เชียงตุง เมืองลา เมื่อหน้าฝน

Trip Aug. 2007 : KyaungTung 

KyangTung Photo Gallery : http://www.pbase.com/ton_manuswee/kyiang_tung_again

ยามหน้าฝนมาเยือน ทำให้นึกเห็นภาพท้องทุ่งนาเขียวขจีไปเสียทุกครั้ง………เส้นทางสายเชียงตุง-เมืองลา หนึ่งในเส้นทางมีชื่อเรื่องทิวทัศน์สวยสดชื่นของท้องนาเขียวขจีในยามหน้าฝน ชาวบ้านที่มีอัธยาศัยดี และมีวิถีชีวิตเรียบง่าย ครั้งก่อนไปเที่ยวเชียงตุงหน้าหนาว คราวนี้ลองไปเที่ยวหน้าฝนดูบ้าง แถมจะได้เลยไปเที่ยวเมืองลา เมืองที่ติดชายแดนจีนด้วย

เชียงตุง เมืองสำคัญเมืองหนึ่งในรัฐฉานตะวันออกของประเทศพม่า อยู่ห่างจากชายแดนไทยด่านแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก ประมาณ 168 กม. ชาวเมืองเชียงตุงส่วนมากเป็นชาวไต หรือ ชาวไท เรียกว่าเป็นชุมชนชาวไตเลยทีเดียว มีชาวพม่าอาศัยอยู่บ้างแต่ก็นับว่ามีจำนวนน้อย มากที่สุดจะเป็นชาวไทขึนหรือไทเขิน นอกจากนั้นตามหมู่บ้านต่างๆรอบเมืองเชียงตุง ไปจนถึงเมืองยองเมืองลา มีทั้งชาวไทใหญ่ ไทลื้อ ไทยอง เชียงตุงเป็นเมืองเล็กในหุบเขา การเดินทางต้องนั่งรถข้ามเขาคดเคี้ยวคล้ายกับการเดินทางไปจ.แม่ฮ่องสอน แต่ลองประมาณดูแล้ว จำนวนโค้งไปจ.แม่ฮ่องสอนของเรายังเหนือกว่าอยู่หลายขุม ไม่อย่างนั้นเชียงตุงคงเปิดบริการแจกประกาศนียบัตรแข่งกับบ้านเราไปแล้ว

ถนนหนทางในยุคที่พม่าเปิดประเทศและเริ่มสนับสนุนการท่องเที่ยวแล้วนั้นได้รับการซ่อมแซมดีทีเดียว ใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมงกว่า ก็ไปถึงเชียงตุงได้สบายๆ รถตู้ที่เราเช่ามาจากแม่สายวิ่งไปตามถนนลาดยางที่ตัดขนานไปตามลำน้ำขึน ไต่ความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ผ่านหมู่บ้านชาวไตและชาวเขาหลายหมู่บ้าน ระหว่างทางจะต้องเจอกับด่านไปตลอด ทั้งด่านรัฐ ด่านราษฎร์ ด่านเอกชน ทั้งมีใบเสร็จและไม่มีใบเสร็จ ก็อย่างที่ทราบกันว่าประเทศพม่าประกอบด้วยหลายชนเผ่า ต่างก็มีกองกำลังและมีอำนาจในเขตพื้นที่ของตน การจะเดินทางผ่านก็ต้องเสียค่าผ่านทางกันหน่อย มาคราวนี้ตั้งอกตั้งใจนับจำนวนด่าน รวมแล้วมีถึง 12 ด่านทีเดียว รวมด่านตรวจคนเข้าเมืองด้วย ซึ่งคนเดินทางทุกคนต้องเอาใบผ่านแดนไปประทับตราให้ครบ ไม่เว้นแม้แต่ชาวพม่าเอง

แต่จุดพักรถจริงๆ สำหรับเข้าห้องน้ำหรือทานอาหารกลางวัน จะเป็นเมืองพยาก (PYAK) หรือบ้านท่าเดื่อ ซึ่งอยู่ประมาณกลางทาง แล้วแต่จะเลือกจอด แต่ขอกระซิบว่า จากที่ลองมาแล้วทั้ง 2 ที่ อาหารที่บ้านท่าเดื่อจะถูกปากมากกว่า พวกเราตั้งฉายาเมืองพยากซะใหม่ว่า เมืองกินยาก ก็อาหารมันกินยากจริงๆ คือยากที่จะให้รู้สึกถึงความอร่อย

เมืองลา อดีตแห่งแสงสี

เมืองลา เมืองในเขตปกครองพิเศษที่ 4 ของพม่า เป็นเมืองชายแดนที่ติดกับเมืองต้าล่อ แคว้นสิบสองปันนา ของประเทศจีน รัฐบาลกลางพม่าอนุญาตให้จัดเป็นเขตปกครองพิเศษหนึ่งในสี่เขตของรัฐฉานจากการเจรจาระหว่างทางการพม่ากับกองกำลังติดอาวุธเมืองลา ผู้ปกครองเมืองลาเป็นคนเชื้อสายจีนซึ่งมีอำนาจบริหารเด็ดขาด นักลงทุนชาวจีนจึงมาลงทุนเปิดโรงแรม คาสิโน และสถานบันเทิงกันมากมาย  

การเดินทางไปเมืองลา ต้องนั่งรถต่อจากเมืองเชียงตุงไปอีกราวชั่วโมงครึ่งกับระยะทางอีกกว่า 80 กม. ผ่านด่านอีก 3 ด่าน ซึ่งด่านสุดท้ายต้องจ่ายค่าเข้าเมืองลา 36 หยวนต่อคน!! ชาวเมืองดั้งเดิมของเมืองลาเป็นชาวไทลื้อ และชาวเขาเผ่าต่างๆ แต่ในตัวเมืองปัจจุบันเต็มไปด้วยชาวจีน พูดภาษาจีน ใช้เงินหยวน ชาวไทลื้อเองกลับไปอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านต่างๆรอบนอกเมือง หลายปีก่อนช่วงที่เมืองลารุ่งเรืองสุดขีด ทั้งเมืองเต็มไปด้วยโรงแรม ผับ บาร์ คาสิโน ร้านสินค้านำเข้าจากประเทศจีน คึกคักไปด้วยแสงสีและเงินหมุนเวียนมหาศาล วันนี้คาสิโนที่เมืองลาได้ปิดตัวลง ด้วยเหตุผลที่ว่าชาวจีนโดยเฉพาะข้าราชการจีนเองข้ามด่านมาเล่นการพนันกันมากเกินไป ทางรัฐบาลจีนเกรงว่าชาวจีนจะถูกมอมเมาจนหมดตัวกันซะก่อน จึงกดดันให้คาสิโนปิดตัวลงพร้อมกับการปิดด่านจีน-พม่าไปซะเลย คิดแล้วก็น่าภูมิใจที่รัฐบาลจีนยังตะหนักในผลร้ายของการพนันที่มีต่อพลเมืองของตน ผิดกับอีกหลายๆประเทศที่ทำเป็นปิดตาข้างหนึ่งไม่รู้ไม่เห็นว่ามีบ่อนอยู่แถวชายแดนมากมายขนาดไหน!!!

เมืองลาในวันนี้ มองดูเงียบเหงา มีตึกเก่าทุดโทรมอยู่แถบทุกมุมถนน ส่วนมากเป็นโรงแรมและคาสิโนที่ปิดตัวลง ร้านค้าลักษณะเป็นตึกแถว ขายของนำเข้าจากจีนก็ยังมีเปิดอยู่หลายร้าน ขายเครื่องใช้ไฟฟ้า, ขนมต่างๆ ร้านโทรศัพท์มือถือ ก็มีให้เห็นหลายร้าน โรงแรมที่เราพักเป็นโรงแรมสภาพปานกลางชื่อเฟรนด์ชิพ อยู่ไม่ไกลจาก วัดจินตะ วัดนี้เหมือนเป็นสัญญลักษณ์ความเป็นพุทธที่ชัดเจนแห่งเดียวของเมืองลาก็ว่าได้ เราสามารถมองเห็นเจดีย์สีทองอร่ามของวัดจินตะได้ชัดเจนจากตัวเมือง เมื่อขึ้นไปบนวัดสามารถมองลงมาเห็นตัวเมืองลาได้อย่างชัดเจนเช่นกัน

จุดเด่นของวัดจินตะนอกจากเจดีย์สีทองที่มีภาพพุทธประวัติอยู่บนผนังรอบเจดีย์แล้ว ด้านหน้าเจดีย์ยังมีรูปปั้นพระพุทธรูปยืนชี้นิ้วมายังตัวเมือง ลักษณะเหมือนกับพระชี้นิ้วที่วัดจอมสักเมืองเชียงตุง เรื่องพระชี้นิ้วนี้มีเรื่องเล่าถึงเหตุผลการสร้างต่างกันอยู่พอสมควร หากถามชาวพม่าจะได้คำตอบว่าพระชี้นิ้วไปที่เมืองใด เมืองนั้นจะเจริญรุ่งเรือง หากไปถามชาวไทหรือชาวไต ซึ่งเป็นชนชาติที่ตกอยู่ใต้การปกครองของพม่า ก็จะได้คำตอบว่าพม่าสร้างพระชี้นิ้วมาเพื่อเป็นเคล็ดว่า จะชี้นิ้วสั่งให้ทุกชนเผ่าอยู่ใต้อำนาจการควบคุมได้ ก็ไม่รู้ว่าเหตุผลใดจะถูกต้อง

ร้านอาหารในเมืองลาเป็นลักษณะแบบร้านอาหารจีนทั่วไป ต่างกันตรงที่ ที่นี่ขายอาหารป่ากันอย่างเปิดเผย สัตว์ป่าตัวเป็นๆวางกรงกันที่หน้าร้านให้เลือกเลย มีทั้งตัวตุ่น เต่า ตุ๊กแก งู บางตัวหน้าตาคล้ายพี่ตะกวดบ้านเราก็มี เห็นแล้วรู้สึกขนลุก พวกเราสั่งกันแต่พวกหมูไก่ปลา รีบกินรีบไปกันดีกว่า หลังอาหารไปเดินชมตลาดกลางคืนกันหน่อย ที่ตลาดมีร้านอาหารขายแบบตลาดโต้รุ่งบ้านเราอยู่หลายร้าน ร้านขายผลไม้ก็มีเปิดอยู่ มีคาสิโนพื้นบ้านที่ยังเปิดอยู่ 1 แห่ง รอบๆตลาดเป็นตึกแถวมองเห็นเป็นร้านโคมเขียวโคมแดงทั้งสิ้น น้องๆนั่งออกันเต็มหน้าร้าน ได้เห็นการค้าอาหารป่ากันมาก่อนอาหาร หลังอาหารก็มาเห็นการค้าเนื้อสดเข้าอีก

ตลาดเช้าเมืองลา คือที่เดียวกับตลาดเมื่อคืนนั่นเอง อยู่บริเวณกลางเมือง มีขนาดกว้างขวางใหญ่โต ขายทั้งของสดของแห้ง พวกเราเริ่มต้นกันที่มื้อเช้าในบริเวณตลาด เป็นน้ำเต้าหู้ ปาท่องโก๋ ติ่มซำ ซาลาเปา อาหารคุ้นเคยของคนไทย เฝอเวียดนามก็มีขาย ทั้งหมดซื้อขายกันด้วยเงินหยวน อิ่มกันครบถ้วน ก็ออกเดินชมตลาดผ่านบริเวณที่ขายอาหารสด เนื้อหมู เนื้อไก่ที่มีทั้งไก่ชำแหละแล้วและไก่เป็นๆ ปลาสดๆในบ่อก็มี เดินเลยออกไปอีก มีผักผลไม้หลายอย่างเหมือนบ้านเรา ผลไม้จากจีนเช่นลูกไหน ลูกพลับ แอ๊ปเปิ้ล ก็มีให้เห็น เดินเลยออกไปอีกฝั่งของตลาด ก็พบกับตลาดค้าสัตว์ป่าตัวเป็นๆกันอีกครั้ง ทั้งตัวตุ่น ตัวนิ่ม ตุ๊กแก แม้กระทั่งลิง!!! ทุกตัวอยู่ในกรง วางให้เลือกซื้อกันตามรสนิยม อุ้งตีนหมีก็มีวางขาย เศร้าใจกันอีกครั้ง ขอไปสงบจิตใจกันที่วัดดีกว่า

วัดอีกวัดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวนิยมไปสักการะคือ วัดพระนอน องค์ใหญ่ศิลปะแบบพม่า ตั้งอยู่ใกล้ๆตลาดเช้านั่นเอง และต้องรับเอกสารผ่านเมืองที่สำนักงานท่องเที่ยวข้างๆวัดด้วย

หลังจากนมัสการพระนอน จุดต่อไปที่พวกเราแวะไปชมคือ ด่านพรมแดนพม่า-จีน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองเท่าไหร่นัก ที่บริเวณด่านมีการสร้างซุ้มประตูสวยงามใหญ่โต มีห้องแถวร้างอยู่ 5-6 ห้องคงจะเคยเป็นร้านขายของ แต่วันนี้เงียบเหงาไร้ผู้คน พวกเราเดินผ่านซุ้มเข้าไปถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกับหลักเขตแดนพม่า-จีน นึกแล้วก็เสียดาย เพราะเส้นทางสาย ท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง-เมืองลานี้ สามารถเดินทางต่อไปถึงเชียงรุ้งหรือสิบสองปันนาได้ด้วยระยะทางเพียงร้อยกว่ากิโลเมตรเท่านั้น จึงน่าจะเป็นเส้นทางการค้าสำคัญ เชื่อมต่อ 3 เชียง คือ เชียงราย-เชียงตุง-เชียงรุ้ง ได้เป็นอย่างดี

Check point to China

ร่ำลาเมืองลาในช่วงก่อนเที่ยง เราจะไปนอนเชียงตุงกันคืนนี้ เมื่อรถเริ่มออกจากเขตเมืองลา รู้สึกเหมือนเดินทางกลับจากประเทศจีนเข้าพม่า ทั้งๆที่ก็ อยู่ในพม่านี่แหละ อาคารคอนกรีตหายไป เริ่มมองเห็นทุ่งนาเขียวขจีไปตลอดสองข้างทาง บางช่วงเป็นสวนยางพารา ซึ่งชาวจีนเป็นผู้มาบุกเบิกและลงทุนไว้ โตแล้วก็ส่งขายจีน ออกจากตัวเมืองมาไม่นานผ่านหมู่บ้านชาวไทลื้อ ชาวบ้านและเด็กๆโบกมือยิ้มแย้มให้เรา จนเราอดที่จะแวะลงไปพูดคุยและเยี่ยมชมบ้านของชาวไทลื้อไม่ได้

สาวไทลื้อใส่เสื้อเข้ารูปคอกลมผ่าอกหรือผ่าข้างสีสันสดใส นุ่งซิ่นลายดอกยาวกรอมเท้า ในขณะที่ผู้เฒ่าผู้แก่ยังคงสวมเสื้อสีพื้นๆตามวัฒนธรรมดั้งเดิม บ้านชาวไทลื้อเป็นลักษณะบ้านไม้ยกสูง หลังคาลาดต่ำมีจั่วสูง มีหลังคาซ้อนมุงชายคารอบๆอีกชั้นหนึ่งจนแทบมองไม่เห็นฝาบ้าน เสาบ้านวางบนก้อน หลังคามุงด้วยดินขอ (ดินเผา) ซ้อนเป็นชั้นๆ ปลูกติดๆกันไป วัดก็มีลักษณะหลังคาซ้อนกันหลายชั้นเช่นกัน ในช่วงวันพระใหญ่เช่นวันเข้าพรรษา พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยชาวไทลื้อต่างไปปูเสื่อนั่งถือศีลกันในโบสถ์เต็มไปหมด เมื่อพวกเราเข้าไปเพื่อกราบนมัสการองค์พระประธาน พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยต้อนรับขับสู้พวกเราอย่างดี นำน้ำดื่ม ขนมต่างๆเช่น ขนมฟักทอง ขนมต้ม มาแจกจ่ายพวกเราถ้วนหน้า ชาวไทลื้อพูดภาษาคล้ายภาษาไทยเหนือของเรา จึงพูดคุยกันได้รู้เรื่อง  ก่อนลาจาก แม่อุ๊ยยังย้ำเตือนให้พวกเราแวะมาเที่ยวอีก เพราะเมืองไทยและเมืองลาอยู่ใกล้กันแค่นี้เอง

วัดรูปแบบไทลื้อ สวยงามกลางเขา

ผ่านหมู่บ้านชาวไทลื้อมาอีกนิดเดียว มองเห็นตึกสีขาวสร้างอยู่ติดๆกันเป็นหมู่ สอบถามได้ความว่า เป็นเมืองม้า คาสิโนย้ายจากเมืองลามาสร้างใหม่ที่เมืองม้านี่เอง ยังพอมีนักท่องเที่ยวที่ข้ามแดนจากไทยทางแม่สาย อุตส่าห์นั่งรถข้ามเขามาร่วม 4-5 ชม.เพื่อมาเล่นการพนันกันที่นี่ แต่ส่วนมากเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน พวกเราไม่สนใจที่จะแวะเข้าเยี่ยมชมคาสิโนเมืองม้ากัน ด้วยว่าไม่นิยมเสี่ยงดวง เราจึงมุ่งหน้าต่อไปเชียงตุงกัน ระหว่างทางมองเห็นนาขั้นบันไดสีเขียวสดสลับไปกับสวนยางตลอดทาง

เชียงตุง เมืองสามจอม เจ็ดเชียง เก้าหนอง สิบสองประตู

หลับๆตื่นๆกันมาเกือบ 2 ชม. สองข้างทางเริ่มเปลี่ยนเป็นท้องทุ่งนา ไม่มีแบบขั้นบันไดแล้ว แสดงว่าใกล้ถึงเมืองเชียงตุงแล้ว การมาเที่ยวเมืองเชียงตุงก็คงหนีไม่พ้นเข้าวัด เพราะมองไปทางไหนก็จะพบแต่วัด สมกับอีกฉายาหนึ่งว่า เชียงตุงเมืองร้อยวัด หากไม่รู้จะเริ่มต้นที่ไหน ก็ให้เริ่มจาก วงเวียนวัดพระเจ้าหลวง

วงเวียนวัดพระเจ้าหลวง (จากซ้าย : วัดพระเจ้าหลวง วัดหัวข่วง วัดพระแก้ว)

วัดพระเจ้าหลวงหรือวัดมหาเมี๊ยตมุนี เป็นวัดหลวงที่ชาวเชียงตุงให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก  วัดพระเจ้าหลวงนี้สร้างโดยเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง ผู้ปกครองเชียงตุงองค์สุดท้าย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป หล่อด้วยโลหะผสมทองคำ มีพระพักต์งดงาม ลักษณะคล้ายคลึงกับพระมหามุนีที่เมืองมัณฑะเลย์

วัดพระเจ้าหลวง หรือวัดมหาเมี๊ยตมุนี

ฝั่งตรงข้ามวัดพระเจ้าหลวงด้านทิศตะวันตก คือ วัดพระแก้ว ภายในประดิษฐานพระแก้วมรกต และพระพุทธรูปศิลปะไทเขินหลายองค์ ซึ่งจะเปิดให้เข้านมัสการเฉพาะวันสำคัญทางศาสนา

วัดพระแก้ว

ถัดจากวัดพระแก้วไปอีกฝั่งถนนคือ วัดหัวข่วง เป็นพระอารามหลวง มีซุ้มประตูซ้อนกันเป็นชั้นๆตามแบบศิลปะไทเขิน ภายในวัดเป็นสถานที่เรียนหนังสือของเณร เดินเข้าไปจะเห็นเณรน้อยยิ้มอายๆหลบตามบานประตูหน้าต่างอยู่เสมอ

เดินเลยผ่านโรงแรมนิวเชียงตุงไปไม่ไกล จะพบกับ ตำหนักของเจ้าบุญวาทย์ ผู้เป็นราชบุตรของเจ้าก้อนแก้วอินแถลง ซึ่งถูกทิ้งร้างเนื่องจากต้องหนีภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ  

ตำหนักเจ้าบุญวาทย์ มองเห็นพระชี้นิ้ววัดจอมสักบนเขาด้านหลัง

ฝั่งตรงข้ามกับตำหนักมีทางแยกเดินขึ้นเนินไป วัดพระธาตุจอมคำ มีองค์พระธาตุที่ทำด้วยทองคำสูงถึง 226 ฟุต บนยอดประดับด้วยเพชรพลอย ด้านข้างพระธาตุมีระเบียงมองออกไปเห็นเมืองเชียงตุงและพระชี้นิ้วแห่งวัดจอมสักอยู่ฝั่งตรงข้ามอย่างชัดเจน แค่แถวนี้ก็มีวัดให้เข้าไปถึง 4 วัดแล้ว

พระชี้นิ้ว วัดจอมสัก

วัดอื่นๆที่น่าสนใจ คงต้องเรียกรถรับจ้างพาไป ซึ่งมีทั้งมอเตอร์ไซต์รับจ้างและรถสามล้อเครื่อง เรียกเหมาให้พาไปได้ทั่วทุกวัด วัดที่น่าไปแวะชมอีก ก็เช่นวัดยางโกง ที่ภายในประดิษฐานพระเกล็ดนาค ที่มีพระพักต์งดงาม ทรงเครื่องสวยงาม วัดหนองเงิน อยู่ทางทิศตะวันออกของเมือง มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่อยู่กลางแจ้ง และมีพระนอนฝีมือช่างชาวไทใหญ่

ชาวบ้านมาทำบุญที่วัดจอมมน

วัดจอมมน อยู่บนเนินเขาด้านทิศตะวันออกของเมือง ภายในอุโบสถมีพระประธานสวยงาม และยังมีพระบัวเข็มจำลอง ที่มีลักษณะกลมมนเพราะการปิดทอง เป็นองค์จำลองทำเหมือนที่วัดโผ่วด่ออูที่อินเลแต่องค์เล็กกว่า ใกล้ๆกับวัดจอมมนมีจุดน่าสนใจอีกแห่ง คือ ต้นยางใหญ่ เป็นต้นยางขนาด 9 คนโอบ มีอายุร่วม 270 ปี เชื่อกันว่าปลูกโดยเจ้าอ้าย ราชบุตรของเจ้าฟ้ากองไต เจ้าฟ้าเชียงตุงองค์ที่ 38 ถือว่าเป็นไม้หมายเมืองด้วย คือเป็นต้นไม้สัญญลักษณ์ของเมือง ศูนย์กลางเมือง รอบๆบริเวณต้นยางใหญ่ เป็นสวนร่มรื่น ที่ริมเขาเป็นจุดชมวิวเมืองเชียงตุงได้ดี

พระบัวเข็มจำลองวัดจอมมน

ไม่ไกลจากวัดจอมมน มีวัดที่เสมือนเป็นสัญญลักษณ์ของเมืองเชียงตุงอีกวัด คือ วัดจอมสัก ใครไปใครมาก็จะต้องหาโอกาสขึ้นมานมัสการ และถ่ายภาพเป็นที่ระลึกเพื่อยืนยันว่ามาถึงเมืองเชียงตุงแล้ว ที่วัดนี้มีพระพุทธรูปยืนชี้นิ้ว คล้ายกับที่เมืองลา แต่พระชี้นิ้วเมืองเชียงตุงมีความสวยงามมากกว่า พระพักต์แบบศิลปะพม่าสวยได้รูป ครองจีวรเป็นริ้วละเอียด สัดส่วนได้ขนาดต่างกับองค์ที่เมืองลาที่สัดส่วนออกจะผิดขนาดไปหน่อย พระชี้นิ้วเชียงตุงนี้ ก็ยืนชี้นิ้วลงไปยังเมืองเชียงตุง เหตุผลก็คงถกเถียงกันเหมือนที่เมืองลานั่นแหละ

เดินทางลงจากวัดจอมสักตอนบ่ายแก่ๆ พวกเราก็มาชมบรรยากาศยามเย็นของหนองตุง หนองน้ำกลางเมืองเชียงตุง บรรยากาศยามเย็นสวยงามน่านั่งพักผ่อน มองขึ้นไปบนเนินเขาด้านหนึ่งมองเห็นพระชี้นิ้ววัดจอมสัก อีกด้านหนึ่งก็เห็นองค์พระธาตุจอมคำ เห็นเป็นภาพสะท้อนในหนองตุงได้ยามน้ำนิ่งสงบ เลือกทำเลเหมาะที่ร้านน้ำชาร้านหนึ่ง นั่งเก้าอี้กับโต๊ะเตี้ยๆ ล้อมวงกันสั่งของทอดต่างๆมากินแกล้มกับน้ำชา มีทั้งซาโมซ่า กุ้งทอด ถั่วทอด ผักทอดกรอบต่างๆ นึกครึ้มสั่งเมียนม่าร์เบียร์มาจิบระหว่างชมหนองตุงค่อยๆหมดแสงก็มีความสุขไปอีกแบบ

หนองตุง กับฉากหลังเจดีย์ทองของพระธาตุจอมคำ

เช้าวันสุดท้ายในเชียงตุง พลาดไม่ได้ที่จะไปเดินชมตลาดเช้า หรือ กาดหลวงเชียงตุง เป็นกาดใหญ่กลางเมือง ผู้คนที่มาตลาดมีทั้งชาวเมืองเชียงตุงและชาวบ้านจากหมู่บ้านรอบนอก รวมทั้งชาวเขาเผ่าต่างๆก็นำของมาขายด้วย ที่กาดมีของขายทุกชนิด ตั้งแต่ของสด ผัก ผลไม้ อาหารแห้ง ไปจนถึงเสื้อผ้าสำเร็จรูป แม้กระทั่งทอง ก็ขายกันอยู่กลางตลาด ด้านริมตลาด แบ่งเป็นร้านขายอาหารยาวไปตลอดแนว มีทั้งโมฮิงก่า (ก๋วยเตี๋ยวแบบพม่า) ก๋วยเตี๋ยวแบบจีน เฝอเวียดนาม ข้าวฟื้นของชาวไทใหญ่  ด้านหน้าตลาดมีร้านขายกาแฟกับปาท่องโก๋ตัวยาวๆ ชาวเชียงตุงมักมานั่งจิบกาแฟกันตั้งแต่เช้าจนสายๆ

เวลาช่วงเช้าที่เหลือเราออกเดินสำรวจเมืองเชียงตุงกันไปเรื่อยๆ จากกาดหลวงเดินไปตามถนน มีตึกแถวชั้นเดียวเป็นร้านค้าเบ็ดเตล็ด ร้านตัดเสื้อผ้า ร้านตัดผม มีร้านขายสลากกินแบ่งมีอยู่  4 – 5 ร้าน รัฐบาลเป็นเจ้าของ ไม่มีการขายเกินราคา ไม่มีการเดินเร่ขาย มาซื้อได้ที่ร้านเท่านั้น

อีกจุดที่พวกเราแวะไปดูคือ สถูปเจ้าฟ้า เป็นที่บรรจุอัฐิของเจ้าก้อนแก้วอินแถลง และเจ้าฟ้าเชียงตุงอีกหลายพระองค์ สถูปเจ้าฟ้าอยู่ไม่ไกลจากประตูป่าแดง ประตูเมืองหนึ่งเดียวจาก 12 แห่งที่ยังหลงเหลืออยู่ของเชียงตุง หากยังสนใจวัดของเชียงตุง ก็ยังมีให้ไปชมได้อีกมากมาย เช่น วัดเมืองดีเพียงใจ วัดป่าแดง วัดเชียงยืน วัดจอมแจ้ง วัดพระเจ้าเสือ วัดพระธาตุจอมดอย เป็นต้น ที่กล่าวมาล้วนเป็นวัดที่มีความสวยงามและได้รับความเคารพนับถือ จากชาวเมืองเชียงตุง หรือจะนั่งรถออกไปตามหมู่บ้านเพื่อเยี่ยมเยียนชาวไทเขินก็จะได้สัมผัสชีวิตชาวเชียงตุงจริงๆ

สถูปเจ้าฟ้า
ศ่าสนพิมาน

หากใครมีเวลาอีกสักวัน ก็สามารถออกไปเที่ยวชมนอกเมืองได้ เช่นเที่ยวน้ำตก หรือไปเที่ยวดอยเหมย ซึ่งต้องออกนอกเมืองขึ้นเขาไปอีกประมาณ 30 กม.

เมืองเชียงตุง มีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับเมืองเชียงใหม่เชียงรายของเรามาแต่ครั้งสร้างเมือง จึงอาจนับเป็นบ้านพี่เมืองน้องกันทีเดียว แต่เชียงตุงในวันนี้ยังคงวิถีชีวิตแบบเดิมไว้ได้ อาจเป็นเพราะเหตุผลทางสังคมหรือการเมือง แต่เสน่ห์ของเชียงตุงก็คือความเป็นเชียงตุง อยากกลับไปอีกครั้งและพบกับเชียงตุงเมืองเดิมที่ชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมยังไม่ถูกละลายจนหายไปกับความเจริญที่ไหลเข้ามาอย่างไร้ขีดจำกัด….

web_ct-08
เมืองเชียงตุง

เอกสารอ้างอิง

  • สู่ดินแดนเขมรัฐ เชียงตุง : ดนัย ชนกล้าหาญ
  • กว่าจะรู้ค่า….คนไทในอุษาคเนย์ : ธีรภาพ โลหิตกุล
  • เชียงตุง ภูมิทัศน์วัฒนธรรมเมืองโบราณและองค์ประกอบของเมือง ในโครงการศึกษาศิลปวัฒนธรรมไทยในภูมิภาคอุษาคเนย์ : เกรียงไกร เกิด ศิริ, คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของชนชาติไทในรัฐฉาน กรณีศึกษา: อาคารท้องถิ่นเมืองเชียงตุง เมืองม้า เมืองลา : ผศ.ไกรทอง โชติวุฒิพัฒนา, คณะสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง
  • เรื่องเมืองเชียงตุง : อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว
  • เมืองลาริมแม่น้ำม้า : วีรพงษ์ รามากูร ประชาชาติธุรกิจ ปีที่ 29 ฉบับที่ 3692
  • http://www.tripandtrek.com

Traveler guide

# การข้ามแดน
ไม่ต้องขอวีซ่า ทำบัตรผ่านแดนที่ด่านแม่สาย สามารถใช้เดินทางไปได้ถึงเชียงตุง เมืองลา ในระยะเวลาไม่เกิน 15 วัน ใช้รูปถ่ายสี 3 รูป บัตรประชาชนตัวจริงพร้อมสำเนา บัตรผ่านแดนต้องประทับตราครบทุกด่าน กลับมาที่ด่านท่าขี้เหล็กก่อนเวลาด่านปิด 18:00น.

# การเดินทาง จากท่าขี้เหล็กไปเชียงตุงเมืองลา เดินทางได้หลายวิธี
– นั่งรถโดยสารของพม่าจากท่าขี้เหล็กไปถึงเชียงตุง ท่ารถอยู่ฝั่งพม่า
– รถแท็กซี่นั่ง 4 คนจากท่าขี้เหล็ก ไปถึงเชียงตุงราคาเหมาประมาณ 1500-2000 บาท จะมีคนมาถามเมื่อคุณเดินข้ามไป คิวรถอยู่บริเวณวงเวียนไม่ไกลจากสะพานข้ามแดน
– ติดต่อรถตู้หรือรถเช่าพร้อมคนขับจากเมืองไทยไป เดี๋ยวนี้มีหลายบริษัทฯจากทั้งเชียงใหม่และเชียงราย จัดทัวร์หรือให้เหมารถไปเชียงตุงเมืองลา
– นำรถข้ามไปเอง ต้องทำใบผ่านแดนของรถด้วยอีกต่างหาก ต้องศึกษารายละเอียดเรื่องการตรวจเอกสาร การจ่ายค่าผ่านทางให้ดี และรถขับเลนชิดขวา ต้องสลับด้านที่กลางสะพาน

 

 
 
 

มัณฑะเลย์-อินเล-พุกาม เที่ยวข้ามปี (ตอน ๓)

Trip: Myanmar NY2007 (Yangon-Bagan-Mandalay-Inle)

ตอนที่ ๓ ล่องเรืออินเล

ทริปเที่ยวพม่าข้ามปีตอนแรก | แวะย่างกุ้ง แล้วมุ่งไปพุกาม |แล้วไปตอน ๒ |เที่ยวมัณฑะเลย์ ทั้งฮาทั้งเฮทั้งเศร้า | มาต่อที่ตอน ๓ ตอนสุดท้ายที่อินเล

ยองชเว | Nyaung Shwe | ညောင်ရွှေမြို့နယ်)

สนามบินที่ใกล้อินเลที่สุดคือ สนามบินเฮโฮ (Heho Airport) ในเขตเมืองยองชเว สนามบินเล็กๆแต่นักท่องเที่ยวเยอะ เพราะอินเลกลายเป็นที่ท่องเที่ยวยอดฮิตอีกที่ในพม่า จากสนามบินเฮโฮ นั่งรถต่อไปอีกราวๆ 20 กม. เพื่อไปทะเลสาบอินเล

นักท่องเที่ยวบางคนก็นอนบนฝั่งริมทะเลสาบ แล้วใช้วิธีซื้อทัวร์เที่ยวทะเลสาบหรือเหมาเรือเที่ยวกันเอง แต่พวกเราจะเข้าไปนอนรีสอร์ทกลางทะเลสาบเลย วันนี้ก็ลงเรือแวะเที่ยวไปเรื่อยๆก่อนไปที่พัก

ทะเลสาบอินเล | Inle Lake | အင်းလေးကန်

เป็นทะเลสาบขนาดใหญ่อันดับ 2 ของพม่า อยู่ในเขตรัฐฉาน มีพื้นที 158 ตารางกิโลเมตร อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 878 รอบทะเลสาบมีชุนชนเก่าแก่คือ ชาวอินทา (Intha) อาศัยอยู่มากกว่า 200 ชุมชน บ้านชาวอินทาจะยกใต้ถุนสูงสร้างจากไม้ไผ่ บางหลังก็ปักเสาลงในทะเลสาบเลย บางหลังก็สร้างบ้านอยู่บนแพลอยน้ำ มีอาชีพเกษตรกรรมเพาะปลูกพืชผักผลไม้และทำประมง แล้วก็ทำงานฝีมือ เช่น การทอผ้าใยบัว ทำเครื่องเงิน

ชาวอินทามีเอกลักษณ์หลายอย่างที่ทำให้นักท่องเที่ยวสนใจ อย่างแรกคือคือ เทคนิคการยืนพายเรือ ใช้ขาเกี่ยวไม้พาย แล้วมือก็สามารถถือเครื่องมือจับปลาได้ ช่างเท่ห์เสียจริงๆ

ชุดแบบนี้น่าจะเป็นนักแสดง เหมือนมียูนิฟอร์ม

ชุดแบบนี้น่าจะชาวอินทาแบบไม่เสแสร้งแกล้งพายนะ

อีกเรื่องคือ การทำการเกษตรบนน้ำ หรือสวนลอยน้ำ โดยเอาโคลนใต้ทะเลสาบไปโปะไว้ที่แพวัชพืชให้มีความหนาพอสมควร จากนั้นจึงปลูกพืชบนแพนั้น ทะเลสาบอินเล ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตมะเขือเทศที่สำคัญของประเทศพม่า เพราะภูมิประเทศที่เป็นที่สูงและอากาศที่เย็นสบายทั้งปีรวมถึงแร่ธาตุจากพืชน้ำทำให้มะเขือเทศที่นี่มีชื่อเสียงในความหวานกรอบอร่อย

วัดนะเพเจา | Nga Phe Chaung Monastery | ငဖယ်ချောင်းကျောင်

ที่เรือจอดให้พวกเราลงไปที่แรกคือ ศาลากลางน้ำอายุมากกว่าร้อยปีเป็นสำนักสงฆ์ของชาวอินทา มีพระสงฆ์จำวัดอยู่ที่นี่ด้วย ในโถงกลางมีพระพุทธรูปไม้ปิดทองสวยงามมากๆนับสิบองค์ องค์พระพุทธรูปทรงเครื่อง สวมมงกุฎ เป็นรูปแบบของพระพุทธรูปของรัฐฉาน

บางคนเรียกว่าวัดแมวโดด (Jumping cat Monastery) ก็ความหมายตรงๆเลยคือวัดนี้มีแมวกระโดด ด้วยว่าที่วัดนี้เลี้ยงแมวไว้เยอะ นอกจากมาเยี่ยมชมวัดแล้ว นักท่องเที่ยวก็จะมาคอยดูแสดงโชว์เล็กๆเรียกแมวกระโดดลอดห่วง ความจริงท่านเจ้าอาวาสก็ไม่ได้ตั้งใจจะจัดแสดงโชว์อะไรหรอก แต่ท่านสอนแมวให้กระโดดตามคำสั่งได้ ก็พัฒนามาเป็นกระโดดลอดห่วง พอคนพูดต่อๆกันไป ใครมาก็จะขอให้ท่านเรียกแมวมากระโดดให้ดู ตอนนี้ท่านก็อายุมากแล้ว เลยให้คนในวัดทำโชว์ให้ดูแทน

เจดีย์ผ่องด่ออู | Phangdaw Oo Pagoda | ဖောင်တော်ဦးဘုရာ

นั่งเรือต่อมาอีกสักพักมาที่วัดผ่องด่ออู เพื่อมาดู พระบัวเข็ม พระศักดิ์สิทธิ์ของชาวอินทา มาถึงก็เย็นแล้วเกือบไม่ได้เข้าดู เข้าไปจะเห็นแท่นบูชาที่มีองค์พระบัวเข็มอันศักดิ์สิทธิ์ทั้งห้าองค์ มองเห็นรูปร่างก้อนทองกลม ๆ เพราะด้วยศรัทธาที่ท่วมท้นของชาวพม่าที่พากันมาปิดทองบูชาพระบัวเข็ม จนทองคำที่แปะหุ้มหนาปิดรูปทรงของพระพุทธรูปไปหมด (อารมณ์เดียวกับพระมหามัยมุนี)

ประเพณีแห่พระบัวเข็ม จะจัดขึ้นทุกปี ก่อนออกพรรษา 14 วัน โดยจะอัญเชิญพระบัวเข็มลงขบวนเรือการะเวกที่ แล้วแห่ไปตามชุมชนรอบทะเลสาบให้ชาวบ้านกราบไหว้ เชื่อว่าจะช่วยคุ้มครองป้องภัยและบันดาลความสุขสมบูรณ์

หมดโปรแกรมวันนี้ที่ 2 วัดในทะเลสาบอินเล ได้เวลาไปเข้าที่พัก สวนทางกับชาวบ้านที่พายเรือกลับบ้านเป็นขบวน

ระหว่างทางไปที่พัก พี่ไกด์ก็ขอพาแวะร้านค้าหน่อย เท่าที่รู้มา นักท่องเที่ยวที่นั่งเรือมาก็จะโดนพาเข้าดูงานฝีมือพร้อมขายของหลายอย่าง เช่น บ้านขายเครื่องเงิน บ้านทอผ้าใยบัว บ้านงานไม้/ต่อเรือ ของพวกเราอาจจะโชคดีที่มาเย็นมากแล้วเลยได้แวะที่เดียวคือ บ้านทำยาเส้นหรือบุหรี่พม่า ก็เข้าไปดูน้องๆทำยาเส้น แต่ไม่ได้อุดหนุนเพราะไม่มีใครสูบนะ

จากนั้นนั่งเรือออกมา พระอาทิตย์ตกพอดี ได้ชมแสงสุดท้ายบนเรือหางยาว เปลี่ยนบรรยากาศไปอีก แล้วก็แวะทานอาหารเย็นกันเลย เพราะมืดแล้ว ร้านอาหารลอยน้ำมีแต่พวกเรา 6 คน กินกันส่วนตัวที่สุดไม่มีใครเลย

วันนี้นอนเรือนพักกลางทะเลสาบ อากาศเย็นมาก ออกมาถ่ายรูปเล่นกันจนหนาวทนไม่ไหว แยกย้ายกันไปนอนล่ะ

Golden Island Cottages Hotels

ทะเลสาบอินเลยามเช้า

ตื่นเช้าออกมาชมบรรยากาศทะเลสาบอินเล อากาศหนาวๆ มีหมอกลอยอ้อยอิ่งเหนือน้ำ การเลือกมานอนในรีสอร์ทกลางทะเลสาบนับว่าเลือกถูก รวมกลุ่มกันนั่งกินอาหารเช้าพร้อมซึมซับบรรยากาศ ก่อนที่จะต้องเดินทางกลับในตอนสายๆ

ได้เวลาเก็บกระเป๋าลงเรือ ล่องกลับ ระหว่างทางก็ได้ชมวิถีชีวิตยามเช้าของชาวอินทาไปด้วย บางคนก็ออกมาหาปลา บางคนก็ออกมาเก็บผัก ตัดดอกไม้

เจอคนเรือชุดจัดตั้งแสดงว่าใกล้ถึงท่าเรือแล้ว

วัดชเวยันเป | Shwe Yan Pyay Monastery | ရွှေရန်ပြေ ဘုန်းကြီးကျောင်

ก่อนไปสนามบินเพื่อบินกลับย่างกุ้ง ได้แวะวัดอีก 1 วัด เป็นวัดที่เคยเห็นรูปจากตากล้องเทพๆบ่อยมาก กับภาพช่องหน้าต่างบานกว้างรูปวงรีกับรูปพระหรือเณร แต่ละรูปสวยๆทั้งนั้น ก็วาดหวังว่าจะได้ถ่ายรูปแบบนั้นบ้าง พอมาถึงจริงๆ ช่องหน้าต่างมี พระมี เณรมี แต่ทั้งหมดนั้นไม่ได้มาประกอบรวมกันในเฟรมเดียว เป็นคำตอบยืนยันความเชื่อของเราที่เชื่อเสมอมาว่า ภาพสวยๆส่วนมากเกิดจากการจัดตั้ง

วัดชเวยันเป สร้างด้วยไม้สัก หลังซ้อนเป็นชั้นๆ มีงานแกะสลักประดับสวยงาม เป็นวัดศิลปะแบบไทยใหญ่ชัดเจนเพราะสร้างโดยเจ้าฟ้าไทยใหญ่ของรัฐฉาน ความแปลกคือบานหน้าต่างขนาดใหญ่ที่มีรูปทรงวงรี มีพระประธานปางมารวิชัยศิลปะไทใหญ่ ลงรักปิดทองสวยงาม

ได้เวลาก็ไปสนามบินเฮโฮ เพื่อกลับย่างกุ้ง แต่ไม่มีเที่ยวบินตรงต้องไปต่อเครื่องที่มัณฑะเลย์ รวมเวลาเดินทางไปทั้งหมดราวๆ 2 ชม. บ่ายๆก็ถึงย่างกุ้ง

มีเวลาว่างตอนต่อเครื่องก็เข้าร้านกิ๊ฟต์ช็อปกันหน่อย

****

ย่างกุ้ง | Yangon | ရန်ကုန်

ไม่ได้กลับไทยวันนี้เพราะไม่มีเที่ยวบิน ต้องนอนย่างกุ้งอีก 1 คืน บ่ายวันนี้ก็เหลือเวลาครึ่งวัน เลยได้แวะเที่ยวอีกหน่อย ก็แวะเที่ยววัดตามรายทางจากสนามบินเข้าไปโรงแรม

วัดชเวตอเมียต | Swe Taw Myat Pagoda | စွယ်တော်မြတ်စေတီတေ

วัดชเวตอเมียต คนไทยรู้จักกันในชื่อ ‘วัดพระเขี้ยวแก้วจุฬามณี’ เพราะเป็นที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วจำลอง องค์เจดีย์สร้างเป็นชั้นลดหลั่นกันขึ้นไปมีเจดีย์ตรงกลาง รูปทรงเจดีย์เหมือนเจดีย์อนันดาในพุกาม โถงด้านในใต้เจดีย์ที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วจำลองสวยงามสีทองอร่าม

วัดเจ๊าต่อจี | Kyauk taw gyi Temple| ကျောက်တော်ကြီးဘုရာ

วัดเจ๊าต่อจี หรือวัดพระหยกขาวหรือพระหินขาว เป็นวัดสร้างใหม่ เคยมาแล้วตอนมาเที่ยวปี 2004 ตอนนั้นเพิ่งยกพระหยกขาวมาประดิษฐาน มาคราวนี้วัดสร้างเสร็จเรียบร้อย องค์พระพุทธรูปสูง 11 เมตรแกะสลักจากหินก้อนเดียวมีห้องกระจกกั้นเรียบร้อย

เจดีย์กาบะเอ | KaBa Aye Pagoda (world peace Pagoda) |ကမ္ဘာအေးစေတီ

เจดีย์กาบะเอ เป็นเจดีย์ใหม่ เพิ่งสร้างเมื่อปี 1952 เพื่อเป็นที่ระลึกในการประชุมประภาสสงฆ์ระดับโลก ครั้งที่ 6 โดยนายอูนุ นายกคนแรกของพม่า เป็นผู้สร้างขึ้น และใช้เป็นสถานที่ชำระพระไตรปิฎกด้วย พระพุทธรูปองค์ประธานที่อยู่ข้างในหล่อด้วยเงินบริสุทธิ์มีน้ำหนัก กว่า 500 กิโลกรัม สวยงามมาก วัดนี้ก็เคยมาแล้วครั้งหนึ่งตอนปี 2004

คืนสุดท้ายในพม่า ที่เมืองย่างกุ้ง กลับมานอนโรงแรมเดิม ได้เห็นพระเจีย์ชเวดากองยามค่ำคืนอีกครั้ง Flight กลับเมืองไทยแต่เช้าตรู่ ไปถึงสนามบินแต่มืด ร่ำลาพี่ไกด์หน้าซื่อของพวกเรา จบทริป พุกาม-มัณฑะเลย์-อินเล เที่ยวข้ามปี จากปี 2006 ข้ามมาปี 2007 อย่างเป็นทางการ ถือว่าเที่ยวครบถ้วนพอสมควรกับเวลาจ้ะ

มัณฑะเลย์-อินเล-พุกาม เที่ยวข้ามปี (ตอน ๒)

Trip: Myanmar NY2007 (Yangon-Bagan-Mandalay-Inle)

ตอนที่ ๒ เที่ยวมัณฑะเลย์ ทั้งฮาทั้งเฮทั้งเศร้า

ทริปเที่ยวพม่าข้ามปีตอนแรก | แวะย่างกุ้ง แล้วมุ่งไปพุกาม | ใช้เวลาไป 2 วันครึ่ง ช่วงเที่ยงของวันที่ 3 ก็ขึ้นเครื่องจากสนามบินยองอู มามัณฑะเลย์

มัณฑะเลย์ | Mandalay | မန္တလေ

นั่งเครื่องไม่ถึงชั่วโมงก็ถึงสนามบินมัณฑะเลย์ (Mandalay Airport at Tata Oo Township) คราวนี้รถมารับเป็นบัส 30 ที่นั่งกันเลย 6 คนนี่เลือกนั่งเลือกนอนกันตามสดะวก นั่งบัสเข้ากลางเมืองมัณฑะเลย์แล้วตื่นตาตื่นใจกว่าพุกามเยอะ เพราะเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าทางตอนเหนือของพม่า และเป็นเมืองใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศรองจากย่างกุ้ง มัณฑะเลย์นี่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เคยเป็นเมืองหลวงของพม่ามาจนถึงวันสุดท้ายของระบอบกษัตริย์

ถึงแล้วสนามบินนานาชาติมัณฑะเลย์

แผนการเที่ยวมัณฑะเลย์คลาดเคลื่อนไปหน่อยเพราะความล่าช้าของเที่ยวบินจากพุกาม วันนี้ก็น่าจะเที่ยววัดได้วัดเดียว แล้วตอนเย็นไปขึ้นเขาดูพระอาทิตย์ตกที่มัณฑะเลย์ฮิลล์ (ก็สงสัยตัวเองอยู่เหมือนกันว่าจะตามดูพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตกกันทุกวันหรือยังไง)

วัดชเวนันดอ | Shwenandaw Monastery | ရွှေနန်းတော်ကျောင်

วัดที่เลือกไปบ่ายนี้คือวัดชเวนันดอร์ วัดนี้สวยมาก เพราะสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง มีลวดลายแกะสลักสวยไปทุกมุม ทุกเหลี่ยม มามัณฑะเลย์ต้องไม่พลาดนะ

คำว่าชเวนันดอร์ แปลว่า วิหารไม้ทองคำ ด้วยคำร่ำลือว่าสมัยก่อนนั้นด้านนอกแปะทองเหลืองอร่าม แต่มาถึงปัจจุบัน เหลือเห็นแต่ผิวไม้สักทองก็ไม่น่าแปลกใจ ผู้สร้างเรือนไม้แกะสลักสวยงามนี้คือพระเจ้ามินดง สร้างเป็นที่ประทับของพระองค์เอง ดังนั้นความจริงก็คือเป็นตำหนักในวัง เลยไม่น่าแปลกใจที่จะสลักเสลาลวดลายสวยงามขนาดนี้ เมื่อพระเจ้ามินดงสวรรคต พระเจ้าสีป่อผู้เป็นพระราชบุตรขึ้นครองราชย์ ก็สั่งให้รื้อวังของท่านพ่อมาประกอบใหม่ด้านนอกพระราชวังหลวง โดยมอบให้อยู่ในพื้นที่วัด มีการนำพระประธานเข้ามาประดิษฐาน และได้เพิ่มการแกะสลักเรื่องราวพุทธชาดกเพิ่มเติมไปอีกให้สมกับเป็นวิหารในวัด ตั้งชื่อว่าวัดชเวนันดอร์ วังทองคำจึงเปลี่ยนมาเป็นวัดทองคำ

ด้านในยังเหลือความเป็นทองคำอยู่ นึกจินตนาการว่าถ้าด้านนอกก็เหลืองอร่ามแบบนี้คงสวยกว่านี้อีก

โชคดีของคนรุ่นหลังที่ชเวนันดอร์รอดพ้นสงครามและไฟไหม้มาจนถึงปัจจุบันนี้ จึงได้มาเห็นเป็นบุญตา ถ้ายังเป็นวังอยู่ในพระราชวังก็อาจจะโดนไฟไหม้ไปจนหมดเหมือนทุกหลังในพระราชวัง

มหาคีรีแห่งมัณฑะเลย์ มัณฑะเลย์ฮิลล์ | Mandalay hill | မန္တလေးတောင်

แปลกันตรงๆเลยก็คือ ยอดเขามัณฑะเลย์ เป็นเนินเขาขนาดย่อมกลางเมืองมัณฑะเลย์ เขามัณฑะเลย์ถือว่าเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของชาวพม่า เคยมีคำทำนายว่าจะเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองด้วยพุทธศาสนา จนถึงขนาดว่าพระเจ้ามินดงย้ายเมืองหลวงจากอมรปุระขึ้นเหนือมาสร้างเมืองหลวงใหม่ที่เชิงเขามัณฑะเลย์กันเลยทีเดียว

เนื่องจากพวกเราซื้อบัตรเข้าเที่ยวชมเมืองมัณฑะเลย์ไปแล้วที่วัดชเวนันดอร์ ก็เลยไม่ต้องซื้ออีก สามารถขึ้นด้านบนได้เลย ซึ่งคุณสามารถใช้พลังงานที่เหลือในการเดินขึ้นบันได 1,729 ขั้นได้ หรือใช้การนั่งรถขึ้นเขา หรือใช้ลิฟต์อย่างพวกเราก็สบายเข่ากว่ามาก พี่ไกด์พาเข้ามาในอาคารทางขึ้น เดินขึ้นบันไดเลื่อนแล้วมารอคิวขึ้นลิฟต์ ปุ๊บปั๊บโผล่มายอดเขาเลย

ทางเดินขึ้นเริ่มจากสิงห์คู่ด้านล่าง ขึ้นบันได 1,729 ขั้นเพื่อขึ้นมาถึงตรงนี้

เขามัณฑะเลย์มีความสูง 236 เมตร บนยอดเขามีเจดีย์ซูตองพญา (Su Taung Pyi Pagoda) อยู่บนยอดวิหาร ตัววิหารประดับกระจกวิบวับไปหมด ในวิหารมีพระพุทธรูปประจำ 4 ทิศ ด้านนอกมีระเบียงสำหรับชมเมืองมัณฑะเลย์ มองไปได้ไกลถึงแม่น้ำอิระวดี เห็นพระราชวังมัณฑะเลย์กับวัดกุโสดอว์ด้วย

พวกเราใช้เวลาชื่นชมบรรยากาศยามเย็นจนแสงสุดท้ายหมด ก็ลงจากเขาเข้าที่พัก ต้องนอนไวๆหน่อย เพราะพรุ่งนี้เช้าต้องออกแต่เช้าไปดูพิธีล้างหน้าพระมหามัยมุนี

พระมหามัยมุนี | Mahamuni Buddha Temple | မဟာမုနိဘုရားကြီ

เช้าวันสุดท้ายของปี เริ่มต้นกันแต่เช้าๆหน่อย นั่งรถไปกราบพระมหามัยมุนี ที่วัดทางใต้ของเมืองมัณฑะเลย์ “พระมหามัยมุนี” คือพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของประเทศพม่า สร้างจากทองสัมฤทธิ์ ความศรัทธาของชาวพม่าเห็นได้จากที่แต่เดิมองค์พระมีน้ำหนักราว 7 ตัน แต่มีผู้คนมาปิดทองคำเปลวจนปัจจุบันน้ำหนักเพิ่มเป็น 22 ตัน มองเห็นเป็นตะปุ่มตะป่ำไม่เรียบเนียน เพราะทองพอกหนามาก ถ้าลองได้เอานิ้วจิ้มดูก็จะรู้ได้ว่ามีความอ่อนนิ่มจากทองคำเปลว บางคนก็เลยเรียกว่า พระเนื้อนิ่ม

ประเพณีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี มีขึ้นทุกเช้า ประมาณตี 4 โดยมีเจ้าอาวาสหรือพระเถระ จะมาเป็นผู้ทำพิธี โดยนำอาหาร ข้าวหอม ดอกไม้ น้ำอบ ทานาคา และอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ขึ้นสักการะ จากนั้นก็ทำการล้างพระพักตร์ด้วยน้ำหอมผสมทานาคา ด้วยขันทอง ขันเงิน และขันธรรมดา พร้อมกับใช้แปรงทองปัดทำความสะอาดที่พระโอษฐ์เสมือนหนึ่งแปรงพระทนต์ถวายพระพุทธเจ้า สุดท้ายใช้ผ้ามาเช็ดจนแห้งสนิท (ผู้ศรัทธาก็จะนำผ้าไปให้เจ้าหน้าที่เพื่อให้หลวงพ่อเอาไปเช็ดพระพักตร์ แล้วไปรับกลับตอนเสร็จพิธีนำกลับบ้านไปบูชา) ขั้นสุดท้ายก็ใช้พัดทองโบกถวาย เสมือนหนึ่งได้อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ยังทรงพระชนชีพอยู่จริง ๆ เป็นอันเสร็จพิธี

หลังเสร็จพิธี ผู้ศรัทธาสามารถต่อแถวขึ้นไปปิดทองได้ แต่ได้เฉพาะผู้ชาย ไม่เข้าใจจริงๆผู้หญิงไม่เป็นผู้ศรัทธาหรือยังไงกัน เราเองก็เลยต้องฝากผู้ชายขึ้นไปปิดทองให้แทน

พวกเราไปถึงวัดก็อยู่ห่างไกลจากองค์พระมากแล้วเพราะด้านหน้าคนเต็มไปหมด ได้นั่งกราบอยู่ไกลๆ อยากดูใกล้ๆก็ต้องเดินแอบไปด้านข้างๆแอบส่องพระและเจ้าหน้าที่ๆขึ้นไปทำพิธี รอจนเสร็จพิธี ก็ส่งตัวแทนขึ้นไปปิดทอง

ก่อนกลับ เดินเข้าไปดูส่วนพิพิธภัณฑ์ได้ มีข้าวของสะสมให้ดูพอสมควร

****

อมรปุระ | Amarapura | အမရပူရ

อมรปุระเป็นเมืองที่อยู่ห่างจากเมืองมัณฑะเลย์ไปทางทิศใต้ 12 กิโลเมตร เคยเป็นเมืองหลวงในสมัยราชวงศ์อลองพญา ภายหลังพระเจ้ามินดงได้ย้ายเมืองหลวงจากอมรปุระไปสร้างวังใหม่ที่มัณฑะเลย์ โดยรื้อพระราชวังเดิมที่อมรปุระนี้ไปสร้างใหม่ ส่วนที่เหลืออยู่ก็สั่งให้เผาทำลายทิ้ง พระราขวังเก่าที่อมรปุระก็เลยไม่เหลือให้ได้เห็น มีแต่ซากปรักหักพัง ก็เลยไม่ได้แวะไปดู แต่ยังมีวัดอยู่หลายที่ ถ้าสนใจก็เที่ยวชมได้ แต่พวกเรา ไปแค่สะพานไม้อูเบ็ง กับวัดเจ๊าต่อจีแค่นั้นแหละ เวลาไม่พอ

สะพานไม้อูเบ็ง | U bein Bridge | ဦးပိန် တံတာ

ออกจากวัดพระมหามัยมุนีก็มุ่งหน้าไป “สะพานอูเบ็ง” ที่ได้ชื่อว่าสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในโลก ด้วยความยาว 1,200 เมตร สะพานอูเบ็งอยู่เขตพระราชวังเดิมอมรปุระ สะพานนี้ถูกสร้างข้ามทะเลสาบตองตะมาน เพื่อให้ประชาชนได้เดินทางข้ามไปมาระหว่างเมืองและหมู่บ้านฝั่งตรงข้ามได้สะดวก

ไม้ที่นำมาใช้ทำสะพานนั้นไม่ใช้ไม้ธรรมดาเลย พระเจ้าปดุงผู้ย้ายเมืองหลวงจากกรุงอังวะมาสร้างเหมืองหลวงใหม่ที่อมรปุระนี้ ได้เอาไม้สักแท้ๆจากพระราชวังเก่าแห่งกรุงอังวะมาสร้าง ไม้ดีอย่างนี้เองสะพานถึงยังได้แข็งแรงมานานกว่า 200 ปี

ชื่อสะพานอูเบ็ง เรียกตามชื่อเสนาบดีผู้รับผิดชอบในการสร้างสะพานตอนนั้น ก็แปลกนะไม่ยักเรียกชื่อตามผู้สั่งให้สร้างอย่างพระเจ้าปดุง

สะพานอูเบ็งเป็นจุดยอดนิยมของนักท่องเที่ยวนักถ่ายภาพมากๆ เพราะสะพานไม้ยาวเลี้ยวไปมา มีศาลาพักเป็นระยะ ยังมีชาวพม่าใช้สัญจรไปมาทุกวัน แถมด้วยมีทะเลสาบตองตะมานเป็นฉาก ถ่ายรูปสนุกมาก ยิ่งแสงตอนเช้ายิ่งสวยจนกดชัตเตอร์กันไม่ยั้ง แต่บางคนก็มาตอนเย็น เคยเห็นรูปแล้วแสงเย็นก็สวยไม่น้อยเลย ถ้ามีโอกาสจะมาใหม่

พวกเราใช้การเดินเล่นตามสะพานไปจนถึงฝั่งตรงข้าม เที่ยววัด แล้วเรียกเรือนั่งข้ามกลับมา ได้บรรยากาศคนละแบบ

เจดีย์เจ๊าต่อจี | KyaukTawGyi Pagoda | ကျောက်တော်ကြီးဘုရာ

เดินข้ามสะพานอูเบ็งมาจนสุดสะพาน ก็จะเหมือนข้ามเข้าหมู่บ้านอีกแห่ง เดินไปไม่ไกลจะมีวัดและเจดีย์สีขาว ก็ไปเยี่ยมชมสักหน่อย วัดเจ๊าต่อจีชื่อเดียวกับวัดในมัณฑะเลย์ที่อยู่ใกล้ๆพระราชวังมัณฑะเลย์ แต่วัดนี้อยู่ที่อมรปุระ บางคนก็เลยต้องใส่คำขยายให้ว่า วัดตองตะมานเจ๊าต่อจี กันการสับสน

วัดและเจดีย์นี้สร้างโดยพระเจ้าพุกามแมง โดยเอาต้นแบบจากเจดีย์อนันดาในพุกาม ก็ดูคล้ายๆกันอยู่แต่มีขนาดเล็กกว่า เดินเข้าไปดูภาพวาดฝาผนังอายุกกว่า 200 ปีด้านใน พร้อมกราบพระประธานที่เป็นพระหินอ่อนองค์ใหญ่ศิลปะพม่าแท้ๆ อย่าลืมแหงนดูภาพวาดบนเพดานทางเดินเข้าด้วย มีการวาดแผนที่ดาวไว้ด้วย นับว่าแปลกกว่าภาพวาดเขียนสีตามผนังวัดทั่วๆไปนะ แล้วออกมาเดินชมหมู่บ้านนิดหน่อย ก็มองหาเรียกเรือแถวท่าน้ำ เพื่อพาข้ามฝั่งกลับไป ไม่เดินกลับทางสะพาน เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศสักหน่อย

วัดมหากันดายงค์ | Mahāgandhāyon Monastery | မဟာဂန္ဓာရုံကျောင်းတိုက်

นั่งเรือกลับมาถึงฝั่ง พี่ไกด์ยื่นคอมองหาพวกเราเพราะอยากรีบพาไปวัดมหากันดายงค์ จะได้ไปดูพระภิกษุสามเณรนับพันรูปเดินแถวกันกลับมาจากบิณฑบาต โดยจะนำมาฉันเป็นอาหารเพล ก็นั่งรถจากสะพานอูเบ็งไปไม่ไกลก็มาถึงวัด

ที่นี่เป็นวิทยาลัยสงฆ์ที่ใหญ่ที่สุดของพม่า มีภิกษุและสามเณรมาศึกษาเล่าเรียนทางธรรมเป็นพันรูป มีพระภิกษุทั้งพม่า และจากประเทศอื่นๆ เช่น ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ฯลฯ มาบวชเรียนด้วย

ระหว่างทางกลับเข้าเมืองมัณฑะเลย์ แวะดูโรงงานทอผ้าย้อมสีกันหน่อย

กลับเข้ามัณฑะเลย์กินข้าวเที่ยงก่อน แล้วเข้าวังกันหน่อยก่อนที่บ่ายแก่ๆจะไปล่องเรือขึ้นเหนือไปมิงกุน

****

พระราชวังมัณฑะเลย์ | Mandalay Palace | မန္တလေး နန်းတော်

พระเจ้ามินดง ได้ทำการย้ายเมืองหลวงจาก เมืองอมรปุระ มาอยู่ที่เชิงเขามัณฑะเลย์ ในปี พ.ศ. 2404 สร้างพระราชวังใหม่ใหญ่โตสวยงาม โดยวางผังตามภูมิจักรวาลแบบพราหมณ์ปนพุทธโดยสมมุติให้เป็นศูนย์กลางของโลก (เขาพระสุเมรุ) พื้นที่พระราชวังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างยาวด้านละ 2 กิโลเมตร มีกำแพงก่อด้วยอิฐล้อมรอบ สูงราว 8 เมตร มีประตู 12 ประตู ทิศละ 3 ประตู ถัดจากกำแพงวังมีคูน้ำกว้าง 75 เมตร ลึก 4 เมตรอยู่ล้อมรอบ

ความพิศดารพันลึกของการสร้างพระราชวังมัณฑะเลย์ คือ การที่พระเจ้ามินดงย้ายเมืองหลวงจากอมรปุระขึ้นมาทางเหนือ 12 กม. โดยการขนย้ายพระราชวังเดิม ย้ายสถูปเจดีย์ ตั้งขบวนแห่ มาถึงเชิงเขามัณฑะเลย์ภายในวันเดียว เพราะทรงเชื่อว่าอมรปุระเป็นเมืองอัปยศ พระเจ้าปะกันกษัตริย์องค์ก่อนหน้าทรงเสียดินแดนตอนใต้ให้อังกฤษไปหลายเมือง พระเจ้ามินดงจึงสำเร็จโทษพระเจ้าปะกันที่เป็นพระเชษฐาเสีย แล้วย้ายเมืองหลวงขึ้นเหนือมาซะ

พระเจ้ามินดงผู้สร้างปรากฎการณ์ที่กินเนสต์บุ๊คต้องบันทึก ย้ายเมืองหลวงในวันเดียว

โศกนาฎกรรมของพระราชวังมัณฑะเลย์เล่าต่อๆกันมาช่างน่าเศร้าสูสีกับพระราชวังต้องห้ามของจักรพรรดิองค์สุดท้ายในประเทศจีน เพราะพระราชวังมัณฑะเลย์นี้คือพระราชวังสุดท้ายของราชวงศ์อลองพญาและระบอบกษัตริย์ในพม่า เดินเข้าไปตรงมุมกำแพงวังด้านในจะเห็นหอคอยปราสาททรงกลมสูงสีแดง มีหลังคาเป็นมณฑปยอดแหลม มีบันไดเวียนเดินขึ้นไปบนยอดหอคอยได้ หอคอยนี้มองไปได้ไกลถึงแม่น้ำอิระวดี คราวที่กองทัพเรืออังกฤษยกทัพมาประชิดท่าน้ำมัณฑะเลย์ พระเจ้าสีป่อและพระนางศุภยลัต ได้เสด็จขึ้นหอคอยมาทอดพระเนตร จึงได้เห็นความจริง สุดท้าย พระเจ้าสีป่อ พระนางศุภยลัต และพระนางอเลนันดอ (มเหสีพระเจ้ามินดง) ก็โดนทหารอังกฤษอัญเชิญออกจากวัง นั่นคือเหตุการณ์พม่าเสียเมือง และโดนล้มล้างระบอบกษัติย์หมดสิ้น

แม้จะพยายามสร้างเลียนแบบพระราชวังเดิม แต่ก็ไม่ได้สวยงาม ดูเหมือนโรงถ่ายหนังซะมากกว่า
ศาลาเล็กสีขาวอยู่บนหลังคาทุกพระตำหนักเรียกว่า “ซุ้มรังไก่” มีไว้ให้คนนั่งเฝ้า คอยใช้หนังสติ๊กยิงนกไม่ให้มาเกาะ มาขี้ใส่หลังคา ก็แปลกดีที่ยอมให้มีคนขึ้นไปอยู่สูงเหนือกว่ากษัตริย์และพระราชวงศ์ได้

พระราชวังมัณฑะเลย์ที่เห็นอยู่เกือบทั้งหมด เป็นสิ่งก่อสร้างใหม่สร้างเลียนแบบของเดิม เพราะหลังจากอังกฤษได้อัญเชิญพระเจ้าสีป่อออกไปแล้ว ก็ปล่อยพระราชวังทิ้งร้าง ก็โดนเข้ามาปล้นมาขโมยของไปมากมาย และต่อมากองทัพญี่ปุ่นได้บุกมาถึงมัณฑะเลย์แล้วยึดเอาพระราชวังเป็นกองบัญชาการรบ ก็เลยโดนทิ้งระเบิดโดนทำลายและโดนไฟไหม้จนไม่เหลือซาก ที่พอเหลือรอดมาก็คืออาคารที่ใช้หินอ่อนในการสร้าง ไม่ไหม้ไฟไปในตอนนั้น และพระตำหนักของพระเจ้ามินดง ที่พระเจ้าสีป่อให้รื้อออกไปสร้างใหม่ที่วัดชเวนันดอร์นั่นไง ก็เลยรอดมาได้

****

มิงกุน | Mingun | မင်းကွန်းမြို့

หลังจากไปเดินเศร้าใจกับชะตากกรรมของพม่าในพระราชวังมัณฑะเลย์กันแล้ว ก็นั่งรถออกนอกเมืองไปที่ท่าเรือ เพื่อลงเรือล่องแม่น้ำอิระวดี มุงหน้าขึ้นเหนือไปที่หมู่บ้านมิงกุน ในเขตสะกาย (Sagaing)  เมืองที่พระเจ้าปดุงตั้งใจมาสร้างศาสนสถานอัน(ที่ทรงคาดว่า)ยิ่งใหญ่ที่สุดในแคว้นสุวรรณภูมิยุคนั้น ยิ่งพอพระองค์ได้ขึ้นไปตียะไข่ได้สำเร็จและอัญเชิญพระมหามัยมุนี พระคู่บ้านคู่เมืองของชาวยะไข่ลงมาที่อมรปุระด้วยแล้ว ยิ่งฮึกเหิม ยิ่งต้องการสร้างทุกอย่างให้ใหญ่โตสมพระเกียรติ แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จสมพระทัย

เจดีย์เซตตอยา | Settawya pagoda | စက်တော်ရာဘုရား

เมื่อเรือใกล้เทียบท่า จะมองเห็นสิ่งก่อสร้างใหญ่โตสวยงาม สีขาวเด่น สร้างเป็นชั้นลดหลั่นกันขึ้นไปจนเป็นองค์เจดีย์ คือ เจดีย์เซตตอยา พระเจ้าปดุง โปรดฯให้สร้างเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการก้าวย่างสู่ดินแดนแห่งนี้ ที่พระองค์จะมาสร้างความยิ่งใหญ่ให้สมกับพระเกียรติของพระองค์

เจดีย์มิงกุน | Mingun | မင်းကွန်းပုထိုးတော်ကြီ

เจดีย์ที่พระเจ้าปดุงตั้งพระทัยสร้างให้ยิ่งใหญ่ เพื่อประดิษฐานพระทันตธาตุที่ได้มาจากจีน ว่ากันว่าถ้าสร้างเสร็จตามแผนจะเป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดและสูงที่สุดในโลก สูงถึง 152 เมตร แต่ด้วยอาเพศเหตุร้ายยังไงไม่ยืนยัน พระเจ้าปดุงสวรรคตเสียก่อนในตอนที่เจดีย์เพิ่งสร้างไปได้ 7 ปี ไม่ได้อยู่ดูความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของเจดีย์เลย ตัวเจดีย์ก็เลยมีแค่ส่วนฐานสูงได้แค่ 50 ม. โดนปล่อยทิ้งร้างเรื่อยมา และยังได้ส่วนหักพังลงมาตามกาลเวลา แถมด้วยเหตุการณ์แผ่นดินไหวในปี พ.ศ. 2381ทำให้เกิดรอยแตกร้าวขึ้นตรงกลางของเจดีย์

ความใหญ่โตของเจดีย์มิงกุนถ้าเสร็จจริงจะใหญ่ขนาดไหน ก็ดูได้จากซากบั้นท้ายของสิงห์คู่ ซ้าย ขวา ทางเดินเข้าเจดีย์มีการก่อสร้างเป็นรูปสิงห์ในท่าหมอบ หันหน้าไปทางแม่น้ำอิระวดี แต่สิงห์คู่นี้ก็สร้างไม่เสร็จเหมือนกับเจดีย์มิงกุน แถมพังทลายลงมาเหลือแต่บั้นท้ายให้นักท่องเที่ยวได้มายืนจินตนาการเอาเอง

พวกเราเดินขึ้นบนยอดเจดีย์ที่สร้างไม่เสร็จ นั่งเล่นกันอยู่บนพื้นราบด้านบนอยู่นานมาก บรรยากาศยามบ่ายแก่ๆแบบนี้ดีไม่ใช่น้อย นั่งรับลมชมวิวกันไปเรื่อย จนเกือบลืมว่าต้องเดินต่อไปดูอีก 2 จุด สุดท้ายก็แงะร่างๆของเพื่อนๆลงมาจนได้

ระฆังมิงกุน | Mingun bell | မင်းကွန်းခေါင်းလောင်းတော်ကြီ

เดินต่อไปจากเจดีย์มิงกุนไม่ไกล ไปดูระฆังมิงกุน ที่สร้างโดยพระเจ้าปดุงเช่นกัน เป็นระฆังสำริดที่ใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลก แต้ถ้านับเป็นระฆังชนิดแขวนแล้วยังตีได้ดังคือยังใช้งานได้ ก็ต้องถือว่าเป็นระฆังแขวนที่ใหญ่ที่สุดของโลก สูง 12 ฟุต และวัดปากขอบยาว 16 ฟุต 3 นิ้ว หนัก 90 ตัน ไปดูแล้วมันใหญ่จริงๆ

เจดีย์ชินพิวเม | Hsinbyame pagoda | ဆင်ဖြူမယ်စေတီ (AKA: Myatheindan Pagoda (မြသိန်းတန်စေတီ)

ตีระฆังมิงกุนเสร็จแล้วให้เดินต่อไปอีกนิด จะเจอเจดีย์ชินพิวเม สร้างโดยพระเจ้าบากะยีดอว์ พระราชนัดดาของพระเจ้าปดุง เป็นอนุสรณ์แห่งความรักที่พระองค์มีต่อพระมหาเทวีชินพิวเม ซึ่งถึงแก่พิราลัยก่อนเวลาอันควร ก็เลยได้รับสมญานามว่า “ทัชมาฮาลแห่งลุ่มน้ำอิระวดี”

ลักษณะเจดีย์เป็นก่ออิฐฉาบปูนทาสีขาว สร้างขึ้นด้วยหลักภูมิจักรวาล ก็คือ มีองค์พระเจดีย์อยู่ตรงกลาง ณ ยอดเขาพระสุเมรุ ที่เชื่อกันว่าเป็นแกนกลางของจักรวาล ชั้นล่างสร้างเป็นหอคอยเล็ๆและโค้งลอนล้อมรอบแทนขุนเขาและมหาสมุทรตามหลักไตรภูมิ และสูงขึ้นไป 7 ชั้นจนถึงชั้นบนสุดที่แกนกลางเป็นองค์เจดีย์ มีลักษณะสมมาตรสวยงาม เหมาะสมแก่การเป็นอนุสรณ์แห่งความรัก

ได้เวลากลับลงเรือกันแล้วก่อนจะมืดกลางแม่น้ำ กลับมาลงเรือ ล่องกลับเมืองมัณฑะเลย์ นั่งพักผ่อนบนเก่าอี้ผ้าใบจิบเครื่องดื่มเย็นๆที่มีมาขายให้เลือกกันตามชอบ เคลิ้มหลับไปบ้าง ตื่นมาชมวิวบ้าง พวกเราใช้เวลาชื่นชมบรรยากาศยามเย็นบนเรืองล่องแม่น้ำอิระวดีจนแสงสุดท้ายของปี 2006 หมดลง

****

กลับโรงแรมเพื่อไปร่วมปาร์ตี้ต้อนรับปีใหม่ที่โรงแรมจัด (และบังคับลูกค้าทุกห้องมาทานอาหาร ฮือ…) บรรยากาศงานเลี้ยงก็เป็นไปแบบเหงาๆ เพราะอาหารก็ไม่ได้อร่อยอะไรนัก มีการแสดงบนเวทีให้ดูพอให้ไม่เบื่อ ไม่ได้เป็นดนตรีคึกคักอะไรนัก แต่พวกเราก็นั่งกินดื่มไปคุยกันไปจนฉลองเวลาเข้าปีใหม่ด้วยกัน Happy New Year 2007!!

ยามเช้าในมัณฑะเลย์

ตักบาตรวันขึ้นปีใหม่

ได้เที่ยวมัณฑะเลย์อีกครึ่งวัน หลังอาหารเช้าก็เก็บกระเป๋าขึ้นรถ ออกไปเที่ยวที่วัดกุโสดอว์ กับ วัดสันตมุนี ตอนบ่ายจะบินต่อไปยองชเวเพื่อไปนอนที่ทะเลสาบอินเลกันคืนนี้

วัดกุโสดอว์ | Kuthodaw Pagoda | ကုသိုလ်တော်‌ဘုရာ

สร้างโดยพระเจ้ามินดง เพราะพระองค์ศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างมากจึงโปรดให้สร้างวัดและทำการสังคยานาพระไตรปิฏก นับเป็นการสังคยานาพระไตรปิฏกครั้งที่ 5 ของโลก และยังให้ทำจารึกพระไตรปิฎก 84,000 พระธรรมขันธ์ ลงบนแผ่นหินอ่อน ขนาดใหญ่ 729 แผ่น แผ่นละ 2 หน้า รวม 1,428 หน้า แล้วนำมาจัดวางในมณฑปรอบๆเจดีย์ โดยองค์เจดีย์ได้จำลองแบบมาจากพระเจดีย์ชเวซกองที่พุกาม พระไตรปิฏกหินอ่านนี้ก็เลยได้รับการบันทึกว่า เป็นพระไตรปิฎกเล่มใหญ่ที่สุดในโลก (The World biggest book) และยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกพระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลี)

ตอนที่พวกเราไป ไม่แน่ใจว่าโชคดีหรือโชคร้าย เพราะมีการกั้นพื้นที่บางส่วน มีผู้หลักผู้ใหญ่ของพม่ามาทำพิธีเฉลิมฉลองยอดเจดีย์หุ้มทอง มีพระเถระชั้นผู้ใหญ่มาทำพิธีด้วย แต่ก็โชคดีได้เห็นขบวนพิธี สวยงาม

วัดสันตมุนี | Sandamuni Pagoda | စန္ဒာမုနိစေတီ

ใกล้ๆกับวัดกุโสดอว์เดินไปวัดสันตมุนี สร้างขึ้นโดยพระเจ้ามินดงเหมือนกัน มีเจดีย์สันตุมุนีที่พระองค์สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแก่ พระมหาอุปราชกะนอง พระอนุชาของพระองค์ที่ถูกพวกขบถปลงพระชนม์ ในวิหารยังมีการอัญเชิญ พระสันติมุนี จากเมืองอมรปุระมาเป็นพระประธานด้วย เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยเหล็กทรงเครื่องเต็มยศ ดูรูปลักษณ์แล้วคล้ายกับพระมหามัยมุนี
ในบริเวณรอบๆจะมีเจดีย์เล็กๆเต็มไปหมด เพราะนอกจากมณฑปบรรจุพระศพพระมหาอุปราช พระเจ้ามินดงได้โปรดให้สร้าง เจดีย์สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่ถูกขบถฆ่าด้วย

พวกเราได้แต่ยืนถ่ายรูปอยู่ด้านนอก ไม่ได้เข้าไปในวัด เพราะจะรีบไปสนามบินแล้ว มัวแต่ไปโอ้เอ้อยู่ในวัดกุโสดอว์นานไปหน่อย

ร่ำลามัณฑะเลย์ รีบบึ่งไปสนามบิน เพื่อขึ้นเครื่อง Air Mandalay ไปเมืองยองชเว เพื่อต่อรถแล้วลงเรือไปนอนในทะเลสาบอินเล

ไปเที่ยวอินเลกันต่อตอนหน้า > มัณฑะเลย์-อินเล-พุกาม เที่ยวข้ามปี (ตอน ๓) <

ข้อมูลอ้างอิง
วาดไว้ในเมียนมาร์ : พิษณุ ศุภ

มัณฑะเลย์-อินเล-พุกาม เที่ยวข้ามปี (ตอน ๑)

Trip: Myanmar NY2007 (Yangon-Bagan-Mandalay-Inle)

ตอนที่ ๑ แวะย่างกุ้ง แล้วมุ่งไปพุกาม

ผู้ร่วมอุดมการณ์ในการท่องพม่าคราวนี้มี 6 คน 3 คู่ชู้ชื่น เป็นทริปประมาณ 6 วัน ตั้งต้นที่ย่างกุ้ง แล้วไปพุกาม ต่อด้วยมัณฑะเลย์ แล้วไปดูคนเอาเท้าพายเรือที่อินเล วนกลับมาที่ย่างกุ้ง เราติดต่อ Private group Tour ไว้ คือเที่ยวตามแผนที่เราวาง รวมค่าเดินทางทั้งหมด รถ เครื่องบิน เรือ รวมค่าที่พัก ที่เที่ยว รวมหมดเลย ยกเว้นอาหารและตั๋วไป-กลับ กรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง ถามว่าหาบริษัทจากที่ไหน ตอบเลยว่าสุ่มๆเอา มีโฆษณาในอินเตอร์เน็ทก็ลองเขียน email ไปคุยดู คุยกันเป็นภาษาอังกฤษ รู้เรื่อง ชัดเจนดี ตอนจ่ายมัดจำมีคนจากบริษัทตัวแทนในไทยมารับเงินถึงที่ทำงาน เราบอกให้มาเอง ขอเห็นหน้าเห็นตาว่ามีตัวตนจริง จากนั้นก็ภาวนาว่าบินไปถึงแล้วจะมีคนมารับที่สนามบิน ฮา….

ย่างกุ้ง | Yangon | ရန်ကုန်

เลือกใช้สายการบินราคาประหยัดที่มีเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง เที่ยวเช้าตรู่ 07:15 – 08:00 (ใช้เวลาบิน 1:30 ชม. แต่เวลาที่พม่าช้ากว่าไทย 1:30 ชม.) พวกเราทำวีซ่ากันมาก่อนให้เรียบร้อย (ต้องไปยื่นเรื่องที่สถานทูต ตรงถนนสาทร ต่อคิวกันแต่เช้า มีบริษัทรับจ้างทำเยอะแยะแต่เราชอบทำเอง เสียเวลาไปครึ่งวัน) รับกระเป๋าออกมา วัดดวงว่าจะโดนโกงมั๊ย พอเห็นป้ายชื่อเราตัวโตก็โล่งใจ ไกด์หนุ่มคนพม่าพูดไทยได้ในระดับสื่อสารรู้เรื่องกับรถมินิแวนมารอรับพวกเราตามเวลา พาออกจากสนามบินเข้าเมืองย่างกุ้ง รถติดเหมือนเดิม ก็คงเพราะเป็นเมืองหลวง รถพามาเข้าที่พักที่ Summit Park view Hotel ก่อนเลย โรงแรมหรูหราดูดี แถมด้วยห้องพักวิวเจดีย์ชเวดากอง ประทับใจมาก เก็บของกันเรียบร้อยก็ออกเดินทาง พี่ไกด์พาไปทานกลางวันก่อน เลือกร้านหรูหราต้อนรับนักท่องเที่ยวแต่อาหารไม่อร่อยเลย จืดๆมันๆ

ถึงแล้ว Yangon International Airport
วิวจากห้องพักเป็นพระมหาเจดีย์ชเวดากอง

พระนอนวัดเจ๊าทัตยี | Chauk htat gyi Buddha | ခြောက်ထပ်ကြီးဘုရားကြီ

เริ่มต้นเที่ยวย่างกุ้ง โดยมานมัสการพระนอนที่วัดเจ๊าทัตยี หรือ พระนอนตาหวาน เป็นพระนอนองค์ใหญ่ลำดับ 3 ของพม่ามีความยาว 65 ม. พระพุทธรูปพม่ามีขนตายาวงอนเช้ง ทำให้ดูตาหวาน ดวงตาที่ดูสดใสนั้นผลิตจากแก้วที่สั่งทำพิเศษจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้ดวงตามีลักษณะเหมือนกับดวงตามนุษย์จริงๆ ส่วนปลายเท้าก็วางไขว้กัน ที่ฝ่าเท้ามีลวดลายเป็นมงคล 108 ประการ ที่ฐานรอบๆองค์พระมีรูปปั้นรูปวาดเกี่ยวกับพุทธศาสนา วัดนี้เคยมานมัสการแล้วครั้งหนึ่งตอนปี 2004 ผ่านไป 3 ปี ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

สวนการะเวก | Karaweik | ကရဝိက် ဖောင်

ออกจากวัดก็พากันมาที่ Karaweik Garden หรืออีกชื่อคือ Kandawgyi Nature Park ให้มาชมทะเลสาบกันดอว์จี หรือทะเลสาบหลวง (Kandawgyi Lake | ကန်တော်ကြီ) มีทางเดินให้มาเดินเล่นริมทะเลสาบได้ อารมณ์เหมือนสวนสาธารณะ แต่พวกเรามากันเอาตอนบ่ายโมง บรรยากาศก็เลยไม่น่ารื่นรมย์เท่าไหร่ จุดเด่นในทะเลสาบที่นักท่องเที่ยวมาถ่ายรูปก็คือ Karaweik Hall คือร้านอาหารชื่อ การะเวก เป็นอาคารรูปเรือลอยน้ำ ส่วนหัวเรือเป็นรูปนกการะเวก ว่ากันว่าสร้างเลียนแบบเรือพระที่นั่งของกษัตริย์พม่า เอาไว้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ตอนปีพ.ศ. 2513 แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นร้านอาหารที่มีการแสดงศิลปวัฒนธรรมของพม่าให้ชมด้วย ถ้าจะเดินเข้าไปด้านในต้องเสียค่าเข้าด้วยนะ แต่เราว่ายืนถ่ายรูปข้างนอกก็พอ

มุมดีอีกมุมสำหรับตากล้องคือ จะมีมุมที่มองเห็นมหาเจดีย์ชเวดากองได้ มีทะเลสาบเป็นฉากหน้า ซึ่งก็น่าจะเหมาะกับการมาถ่ายรูปช่วงเช้าหรือเย็น ไม่ใช่บ่ายแดดแจ๋แบบนี้

เจดีย์ซูเหล่ | Sule Paya (Sule Pagoda) | ဆူးလေဘုရာ

ออกจากทะเลสาบกันดอว์จี ก็มาตรงวงเวียนซูเหล่ (Sule Square) บรรยากาศยังเหมือนเดิมจากครั้งก่อนที่มา ที่รถยังเยอะวิ่งวนรอบวงเวียนจอแจตลอดเวลา คนก็ยังเดินกันคึกคัก ข้ามถนนไปวัดที่อยู่ตรงวงเวียน นมัสการเจดีย์ซูเหล่ เอาฤกษ์เอาชัยกันตามธรรมเนียม

ตลาดสก็อต (ตลาดโบยกอองซาน) |
Scott market (Bogyoke Aung San Market) | ဗိုလ်ချုပ်အောင်ဆန်းဈေ

ช่วงบ่ายยังมีเวลาเหลือให้พวกเราไปเดินเล่นที่ตลาดสก็อต ตลาดขายของกินของใช้ของฝาก อาคารสไตล์โคโลเนียลสีไข่ไก่สร้างมาตั้งแต่ปี 1926 ตั้งชื่อตามชื่อ นาย เจมส์ จอร์จ สก็อต (James George Scott) ชาวอังกฤษที่มาดูแลปกครองพม่าในยุคนั้น หลังจากพม่าได้รับเอกราชก็เลยเปลี่ยนชื่อเป็น ตลาดโบยกอองซาน ในปี 1948 แต่คนก็ยังเรียกกันติดปากว่าตลาดสก็อต

ในตลาดสก็อตมีทั้งของสด ของแห้ง ของกิน ของใช้ ของที่ระลึก เดินเที่ยวเล่นเพลินๆไป ไม่ได้ซื้ออะไร เพราะของก็ราคาไม่ถูก มาจบกันที่ร้านกาแฟ นั่งพักร้อนกันก่อนจะไปเจดีย์ชเวดากอง

พระมหาเจดีย์ชเวดากอง | Shwedagon Pagoda| တိဂုံစေတီတေ

บ่ายแก่ๆก็ถึงเวลาขึ้นไปนมัสการองค์พระมหาเจดีย์ชเวดากอง ใช้การขึ้นลิฟต์เหมือนเดิม ยังคงเสียเงินค่ากล้องถ่ายภาพและขาตั้งกล้องเหมือนเดิม และยังคงตรวจสัมภาระมีการสแกนกระเป๋าอย่างละเอียดเหมือนเดิมด้วย

เดินเข้าด้านใน ก็รู้สึกตื่นเต้นเหมือนเคย องค์พระมหาธาตุสีทองสุกใส ยังคงสวยงามจริงๆ ผู้ศรัทธามากมายยังคงเดินกันเต็มลาน พวกเราแยกย้ายกันไปตามต้องการ การมาเที่ยวกันเองมีข้อดีตรงนี้ ไม่ต้องกำหนดเวลา

นั่งซึมซับบรรยากาศยามเย็นจนถึงตอนฟ้ามืด แสงไฟส่องไปที่องค์พระมหาธาตุยิ่งขับให้สีทองเปล่งประกายสวยงามจับใจ

กลับมาถึงห้องพักเปิดม่านมองเห็นเจดีย์ชเวดากองสว่างไสว เหมือนที่ชาวพม่าพูดกันว่า ชเวดากองสว่างไสวตลอดเวลา

****

พุกาม | Bagan | ပုဂံ

วันนี้ต้องนั่งเครื่องไปเมืองพุกาม นั่ง Air Bagan เที่ยวเช้ามืด 06:30 ต้องไปถึงสนามบินตั้งแต่ก่อนตี 5 นับว่าทรมานไม่น้อย อาศัยไปหลับเอาบนเครื่อง ใช้เวลาบินชั่วโมงกว่าก็ถึงสนามบินยองอู (Nyaung U Airport) มีรถอีกคันมารับ จากสนามบินเข้าไปที่เมืองพุกามระยะทาง 12 กม. แต่ใช้เวลาเกือบครึ่งชั่วโมง เพราะถนนแคบและถนนไม่ดีนัก ก็เลยขับได้ช้า

สนามบินยองอู (Nyaung U Airport)

มหาเจดีย์ชเวสิกอง | Shwezigon pagoda | ရွှေစည်းခုံ စေတီတေ

พุกามเป็นเมืองแห่งเจดีย์ องค์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในพุกามคือ มหาเจดีย์ชเวสิกอง สร้างขึ้นโดยพระเจ้าอโนรธา ผู้รวบรวมชนชาติพม่าให้เป็นปึกแผ่นได้เป็นครั้งแรก และเป็นกษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์พุกาม แต่พระองค์สร้างไม่แล้วเสร็จ สร้างได้แค่ส่วนฐาน มาสร้างเสร็จในสมัยพระเจ้าจันสิทธา ตัวองค์เจดีย์นั้นเป็นทรงระฆังคว่ำสีทองเหลืองอร่ามแบบพม่าแท้ในศิลปะพุกาม ถือเป็นต้นฉบับของเจดีย์แบบพม่าเลยทีเดียว มีความสูงประมาณ 160 เมตร

ด้านในเจดีย์บรรจุพระทันตธาตุและพระบรมสารีริกธาตุ ที่อัญเชิญมาจากลังกา แล้วนำมาทำการเสี่ยงทายบนหลังช้างเผือก โดยพระเจ้าอโนรธาได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า ช้างหยุดเดินลงที่ใดจะสร้างเจดีย์ไว้ที่นั่น จึงได้สร้างพระเจดีย์ไว้ที่นี่ริมฝั่งแม่น้ำอิระวดี

วัดชเวซิกองถือเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองพุกามก็ว่าได้ มีคนพม่าเข้ามาทำบุญก็เยอะ มาเที่ยววัดก็แยะ แถมด้วยคนขายของก็มี ชาวพุกามนี้น่ารักทั้งสาวทั้งแก่ทั้งเด็ก สาวๆทาแป้งทานาข่าหน้าผ่องกันทุกคน

บริเวณลานหน้าบันได ทางขึ้นสู่เจดีย์ทิศตะวันออก มีหลุมขนาดเล็ก เรียกว่า “หลุมสมดุลเจดีย์” ใส่น้ำไว้สำหรับนั่งคุกเข่ามองเงายอดเจดีย์ที่สะท้อนลงผิวน้ำ ชาวพม่าเล่าขานว่าหลุมนี้มีมาตั้งแต่สมัยพุกามแล้ว โดยช่างสมัยโบราณใช้ดูสมดุลไม่ให้เจดีย์เอียงขณะก่อสร้าง และบ้างก็ว่าเพราะเจดีย์มีความสูงมาก จึงต้องทำหลุมไว้ให้พระมหากษัตริย์เสด็จฯมาบำเพ็ญพระราชกุศล ได้ทอดพระเนตรยอดเจดีย์ได้ชัดเจน อีกทั้งอาการที่ต้องคุกเข่าดู ก็เป็นการแสดงความคารวะพระเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย
ที่มา : https://www.myanmardd.com/articles/216

วัดถ้ำจันสิทธา | Kyan Sit Thar Umin | ကျန်စစ်သား ဥမင်

สร้างโดยพระเจ้าคันชิต หรือพระเจ้าจันสิทธา มีถ้ำหรืออุโมงค์ที่มีภาพเขียนสีโบราณตามผนังถ้ำ อายุมากกว่า 700 ปี อ่านจากหนังสือ วาดไว้ในเมียนมาร์ ของ อจ. พิษณุ เล่าว่า ภาพเขียนโบราณขนาดนี้ในบ้านเราไม่เหลือให้เห็นแล้ว ที่ยังหลงเหลือให้เห็นในพม่าอาจเป็นเพราะที่พม่าอากาศแล้ง ไม่มีฝนตก ทำให้ภาพเขียนแห้ง ความชื้นน้อยกว่า ภาพเขียนจึงไม่แตกร่อนลงมา แถมอจ.ยังชื่นชมอัจฉริยะของช่างพุกามที่ออกแบบให้อุณหภูมิภายในเย็นสบายในหน้าร้อน และอุ่นสบายในหน้าหนาว

เที่ยวได้ 2 จุด ก็เที่ยงพอดี แวะทานอาหาร ร้านที่อยู่แถวๆนั้น อาหารพื้นบ้านดี ชอบๆ พม่าจะมีพริกผัดตักมาคลุกข้าวกินกับผักอร่อยดี น่าจะเหมือนน้ำพริกบ้านเรา

วัดกุพยางกี | Gubyaukgyi (Myinkaba) | ဂူပြောက်ကြီး (မြင်းကပါ)

กุพยางจีเป็นวัดถ้ำอีกแห่งของพุกาม คำว่า กุพ ในภาษาพม่าแปลว่า ถ้ำ วัดถ้ำนี้สร้างโดยพระโอรสของพระเจ้าจันสิทธะ เด่นดังที่ภาพฝาผนังเก่าแก่สวยงามและสมบูรณ์ เป็นภาพเกี่ยวกับพุทธชาดก 550 เรื่อง ไม่อนุญาตให้เอากล้องเข้าไป คือไม่ให้ถ่ายรูปนั่นเอง เพราะกลัวแสงจากแฟลชจะทำลายภาพให้เสียหาย ได้แต่เดินดูวนไป

วัดติโลมินโล | Htilominlo Guphaya-gyi | ထီးလိုမင်းလိုဘုရာ

วัดติโลมินโล อยู่ก่อนถึงทางเข้าเมืองเก่าพุกาม ทางเดินเข้าวัดมีซุ้มประตูทางเข้าใหญ่โต ลวดลายสวยงาม ข้างในมีร้านขายของเยอะมากตลอดทางเดินไปวิหารติโลมินโล องค์วิหารมีฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 43 เมตร องค์เจดีย์สูง 4 เมตร มีลวดลายปูนปั้นสวยๆและยังสมบูรณ์ ด้านในของวิหารมี 2 ชั้น มีพระพุทธรูปประดิษฐานทั้ง 4 ทิศอยู่ทั้ง 2 ชั้น และยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเหลือให้ชมด้วย

บางคนเรียกวัดติโลมินโลว่า วัดฉัตรตั้ง เพราะมีเรื่องเล่าถึงสาเหตุการสร้างวัดว่า พระเจ้านรปติสี่ตู่ รัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์พุกาม จะต้องตัดสินใจแต่งตั้งรัชทายาท แต่มีราชบุตรหลายพระองค์จากหลายมเหสี จะตั้งใครก็กลัวโดนเคือง ก็เลยใช้วิธี “ฉัตรเสี่ยงทาย” คือตั้งฉัตรไว้ตรงกลาง หากฉัตรล้มลงแล้วปลายฉัตรชี้ไปที่ราชบุตรองค์ใด ก็จะทรงแต่งตั้งเป็นกษัตริย์ต่อจากพระองค์ ปรากฏว่าปลายฉัตรชี้ไปที่เจ้าชายชัยสิงห์ เมื่อทรงขึ้นครองราชย์มีพระนามว่า พระเจ้าติโลมินโล ก็เลยสร้างเจดีย์ขึ้นเป็นอนุสรณ์ ตรงที่พระราชบิดาทำพิธีฉัตรเสี่ยงทาย ชาวพม่า บางคนก็เรียกพระเจ้าติโลมินโลว่า “กษัตริย์ฉัตรตั้ง” ชื่อฟังดูเสียวๆไปหน่อยนะ

ด้วยความใหญ่ของวิหาร ต้องเดินห่างออกมาไกลๆเพื่อจะได้ถ่ายภาพได้เต็ม

วัดอนันดา | Ananda Pagoda | အာနန္ဒာဘုရာ

อนันทเจดีย์มีลักษณะเป็นฐานซ้อนกันจนถึงส่วนกลางที่องค์เจดีย์เป็นรูปทรงพระปรางค์ มีแผนผังทางเดินแบบจตุรมุข มองลงมาเป็นกากบาท พื้นที่ภายในบริเวณวัดกว้างขวางร่มรื่นดี แม้แดดจะแรงจนแสบหน้ากันเลยช่วงบ่ายๆแบบนี้

มีเรื่องเล่าว่าการสร้างวัดและเจดีย์แห่งนี้เป็นการสร้างเลียนแบบวิหารที่เขานันทมูลในป่าหิมวันต์ แถบเทือกเขาหิมาลัย จากคำบอกเล่าของพระอรหันต์ 5 รูปที่ธุงดงค์มาจากอินเดีย

เมื่อก่อนยอดเจดีย์ยังเป็นสีขาวเหมือนกับเจดีย์องค์อื่น ๆของพุกาม แต่รัฐบาลพม่าได้มาทาสีทองทับเมื่อปี พ.ศ. 2533 (คศ.1990) เพื่อสมโภชการสร้างวัดอนันดาครบรอบ 900 ปี

ด้านในวิหารมีพระพุทธรูปยืนแกะสลักด้วยไม้สักปิดทอง ประดิษฐานอยู่ทั้งสี่ทิศ ปางไม่ซ้ำกัน การออกแบบของช่างพม่านี่เก่งจริงจัง แม้พระพุทธรูปจะอยู่เข้าไปด้านในจนสุดช่องทางเดิน แต่ได้ออกแบบเจาะช่องแสงให้มีแสงส่องไปที่องค์พระประธานได้จนหมดแสงของวันกันเลยทีเดียว

ไกด์บอกว่าพระพุทธรูปด้านทิศใต้มีลักษณะพิเศษ ถ้ามองไกลๆจะเห็นเหมือนพระพักต์ยิ้ม แต่ถ้าเข้ามาใกล้จะดูพระพักต์บึ้ง ก็เลยวิ่งเข้าวิ่งออก ทดสอบกันหลายรอบ ก็ว่าน่าจะเป็นที่มุมมองของแต่ละคนซะมากกว่า

นั่งรถต่อมา ผ่านประตูตาระบะ (Tharabat gate) เข้าเขตเมืองเก่า (ไอ้ที่ผ่านมาก็ว่าเก่าแล้วนะ) ประตูเมืองกว้างประมาณ 5 เมตร ว่ากันว่าเดิมเคยมีซุ้มประตูแต่ตอนนี้พังไปหมด เหลือแต่ช่องทางผ่าน

วัดสัญพัญญู | Thatbyinnyu Temple | သဗ္ဗညုဘုရာ

ไม่ไกลจากวัดอนันดา ผ่านประตูตาระบะเข้ามา จะเห็นมหาวิหารสูงเด่นเป็นสง่าของวัดสัญพัญญู หรือออกเสียงตามพม่าว่าวัดถัดบินยู เป็นวัดที่มีวิหารสูงที่สุดในพุกาม มีความสูงถึง 60 เมตร ด้านในวิหารมี 5 ชั้น สองชั้นแรกเคยเป็นที่พำนักของพระภิกษุ  ชั้นสามเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ชั้นสี่ทำเป็นหอพระไตรปิฎก ยอดสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

หันทางไหนก็มีเจดีย์ รู้ชื่อบ้างไม่รู้ชื่อบ้าง

วัดชเวกูจี | Shwegugyi temple | ရွှေဂူကြီးဘုရာ

ออกมาจากวัดสัญพัญญูก็จะเห็นเจดีย์ใหญ่โตสวยงามอีกอัน คือวัดชเวกูจี หรือวัดถ้ำทอง เพราะชเวกูจี แปลว่า ถ้ำทอง (Great Golden Cave) บางคนก็เรียกว่า วัดหน้าวัง (นันดออูพยา) เพราะตั้งอยู่ด้านหน้าพระราชวังหลวงของพุกาม สร้างเมื่อปี 1131 โดยพระเจ้าอลองสิทธู ตำนานเล่าอีกด้วยว่า สร้างเสร็จในเวลา 7 เดือนกับอีก 7 วัน วัดยิ่งใหญ่สวยงามด้วยสถาปัตยกรรมที่อยู่ในช่วงต่อของศิลปะพุกามยุคแรกและยุคหลัง

เจดีย์บูพญา | Bupaya Pagoda |ဗူးဘုရာ

เป็นเจดีย์รูปทรงแปลกๆ อยู่ริมฝั่งแม่น้ำอิรวดี บางคนว่ารูปทรงคล้ายน้ำเต้า จึงได้ฉายาว่า เจดีย์น้ำเต้า ไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าสร้างมาแต่สมัยไหน แต่เจดีย์ที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2518 เพราะองค์เก่าพังลงมาเนื่องจากแผ่นดินไหว

บริเวณเจดีย์มีลานริมน้ำกว้างขวาง เพราะอยู่ทางทิศตะวันตก ก็เลยเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกได้ มีนักท่องเที่ยวมารอชมกันเยอะพอสมควร ก็น่าจะได้บรรยากาศแสงสวยๆอยู่ แต่พวกเราแค่แวะมาชมเจดีย์แล้วจะไปชมพระอาทิตย์ตกในมุมสูงกัน

จากลานริมน้ำของเจดีย์บูพญามองเห็นหาดทรายและสายน้ำอิระวดีได้กว้างไกลสุดสายตา

วัดมนูหะ | Manuha Phaya | မနူဟာဘုရာ

พระเจ้ามนูหะเป็นกษัตริย์มอญที่ถูกพระเจ้าอโนรธาจับตัวมาเป็นเชลยศึก แต่พระเจ้ามนูหะไม่ได้สร้างวัดนี้ ผู้สร้างวัดนี้ขึ้นคือพระราชนัดดาของพระเจ้ามนูหะสร้างขึ้นตรงที่พระเจ้ามนูหะกับพระมเหสีเคยประทับอยู่ตอนที่มาเป็นเชลย การออกแบบเป็นโถงคล้ายถ้ำ ประดิษฐานพระพุทธรูป 4 องค์ มีทั้งปางสมาธิ และปางไสยาสน์ ซึ่งพระพุทธรูปมีขนาดใหญ่พอดิบพอดีกับโถง ผู้คนก็เลยเรียกกันว่า พระอึดอัด ก็แปลกดี

ระหว่างนั่งรถผ่าทุ่งทะเลเจดีย์ ฝุ่นจะตลบพอสมควร แต่ได้บรรยากาศดิบๆดี ชอบตรงไหนก็จอดลงถ่ายรูปกัน บ่ายแก่ๆแล้วมีบอลลูนเริ่มขึ้นชมวิวมุมสูงกัน ราคาเท่าไหร่ไม่รู้เหมือนกัน

เจดีย์ชเวซานดอว์ | Shwesandaw Pagoda | ရွှေဆံတော်ဘုရာ

ได้เวลาบ่ายแก่ พวกเราก็รีบมาที่ เจดีย์ชเวซานดอว์ เพื่อรีบปีนขึ้นด้านบนจับจองที่รอแสงสวยๆของพระอาทิตย์ตกดินในทุ่งทะเลเจดีย์ ใครมาเที่ยวพุกามต้องห้ามพลาด ด้านบนเป็นจุดชมวิวมุมกว้างมองเห็นได้รอบทิศ มี 2-3 ระดับชั้นให้เลือก แต่ใครๆก็เลือกชั้นบนสุดทั้งนั้น

ประวัติของเจดีย์บอกไว้ว่าพระเจ้าอนิรุธเป็นผู้สร้างวัดและเจดีย์นี้เพื่อประดิษฐานพระเกศาธาตุ สร้างขึ้นในสมัยเดียวกับเจดีย์ชเวซิกอง องค์เจดีย์เป็นรูประฆังคว่ำ ตั้งอยู่บนฐานซ้อนกัน 5 ชั้น

มาถึงแล้วต้องไต่บันไดทางขึ้นสูงชันชนิดคอตั้งบ่าเลย ขาขึ้นยังไม่เท่าไหร่ ขาลงตอนเริ่มโพล้เพล้ก็ทุลักทุเลกันไม่น้อย ขึ้นมาข้างบนแล้วเหมือนประชุมสหประชาชาติ นักท่องเที่ยวต่างชาติ 80% คงมาอยู่บนนี้ ที่เหลือก็อยู่เจดีย์อื่นอีกไม่กี่แห่งที่เปิดให้ขึ้นได้ แต่ส่วนมากมาที่เจดีย์ชเวซานดอว์เพราะสูงกว่าที่อื่น แล้วอีกส่วนที่ไม่ชอบความสูงก็ไปชมพระอาทิตย์ตกริมแม่น้ำอิระวดีที่เจดีย์บูพญา

วิหารขนาดเล็ก ข้างในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ “ชินปินตาเลียว” ความยาว 18 เมตร ซึ่งองค์พระยาวเต็มความยาวของอาคาร แนวเดียวกับพระอึดอัดในวัดมนูหะเลย

ด้านบนสามารถเดินได้รอบ มองเห็นทะเลเจดีย์ได้ 360° บางอันก็จำได้ว่าเราไปแวะมาแล้ว บางอันก็จำไม่ได้ เพราะเจดีย์หน้าตาเหมือนๆกันไปหมด แต่อันใหญ่ๆดังๆก็เห็นชัดเจน อย่างเช่น เจดีย์วิหารธรรมยางจี (Dhammayangyi) หรือ ธรรมะยาสิกาเจดีย์ (Dhammayazika pagoda)

มองเห็นเจดีย์วิหารธรรมยางจีองค์ใหญ่ชัดเจน
เห็น ธรรมะยาสิกาเจดีย์ สีทองอยู่ไกลๆในทะเลเจดีย์

“มิงกาลาเจดีย์” (Mingalazedi Pagoda | မင်္ဂလာစေတီ) สร้างโดยพระเจ้านรสีหปติ กษัตริย์ในลำดับที่ 12 แห่งราชวงศ์พุกาม และเป็นองค์สุดท้ายก่อนที่จะอาณาจักรพุกามล่มสลายจากการรุกรานของมองโกล พระองค์ไม่ศรัทธาในพุทธศาสนา แต่ให้สร้างเจดีย์ขึ้นเพื่อเป็นการเสริมบารมีพระองค์เอง โดยเลียนแบบเจดีย์ชเวสิกอง

เดินวนจนพอใจก็ต้องรีบไปจับจองมุมดีๆสำหรับรับแสงสุดท้ายของวัน พร้อมๆกับนักท่องเที่ยวทุกชาติทุกภาษา แม้อากาศจะดูมัวๆทั้งจากท้องฟ้าเอง และฝุ่นคลุ้งจากพาหนะหลากหลายที่ห้อตะบึงบนพื้นดินทั่วทะเลเจดีย์ แต่พอได้เวลา พระอาทิตย์ก็ตอกบัตรกลับบ้านตรงเวลา เรียกเสียงฮือฮาได้จากทุกคน

กลับกันเถอะ มืดแล้ว

วันนี้เที่ยวยาวนานมาก ตั้งแต่เช้ามืดที่บินออกจากย่างกุ้ง ลงมาถึงพุกามก็ตระเวนเที่ยวมาจนถึงพระอาทิตย์ตก แวะวัดชมเจดีย์ไป 10 ที่!!! ก็สมควรจะหมดแรง ตอนนี้ต้องการอาหารเพิ่มพลัง บอกพี่ไกด์ว่าขออาหารอร่อยแล้วมีการแสดงหุ่นกระบอกด้วยได้มั๊ย พี่ไกด์อึ้งไปพัก คงนึกด่าในใจว่าทำไมไม่บอกก่อน เพราะร้านลักษณะนี้ต้องจองทั้งนั้น แต่พี่แกก็พาพวกเราไปจนได้ แต่ได้นั่งด้านนอก อยากดูการแสดงก็ต้องเดินเข้าไปด้านใน พวกเราก็ว่าไม่เป็นไร ก็เดินไปดูบ้าง มานั่งกินบ้างคนไม่สนใจดูก็นั่งกินกันไปยาวๆ ถือว่าเที่ยวครบจบกระบวนความ

พอได้อาหารลงท้องเริ่มมีพลัง ก็คุยกันถึงว่า ทะเลเจดีย์ยามเย็นยังสวยขนาดนี้ ถ้าทะเลเจดีย์ยามเช้าจะสวยขนาดไหน ก็เลยมีแผนจะไปชมแสงแรกบนเจดีย์กันอีกรอบ เดือดร้อนพี่ไกด์อีกล่ะ สรุปได้ว่า พรุ่งนี้เช้าพี่ไกด์จะเรียกรถม้าพาพวกเราไป รถบัสจะได้ไม่ต้องมาแต่เช้ามืด ดีใจเป็นที่สุดได้นั่งรถม้าแล้ว

วันเดียวเที่ยวไป 10 เจดีย์

พุกามยามเช้า

หลังจากตะลุยทะเลเจดีย์พุกามไป 10 เจดีย์เมื่อวาน จนเอาไปหลับฝัน เช้านี้พวกเราจะกลับไปปีนเจดีย์ชเวซานดอว์ เพื่อรอชมแสงแรกในทุ่งทะเลเจดีย์กันอีกรอบ ได้เวลานัดก็จัดขบวนรถม้ากันออกไป เรียกขบวนก็จะดูยิ่งใหญ่ไปหน่อยเพราะมีกันแค่ 3 คู่นั่งรถม้า 3 คัน เสียงม้าวิ่งกุบกับๆ ไปตามทาง แต่รอบด้านยังมืดมิด ไม่เห็นอะไรนัก ยิ่งเข้าใกล้ย่านเมืองเก่า ก็มีเพื่อนม้าวิ่งกันพรึ่บพรับ ห้อกันฝุ่นตลบ น่าจะมุ่งหน้าไปที่เดียวกัน

นักท่องเที่ยวขยันมาแต่เช้า พ่อค้าแม่ค้าชาวพม่าก็ขยันไม่แพ้กัน รอบๆเจดีย์จึงจอแจกันแต่เช้ามืด พวกเราเมินเฉยสาวๆที่พยายามขายของไปก่อน รีบไต่บันไดขึ้นไปจองทำเล มีเพื่อนฝรั่งขึ้นมารอก่อนหน้าเราเยอะแล้ว อากาศยามเช้ากลางทุ่งเจดีย์ในวันใกล้สิ้นปีหนาวจับใจ อย่าลืมแต่งตัวให้อบอุ่นกันด้วย

แสงสีส้มๆเริ่มออกมาเรื่อๆ ทำให้เห็นบรรยากาศโดยรอบ มันดูขมุกขมัวพิกล ไม่แน่ใจว่าเป็นหมอกหรือเป็นฝุ่น แต่ดูๆไปก็เป็นเสน่ห์พอตัว ยิ่งตอนมีแสงออกมาอุ่นๆ แล้วมีนักท่องเที่ยวตื่นสาย นั่งรถม้าห้อตะบึงมาเห็นฝุ่นฟุ้งมาเป็นทาง ช่วยให้ภาพดูดีมีมิติแฮะ

นั่งรับแสงแรกจนกลายเป็นแสงแรงก็ไต่บันไดกันลงมา คราวนี้เลี่ยงเสวนากับสาวๆนักขายตรงได้ยากมาก ล้อมหน้าล้อมหลัง ก็คุยๆกันไปด้วยภาษาอังกฤษ สาวๆก็พูดได้ เด็กๆก็ยังพอพูดได้นิดหน่อย ช่วยซื้อสร้อยซื้อของที่ระลึกเล็กๆน้อยๆมาบ้าง ก็ขอควบรถม้ากลับ ขากลับให้รถม้าพาไปแวะตลาดเช้า ลงเดินเล่นตลาดยองอูยามเช้า เดินชมตลาด อะไรที่พอคิดว่ากินได้ก็ลองซื้อกินกัน

ได้เวลาก็กลับโรงแรม อาบน้ำแต่งตัว ร่ำลาพุกาม เพื่อนั่งเครื่องบินต่อไปมัณฑะเลย์

จะไปมัณฑะเลย์ก็เลยใช้บริการ Air Mandalay ไปเช็คอินก่อนเวลาเครื่องออกตอน 12:50 ราวๆ 2 ชม. ตามมาตรฐาน แต่นั่งรอนานแสนนาน เครื่องก็ยังไม่มารับ เป็นเหตุการณ์ที่เจอได้บ่อยๆเวลาท่องเที่ยว ต้องทำใจและหาทางแก้ไขสถานการณ์ไปเป็นกรณีๆไปนะ สรุปว่าเที่ยวบินล่าช้าไป 1 ชม.

ไปเที่ยวมัณฑะเลย์กันต่อ > มัณฑะเลย์-อินเล-พุกาม เที่ยวข้ามปี (ตอน ๒) <

ข้อมูลอ้างอิง
วาดไว้ในเมียนมาร์ : พิษณุ ศุภ

เปิดประตูเชียงตุง

Trip Jan. 2005  

เจ้ากุ้งแห่ง Trip & Trek มาชวนไปเที่ยวพม่า แบบที่ไม่ต้องขึ้นเครื่องบิน แต่ไปทางรถ ไม่ต้องขอวีซ่าไปล่วงหน้า (เบื่อการขอวิซ่าที่สถานฑูตพม่ามาก) มาทำบัตรผ่านแดนที่ด่านแม่สายได้เลย สามารถใช้เดินทางไปได้ถึงเชียงตุง เมืองลา ในระยะเวลาไม่เกิน 15 วัน ใช้รูปถ่ายสี 3 รูป บัตรประชาชนตัวจริงพร้อมสำเนา

ตั้งต้นจากด่านแม่สายทำเอกสารฝั่งไทย แล้วก็เดินข้ามพรมแดนไปทำเอกสารฝั่งพม่า เรียบร้อยตรวจผ่านเข้าเขตพม่าก็คือ เมืองท่าขี้เหล็ก จากท่าขี้เหล็กจะไปเชียงตุงวิธีแบบไม่ติดต่อล่วงหน้าก็คือการเดินไปเช่าเหมาแท็กซี่ จะมีคนมาถามเมื่อคุณเดินข้ามไป คิวรถอยู่บริเวณวงเวียนไม่ไกลจากสะพานข้ามแดน เป็นรถนั่ง 4 คนจากท่าขี้เหล็ก ไปถึงเชียงตุงราคาเหมาประมาณ 1500-2000 บาท หรือจะนั่งรถโดยสารประจำทางก็ได้มีท่ารถแถวๆนั้น หรือจะติดต่อรถตู้หรือรถเช่าพร้อมคนขับจากเมืองไทยไป มีหลายบริษัทฯจากทั้งเชียงใหม่และเชียงราย จัดทัวร์หรือให้เหมารถไปเชียงตุงเมืองลา หรือจะขับรถข้ามไปเองก็ยังได้แต่ยุ่งยากเพิ่มไปอีก ต้องทำใบผ่านแดนของรถด้วย ต้องศึกษารายละเอียดเรื่องการตรวจเอกสาร การจ่ายค่าผ่านทางให้ดี (ตลอดทางไปเชียงตุงมีด่านเยอะมาก เป็นด่านชนกลุ่มน้อยเรียกเก็บ) และรถขับเลนชิดขวา ต้องสลับด้านที่กลางสะพาน

แท็กซี่ที่พวกเราเหมามาก็หน้าตาประมาณนี้ แอร์ธรรมชาติ ช่วงล่างหาความนุ่มนวลไม่เจอ

เชียงตุง อยู่ในรัฐฉานตะวันออกของประเทศพม่า ห่างจากชายแดนไทย แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก ประมาณ 168 กม. คนเชียงตุงส่วนมากเป็นชาวไต หรือ ชาวไท มีคนพม่าอาศัยอยู่บ้างแต่ก็น้อย นอกจากนั้นตามหมู่บ้านต่างๆรอบเมืองเชียงตุง ไปจนถึงเมืองยองเมืองลา มีทั้งชาวไทใหญ่ ไทลื้อ ไทยอง ระยะทางไม่ไกลแต่ต้องนั่งรถข้ามเขาคดเคี้ยว และผ่านด่าเยอะมาก เป็นด่านของชนกลุ่มน้อยในพม่า มีทหารยืนถือปืนคอยโบกเรียกเก็บค่าผ่านทาง ตอนเจอด่านแรกก็กลัวๆอยู่ แต่พอเจอสัก 5-6 ด่านก็เลิกกลัวแล้ว คนขับรู้อยู่แล้ว เขาเตรียมเงินไว้จ่ายค่าผ่านทางเรียบร้อย ไม่เกี่ยวอะไรกับผู้โดยสาร

นั่งรถกระเด้งกระดอนไปพักใหญ่ก็ถึงจุดพักรถ สำหรับเข้าห้องน้ำหรือทานอาหารกลางวัน ที่เมืองพยาก (PYAK) หรือบ้านท่าเดื่อ ซึ่งอยู่ประมาณกลางทาง ลงมายืดเส้นยืดสาย หาอะไรรองท้องหน่อย

วิวนาข้าวข้างทางไม่มีนาข้าวเขียวสวยๆเพราะมาหน้าหนาวเขาเกี่ยวข้าวกันไปหมดแล้ว

หลับๆตื่นๆกันมาอีกเกือบ 2 ชม. ก็เจอป้ายที่อ่านไม่ออก แต่พลขับบอกว่า ถึงแล้ว….เชียงตุง

ถึงแล้ว เมืองเชียงตุง

เชียงตุง เมือง 3 จอม 7 เชียง 9 หนอง 12 ประตู

ที่เรียกว่า เชียงตุงเมือง 3 จอม เพราะคนเชียงตุงเชื่อกันว่า จอมคำ, จอมสัก, จอมมน เป็นสามเส้าที่ค้ำเมืองเชียงตุงให้มั่นคง จึงเรียกว่าเป็นเมือง 3 จอม

ส่วน 7 เชียงคือ เมืองเชียงตุงมีชุมชนดั้งเดิม 7 ชุมชน คือ เชียงอินทร์ เชียงคุ่ม เชียงลาน เชียงจันทร์ เชียงงาม เชียงจาม เชียงยืน

และมี 9 หนองน้ำ อันที่ดังสุดใหญ่สุดคือ หนองตุง

ส่วนที่ว่า 12 ประตู นั่นคือประตูเมือง แต่ตอนนี้ถูกทำลาย เหลือให้เห็นแค่ประตูเดียว

การเที่ยวเมืองเชียงตุงก็มีวัดเป็นหลัก มีฉายาอีกอันว่า เชียงตุงเมืองร้อยวัด ตั้งต้นกันที่ วงเวียนวัดพระเจ้าหลวง หรือวัดมหาเมี๊ยตมุนี สร้างโดยเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง ผู้ปกครองเชียงตุงองค์สุดท้าย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป หล่อด้วยโลหะผสมทองคำ มีพระพักต์งดงาม ดูคล้ายๅกับพระมหามุนีที่เมืองมัณฑะเลย์

วงเวียนวัดพระเจ้าหลวง

วัดพระเจ้าหลวง หรือวัดมหาเมี๊ยตมุนี // วัดหัวข่วง

วัดพระแก้ว // วงเวียนวัดพระเจ้าหลวง

ฝั่งตรงข้ามวัดพระเจ้าหลวงด้านทิศตะวันตกคือ วัดพระแก้ว ภายในประดิษฐานพระแก้วมรกต จะเปิดให้เข้านมัสการเฉพาะวันสำคัญทางศาสนา ถัดจากวัดพระแก้วไปอีกฝั่งถนนคือ วัดหัวข่วง เป็นพระอารามหลวงเหมือนกัน เป็นที่เรียนหนังสือของเณรด้วย เดินเข้าไปจะเจอเณรน้อยนั่งเล่นกันตามศาลา ตามลานวัด

3 จอม ของเชียงตุง เป็นเนินเขาอยู่ 3 มุมเมือง ด้านบนสร้างวัด สร้างเจดีย์ ให้คนขึ้นไปกราบไหว้บูชา นักท่องเที่ยวก็ขึ้นไปใช้เป็นจุดชมวิวด้วย

วัดจอมคำ มีองค์พระธาตุที่ทำด้วยทองคำสูงถึง 226 ฟุต บนยอดประดับด้วยเพชรพลอย ด้านข้างพระธาตุมีระเบียงมองออกไปเห็นเมืองเชียงตุงและพระชี้นิ้วแห่งวัดจอมสักอยู่ฝั่งตรงข้ามอย่างชัดเจน

วัดจอมสัก ใครไปใครมาเชียงตุงก็จะต้องหาโอกาสขึ้นมานมัสการ และถ่ายรูปพระชี้นิ้วเพื่อยืนยันว่ามาถึงเมืองเชียงตุงแล้ว พระชี้นิ้วเมืองเชียงตุงมีสวยงามแบบศิลปะพม่า ครองจีวรเป็นริ้วละเอียด สัดส่วนได้ขนาดต่างกับพรพุทธรูปพม่าทั่วไปที่มักจะดูผิดสัดส่วน พระชี้นิ้วเชียงตุง ก็ยืนชี้นิ้วลงไปยังเมืองเชียงตุง เหตุผลก็แล้วแต่จะถามใคร ถ้าถามคนพม่าจะได้คำตอบว่าพระชี้นิ้วไปที่เมืองใด เมืองนั้นจะเจริญรุ่งเรือง แต่ถ้าไปถามชาวไทหรือชาวไต ซึ่งเป็นชนชาติที่ตกอยู่ใต้การปกครองของพม่า ก็จะได้คำตอบว่าพม่าสร้างพระชี้นิ้วมาเพื่อเป็นเคล็ดว่า จะชี้นิ้วสั่งให้ทุกชนเผ่าอยู่ใต้อำนาจการควบคุมได้

โชคไม่ดี พระชี้นิ้วกำลังซ่อมแซม

วัดจอมมน อยู่บนเนินเขาด้านทิศใต้ของเมือง ภายในอุโบสถมีพระประธานสวยงาม และยังมีพระบัวเข็มจำลอง ที่มีลักษณะกลมมนเพราะการปิดทอง ทำเหมือนที่วัดโผ่วต่ออูที่อินเลแต่องค์เล็กกว่า ใกล้ๆกับวัดจอมมนมีจุดน่าสนใจอีกแห่ง คือ ต้นยางใหญ่ เป็นต้นยางขนาด 9 คนโอบ มีอายุ 300 ปี เชื่อกันว่าปลูกโดยเจ้าอ้าย ราชบุตรของเจ้าฟ้ากองไต เจ้าฟ้าเชียงตุงองค์ที่ 38 ชาวเชียงตุงถือว่าเป็นไม้หมายเมือง คือเป็นต้นไม้สัญญลักษณ์ของเมือง เป็นศูนย์กลางเมือง