหนื่อยๆไหวก็จัดแบบทัวร์ได้

บ่อน้ำร้อนเบตง | Betong Hot Spring

บ่อน้ำร้อนธรรมชาติ ที่ร้อนระดับ 80 องศา ต้มไข่สุกได้ น้ำร้อนมีแร่ธาตุต่างๆที่เชื่อกันว่ามีประโยชน์ต่อร่างกาย จึงมีการพัฒนาพื้นที่ สร้างเป็นบ่อน้ำให้นั่งแช่เท้า หรือเข้าไปแช่ตัวได้ในห้องส่วนตัว เป็นทางผ่านที่แวะได้ ไม่มีค่าเข้า แช่เท้าฟรี

อุโมงค์ปิยะมิตร | Piyamit Tunnel

อุโมงค์คนขุดที่เดิมเคยเป็นฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ใช้เป็นที่หลบภัยและสะสมเสบียง เคยมีผู้ร่วมอุดมการณ์หรือโจรคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) อยู่ร่วม 200 คน หลังจากการเจรจาและให้โอกาส จคม. กลับมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ก็ไม่ต้องหลบซ่อนอยู่ในอุโมงค์อีกต่อไป ออกมาใช้ชีวิตปกติ ตั้งเป็นหมู่บ้านปิยะมิตร ตอนหลังก็ปรับปรุงอุโมงค์เปิดให้เข้าไปเที่ยวด้านใน ได้เรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ต่างๆ ค่าเข้าชม 40 บาท ต้องเดินผ่านป่าเข้าไปพอสมควรกว่าจะถึงปากถ้ำ ทางเดินดี มีบันได แต่คนสูงอายุอาจจะเดินลำบาก ก่อนเข้าถ้ำจะมีพิพิธภัณฑ์ให้เข้าไปศึกษาประวัติก่อนได้ แล้วเดินเข้าถ้ำไปดูว่าเขาใช้ชีวิตกันยังไง ถ้ำมีทางเข้าออกหลายทาง เดินเข้าไปได้เรื่อยๆตามทางที่มีแสงสว่าง เข้าลึกๆอาจเจอค้างคาวบินเฉี่ยวหัวเฉี่ยวหูไปบ้างไม่ต้องตกใจ เดินวนได้ตามชอบแต่ให้เดินไปออกทางออกที่ 1 แล้วเดินผ่านป่าต่อไปอีกไม่ไกล จะเจอต้นไม้พันปี เป็นต้นไทรใหญ่ยักษ์ แล้วเดินวนออกได้เลย

ถนนช่วงต่อจากอุโมงค์ปิยะมิตรจะเป็นทางเขาคดเคี้ยวไปมา มีฝนตกบ่อย และมีหมอกลงตลอดทั้งวัน ขับรถต้องระมัดระวัง

สวนหมื่นบุปผา สวนดอกไม้เมืองหนาวเบตง

สวนดอกไม้และโครงการปลูกดอกไม้เมืองหนาวในหมู่บ้านปิยะมิตร 2 เป็นโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อส่งเสริมรายได้ให้กับชาวหมู่บ้านปิยะมิตรที่เป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย มีโรงเรือนทดลองปลูกไม้ดอกไม้ประดับ และมีสวนดอกไม้ กับร้านอาหาร (ฝนตกเลยไม่ได้ลงไปเดินในสวน)

นอกจากร้านอาหารตรงอุโมงค์ปิยะมิตร และสวนหมื่นบุปผาแล้ว ยังมีร้านอาหารให้แวะได้อีกคือ ฟาร์มปลานิลสายน้ำไหล (โกหงิ่ว) ใช้วิธีการเลี้ยงด้วยระบบสายน้ำไหลธรรมชาติ ทำให้ปลาไม่มีกลิ่นโคลน เนื้อแน่น ด้านในมีร้านอาหารที่ใช้ปลานิลในฟาร์มมาทำอาหาร ตักปลาสดๆจากบ่อ ทำให้เนื้อปลาหวานเนื้อแน่น ถ้ามาวันหยุดควรโทรจองโต๊ะสั่งอาหารล่วงหน้า เพราะทัวร์เยอะ เมนูยอดนิยมคือ ขลุ่ยปลานิล ปลานิลทอดผัดต้มตามสั่ง เนื้อปลานิลสดหม้อไฟ ถ้าไม่กินที่ฟาร์มไปร้านอาหารอื่นๆในเบตงก็มีปลานิลสายน้ำไหลเหมือนกัน เพราะเป็นปลาเศรษฐกิจสำคัญของเบตง

ของขึ้นชื่ออีกอย่างในเบตงคือ เฉาก๊วย ที่คนใต้เรียกกันว่า วุ้นดำ มีร้านวุ้นดำเก่าแก่อยู่ตรงสามแยกหมู่บ้านจีนฮากกา กม. 4 มี 2 ร้านอยู่คนละฝั่งถนน เลือกแวะตามสะดวก ทั้งสองร้านทำเฉาก๊วยด้วยวิธีดั้งดิม ใช้ฟืนในการต้มหญ้าเฉาก๊วย ต่างก็อ้างว่าเป็นต้นตำรับ เป็นเจ้าแรก ถ้ามาวันหยุดนักท่องเที่ยวเยอะ ช่วงบ่ายต้นๆก็อาจจะหมดได้ทั้ง 2 ร้าน

ร้านแรก เฉาก๊วยเบตง (วุ้นดำ) กม.4 (บ้านไม้) เป็นบ้านไม้เก่าตามชื่อ ร้านอยู่ฝั่งออกจากเบตง ตรงหัวมุมทางแยกเลี้ยวไปบ่อน้ำร้อนเบตง ขายเฉาก๊วยถ้วยละ 15 บาท ใส่น้ำแข็งบดราดน้ำเชื่อมหวาน เที่ยวมาร้อนๆแวะกินก็ชื่นใจดี

อีกร้าน เฉาก๊วยเบตง (วุ้นดำ) กม.4 (บ้านตึก) ร้านเป็นตึกตามชื่อนั่นแหละ ร้านนี้อยู่ฝั่งขาเข้าเบตง ขายเหมือนกันเป๊ะๆ เราชิมแล้วทั้ง 2 ร้านก็ไม่รู้สึกว่าต่างกัน

นอกจากเฉาก๊วยแล้ว ทั้ง 2 ร้านมีขนมอีกอย่างที่เราเพิ่งเคยเห็น เพิ่งเคยชิม เรียกว่า “ขนมด่าง” หน้าตาเหมือนขนมถ้วย วิธีกินต้องใส่กระเทียมเจียว ราดซีอิ๊วดำเค็มๆหวานๆ ชิมแล้วรสเหมือนแป้งข้าวเกรียบปากหม้อ อร่อยดีเหมือนกัน

เที่ยวอัยเยอร์เวง และรอบๆ

“อัยเยอร์เวง” 1 ใน 5 ตำบลของอำเภอเบตง จังหวัดยะลา “อัยเยอร์” เป็นภาษายาวี แปลว่า สายน้ำ ส่วน “เวง” เป็นแซ่ของครอบครัวชาวจีนที่อยู่ในแถบนี้มาแต่ดั้งเดิม “อัยเยอร์เวง” ตั้งเป็นตำบลตั้งแต่สมัย ร.๕ เป็นตำบลที่อยู่ห่างไกลกลางป่าฮาลา ต่อมาได้ขยับขยายหนีโจรคอมมิวนิสต์มลายามาอยู่ตรงที่ราบริมแม่น้ำปัตตานี

สกายวอร์คอัยเยอร์เวง | Skywalk Aiyerweng

เบตงเป็นเมืองในหุบเขา ออกนอกตัวเมืองไปไม่ไกลก็มีจุดชมทะเลหมอกได้ที่ ต.อัยเยอร์เวง สมัยก่อนก็มีสร้างหอชมวิวไว้ขนาดเล็กๆ มาโด่งดังมากๆตอนมีการสร้าง สกายวอร์คอัยเยอร์เวง หอคอยชมวิวสูง 45 ม. มีทั้งหมด 6 ชั้น แถมด้วยทางเดินยื่นยาวออกไปใจกลางหุบเขา และมีพื้นกระจกตรงปลายทาง สกายวอร์คอัยเยอร์เวงก็เลยกลายจุดท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับ 1 สำหรับการมาเที่ยวเบตงในช่วง 2-3 ปีหลังนี่

ด้วยสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศที่ ป่าเยอะ ฝนตกบ่อย ความชื้นสูง ทำให้พูดกันว่า รับประกันมีหมอกทุกวัน แต่จะสวยหรือไม่สวยแล้วแต่บุญวาสนา บางวันก็หมอกแน่นเป็นปึก บางวันก็หมอกฟุ้งขาว บางวันก็หมอกน้อยลอยอ้อยอิ่ง บางวันฝนตก ทำบุญก่อนไปจะได้เจอหมอกสวยๆ ฮา… ถามว่าควรไปกี่โมงถึงจะได้ดูทะเลหมอกงามๆ ต้องถามตัวเองว่าอยากดูอะไร ถ้าอยากเห็นแค่ทะเลหมอก ไปสายหน่อยได้ หมอกอยู่ให้เห็นได้ถึง 8-9 โมงแต่ถ้าอยากได้แสงแรก สีทองสวยๆ พระอาทิตย์ลูกกลมๆเคลื่อนเลื่อนลอยขึ้นมา ก็ต้องมาแต่เช้าตั้งแต่เริ่มเปิด คือ 6 โมงเช้า แต่…อย่างที่บอกมันขี้นกับบุญวาสนา

จุดชมวิวสกายวอร์คอัยเยอร์เวงห่างจากตัวเมืองเบตง 35 กม. ใช้เวลาขับรถไปเกือบชั่วโมง ทัวร์มักให้นอนในเมือง แล้วพาออกเดินทางตั้งแต่ตีสี่ครึ่ง แต่ถ้าอยากเปลี่ยนบรรยากาศบ้างก็ไปหาที่พักใกล้ๆก็สะดวกดี เราไปพักแถวนั้น ไม่ต้องตื่นเช้ามากขับรถ 10 นาทีก็ถึงแล้ว รถทุกคันไปได้ถึงจุดจอดรถ จากนั้นต้องต่อรถของชุมชนขึ้นไป มีรถสองแถวเล็กที่ต้องรอคนเต็มถึงออก หรือมอเตอร์ไซค์ก็ขึ้นได้เลย ขาขึ้น 30 บาท ขาลง 20 บาท ทางขึ้นไม่ได้ชันมาก นั่งมอเตอร์ไซค์สนุกดีบรรยากาศก็ดีลมเย็นสบาย สกายวอร์คไม่เก็บค่าเข้าแต่มีค่าถุงหุ้มรองเท้า 40 บาท ซึ่งใช้ครั้งเดียวทิ้ง ดังนั้นถ้าจะกลับมาอีกครั้งก็เก็บกลับไปด้วยได้ อย่างเรามาเที่ยวดูบรรยากาศตอนเย็นก่อน เจ้าหน้าที่เลยบอกให้เก็บถุงรองเท้าไปด้วย ตอนเช้าก็เอากลับมาใช้ไม่ต้องเสียเงินอีกรอบ (มาตอนเย็นต้องมาก่อนเวลาปิด 4 โมงเย็นนะ)

ข้อดีของการมาตอนเย็นคือ ไม่มีใครเลย

เข้าไปด้านในแล้ว เลือกชมวิวได้ทุกชั้น สกายวอร์คอยู่ชั้น 3 ตรงทางเดินออกไปจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแล ให้ออกไปจำนวนไม่มาก และควรอยู่ไม่เกินคนละ 10 นาที แล้วมีบันไดเดินลงไปด้านล่าง ถ้าอยากมาตรงนี้อีกก็วนมาอีกได้เรื่อยๆ ตรงปลายทางเดินเป็นพื้นกระจก ให้เดินระวังเพราะพื้นลื่น อากาศชื้นมากมีหยดน้ำตลอด ถ้าอยากถ่ายรูปทะเลหมอกเห็นระเบียงยื่นด้วยก็ขึ้นไปชั้น 4-5-6 ความจริงด้านนอกอาคารก็มีระเบียงชมวิวได้เหมือนกัน หรือเดินไปที่หอชมวิวเก่าก็ชมทะเลหมอกได้ แถมเห็นสกายวอร์คลอยอยู่กลางทะเลหมอก แปลกตาดี

จุดชมวิวเก่า ไม่สูงมาก แต่มุมเปิดกว้างเหมือนกับสกายวอร์คใหม่
มุมมองจากจุดชมวิวเก่า

ชมวิวจนพอใจก็มานั่งจิบชากาแฟท่ามกลางสายหมอกยามสายที่ร้านกาแฟใต้หมอก ถ้าหิวขึ้นมาก็มีติ่มซำนึ่งร้อนๆให้กินรองท้อง ก่อนกลับ

แถวอัยเยอร์เวง นอกจากสกายวอร์คก็มีที่เที่ยวอื่นๆอีก ให้เที่ยวได้ทั้งวัน เพื่อรอเวลาไปเข้าที่พักของพวกเราอีกคืนที่ฆูนุงซีรีปัต

น้ำตกเฉลิมพระเกียรติร.๙ (ตอนบน)

น้ำตกมีทั้งตอนบนและตอนล่าง ถ้าน้ำตกตอนล่างต้องเดินเข้าไปอีกเกือบๆกิโล ทางเข้าอยู่ทางริมคลองอัยเยอร์เวง ส่วนน้ำตกตอนบนทางเข้าอยู่ใกล้แยกทางเข้าไปสกายวอร์ค บางคนดูทะเลหมอกเสร็จตอนเช้า สายๆก็มาแวะเที่ยวน้ำตก สามารถขับรถเข้าไปได้ถึงใกล้ๆ ทางแคบหน่อยขับผ่านสวนทุเรียนเข้าไป น้ำตกขนาดไม่ใหญ่มาก ถ้าอยากเห็นผาใหญ่ๆสูงๆให้ไปน้ำตกตอนล่าง

สะพานแตปูซู

สะพานแขวนพื้นไม้ ข้ามแม่น้ำปัตตานี ตรงกม. 32 ที่ชาวบ้านใช้งานกันอยู่จริงๆ แต่เดิมชาวบ้าน 2 ฝั่งแม่น้ำต้องข้ามแพ ลำบากลำบนจนมีการรวมแรงรวมใจสร้างสะพานขึ้นมา ก็เลยเป็นที่สนใจใครผ่านมาก็แวะมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกัน

บ่อน้ำร้อนบ้านนากอ

บ่อน้ำพุร้อนที่อยู่ลึกลับเข้าไปจากถนนใหญ่พอสมควร แต่ก็มีป้ายบอกทางเป็นระยะๆ เข้าไปวันธรรมดาไม่เจอผู้คนเลย แต่สถานที่มีการพัฒนาไว้ดีมาก มีส่วนบ่อน้ำร้อนที่ไปนั่งแช่เท้าได้ แล้วก็เดินไปไม่กี่ก้าวก็เป็นลำธาร มีน้ำตกเล็กๆนั่งแช่น้ำเย็นต่อได้เลย เจอร้านขายน้ำ 1 ร้านถามน้องคนขายว่าวันหยุดมีคนมาเที่ยวบ้างหรือเปล่า น้องบอกว่าวันหยุดคนเยอะ ถ้ามีเวลาก็แวะเข้ามาได้นะ

ทะเลสาบฮาลาบาลา

ถ้ายังมีเวลาแนะนำว่ามาถึงยะลาแล้ว น่าจะได้มาชื่นชมป่าฮาลาบาลา สายเทรคกิ้งต้องใช้เวลา 2-3 วันมีเทรลเดินป่าฮาลาบาลา ป่าที่ได้ชื่อว่าอุดมสมบูรณ์ที่สุดในภาคใต้ สำหรับคนเวลาน้อยๆ ก็เลือกนั่งเรือล่องในทะเลสาบฮาลาบาลาได้ ถ้ามาลงเรือแต่เช้าๆอาจได้เห็นนกเงือกบินโฉบตามเขา ทะเลสาบจะอยู่เขตพื้นที่อ.ธารโตแล้ว คือเลยอัยเยอร์เวงขึ้นไปหน่อย

หาข้อมูลว่าจะไปลงเรือที่ไหน เห็นรีวิวว่ามีคนไปที่”ท่าเรือตาพะเยา” พวกเราก็เอาที่นี่แหละ แต่ไม่ได้โทรไปก่อน และไปวันธรรมดา ก็เลยไม่เจอใคร แต่มีป้ายโฆษณาล่องเรือแขวนอยู่ ก็โทรไปตามนั้นเลย รอไม่นานพี่เขาก็ขี่รถมา ตกลงราคาได้ที่ 600 บาท ล่องทริปโคตรสั้น 1 ชั่วโมง เพราะมาบ่ายแล้ว ได้แค่นั่งเรือชมวิว ไปไหว้พระที่เกาะทวดแล้วกลับ มีทริปยาวกว่านั้น แบบครึ่งวันแวะให้เดินเทรลสั้นๆไปน้ำตกก็มี ทริปยาวพานั่งเรือเข้าไปถึงจุดเดินป่าฮาลาบาลา เข้าไปนอน 1 คืน 2 คืนก็มี

เรือเราลำไหน แน่นอนว่าคือลำขวา

เกาะทวด เดิมเป็นเนินเขากลางหมู่บ้านมี”ศาลทวดบูเกี๊ยะ”ที่ชาวบ้านกราบไหว้กันมาเก่าแก่ ตอนนี้กลายเป็นเกาะหลังสร้างเขื่อนบางลาง บนเกาะมีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดน อ.ธารโต ตั้งฐานปฏิบัติการคอยดูแลความปลอดภัยอยู่ด้วย

หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา ๑๐

ชุมชนผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยอีกกลุ่มที่เคยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ไถ่ถามได้ความว่า ไม่นับเป็นพวกเดียวกันกับหมู่บ้านปิยะมิตร ที่เราไปเที่ยวอุโมงค์ปิยะมิตรวันก่อน แม้จะเริ่มต้นการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยมาลายูเหมือนกัน แต่ตอนหลังอุดมการณ์ต่างกัน ก็เลยแยกกัน ข้อสังเกตง่ายๆคือหมวกที่ต่างกัน ถ้าเป็นกลุ่มที่จุฬาภรณ์นี้หมวกจะเป็นทรง 5 เหลี่ยม ถ้าเป็นกลุ่มที่ปิยะมิตรจะเป็นหมวกเบเล่กลม ส่วนความแตกต่างทางอุดมการณ์อย่างไรก็ไม่ได้ถามละเอียด หลังจากตกลงหยุดการสู้รบตามสัญญาสันติภาพ 3 ฝ่าย รัฐก็ให้พื้นที่อยู่อาศัยและทำกิน ชื่อหมู่บ้านรัตนกิตติ ๒ ภายหลังฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯ ได้มีโครงการฟื้นฟูและพัฒนาชุมชน เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ดียิ่งขึ้น จึงพระราชทานชื่อหมู่บ้านว่าจุฬาภรณ์พัฒนา มีหลายๆที่ตามเลขลำดับ

ติดต่อคนนำเที่ยวชมที่ร้านค้า จ่ายค่าดูแลสถานที่คนละ 50 บาท จะมีคนพาเที่ยวชม (ไม่งั้นเข้าไม่ได้นะ ล็อคหมดทุกที่) เริ่มต้นที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ ไกด์เป็นลูกหลานรุ่นสอง บอกเล่าเรื่องราวต่างๆได้ละเอียดยิบ จากนั้นต้องขับรถออกไปเพื่อไปดูต้นไม้พันปี ที่ต้องมีคนพาไปเพราะปิดประตูล่ามโซ่ไว้ เป็นการเดินชมป่าที่อุดมสมบูรณ์บนทางปูนอย่างดี มีคนนำทางเล่าเรื่องราวต่างๆ แนะนำพืชพันธุ์ให้รู้จัก ไฮไลต์คือต้นไม้ยักษ์ คือต้นสมพงษ์ขนาดใหญ่ โคนต้นและรากแผ่กว้างกว่า 120 ตร.ม.

ฆูนุงซีลีปัต

ชมทะเลหมอกเบตงไม่ได้มีที่สกายวอร์คอัยเยอร์เวงเท่านั้น ยอดเขาฆูนุงซีลีปัต ก็เป็นที่จุดที่ชมทะเลหมอกได้สวยงามกับวิว 360 องศา แต่ต้องใช้แรงกายและแรงใจมากกว่าสกายวอร์คที่มีลิฟต์มีบันได จะขึ้นยอดเขาฆูนุงซีรีปัตต้องเดินเท้าขึ้นเขา ระยะทางแค่ 800 ม. แต่ชันตลอดทาง อย่าเรียกว่าเดินให้เรียกว่าโหนเชือกขึ้นดีกว่า ถ้านอนในตัวเมืองเบตงก็ออกเดินทางแต่เช้ามืดเหมือนทัวร์ไปสกายวอร์ค และต้องเผื่อเวลาไต่ขึ้นยอดอีกอย่างน้อยครึ่งชม. ทางขึ้นยอดเขามี 3ทางต้องผ่านพื้นที่ของเอกชน เท่าที่ถามมาทางขึ้นที่ง่ายสุดคือผ่าน ภูนภาแคมปิ้ง ถ้าไม่พักที่นี่ก็เสียค่าผ่านทางเล็กน้อย แต่มานอนที่นี่สักคืนดีที่สุด บรรยากาศดี อากาศดี

ไม่ทันแสงแรก แต่เห็นวิวนี้ก็มีพลังเหนี่ยวเชือกเฮือกสุดท้าย

ยอดฆูนุงซีลีปัตสูงจากระดับน้ำทะเล 607 เมตร มีพื้นที่ราบยอดเขาไม่กว้างนัก ไม่แน่ใจว่ามีการควบคุมจำนวนคนขึ้นยังไงหรือเปล่า เราเลือกที่จะขึ้นไปในวันกลางสัปดาห์ ก็เลยไม่ต้องเบียดกับใคร ยอดเขาเป็นของเรา 2 คน แนะนำให้เริ่มขึ้นแต่มืด ก่อน 05:30 เดินเรื่อยๆ โหนเรื่อยๆ เหนื่อยก็หยุด ให้ขึ้นถึงด้านบนก่อน 6 โมงเช้า ถ้าทันพระอาทิตย์ขึ้นจะสวยมาก ในวันที่โขคดี ทะเลหมอกแน่นๆ ฟ้าเปิด มองไปจะเห็น สกายวอร์คอัยเวอร์เวงอยู่ไม่ไกล คนชอบทะเลหมอก นั่งชมวิวได้จนกว่าแสงอาทิตย์จะสาดเต็มๆ ควรรีบลงเพราะไม่มีร่มไม้ให้หลบ ปกติจะมีบาริสต้าขึ้นมาขายเครื่องดื่มร้อนๆยามเช้า วันที่เราไปพี่แกไม่มา เราก็เลยนั่งจิบน้ำเปล่าชมวิวจนพอใจ แล้วไต่ลงมาก่อนจะร้อนจนละลาย

ยังมีที่ให้แวะเที่ยวอยู่อีก อย่างน้ำตกละอองรุ้ง หรือเข้าไปดูหมู่บ้านทำกาแฟโบราณ กม. 36 ที่ชาวบ้านปลูกกาแฟแล้วมาแปรรูปเองแบบพื้นบ้านด้วยวิธีการตำ ถามชาวบ้านแล้วเขาว่าถ้าอยากดูต้องไปแต่เช้าๆ เขาตำกันตอนเช้า หรือสายลุยก็ไม่น่าพลาด ล่องแก่งอัยเยอร์เวง

กินอะไรในเบตง

เบตงมีไก่เบตงเป็นของขึ้นชื่อ เป็นไก่พันธุ์แลนชานที่มาจากมณฑลกวางตุ้ง เลี้ยงแบบธรรมชาติ เนื้อจะนุ่มหนังจะกรอบเป็นเอกลักษณ์ มีขายแทบทุกร้าน แต่ร้านไหนจะไก่เบตงแท้ก็ไม่รู้นะ ปลานิลสายน้ำไหลก็เป็นปลายอดนิยมมีขายหลายร้าน กบภูเขาตัวใหญ่ก็หากินได้ ผักน้ำก็เป็นผักที่แนะนำให่สั่งกินกันสะอาดกรอบอร่อยเพราะปลูกในน้ำ อาหารแนะนำส่วนมากเป็นอาหารจีน แต่อาหารใต้อย่างแกงส้มใต้ก็มี ร้านแนะนำมีเยอะมาก เท่าที่ได้กินยังไม่ถึงครึ่งของที่แนะนำกันมาเลย

ไทซีฮี้ : เปิดทุกวันตั้งแต่ 04:00
ร้านติ่มซำเจ้าดังของเบตง พิกัดอยู่ใกล้หอนาฬิกา ร้านดังคนก็เลยเยอะทัวร์ลงด้วย แต่ก็พอหาที่นั่งได้ ติ่มซำมีเยอะอร่อยราคาไม่แพง เราไม่ถนัดกินอะไรเช้าๆ เลยชิมได้ไม่กี่อย่าง จานที่ต้องชิมเพราะแปลกคือ จี้ฉ่องฝัน เป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวราดซีอิ๊วโรยงา เฮียเจ้าของแนะนำให้กินคู่กับซุปกระดูกหมู

สุจินต์โภชนา 2 : เปิดทุกวันตั้งแต่ 06:00
ร้านเก่าแก่อีกร้านของเบตง ร้านที่ไปอยู่ใกล้หอนาฬิกาเห็นเลข 2 น่าจะเป้นสาขา 2 ขายบะกุ๊ดเต๋ เสิร์ฟพร้อมปาท่องโก๋ กับ บะหมี่เบตง ที่คลุกซ็อสสีเข้ม ดูวิธี่ทำคือลวกเส้นแล้วตักซ็อส 2-3 อย่างลงไปคลุกกับเส้น โปะด้วยหมูแดงหมูกรอบตามสั่ง อร่อยใช้ได้ เกี๊ยวกุ้งก็ดี ใหญ่เต็มปากเต็มคำ

เจริญข้าวมันไก่เบตง : เปิด 06:00 – 14:00
ไปถึงเบตงต้องไปหาชิมไก่เบตง ร้านเจริญขายไก่เบตงมา 3 รุ่นแล้ว น่าจะเชื่อถือได้ว่าไก่เบตงแท้แหละ จานแรกสั่งแบบจานรวมมา ไก่เบตง หมูแดง หมูกรอบ อร่อยหมดเกลี้ยง เลยซ้ำด้วยข้าวมันไก่อีกจาน ไก่เบตงมันนุ่มๆมันๆ ละมุนลิ้นใช้ได้เลย ร้านดังคนเยอะ แต่เขาหาที่นั่งให้ได้แหละ รีบไปก่อนบ่าย 2 ระวังไก่หมด

หมี่หน่ำ : เปิด 06.00-15.00
ร้านก๋วยเตี๋ยวน้ำใส ลูกชิ้นเนื้อ ลูกชิ้นปลา เนื้อเปื่อย เต้าหู้ยัดไส้ เขาว่ากันว่าเนื้อเปื่อยเด็ดมาก เราไปบ่ายแล้วเนื้อเปื่อยหมด ที่ร้านบอกว่าหมดตั้งแต่ 9 โมงเช้า!! อด ได้ชิมแค่ลูกชิ้นเนื้อ ซึ่งอร่อยมาก เต้าหู้ยัดไส้ก็อร่อยดี โต๊ะอื่นมีสั่งก๋วยเตี๋ยวใส่แต่เต้าหู้ยัดไส้ก็มี ร้านอยู่ติดกับเจริญข้าวมันไก่เลย

บ้านคุณชาย : เปิด 10:00 – 20:30
ร้านอาหารที่อยู่ห่างหอนาฬิกาไปหน่อย แต่พอเดินไหว เป็นหนึ่งในร้านแนะนำ ก็ไม่ผิดหวัง มา 2 คนสั่งได้แค่ 3 อย่าง อร่อยทุกอย่าง แกงส้มดอกดาหลา ผักน้ำผัดน้ำมันหอย กบภูเขาคั่วพริกเกลือ ราคาภัตตาคารแต่อาหารก็จานใหญ่แหละ คุ้มค่าควรไปลอง

น้ำแข็งใสร้านเหลือง : เปิดทุกวัน 10:00 – 22:00
ร้านขนมหวานเจ้าดังของชาวเบตง ชื่อร้านเหลืองเพราะเป็นบ้านเก่าทาสีเหลืองอยู่ริมคลองเบตง ขายขนมปังปิ้ง เครื่องดื่ม น้ำแข็งใส พิเศษที่เลือกน้ำเชื่อมได้ว่าน้ำเชื่อมใสธรรมดา หรือน้ำเชื่อมดำที่ทำมาจากน้ำตาลอ้อยเคี่ยว หรือจะราดน้ำหวานสีๆก็ได้อีก เดินเที่ยวเบตงร้อนๆมาแวะกินน้ำแข็งใสชื่นใจดี

Hlangkha Coffee Stand : เปิดทุกวัน 8:00 – 20:00
ร้านกาแฟที่อยู่ชั้นล่างของ Hlangkha Hostel – หลังคา โฮสเทล เป็น Slow bar น่ารัก มีเม