ถนนสายชมพูพันธุ์ทิพย์

“ถนนชมพูพันธุ์ทิพย์” มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

ต้นเดือนมีนาคม 2566

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มีถนนอยู่เส้นหนึ่งที่พอเริ่มเข้าฤดูร้อนจะกลายเป็นสีชมพู สวยสะพรั่งไปทั้งแนว ถนนเส้นนี้มีชื่อชัดเจนมากว่า 🌸 ถนนชมพูพันธุ์ทิพย์ 🌸 ตามชื่อต้นไม้ที่ปลูกไว้ตลอดข้างทาง ใครจะไปให้ตั้งพิกัดไปที่ โรงเรียนสาธิตเกษตรฯ กำแพงแสนก็ได้ ตั้งต้นตั้งแต่แถวนั้นยาวไปถึงหน้าคณะวิศวะกันเลย ช่วงนี้เขามีจัดงานด้วยนะ มีร้านขายอาหาร ขายขนม อยู่ในลานจอดด้านข้างด้วย

ต้นชมพูพันธุ์ทืพย์จะออกดอกเมื่อเริ่มเข้าฤดูร้อน แต่ละปีก็จะบานไม่ตรงกันแน่นอน แนะนำให้ติดตามเพจ ชมพูพันธุ์ทิพย์ ม.เกษตรฯกำแพงแสน ไว้เลย จะมีรูปคอยแจ้งตลอดว่าบานกี่ % แล้ว ปีนี้ตอนแรกเพจประเมินไว้ว่าน่าจะบานเต็มที่ราวๆกลางเดือนมีนาคม แต่มันดันบานเร็วกว่าที่คาดไป 2-3 วัน แต่ไปแล้วก็บานฟู สีชมพูหวานแหววไปทั้งถนน และน่าจะยังบานสวยไปประมาณ 1 สัปดาห์

📷 ใครจะไปแนะนำให้ไปช่วงเช้า แสงเช้าอุ่นๆสวยงาม และคนจะน้อย แต่…เราผู้ซึ่งเป็นคน ดึกเอาเช้าไม่สู้ แถมบ้านอยู่กรุงเทพฯจะไปถึงแต่เช้าๆสัก 8 โมงก็ต้องแหกขี้ตาออกจากบ้านแต่เช้ามืด ก็เลยว่า… เอาแสงบ่ายๆก็ได้(วะ) ออกจากบ้านสายๆแวะกินข้าวหมูแดงมื้อเที่ยงเสร็จ ก็ว่าจะวนรถเข้าไปดูลาดเลาหน่อย แล้วคงออกมานั่งจิบกาแฟร้านแอร์เย็นๆ ค่อยเข้าไปถ่ายรูปตอนแสงบ่ายแก่ๆ แต่แค่อยู่ถนนใหญ่ยังไม่เลี้ยวรถเข้า มองจากถนนก็เห็นแนวสีชมพูหวานแหววเป็นแนวยาว แบบว่า ตกใจเลย เฮ้ยยยย มันเยอะ มันสวยขนาดนี้เลยเหรอวะ ไอ้ที่ว่าจะไปดูสักแป๊บ กลายเป็นว่าจอดรถลงเดินตั้งแต่บ่ายโมงกว่าๆไปยันเย็นเลย ถ่ายรูปไปเรื่อย เมื่อยก็นั่งเล่นใต้ต้น นั่งดูคนโน้นคนนี้ แวะจิบกาแฟร้านไอเกียร์ แล้วกลับมาเดินถ่ายรูปอีก เมื่อยก็นั่งเล่น วนไปแบบนี้ยันเย็น 🌤 เสียดายวันที่ไปฟ้าหลัวไปหน่อย ไม่ค่อยมีแดด แต่ข้อดีคือไม่ร้อน


บรรยากาศมันดีมากๆ แม้คนจะเยอะไปหน่อย (ขนาดวันธรรมดานะเนี่ย) มีคนมานั่งเล่นใต้ต้นกันเยอะ เด็กๆก็มีวิ่งเล่น ผู้ใหญ่ผู้สูงอายุก็มา สาวๆหนุ่มๆก็มี คนนั่งรถเข็นก็มาได้ หลายคนแต่งตัวจัดเต็ม บางคนก็มายังกะชุดนอน บางคนมานั่งปิคนิค บางคนมาปูผ้านอน คือดี…

🚫 สิ่งที่รู้สึกไม่ดีมีแค่ 2 อย่าง คือ

คนโน้มกิ่งไม้ดอกไม้มาแนบหน้าถ่ายรูปกันเยอะ โน้มทำไมคร้าบบบบ ไม่ต้องเอามาแนบหน้า ดอกเยอะขนาดนี้ยืนถ่ายห่างๆยังสวย
กับอีกเรื่องคือ มีหลายคนพาน้องหมามาเดินชมสวนด้วย เจ้าหมาน้อยทำจมูกฟุดฟิดหาที่อึที่ฉี่ ว่าแล้วก็ยกขาฉี่มันที่โคนต้นชมพูพันทิพย์ ที่คนเขาชอบนั่งกันนั่นแหละ เฮ้ย! บ้าบออออ ไอ้เราเองก็เพิ่งนั่งตรงนั้นแหละนะ คิดดูถ้านั่งลงไปทับขี้หมาคงเซ็งอ่ะ

ยกเว้น 2 เรื่องนี้แล้ว บรรยากาศรื่นรมย์สุดๆ ใครจะไปชมต้องรีบล่ะ เราว่าได้อีก 2-3 วันก็น่าจะโรยเยอะ ดอกร่วงไวมาก แถมมีพายุฤดูร้อนเข้าอีกด้วย

สวยกว่าที่คาดเยอะ ถนนยาวเป็นกิโล ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ก็ต้นใหญ่ ปลูกไว้ตลอดแนว มาเดินชมแล้วสวยเทียบเคียงกับคนญี่ปุ่นชมดอกซากุระได้เลย ต่างกันที่อากาศเราไม่เย็น (ขนาดหน้าหนาวยังไม่หนาวเล้ยยย ฮา….)

ขับรถออกมาถนนที่ขนานกับถนนชมพูพันธุ์ทิพย์จะมองเห็นแนวถนนสีชมพูได้เป็นแนว ตัดกับทุ่งหญ้าสีเขียว

ถ่ายรูปสนุกดีไม่น้อย สีไม่ได้ปรับคอนทราสต์ขึ้น ดอกมันชมพูหวานแบบนี้จริงๆเลย 🌺

กรุงเทพฯ วันนี้สีชมพู

🌺 ชมพูพันธุ์ทิพย์ สีสันแห่งฤดูร้อน 🌺

1 มีนาคม 2563

สีชมพูคือสีสันแห่งฤดูกาลของเมืองไทยเสียจริงๆ เริ่มจากสีชมพูของพญาเสือโคร่งในช่วงฤดูหนาว ผ่านมาไม่นาน ลมหนาวผ่านไปลมร้อนเริ่มมา สีสันแห่งฤดูร้อนยังเป็นสีชมพูอีกเหมือนเดิม ช่วงนี้ใครๆก็ไปถ่ายรูปชมพูพันธุ์ทิพย์ที่ออกดอกบานสะพรั่งไปทั่ว สำหรับคนกรุงเทพฯก็มีให้เห็นได้หลายที่ ที่จัดว่าเด่นดังมาทุกๆปี คือสวนจตุจักร ใครที่เดินทางผ่านไปมาตรงสถานี BTS จตุจักร หรือข้ามสะพานลอยตรงนั้น ก็น่าจะได้เห็น ดอกสีชมพูของชมพูพันธุ์ทิพย์ตามแนวรั้วของสวนสาธารณะ ตอนที่บานเต็มที่ สวยงามไปตลอดแนว

ถ้ามีเวลา อยากให้เข้าไปเดินชมด้านในสวนกัน ด้านในสวนสาธารณะหลายที่มีต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ปลูกไว้ ตอนที่ออกดอกพร้อมๆกัน สวยงามไม่แพ้ซากุระญี่ปุ่นเลยนะ สำหรับปีนี้ เรามีเวลาว่างนิดหน่อย ได้ไปชมสวนมาบ้าง แต่เหมือนจะช้าไปนิด แต่ก็ยังสวยอยู่แหละนะ นอกจากดอกสวยๆบนต้น ก็มีดอกร่วงบนพื้นเหมือนปูพรมสีชมพูก็สวยดีเหมือนกัน (แต่ไม่น่าถูกใจพี่ๆที่รับหน้าที่กวาดสวน)

ชอบบรรยากาศตามสวนสาธารณะในตอนนี้ ตอนเย็นจะมีคนเอาเสื่อมาปูนั่งเล่น มานั่งชมดอกไม้ มีคนมาเดินเล่นถ่ายรูปกันเยอะแยะ เด็กๆก็มาวิ่งเล่น สายวิ่งก็ยังมาวิ่งกันเป็นปกติ เพิ่มเติมคือวิ่งในสวนสีชมพูสวยหวาน เพลิดเพลินกว่าปกติ

สายถ่ายรูป ควรมีนางแบบ นายแบบ ไปด้วย มีมุมน่ารักสวยๆเก๋ๆให้ถ่ายรูปเยอะมาก เราผู้ซึ่งไปคนเดียวก็เลยมีแอบถ่ายรูปติดน้องๆหลานๆมาด้วย ทำให้รูปมีชีวิต ดูสวยงามกว่ารูปชมพูพันธุ์ทิพย์เปล่าๆ เอารูปมาฝาก 3 สวน

  • สวนสาธารณะใต้สะพานพระราม 7 : สวนค่อนข้างเล็ก แต่ต้นชมพูพันธ์ทิพย์เยอะ (ปีนี้ไม่น่าทันแล้วนะ ร่วงเยอะแล้ว เหลือบานฟูเต็มต้นไม่เยอะแล้ว)
  • สวนจตุจักร : มุมมองสูงจากสะพานลอยหรือสถานี BTS จะเห็นต้นที่อยู่ตามแนวรั้ว แต่ถ้าเข้าไปด้านในก็มีจุดที่ต้นดอกยังแน่นๆอยู่ รีบไปยังทัน
  • สวนสาธารณะวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) : มีแนวต้นชมพูพันธุ์ทิพย์หลายจุดตลอดแนววิ่ง บางช่วงเป็นซุ้มสวยงาม มีส่วนที่นั่งปูเสื่อบนสนามหญ้าชมแนวต้นไม้ หรือไปปูใต้ต้นก็ได้ รีบไปยังทันเหมือนกัน แต่ก็ร่วงลงไปเยอะแล้ว เหลือแน่นๆอยู่บางจุด

🌸 ชมพูพันธุ์ทิพย์ หรือ ทาเบบูย่าสีชมพู เป็นพืชเมืองร้อน ที่ออกดอกช่วงฤดูร้อน เมื่อชมพูพันธุ์ทิพย์ออกดอกสีชมพูแน่นเต็มต้น นั่นคือสัญญานว่าฤดูร้อนมาถึงแล้วจริงๆ

ทาเบบูย่า (Tabebuia rosea; Bertol, D.C.) ดอกสีชมพู ม.ร.ว. พันธ์ุทิพย์ บริพัตร ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต เป็นผู้นำเข้ามาประมาณ พ.ศ. 2490 หลวงบุเรศรบำรุงการ (เจริญ วงศ์ตลาดขวัญ) จึงตั้งชื่อไทยให้ว่า “ชมพูพันธุ์ทิพย์”

ที่มา https://www.silpa-mag.com/culture/article_103006

สวนจตุจักร

สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ)

สวนใต้สะพานพระราม 7

ไม่ต้องเข้าสวนสาธารณะก็ยังเห็นสีชมพูทั่วไปได้เหมือนกัน กรุงเทพฯวันนี้เป็นสีชมพูจริงๆ

ภูหินร่องกล้า

อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า

มกราคม 2566

ต่อเนื่องจากการมาชื่นชมพญาเสือโคร่งบานที่ ภูลมโล ทำให้ได้กลับมาอช.ภูหินร่องกล้าอีกครั้งหลังจากไม่ได้มาเที่ยวนานกว่าสิบปี นึกภาพสมัยก่อนเทียบกับตอนนี้แล้วอช.ภูหินร่องกล้าปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปมากมาย มีร้านกาแฟ มีร้านอาหาร บ้านพักมีหลายขนาด หลายหลัง ดูสวยงามน่าพัก พื้นที่กางเต๊นท์ก็มีกว้างขวาง ปรับพื้นไว้เรียบดี อยู่ใต้ป่าสนร่มรื่น มีห้องน้ำบริการหลายจุด รวมกับพัฒนาการของชาวแคมป์ที่ดีขึ้น มีระเบียบ เคารพกฏกติกา ทำให้การแคมป์ปิ้งที่นี่น่าจะเป็นกิจกรรมที่มีความสุข

จากกรุงเทพฯเราขับรถมุ่งตรงขึ้นไปที่จ.พิษณุโลก ไปทางอ.วังทอง เข้าอ.นครไทย เพื่อขึ้นไปที่อช.ภูหินร่องกล้า ถนนดีตลอดทาง ช่วงเลยจากอ.วังทอง มีทางขึ้นเขาแต่ไม่ได้สูงชัน และถนนกว้างขวางดี รถเก๋งขับไปได้สบายมาก

จุดชมวิวระหว่างทาง ร่องกล้าฮั้นแน้ว (ฮั้นแน้ว แปลว่า ใช่แล้ว ถูกต้องแล้ว ร่องกล้าฮั้นแน้ว ก็น่าจะแปลว่า ที่นี่ร่องกล้าถูกต้องแล้ว ถึงแล้ว ทำนองนี้…มั๊ย)

อช.ภูหินร่องกล้า ได้รับการประกาศจัดตั้งเมื่อปีพศ. 2526 หลังจากสถานการณ์สู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) คลี่คลาย มีการตัดถนนผ่านเขตพื้นที่อุทยานข้ามจากฝั่งจังหวัดพิษณุโลกไปจ.เพชรบูรณ์ได้เลย

นอนที่ภูหินร่องกล้าสักคืน

สำหรับคนที่ต้องการมานอนที่อช.ภูหินร่องกล้า จุดแรกที่ต้องไปติดต่อคือตรงที่ติดต่อบ้านพัก สำหรับคนที่จองบ้านมา (เข้าไปดูรายละเอียดและทำการจองได้ที่เวปไซต์ของอช. http://www.dnp.go.th ได้เลย จองล่วงหน้าได้ 60 วัน) ถ้าจะมากางเต้นท์ก็ไปแจ้งเจ้าหน้าที่ ชำระค่ากางเต้นท์ที่แสนถูก 30 บาท/คน/คืน หรือจะเช่าเต้นท์ของทางอุทยานฯเลยก็ยังได้ มีกางไว้ที่ลานแล้วเรียบร้อย มีหลายราคาตามขนาดของเต้นท์ ถ้าแค่มาแวะแล้วอยากได้กาแฟสักแก้วก็มีร้านกาแฟอยู่ตรงนี้ และร้านสวัสดิการที่ขายของที่ระลึก เครื่องดื่มเครื่องใช้เล็กๆน้อยก็อยู่บริเวณนี้ด้วย

ในที่ทำการมีรูปจุดเด่นๆของภูหินร่องกล้ากับดอกไม้เด่นประจำจุดด้วย ดูแล้วก็คือมาเที่ยวได้ทั้งปี เพราะดอกไม้ในแต่ละจุดก็บานตามฤดูกาล มีทั้งหน้าฝน หน้าร้อน หน้าหนาว อย่างถ้าอยากดูพญาเสือโคร่งสีชมพู ใบเมเปิ้ลสีแดง ก็ต้องมาหน้าหนาว อยากเห็นดอกลิ้นมังกรสวยๆก็ต้องมาหน้าฝน แต่ถ้าอยากเห็นกุหลาบขาวสวยๆก็ต้องมาหน้าร้อน

ลงทะเบียนและชำระเงินเรียบร้อยก็ขับรถไปตามป้ายบอกทางไปที่จุดกางเต้นท์ เลือกจุดกันตามสะดวก อช.ปรับที่ไว้เป็นระดับลดหลั่นกันไปใต้ทิวต้นสน บรรยากาศดีเลยทีเดียวแม้ว่าวิวจะไม่สวยมาก มีจุดห้องน้ำห้องอาบน้ำอยู่ 3-4 จุด กางเต้นท์ตรงไหนก็ใกล้ห้องน้ำหมด ทีเด็ดคือห้องน้ำจุดใหญ่ใหม่สุดคือจุดสุดท้ายก่อนทะลุไปแถวบ้านพัก ห้องน้ำตรงนี้มีน้ำอุ่นด้วยนะ เห็นว่ามีคนมาบริจาคให้ แต่เราเห็นว่าลานตรงนั้นเต้นท์เยอะมาก เลยมากางเต้นท์ช่วงกลางๆ คนน้อยกว่า เลยไม่ได้เดินใช้บริการน้ำอุ่น ฝั่งตรงข้ามลานกางเต้นท์เป็นลานหินที่เอาไว้จอดรถ แต่บางคนเป็นแคมป์คาร์ก็กางตรงนั้นได้ ตามสะดวก

บรรยากาศดีมากทั้งเย็น ทั้งเช้า แค่มานั่งจิบกาแฟอุ่นๆรับอากาศเย็นๆก็มีความสุขแล้ว สิ่งอำนวยความสะดวกอีกอย่างคือมีร้านอาหารอยู่ 3 ร้านใหญ่ อยู่อีกฝั่งของลานกางเต้นท์ ใครไม่ทำอาหารก็เดินไปกินหรือซื้อมากินที่เต้นท์ก็ได้ ช่วยกันรักษาความสะอาดด้วยก็แล้วกัน

ภูหินร่องกล้าคือสถานที่ประวัติศาสตร์ แม้จะเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีธรรมชาติสวยงามให้มาเที่ยว แต่ในทุกจุดที่กลายเป็นจุดท่องเที่ยวในปัจจุบัน ล้วนมีอดีต มีเรื่องราวให้ได้เล่าต่อกันไปสู่ลูกหลาน

ย้อนไป 70 กว่าปีที่ผ่านมา ชาวม้งจากทางเหนือได้อพยพกันลงมาตั้งเป็นหมู่บ้านกันตามเทือกเขาแถบภูหินร่องกล้า กระจัดกระจายกันเป็นหลายหมู่บ้าน ทำอาชีพปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ หาของป่า พื้นที่แถบนี้ยังเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ แต่การทำเกษตรของชาวม้งคือการทำไร่เลื่อนลอย ย้ายที่ปลูกไปเรื่อย จนทำให้ป่าแถบนั้นโดนเผาโดนถางจนโล้นเลี่ยนไปมากมาย รวมทั้งชาวม้งบางส่วนยังมีการแอบปลูกฝิ่นด้วย ทำให้เจ้าหน้าที่จึงต้องเข้ามาจัดการ มาจับกุม เกิดการกระทบกระทั่งกันอยู่เรื่อยๆ

ราวๆปี 2507 มีการก่อตั้ง พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) การมองหาแนวร่วมจากต่างจังหวัดจึงเกิดขึ้น พคท.ส่งคนเข้าไปตามที่ห่างไกลที่ความเจริญเข้าไม่ถึง และไปตามชนเผ่าต่างๆ นำเรื่องการแบ่งชนชั้น การกดขี่ ไปปลุกระดมให้ผู้คนมาร่วมขบวนการ ชาวม้งจำนวนหนึ่งจึงเข้าร่วมกับพคท. มีการส่งชาวม้งไปเรียนหลักสูตรการเมืองการทหารที่เวียดนาม แล้วกลับมาเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ให้กับคนในหมู่บ้าน ทำให้มีชาวม้งในแถบภูหินร่องกล้าเป็นแนวร่วมกับ พคม. มากขึ้น มีการจัดตั้งฐานปฏิบัติการสู้รบบนเขาที่มีมีชัยภูมิดีต่อการหลบซ่อน และในปี 2511 พคท.ภูหินร่องกล้าได้เข้าทำการโจมตีเจ้าหน้าที่คุ้มครองพื้นที่เพื่อที่จะยึดครองพื้นที่และหมู่บ้านต่างๆ มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

ต่อมามีการประท้วงรัฐบาลของประชาชนและนักศึกษาจนเกิดการปราบปรามขั้นรุนแรง คือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และตามมาด้วย 6 ตุลาคม 2519 ทำให้มีนักศึกษาหนีการปราบปรามเข้าไปร่วมกับพคท.มากขึ้น ฐานกำลังของพคท.ที่ภูหินร่องกล้าเริ่มขยายออกไปอย่างกว้างขวาง มีการจัดตั้งโรงเรียนการเมืองการทหาร สอนเรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างจริงจัง จากที่ตำรวจ-ทหารเคยสู้รบกับ พคท. ที่เป็นต่างชาติหรือชาวเขาอพยพ ก็กลายเป็นการสู้รบกับคนไทยด้วยกันเองไปแล้ว

การสู้รบทำให้ชาวม้งที่ไม่ได้ร่วมรบอพยพหนีตายลงจากเขากันมาเรื่อยๆ ที่เหลืออยู่ด้านบนก็คือพวกที่ตัดสินใจเข้าร่วมรบกับ พคท. และเหล่านักศึกษาที่หนีการปราบปราม การสู้รบในแถบภูหินร่อองกล้าต่อเนื่องยาวนาน จากปี พ.ศ. 2511 ไปจนถึงในช่วงปี พ.ศ. 2523 ในหลวง ร.๙ ทรงแนะนำให้เปลี่ยนยุทธวิธีการสู้รบใหม่ พระองค์ได้มองเห็นว่าคอมมิวนิสต์ก็คือคนไทยด้วยกันเพียงแต่มีความคิดที่ไม่ตรงกัน ไม่ให้เรียกพวกเขาว่าผู้ก่อการร้ายหรือผู้ทรยศ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รับพระราชโองการ มีคำสั่งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกับพคท. เข้ามอบตัวได้โดยไม่มีความผิด ทำให้มีชาวเขาเผ่าม้งลงจากเขาเข้ามอบตัวต่อทางการและรับที่ทำกิน เรียกว่าเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย รวมทั้งประชาชน นักศึกษา ก็ทยอยกันออกมามอบตัว

เหตุการณ์เริ่มคลี่คลายไปเรื่อยๆโดยไม่เสียเลือดเนื้ออีก จนในปี พ.ศ. 2526 ก็ได้ประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ชาวเขาเผ่าต่างๆก็อยู่กันเป็นหมู่บ้าน ทำมาหากินสุจริตต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน เหมือนกับชาวม้งที่หมู่บ้านร่องกล้า

สรุปเหตุการณ์คร่าวๆนี้มีที่มาจากผู้ที่อยู่ในพื้นที่ได้สัมผัสกับเหตุการณ์จริง บันทึกไว้ให้เป็นข้อมูลตามอ่านเรื่องเต็มๆได้ที่ - https://www.phitsanulokhotnews.com/2018/06/23/119997

โรงเรียนการเมืองการทหาร

ในอดีตเคยเป็นจุดที่พคม.ใช้เป็นที่สอนเกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์ ตอนนี้เหลือแต่อาคารไม้เก่าๆไม่กี่หลัง บางหลังก็ได้รับการบอกเล่าว่าสร้างขึ้นมาใหม่ มีรถแบ็คโฮเก่า 1 คันที่มีประวัติเล่าไม่เหมือนกันฝ่ายหนึ่งเล่าว่าพคม.ไปปล้นรถของทางการมาแล้วมาเรียกค่าไถ่ แต่อดีตพคม.บอกว่าเขาปล้นมาจริงแต่ไม่เคยเรียกเงินแค่ปล้นแล้วขับขึ้นมาเพื่อไม่ให้ทางการใช้รถมาขวางกั้นเส้นทาง ก็ต่างคนต่างเล่าความตามนี้ ถูกผิดอย่างไรก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญอีกแล้ว ตอนนี้บริเวณโรงเรียนการเมืองการทหารเป็นแค่จุดที่นักท่องเที่ยวจะมาถ่ายรูปโรงเรือนเก่าๆกับใบเมเปิ้ลสีแดง ในช่วงที่ใบเมเปิ้ลเปลี่ยนสีแล้วร่วงลงมาเต็มหลังคา เต็มพื้น ถ้ามาถูกช่วงเวลาก็น่าจะสวยเหมือนรูปในที่ทำการ

เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ลานหินปุ่ม ผาชูธง

เส้นทางเดินเป็นวงรอบ ระยะทางประมาณ 5 กม. เดินผ่านลานหิน ผ่านป่า ผ่านทุ่งหญ้า เดินง่าย มีจุดเช็คอินหลายจุดให้ไม่เบื่อ

เราเดินวนขวาตามคำแนะนำจากป้าย แปลกที่เดินสวนทางกับกลุ่มที่เดินพร้อมมัคคุเทศก์ที่พาเดินวนซ้ายทุกกลุ่มเลย งงมาก

สุสานนักรบ จุดที่เคยเป็นที่ฝังศพของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์บนภูหินร่องกล้า

เดินผ่านลานหินแดดแรงจัดแม้อากาศจะเย็นก็ทำให้ร้อนจนเหงื่อไหลได้ ควรพกน้ำไปด้วยสักขวด ถ้าเป็นไปได้ควรไปเดินแต่เช้าๆ

ลานหินตะปุ่มตะป่ำเต็มพื้นไปหมด ถ้ามาช่วงที่ไม่ใช่หน้าแล้ง จะมีดอกไม้ตามลานหินให้ถ่ายรูป ถ้ามาหน้าแล้งจะมีแต่หญ้าแห้งๆ (มาเดินเที่ยวช่วงมีฝนชุ่มชื้นสวยกว่า)

แต่หมุดหมายของคำว่าลานหินปุ่มคือลานหินตะปุ่มตะป่ำที่อยู่ริมหน้าผา มองเห็นวิวได้กว้างไกล ใช้เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกได้ด้วย แต่เรามาช่วงบ่าย แค่ผ่านมาดูแล้วเดินต่อไปผาชูธง

ลานหินปุ่ม เป็นความแปลกที่เกิดตามธรรมชาติ ผ่านฟ้าฝนแดดลมมาไม่รู้กี่ร้อยกี่พันปี จนทำให้พื้นหินกลายเป็นปุ่มปมกลมๆเต็มไปหมด จุดนี้เคยเป็นจุดที่พคม.นำผู้ป่วยมาพักฟื้น เพราะอยู่ริมผา อากาศปลอดโปร่ง มีการปลูกที่พักไว้แต่ผุผังไปหมดแล้วตามกาลเวลา วันนี้เป็นเพียงแค่จุดท่องเที่ยว ยืนที่ริมผาแล้วมองไปทางซ้ายจะเห็นเสาธงกับธงชาติไทยอยู่ลิบๆ ต้องเดินเลาะเลียบหน้าผาต่อไปอีกเพื่อไปผาชูธง

ผาชูธง เป็นจุดที่สูง 1,614 ม. ในอดีตเป็นจุดที่สมาชิกพคม.ใช้เป็นจุดชักธงสีแดงรูปฆ้อนเคียวเมื่อสู้รบชนะทหารไทย

จากผาชูธงเดินวนกลับไปที่จอดรถ (จุดที่เริ่มต้นเดินเข้ามา) หรือจะเดินต่อไปอีกที่ สำนักอำนาจรัฐ ที่หลับภัย ก็ได้ แต่คราวนี้เราไม่ไปเพราะตั้งใจจะไป จุดชมพระอาทิตย์ตกตรงลานหินแตก ซึ่งต้องขับรถย้อนกลับไปทางที่ทำการอุทยาน

ออกมาที่ลานจอดรถ เพิ่งสังเกตเห็นต้นพญาเสือโคร่งอยู่หน้าห้องน้ำ ต้นใหญ่กำลังออกดอกสวยแม้จะเริ่มแตกใบเขียวแซมแล้วก็เถอะ ถ้ามาถูกเวลา แม้แต่หน้าห้องน้ำก็เจอพญาเสือโคร่งสวยๆได้

ถนนสายหลักในเขตอช.ภูหินร่องกล้าค่อนข้างดี และไม่ได้สูงชันคดเคี้ยว สังเกตเห็นต้นพญาเสือโคร่งอยู่ตามริมทาง แต่ต้นยังไม่โตมาก พอมีดอกให้เห็นบ้าง ถ้าโตเต็มที่มีดอกออกแน่น สีสดๆ น่าจะเป็นถนนที่สวยไม่น้อย

เส้นทางศึกษาธรรมชาติลานหินแตก

จุดจอดรถเพื่อเดินเข้าไปที่ลานหินแตกเป็นลานกว้าง มีร้านขายของ ขายอาหารอยู่พอสมควร ติดกับลานจอดรถคือ ฐานพัชรินทร์ ที่เคยเป็นจุดปฏิบัติการทางทหาร มีป้ายว่ามีห้องพักบริการด้วย ใครไม่อยากนอนเต้นท์ นอกจากบ้านพักอุทยานที่ส่วนมากจะจองเต็ม ลองติดต่อห้องพักที่นี่ดูได้

ทางเดินเข้าไปที่ลานหินแตก เป็นทางราบแต่ไม่เรียบ เพราะเป็นพื้นหิน มีรอยแตกรอยแยก แต่มีทำทางเดินข้ามรอยแยกไว้ตลอด เดินไปตามทางก็จะไม่อันตราย อย่าเที่ยวไปทดลองกระโดดข้ามรอยแยกเล่นก็แล้วกัน ตัวไม่ตกลงไปก็อาจซวยทำกล้องหรือมือถือตกไปก็ได้นะ

ลานหินแตก ก็เป็นผลงานของธรรมชาติเหมือนที่ลานหินปุ่ม แต่ตรงนี้จะเป็นรอยแยก รอยแตกยาวๆ เหมือนแผ่นดินแยกแตกเป็นริ้วๆ บางรอยก็กว้าง ลึก บางรอยก็แยกเล็กๆ เหตุผลทางธรณีวิทยาก็คือการผ่านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศต่างๆมานาน เกิดการผุพัง การกร่อน จนทำให้พื้นหินแยกตัวออกจากกัน

จากบริเวณที่เป็นลานหินแตก เดินต่อไปอีก 500 ม. เพื่อไปที่ริมผา เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตก จุดแรกมุมมองไม่ค่อยกว้าง เดินต่อไปอีก 200 ม. เป็นลานที่กว้างกว่า หรือไปตรงหินต่างดาวที่อยู่ติดกันก็ได้

จากจุดชมพระอาทิตย์ตกจุดแรกให้เดินต่อไปอีกหน่อยมีลานกว้างกว่า เป็นจุดชมจุดที่ 2 คนนิยมมานั่งรอแสงกันตรงนี้เยอะพอสมควร พื้นบริเวณนี้มีทั้งรอยแตก มีทั้งหินปุ่มปม มีทั้งแนวร่องยาว ร่องลึก ร่องตื้น แปลกตาดี

เราเลือกขึ้นไปนั่งรอที่ริมผาตรงที่ป้ายบอกว่าเป็นจุดดู หินต่างดาว ก็ได้มุมมองที่ดีพอสมควรเลย

รูปขวาที่เห็นเป็นผาหินยื่นๆนั่นไงที่ป้ายบอกว่าหินต่างดาว ใครพอเข้าใจบ้างว่ามันต่างดาวยังไง

หากเป็นคนชอบถ่ายรูปจะรู้ว่า การมาดูพระอาทิตย์ตกไม่ได้สวยตรงที่เห็นพระอาทิตย์เคลื่อนตัวลงไปจนลับขอบฟ้าเท่านั้น แต่เป็นแสงหลังจากนั้นต่างหาก ในวันที่อากาศดี เมฆกำลังเหมาะอาจจะได้แสงสวยสุดๆ ที่เรียกกันว่าฟ้าระเบิด ก็จะรอกันต่อไปอีกหน่อย แต่เราไม่ได้รอเพราะพอพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าปุ๊บอากาศที่ว่ากำลังสบายก็หนาวขึ้นอย่างรวดเร็ว แล้วเราก็ไม่หยิบเสื้อกันหนาวมาด้วย และทางเดินก็ค่อนข้างเดินยากในที่มืด ก็เลยตัดสินใจเดินกลับ

สำหรับคนที่จะไปเที่ยวภูลมโล สามารถมาติดต่อรถพาไปภูลมโลได้ตั้งแต่เช้ามืดจนถึง 4 โมงเย็นที่เต้นท์บริการตรงสามแยกเข้าไปลานกางเต้นท์ (รถจะมีบริการในช่วงที่ดอกพญาเสือโคร่งบานเท่านั้น) ราคาเท่ารถที่หมู่บ้านร่องกล้า

นอกจากจุดท่องเที่ยวที่เราไปก็ยังมีน้ำตกอีกหลายที่ ซึ่งคราวนี้เราไม่ได้แวะเข้าน้ำตกเลย เพราะเวลาไม่พอต้องรีบกลับ และน้ำตกจะสวยก็ช่วงที่มีน้ำ ควรมาช่วงปลายฝนต้นหนาว คราวก่อนเคยเข้าไปบ้างแล้ว อย่างน้ำตกร่มเกล้าภราดรก็สวยใช้ได้เดินไม่ยาก น้ำตกหมันแดงเดินยากทางชันแต่จะสวยมากถ้ามาถูกช่วงเวลาที่มีดอกลิ้นมังกร

บ้านร่องกล้า ประตูสู่’ภูลมโล’

20 มกราคม 2566

บ้านร่องกล้า ประตูสู่’ภูลมโล’

ภูลมโลเป็นภูเขาอยู่บนรอยต่อของสามจังหวัด คือ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย มีพื้นที่กว่าพันไร่ที่ปลูกต้นพญาเสือโคร่งไว้ ช่วงเดือนมกราคมจะเป็นช่วงที่ดอกพญาเสือโคร่งบานเต็มหุบเขา

ทริปนี้เรา 2 คน คอยตามข่าวจากเพจท่องเที่ยวตลอดตั้งแต่ต้นปี รอจังหวะให้พญาเสือโคร่งที่ภูลมโลบานเต็มที่ก็ขับรถไปกันเลย (พญาเสือโคร่งในประเทศไทยตอนบนที่หลายแหล่ง แต่ละที่บานไม่พร้อมกัน และแต่ละปีก็บานไม่ใช่เวลาเดียวกัน แล้วแต่สภาพอากาศในแต่ละป๊)

 เฟซบุ๊ก ชมรมคนรักบ้านร่องกล้า – ภูลมโล

การจะขึ้นไปดูทุ่งพญาเสือโคร่งบนภูลมโล ต้องใช้รถของชาวบ้านที่ขึ้นทะเบียนรถกับส่วนกลางเท่านั้น นักท่องเที่ยวต้องไปลงทะเบียนเพื่อขึ้นรถ เป็นรถกระบะนั่งได้ 10 คนต่อคัน คันละ 1,000 บาท เหมาก็ได้ นั่งรวมกับคนอื่นก็ได้

จุดขึ้นรถไปภูลมโลมี 3 จุด คือ 1. หมู่บ้านกกสะทอน อ.ด่านซ้าย จ.เลย (รถไปภูลมโล 1,500 บาท/คัน) 2. ที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า และ 3. หมู่บ้านร่องกล้า อ.นครไทย จ.พิษณุโลก

เราเลือกจะไปขึ้นภูลมโลจากที่หมู่บ้านร่องกล้า โดยขับรถจากรุงเทพฯไปทางพิษณุโลก เลี้ยวขึ้นไปทางอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า แล้วขับเลยไปที่บ้านร่มเกล้า

หมู่บ้านร่องกล้า เป็นหมู่บ้านชาวม้ง อยู่ในเขตอ.นครไทย จ.พิษณุโลก ตัวหมู่บ้านอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าประมาณ 9 กม. เป็นหมู่บ้านขนาดไม่ใหญ่แต่ก็ไม่เล็กนัก อยู่ในหุบเขาที่อากาศหนาวทั้งปี พี่คนขายก๋วยเตี๋ยวเล่าว่า ช่วงสงกรานต์เด็กๆจะขอให้พาลงเขาเพราะอยากไปเล่นสาดน้ำ อยู่ในหมู่บ้านอากาศเย็น (ประมาณ 20 องศา) เล่นสาดน้ำไม่ไหว ต้องเชื่อล่ะว่าหนาวทั้งปีจริงๆ

ชาวม้งบ้านร่องกล้า ทำอาชีพปลูกผัก ส่วนมากเป็นกระหล่ำปลีหรือผักกาด มีบางส่วนปลูกข้าวโพด ปลูกสตรอเบอรี่ และปลูกดอกกระดาษ ช่วงที่มีรายได้เสริมคือฤดูหนาวที่มีผู้คนมาเที่ยวรับลมหนาวบนเขา และเที่ยวอช.ภูหินร่องกล้า ก็แวะเข้ามาเที่ยวในหมู่บ้านบ้างก็ขายของได้บ้าง แต่ 10 ปีหลังนี้ บ้านร่องกล้าฮิตติดอันดับเพราะความสวยงามของต้นพญาเสือโคร่งที่บานเต็มภูลมโล เนินเขาที่อยู่ไม่ไกลจากตัวหมู่บ้าน ในฤดูที่ดอกพญาเสือโคร่งบานเต็มที่ทำให้ภูเขากลายเป็นสีชมพูสวยหวาน รวมไปทั้งในตัวหมู่บ้านร่องกล้าเองก็มีต้นพญาเสือโคร่งที่ออกดอกเต็มต้นทุกบ้าน กลายเป็นหมู่บ้านในฝันกันไปเลย

เราเลือกที่จะไปนอนที่บ้านร่องกล้า เพราะอยากไปเดินเที่ยวเล่นในหมู่บ้านด้วย อย่างที่บอกว่ารอข่าวว่ามันบานจนพอใจก็ขับรถไปเลย เตรียมเต้นท์เตรียมอุปกรณ์ไปให้พร้อม แต่ลองโทรถามที่พักด้วย โชคดีที่ได้ห้องพัก ก็เลยได้นอนห้องพักสบายหน่อย เพราะวันก่อนไปอุณหภูมิลงไปแตะ 0 องศา มีแม่คะนิ้งด้วย ขอนอนห้องจะดีกว่า ที่บ้านร่องกล้าตอนนี้มีที่พักเยอะแยะมากมาย เป็นบ้าน/ห้องเล็กๆ และแต่ละที่มีห้องไม่มาก ส่วนมากมีแค่ 3-4 ห้อง ที่มีเหลือเฟือคือที่กางเต้นท์ จะกางที่พื้นที่กลางของหมู่บ้านก็ได้ ไม่มีค่าใช้จ่ายแต่มีที่รับบริจาค มีจุดห้องน้ำให้ใช้ หรือจะไปกางในพื้นที่ของรีสอร์ทที่พักก็ได้มีค่าบริการตามปกติ ที่พักที่ยอดนิยมจะเป็นที่พักที่ออกนอกตัวหมู่บ้านไปหน่อย จะอยู่ตามเชิงเขาหรือบนเนิน มีวิวหุบเขากว้างๆ และแต่ละที่ปลูกพญาเสือโคร่งไว้ด้วย ชนิดว่าแค่มานอนก็ชมพญาเสือโคร่งหน้าห้องหรือหน้าเต้นท์ได้เลย แต่เราไม่ได้ที่พักแบบนั้นหรอก เพราะมันเต็มไปหมดแล้ว แต่ได้ห้องพักแบบง่ายๆในตัวหมู่บ้าน ที่ระเบียงห้องมีต้นพญาเสือโคร่งต้นใหญ่หลายต้นกำลังออกดอกแน่นเต็มกิ่งสวยทีเดียว

ร่องกล้าสานฝัน ข้ามสะพานเข้าหมู่บ้านแล้วเลี้ยวซ้ายซอยแรกเลย พี่พักเล็กๆมีแค่ 4 ห้อง ระเบียงหน้าห้องมีพญาเสือโคร่งต้นใหญ่กำลังบานสวย เสียที่ไม่มีเก้าอี้หน้าห้อง พอดีเตรียมของมากางเต้นท์ เลยมีเก้าอี้มากางนั่งจิบกาแฟชมดอกไม้

ขับรถจากรุงเทพฯสบายๆรวมแวะกินข้าวเที่ยงกับแวะจิบกาแฟแล้วใช้เวลาประมาณ 7 ชม.ก็ถึงบ้านร่มเกล้า รวมระยะทางประมาณ 440 กม. อากาศช่วง 4 โมงเย็นช่วงกลางเดือนมกราคม มากกว่าเย็นค่อนไปทางหนาว เก็บของเข้าห้องพักแล้วใส่เสื้อหนาวตัวบางออกไปเดินเล่นในหมู่บ้านสักหน่อย มีต้นพญาเสือโคร่งให้ชม ให้ถ่ายรูปอยู่กระจัดกระจายทั่วหมู่บ้าน มีชาวม้งเอาของมาขาย ทั้งผัก ผลไม้ ของที่ระลึก มีเด็กมาวิ่งเล่น มีหนุ่มๆชาวม้งมาเล่นเปตอง

ทางขึ้นไปเที่ยวภูลมโล เปิด-ปิด 05:00-16:00 ไม่อนุญาตรถส่วนตัวทุกชนิด ต้องมาติดต่อที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเพื่อเข้าคิวขึ้นรถนำเที่ยว

เดินเล่นไปเรื่อยๆ เสื้อหนาวตัวบางไม่พอแล้วแหละ กลับห้องไปเพิ่มอุปกรณ์กันหนาวแล้วออกมาหาข้าวเย็นกินดีกว่า ร้านอาหารตามสั่งมีขายหลายร้าน เลือกกินได้ตามสะดวก ที่หลายคนนิยมกินในช่วงอากาศหนาวๆคือหมูกระทะก็มี แต่เราขอกินก๋วยเตี๋ยวซดน้ำซุปร้อนๆแก้หนาวดีกว่า

เที่ยวภูลมโลจากบ้านร่องกล้า

คุยกับพี่เจ้าของที่พักไว้ว่าพรุ่งนี้จะไปเที่ยวภูลมโลช่วงเช้า พี่เขาเป็นรถคิวด้วย ก็เลยตกลงเอารถพี่เขาเลยราคา 1,000 บาทเป็นมาตรฐาน เดี๋ยวพี่เขาไปลงชื่อให้ เราก็ขึ้นรถจากที่บ้านได้เลย ไม่ต้องเดินไปเอาคิวรถที่จุดลงทะเบียน นัดกันไว้ประมาณ 05:30 ออกเดินทาง เพื่อไปดูพระอาทิตย์ขึ้น (ถ้าใครไม่ดูพระอาทิตย์ขึ้น ก็ออกสายกว่านั้นได้เลย) จากนั้นก็ไปทุ่งพญาเสือโคร่ง 3 จุด

อากาศตอนตีห้ากว่าๆที่บ้านร้องกล้า หนาวมาก หนาวจริง อยากมีถุงมือ แต่ไม่ได้เอามาเลยต้องซุกมือไว้ในเสื้อหนาวตลอด ขาไปเรา 2 คนขอนั่งข้างในรถก็แล้วกัน ไม่ขอสู้ลมหนาวตอนเช้ามืด ระยะทางจากบ้านร่องกล้าไปภูลมโลประมาณ 7 กม. นั่งรถไประมาณ ½ ชม. เราได้คุยกับพี่เขาก็ช่วงนี้ พี่ชัยวัฒน์เป็นชาวม้งที่พ่อแม่อพยพมาจากลาว เข้ามาที่จังหวัดน่าน และย้ายถิ่นลงมาที่เพชรบูรณ์ พี่บอกว่าพ่อแม่เล่าให้ฟังว่าช่วงสู้รบต้องคอยหลบกระสุนหลบการทิ้งระเบิด ต้องย้ายบ้านหนีไปเรื่อยๆ พี่เขาบอกว่าพ่อกับแม่เคยสร้างบ้านอยู่แถวลานหินปุ่มด้วย เราคุยกันไปเรื่อยเปื่อย พี่เขาบอกว่าพ่อแม่เล่าเรื่องนักศึกษาที่หนีเข้าป่ามาให้ฟังอยู่ว่าน่าสงสารมาก คนเมืองที่ต้องมาเดินป่า มาแบกข้าวสาร มานอนบนดิน เรื่องอดีตที่ฟังแล้วไม่รู้ว่าจะเศร้าหรือรู้สึกยังไงดี

เช้านี้ที่จุดชมวิว คนไม่มากนักเพราะเป็นเช้าวันศุกร์ เรามาถึงตอนฟ้ายังมืด มองเห็นพระจันทร์เสี้ยวได้ชัดเจน นักท่องเที่ยวต่างนั่งรอพระอาทิตย์ลูกที่ตกไปเมื่อวานกลับมาฉายแสงอีกครั้ง อากาศหนาวจริงจัง บางคนเอาผ้าห่มมาห่อตัว บางคนที่เตรียมเสื้อผ้ามาไม่พอก็กระโดดหยองแหยงเพื่อให้ร่างกายมีความอบอุ่น จากตรงนี้มองไปได้ไกลถึงภูทับเบิก พอแสงเริ่มส่อง มองเห็นได้รอบทิศ ที่เห็นได้ชัดเจนคือยอดเจดีย์ของวัดป่าภูทับเบิก ถ้าเดินไปทางขวามือ จะมองเห็นเป็นทุ่งสีชมพู ที่สียังไม่สดใส รอให้แสงสาดไปถึงก็จะเป็นเขาสีชมพูสวยหวาน

ได้เวลาพระอาทิตย์ลูกกลมโผล่มาส่องแสงให้ได้รู้สึกอุ่นขึ้นบ้าง จากหุบเขามืดๆก็มองเห็นสีชมพูขึ้นมา

จากจุดชมพระอาทิตย์ขึ้น นั่งรถไปชมพญาเสือโคร่งตามทุ่งต่างๆกัน คราวนี้เราขอนั่งท้ายกระบะรับลมหนาว เพื่อชมวิว อากาศดีแต่ฝุ่นเยอะมากเพราะทางเป็นลูกรัง ในหน้าแล้งแบบนี้รถวิ่งทีฝุ่นคลุ้งไปหมด ให้เตรียมหมวกและหน้ากากมาด้วย

จุดที่รถไปแวะมี 3 จุดหลักๆคือ แปลงที่ 1 / 2 / 3 และจุดจอดอื่นๆตามแต่คุณจะบอก บางคนก็ขอให้รถพาไปถึงภูขี้เถ้า (ราคาต้องเพิ่มหรือเปล่าไม่รู้เราไม่ได้ไป)

ทุ่งพญาเสือโคร่งแปลง 3 อยู่ใกล้จุดชมพระอาทิตย์ขึ้นมากที่สุด

ทุ่งพญาเสือโคร่งแปลง 2 แปลงติดริมถนนไม่กว้างใหญ่มาก มีห้องน้ำอยู่ใกล้ๆลานจอด

ทุ่งพญาเสือโคร่งแปลง 1 เป็นจุดชมวิวมองเห็นทุ่งพญาเสือโคร่งในมุมกว้าง

ปีนี้พญาเสือโคร่งที่ภูลมโลออกดอกช้า แต่ออกดอกสวยงาม บานพร้อมกันทุกแปลง กลายเป็นสีชมพูไปทั้งเขา สวยงามน่าประทับใจ ช่วงกลางเดือนมกราที่เราไป เริ่มมีใบเขียวแตกออกมาบ้างแล้ว ช่วงเวลาสวยสุดมันสั้นนิดเดียว แต่ความสวยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แค่มีใบแซมมาบ้าง หลายๆคนก็ยังบอกว่ามันสวยสุดอยู่ดี อันนี้ไม่มีผิดมีถูก  

จากทุ่งสีชมพู เรานั่งรถกลับเข้าหมู่บ้าน บอกพี่ชัยวัฒน์ให้พาไปจุดชมวิวตรงวัดป่าภูหินร่องกล้า จุดที่มองลงมาเห็นตัวหมู่บ้าน มีต้นพญาเสือโคร่งที่ตอนนี้ดอกสีชมพูบานพร้อมกันทุกต้น ดูสวยงามจนหลายคนบอกว่าเหมือนญี่ปุ่น (ที่เราขัดใจมากว่าทำไมต้องเอาไปเทียบกับญี่ปุ่นวะ) พี่คนขับถามเราว่า มันเหมือนญี่ปุ่นหรือครับ เราบอกว่า ไม่รู้ซิ เราไม่เคยไป รู้แค่ว่ามันสวยแบบบ้านร่องกล้า

ใช้เวลาตั้งแต่เช้ามืดกับเจ้าเสือโคร่งสีชมพูจนเกือบ 10 โมงเช้า บอกพี่เขาว่าส่งพวกเราลงตรงโค้งที่มีร้านอาหารหลายๆร้าน พวกเราลงหาอะไรลงท้องกันหน่อย สุ่มเลือกไป 1 ร้าน สั่งไข่กระทะกับเครื่องดื่มร้อนมาจิบ ดูผู้คนเดินไปเดินมา มารู้ทีหลังว่าร้านดังของหมู่บ้าน ชื่อร้านตานวย

ร่ำลาบ้านร่องกล้าตอนก่อนเที่ยง วันนี้เราจะไปกางเต้นท์นอนกันที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ที่พวกเราไม่ได้มาเที่ยวกันสิบกว่าปีแล้ว…

ย้อนไป 70 กว่าปีที่ผ่านมา ชาวม้งจากทางเหนือได้อพยพกันลงมาตั้งเป็นหมู่บ้านกันตามเทือกเขาแถบภูหินร่องกล้า กระจัดกระจายกันเป็นหลายหมู่บ้าน ทำอาชีพปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ หาของป่า พื้นที่แถบนี้ยังเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ แต่การทำเกษตรของชาวม้งคือการทำไร่เลื่อนลอย ย้ายที่ปลูกไปเรื่อย จนทำให้ป่าแถบนั้นโดนเผาโดนถางจนโล้นเลี่ยนไปมากมาย รวมทั้งชาวม้งบางส่วนยังมีการแอบปลูกฝิ่นด้วย ทำให้เจ้าหน้าที่จึงต้องเข้ามาจัดการ มาจับกุม เกิดการกระทบกระทั่งกันอยู่เรื่อยๆ

ราวๆปี 2507 มีการก่อตั้ง พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) การมองหาแนวร่วมจากต่างจังหวัดจึงเกิดขึ้น พคท.ส่งคนเข้าไปตามที่ห่างไกลที่ความเจริญเข้าไม่ถึง และไปตามชนเผ่าต่างๆ นำเรื่องการแบ่งชนชั้น การกดขี่ ไปปลุกระดมให้ผู้คนมาร่วมขบวนการ ชาวม้งจำนวนหนึ่งจึงเข้าร่วมกับพคท. มีการส่งชาวม้งไปเรียนหลักสูตรการเมืองการทหารที่เวียดนาม แล้วกลับมาเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ให้กับคนในหมู่บ้าน ทำให้มีชาวม้งในแถบภูหินร่องกล้าเป็นแนวร่วมกับ พคม. มากขึ้น มีการจัดตั้งฐานปฏิบัติการสู้รบบนเขาที่มีมีชัยภูมิดีต่อการหลบซ่อน และในปี 2511 พคท.ภูหินร่องกล้าได้เข้าทำการโจมตีเจ้าหน้าที่คุ้มครองพื้นที่เพื่อที่จะยึดครองพื้นที่และหมู่บ้านต่างๆ มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

ต่อมามีการประท้วงรัฐบาลของประชาชนและนักศึกษาจนเกิดการปราบปรามขั้นรุนแรง คือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และตามมาด้วย 6 ตุลาคม 2519 ทำให้มีนักศึกษาหนีการปราบปรามเข้าไปร่วมกับพคท.มากขึ้น ฐานกำลังของพคท.ที่ภูหินร่องกล้าเริ่มขยายออกไปอย่างกว้างขวาง มีการจัดตั้งโรงเรียนการเมืองการทหาร สอนเรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างจริงจัง จากที่ตำรวจ-ทหารเคยสู้รบกับ พคท. ที่เป็นต่างชาติหรือชาวเขาอพยพ ก็กลายเป็นการสู้รบกับคนไทยด้วยกันเองไปแล้ว

การสู้รบทำให้ชาวม้งที่ไม่ได้ร่วมรบอพยพหนีตายลงจากเขากันมาเรื่อยๆ ที่เหลืออยู่ด้านบนก็คือพวกที่ตัดสินใจเข้าร่วมรบกับ พคท. และเหล่านักศึกษาที่หนีการปราบปราม การสู้รบในแถบภูหินร่อองกล้าต่อเนื่องยาวนาน จากปี พ.ศ. 2511 ไปจนถึงในช่วงปี พ.ศ. 2523 ในหลวง ร.๙ ทรงแนะนำให้เปลี่ยนยุทธวิธีการสู้รบใหม่ พระองค์ได้มองเห็นว่าคอมมิวนิสต์ก็คือคนไทยด้วยกันเพียงแต่มีความคิดที่ไม่ตรงกัน ไม่ให้เรียกพวกเขาว่าผู้ก่อการร้ายหรือผู้ทรยศ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รับพระราชโองการ มีคำสั่งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกับพคท. เข้ามอบตัวได้โดยไม่มีความผิด ทำให้มีชาวเขาเผ่าม้งลงจากเขาเข้ามอบตัวต่อทางการและรับที่ทำกิน เรียกว่าเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย รวมทั้งประชาชน นักศึกษา ก็ทยอยกันออกมามอบตัว

เหตุการณ์เริ่มคลี่คลายไปเรื่อยๆโดยไม่เสียเลือดเนื้ออีก จนในปี พ.ศ. 2526 ก็ได้ประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ชาวเขาเผ่าต่างๆก็อยู่กันเป็นหมู่บ้าน ทำมาหากินสุจริตต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน เหมือนกับชาวม้งที่หมู่บ้านร่องกล้า

สรุปเหตุการณ์คร่าวๆนี้มีที่มาจากผู้ที่อยู่ในพื้นที่ได้สัมผัสกับเหตุการณ์จริง บันทึกไว้ให้เป็นข้อมูลตามอ่านเรื่องเต็มๆได้ที่ - https://www.phitsanulokhotnews.com/2018/06/23/119997

ปีนภู ดูห้วย [ซับเหล็ก]

ปีนภูซับเหล็ก : ตุลาคม 2565

อยู่กรุงเทพฯเบื่อๆ อยากออกไปหาบรรยากาศเขียวๆเขาๆ สบายตา สบายปอด แบบไม่ไกลจากรุงเทพฯมากนัก ขอเชิญชวนไปจังหวัดลพบุรี จุดที่เราไปในครั้งนี้คือ อ่างเก็บน้ำซับเหล็ก เป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดย่อมๆกลางเมืองลพบุรี ล้อมรอบด้วย เขาจีนแล เขาตะกร้า และเขาพระยาเดินธง

อ่างเก็บน้ำซับเหล็ก ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ห้วยซับเหล็ก ไม่ใช่อ่างขุดใหม่ๆ แต่เป็นบ่อน้ำเก่าแก่มาแต่ยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกันเลยทีเดียว ว่ากันว่าเป็นบ่อน้ำที่กักเก็บน้ำไว้ส่งไปใช้ในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ โดยการวางท่อประปาดินเผาส่งตรงเข้าไปในวัง ถือว่าเป็นระบบประปายุคแรกของประเทศไทยก็ว่าได้

จะชมวิวอ่างเก็บน้ำซับเหล็กจากมุมสูง ก็ต้องปีนขึ้นไป จุดชมวิวภูซับเหล็ก เนินเขาเตี้ยๆ ติดกับอ่างเก็บน้ำนี่แหละ ผู้บุกเบิกทางขึ้นไปชมวิวบนยอดภูคือพี่กมลศักดิ์ ที่มีบ้านอยู่ตรงทางขึ้นนั่นเอง พี่เขาไม่ได้เก็บเงินแต่อย่างใด เพราะภูเขาก็เป็นของคนไทยทุกคน แต่พี่เขาเป็นคนปรับปรุงทางขึ้น ทำขั้นบันได ทำเชือกให้ดึง ทำราวไม้ไผ่ให้จับ ทำป้ายบอกทาง ถางหญ้า ปลูกดอกไม้ พวกเราช่วยสนับสนุนได้โดยการซื้อน้ำ ซื้อขนม ที่มีขายตรงทางขึ้น หรือใช้บริการห้องน้ำคนละ 5 บาท

จากถนนพหลโยธิน เลี้ยวขวาที่สามแยกนิคมสร้างตนเองเข้าถนน 3017 ที่จะวิ่งไปอ.วังม่วง ขับไปราวๆ 13 กม. จะมีแยกซ้าย (ไปวัดปราสาทนิมิตร) เข้าไป 350 ม.ตามถนน จะเจอป้ายชี้บอกซอยย่อยเข้าไปทางขึ้นภูซับเหล็ก เข้าซอยไป 150 ม.ก็ถึง

ทางขึ้นยอดภูไม่ได้ยากลำบากอะไรมากนัก เดินได้เรื่อยๆ ไม่ทันเมื่อยก็ถึง ระยะทาง 300 ม. เดิน 15-20 นาทีก็ถึง บนยอดภูซับเหล็กจะมองเห็นอ่างเก็บน้ำได้เต็มๆพร้อมฉากหลังเป็นเขาจีนแล เขาตะกร้าทอง มันสวยมากกกกก สวยทั้งช่วงเย็น หรือช่วงเช้า

เราขึ้นไปช่วงเย็นในปลายฤดูฝน ที่ฝนยังตกชุกไปหน่อย นั่งชมวิว ถ่ายรูปได้ไม่นาน มองเห็นเมฆฝนลอยเข้ามาอย่างเร็วเลยต้องรีบเผ่นลงมาก่อนจะเปียกปอน และกลัวทางลงจะเละเทะ แต่ฝนก็ลงไม่ได้หนักมาก แค่พรมๆมาให้เฉอะแฉะ

ดูพยากรณ์อากาศไว้ว่า พระอาทิตย์ขึ้นประมาณ 6 โมงเช้า ตั้งใจจะขึ้นไปดูแสงเช้าอีกรอบ แต่ฝนกระหน่ำทั้งคืนอย่างหนัก ใจหนึ่งก็คิดว่าน่าจะดี เพราะจากประสบการณ์ เช้าวันใหม่หลังคืนที่ฝนตกหนัก จะมีทะเลหมอกงามๆเสมอ

ตื่นเช้ามาราวตี 5 ครึ่ง ฝนหยุดแล้ว มองจากที่พักไปเห็นหมอกขาวๆบางๆเหนืออ่างเก็บน้ำ บังเขาจีนแลเห็นแค่ลางๆ ก็คิดได้ว่าเช้านี้พระอาทิตย์ไม่น่าจะสามารถทะลุเมฆและหมอกออกมาให้เห็นได้ แต่บรรยากาศหมอกบางๆกับฉากทิวเขาน่าจะสวยเหมือนกัน ก็เลยไปปีนขึ้นยอดภูกันอีกรอบ

ระหว่างเดินขึ้น หันกลับมามองไปที่วงเวียนบ้านโคกตูมมีหมอกบางๆ

ประสบการณ์บอกว่ามันน่าจะมีทะเลหมอก แต่ไม่ได้คิดว่าเราจะอยู่”ในทะเลหมอก” เพราะยอดภูซับเหล็กไม่ได้สูงมากนัก เมื่อเราขึ้นถึงยอดภู เราจึงอยู่ในทะเลของหมอก ขาวโพลนไปทั่ว มองไม่เห็นวิวอะไรเลย ฮา…..

นั่งเล่นรับอากาศเย็นสบาย เดินวนถ่ายรูปต้นไม้ใบหญ้าไปเรื่อยจนไม่รู้จะทำอะไร หมอกก็ยังฟุ้งขาวไม่มีทีท่าจะเผยโฉมภูเขาและอ่างเก็บน้ำให้เห็น ก็ต้องยอมจำนนต่อดวงชะตาฟ้าไม่ลิขิต พากันไต่กลับลงมา เอาไว้มาใหม่ก็แล้วกัน

ฟ้าไม่เป็นใจ เอาไว้มาใหม่ก็แล้วกัน

กลับที่พัก ชงกาแฟร้อนๆมานั่งจิบ ชมวิวอ่างเก็บน้ำกับฉากหลังเทือกเขาหินปูน รูปทรงแปลกๆ ก็สวยงามไปอีกแบบ ความจริงแล้วถ้าไม่ปีนขึ้นยอดภู ก็มาชมแสงเช้าที่ริมอ่างเก็บน้ำก็ได้เหมือนกัน แถมหมอกไม่ฟุ้งขาวจนมองอะไรไม่เห็นด้วย เช้านี้ตัดสินใจผิดพลาดไปหน่อย

สายๆก็ขับรถเลียบเลาะอ่างเก็บน้ำ เพื่อไป วัดสุวรรณคีรีปิฎก หรือ วัดเขาตะกร้าทอง ตรงเชิงเขาตะกร้าทองที่มองเห้นได้ชัดเจนจากบนจุดชมวิว ด้านบนมีจุดชมวิวเห็นอ่างเก็บน้ำซับเหล็กกับแนวเขาอีกฝั่ง ก็สวยดีไม่น้อย มาดูแสงเช้าตรงนี้ก็น่าจะสวยเหมือนกัน

หาดทรายเทียม ริมอ่างเก็บน้ำซับเหล็ก กำลังปรับปรุงทำศาลานั่งเล่นตลอดริมทาง

นอนพักสักคืน

รอบอ่างเก็บน้ำมีที่พักให้เลือกเยอะแยะมากมาย มีจุดกางเต๊นท์ได้หลายจุด คราวนี้เราไม่ได้เลือกที่พักมาล่วงหน้า แต่ขับตรงมาที่ทางขึ้นจุดชมวิวภูซับเหล็กเลย จากนั้นเลือกที่พักที่อยู่ใกล้ๆทางขึ้นชื่อว่า บ้านแพร รีสอร์ท ใกล้ชนิดว่าจอดรถไว้ที่พักแล้วเดินมาก็ได้ ที่พักเป็นบ้านหลังๆ มีราคา 500 – 700 – 800 มีแอร์ มีทีวี มีตู้เย็น มีน้ำอุ่น มีระเบียงกว้างขวางให้นั่งเล่น มี wifi ด้วย โดยรวมแล้วสะอาด นอนสบาย (แม้ฟูกจะแข็งไปหน่อย) อยู่ชิดติดริมอ่างเก็บน้ำเลย วิวงามเลยแหละ แต่มีต้นไม้ใบหญ้าขึ้นสูงบังวิวไปหน่อย (ฝากลุงตัดแต่งออกหน่อยนะ ถ้าลุงอ่านมาเจอ) ตอนเช้าป้าเดินเอาปาท่องโก๋กับน้ำเต้าหู้มาให้ด้วย น่ารักจริงๆ แนะนำเลยนะ บ้านแพร รีสอร์ท

ภูซับเหล็ก / อ่างเก็บน้ำซับเหล็ก : ตำบลโคกตูม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี

ทางขึ้นจุดชมวิวภูซับเหล็ก : https://goo.gl/maps/SknzRp5FcEMQRLxeA

บ้านแพร รีสอร์ท : https://goo.gl/maps/B4u3NuT7K2933mca8

บ้านกรูด Great food, Good feeling

หาดบ้านกรูด, อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์
กรกฎาคม 2565

มาเที่ยวประจวบคีรีขันธ์บ่อยที่สุดก็คือ อ.หัวหิน เมืองยอดฮิตของนักท่องเที่ยว นอกจากนั้นก็เลยออกไปไกลสุดแค่ ปากน้ำปราณ แต่จังหวัดประจวบฯเป็นจังหวัดสุดท้ายของภาคตะวันตกเป็นประตูสู่ภาคใต้ ที่ตัวจังหวัดยาวไปตามด้านขวานของประเทศไทย อ.บางสะพาน อยู่ไกลลงไปเกือบสุดเขตจังหวัด หลุดจากอ.บางสะพานเข้าอ.บางสะพานน้อยแล้วก็เข้าจังหวัดชุมพรแล้ว

ทริปขับรถลงไปเที่ยวชุมพร ขากลับก็เลยได้มาแวะพักที่ หาดบ้านกรูด เป็นหาดที่เงียบๆ สงบๆ หาดดี ทะเลอ่าวไทยสวยงามในหน้าร้อน ที่พักหลายที่อยู่ติดริมมถนนเลียบหาด บรรยากาศเหมือนปราณบุรีในสมัยยังไม่ฮิต ยังไม่มีรีสอร์ทขึ้นถี่ยิบเหมือนตอนนี้

หาดบ้านกรูดยาว 12 กม. ทรายดีแม้จะไม่ขาวจัด แต่ก็นับว่าดี เขาว่ากันว่าสมัยก่อนมีต้นมะกรูดเยอะก็เลยชื่อบ้านกรูด ตอนนี้ไม่เห็นสักต้น มีแต่ต้นมะพร้าวกับต้นสน

ตอนเย็นเลือกร้านที่ขับผ่านเห็นคนเยอะดี มีซุ้มนั่งริมหาด ชื่อ ร้านปลาทู ที่สำคัญรับคูปองเราเที่ยวด้วยกัน ก็ประหยัดเงินไปได้อีก อาหารมาดี อร่อยเกินคาด ราคาไม่แพง บริการก็ดี บรรยากาศก็ดี จะไม่ให้บอกว่า Great food Good Feeling ได้ยังไง

อาหารทะเลร้าน ปลาทู อร่อย ดี ราคาไม่แพง

ตอนเช้าออกมาเดินริมถนนเลียบหาด มีร้านขายของมาเปิดขายพอให้ได้เดินเล่นเพลินๆ ของฝาก ของกิน เดินเลือกซื้ออุดหนุนชุมชนกันได้ ร้านกาแฟเก๋ๆแบบ Beach bar ก็มีนะ

Cafe De Wa เป็นร้านกาแฟของที่พัก บ้านกรูด อาคาเดีย รีสอร์ท ที่น่าจะเป็นที่พักดูดีสุดในย่านนี้ นอกนั้นก็เป็นที่พักระดับกลาง เลือกพักกันตามงบประมาณ พวกเราพักที่ ศาลาไทย บีช รีสอร์ท เพราะใช้สิทธิ์เราเที่ยวด้วยกัน ก็ถือว่าใช้ได้ตามราคา

ตอนขับรถมาจากชุมพร ก่อนเข้าที่พัก แวะเที่ยวที่ ผาฝั่งแดง มาแบบไม่ได้คาดหวังอะไร ปรากฏว่า มันดีกว่าที่คาดไว้ เป็นชายหาดกว้าง มีก้อนหินสีแดงตามริมหาด เดินเลยไปไม่ไกล จะเป็นหน้าผาผืนใหญ่ตัดตรง หินเป็นสีแดงเข้ม สมชื่อผาฝั่งแดง ใครมีเวลาก็มาเดินเล่น ถ่ายรูปได้ สวยดี

ผาฝั่งแดง | Red Cliffs

อีกจุดที่แวะคือ ทะเลแหวกบางสะพาน พิกัดให้ตรงไปอ่าวบ่อทองหลางหรือวัดบ่อทองหลาง เวิ้งอ่าวตรงนี้เป็นโค้งงามๆ 2 โค้งทำให้เกิดเป็นทะเลแหวกขนาดย่อมๆ ที่น่าจะเห็นชัดถ้ามีโดรน หรืออาจต้องเดินไปปีนเขาถ่ายภาพมุมสูง แต่พวกเรามาเย็นกันแล้ว ไม่มีเวลาได้ไปปีน รีบบึ่งไปที่พักที่หาดบ้านกรูดก่อนจะมืด ถ้าใครมาควรมีโดรน หรือไม่ก็ปีนขึ้นเขาไปน่าจะได้ภาพสวยๆ

ทะเลแหวกบางสะพาน

จากบ้านกรูดกลับเข้ากรุงเทพฯ ประมาณ 350 กม. ขับรถประมาณ 4-5 ชม. ถือว่าไกลอยู่ถ้าจะขับรถมาเที่ยวบ้านกรูด ส่วนมากก็เลยเที่ยวกันแค่หัวหิน หรือ ปราณบุรี บ้านกรูดเลยยังเงียบสงบอยู่ได้

เที่ยวเกาะเต่า ทั้งแห้งทั้งเปียก

เที่ยวเกาะเต่า เดี๋ยวแห้ง เดี๋ยวเปียก

กรกฏาคม 2565

เกาะเต่า เกาะขนาดกลางๆในทะเลอ่าวไทย ที่หลายคนคิดว่าอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดชุมพร (เราด้วยนี่แหละ) แต่ความจริงแล้ว เกาะเต่าอยู่ในเขตพื้นที่ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมกับ เกาะพะงัน เกาะสมุย แต่ด้วยว่า ถ้านั่งเรือจากท่าเรือชุมพรไปเกาะเต่าใกล้กว่า คนก็เลยนิยมมาลงเรือที่ชุมพรไงล่ะ

การเดินทางไปเกาะเต่าด้วยเรือเฟอร์รี่ ใช้บริการบริษัท ลมพระยา มีหลายเส้นทาง หลายเวลา มีทั้งเป็นแพคเกจรวมเดินทางจากกรุงเทพฯ(ถ.ข้าวสาร) หรือจาก หัวหินก็มี หรือจะนั่งเครื่องบินไปลงสนามบินชุมพร ก็ติดต่อรถให้ไปรับจากสนามบินก็ได้อีก มีบริการทุกรูปแบบ หรือเดินทางไปเองก็ไปที่ ท่าเรืออ่าวทุ่งมะขามน้อย อ.เมือง จ.ชุมพร ควรจองตั๋วไปก่อน เพราะเต็มอยู่ตลอดๆ

เรือข้ามเกาะ | LOMPRAYAH HIGH SPEED CATAMARAN to Koh Tao-Koh Nangyuan-Koh Samui-Koh Phangan

พวกเราเลือกการขับรถไปจากกรุงเทพฯแต่เช้ามืด ไปจอดรถที่ท่าเรือ จองเรือเที่ยว 13:15 (มีที่รับฝากรถหลายที่ใกล้ท่าเรือคิดราคาเป็นวัน) ไปถึงท่าเรือก็ไปติดต่อรับตั๋วจริงและสติ๊กเกอร์มาติดเสื้อ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้รู้ว่าเราจะนั่งเรือไปไหน เพราะในเรือเดียวกันจะวิ่งจาก ท่าชุมพร ไปเกาะเต่า เกาะพงัน เกาะสมุย แล้วสุดทางที่ท่าเรือสุราษฎร์ธานี ถ้าซื้อแบบแพคเกจรวมนั่งรถต่อไปสนามบินหรือสถานีรถไฟ ก็มีสติ๊กเกอร์สีแยกไปอีก ถือว่าระบบจัดการดีทีเดียว

ตรงท่าเรือลมพระยา อ่าวทุ่งมะขามน้อย มีร้านอาหาร ร้านกาแฟ ให้ฝากท้องได้อยู่ ถึงเวลามีประกาศเรียกขึ้นเรือตามหมายเลข ไม่ต้องเบียดกันเดิน แต่พอขึ้นเรือแล้วก็ไม่ได้มีเลขที่นั่งอะไร หาที่นั่งกันตามสะดวก ห้องแอร์นั่งสบาย หลับไปสัก 2 ชม.ก็ถึงเกาะนางยวน ปล่อยคนที่จะนอนที่นี่ลงก่อน แล้วต่อไปที่ท่าเรือเกาะเต่าที่หาดแม่หาด

คนลงที่เกาะเต่ากันค่อนข้างเยอะ ตรงนี้เป็นมหาวิบากกรรม เพราะรอออกจากเรือนานมาก ตอนพวกเราไปมีเรือเข้าพร้อมกัน 2 ลำ (อีกลำน่าจะมาจากเกาะพะงัน) ต้องรอคิว แถมพอออกมาคนติดเต็มสะพาน เสียเวลาเกือบครึ่งชม. แล้วต้องเดินเบียดๆตามกันไปทีละกระดี๊บ มารู้ตอนที่เดินจนสุดสะพานว่าติดกันมากเพราะโดนกั้นเพื่อเก็บค่าธรรมเนียมคนละ 20 บาท วุ่นวายมาก นักท่องเที่ยวหลายคนหมดความอดทน เพราะเสียเวลากันครึ่งค่อนชั่วโมงแล้ว ก็มีปีนแนวกั้นกันออกไป บางคนไปถึงโต๊ะจนท.ก็ปฎิเสธไม่จ่ายเงินก็มี วุ่นวายมากมาย ควรปรับปรุงด่วนๆ

การเที่ยวเกาะเต่าก็มีการเที่ยวแบบแห้งกับแบบเปียก คือบนบกกับในทะเล กิจกรรมเด่นๆก็คือ ว่ายน้ำ ดำน้ำ ทั้งน้ำตื้น น้ำลึก นอกจากนั้นก็มี คายัค ซัพบอร์ด หรือจะแค่นอนเล่นพักผ่อน อาบแดด ถ้าขี่มอเตอร์ไซค์เป็นก็เช่ารถขี่เล่นรอบเกาะได้ เดี๋ยวนี้มีจุดชมวิวหลายจุดมาก แล้วก็มีหาด มีอ่าว ให้เข้าไปเที่ยวชม หรือเล่นน้ำ ดำน้ำ เยอะแยะ บางคนก็ซื้อเดย์ทริป นั่งรถพาเที่ยวรอบเกาะ มีทั้งแบบรวมกรุ๊ป หรือแบบเหมารถ ดำน้ำก็เหมือนกัน มีทั้งแบบเรือรวม และเรือเหมา ลำเล็กลำใหญ่ตามจำนวนคน

เที่ยวเกาะเต่าแบบแห้งคือเที่ยวเล่นบนเกาะ นอกจากหาอะไรอร่อยๆกินตามร้านต่างๆแล้วก็ไปเที่ยวตามจุดชมวิวต่างๆ ส่วนมากก็ต้องเดินขึ้นไปบนยอดเขา แต่ไม่ได้สูงชันอะไรมาก จุดชมวิวบนยอดเขาดังๆก็มี จุดชมวิวจอห์น-สุวรรณ, Summit viewpoint, Westcoast view pint, ตโนดพีค ถ้าไม่ปีนเขา จุดชมวิวตามร้านอาหารหรือรีสอร์ทหลายที่ก็เป็นวิวหน้าผาสวยๆ สั่งอาหาร เครื่องดื่ม มากินไปชมวิวไปก็มีหลายที่ เช่น Two View, Moondance, Blue Heaven

พวกเราเหมารถพาเที่ยวรอบเกาะ เป็นรถกระบะมีหลังคา ใช้บริการ แสงทองทัวร์ มีคนขับกับไกด์มาคอยพาเที่ยวด้วย ทัวร์เสนอทริปมาตรฐานจุดชมวิว 6 จุด Two View / Love Koh Tao / Blue Heaven (ทานเที่ยง) / Moon Dance / John Suwan View point / Freedom Beach ราคา 2,500 บาท (ไม่รวมค่าเข้าและค่าอาหาร) เริ่ม 11:00 ถึง 16:00 โดยประมาณ

ติดต่อรถพาเที่ยว | แสงทองทัวร์

ถึงเวลาจริงเราก็ปรับโน่นนี่ เช่น เริ่มต้นด้วยการไปกินข้าวหน้าเป็ด ร้าน 995 Roasted duck ก่อน แล้วแวะซื้อกาแฟร้านคนเยอะฝรั่งตรึม แต่ไม่อร่อยเอาซะเลย (ไม่บอกชื่อละกัน) กว่าจะเสร็จก็เที่ยงกว่าแล้วถึงได้เริ่มเที่ยวที่แรก จุดชมวิวจอห์น-สุวรรณ / Freedom Beach เสียค่าเข้าคนละ 50 บาท

ทางเดินขึ้นจุดชมวิวก็ไม่ได้ชันอะไรมากมายนัก ต้องปีนป่ายนิดๆหน่อยๆ ใส่รองเท้าผ้าใบหรือแบบรัดส้นก็ดีกว่ารองเท้าแตะ แต่เอาจริง ฝรั่งมันใส่แตะคีบขึ้นกันฉลุย ขึ้นถึงบนยอดเขา ที่ไม่ได้กว้างมากนัก ถ้ามีนักท่องเที่ยวเยอะก็รอคิวกันขึ้นหน่อย ถ่ายรูปกันแต่พอประมาณ จะได้ไม่รอกันนาน

บนจุดชมวิวจอห์น-สุวรรณมองเห็นอ่าวโฉลกบ้านเก่าและอ่าวเทียน

ลงจากจุดชมวิวจอห์นสุวรรณ มาถึงทางแยกเลี้ยวซ้ายไปที่ Freedom Beach ได้เลย เป็นหาดเล็กๆแต่เป็นส่วนตัวใช้ได้ ฝรั่งชอบมาก มาอาบแดดมาเล่นน้ำกันเยอะเลย พี่ไกด์บอกว่าสมัยก่อนเป็น Nude beach ด้วย เดินกินลมชมวิวสาวๆสวยๆหนุ่มๆหล่อๆเพียบ เพลินตาเพลินใจ หรืออยากจิบอะไรเย็นๆก็มี Beach bar อยู่ด้วย หรือถ้าใส่ชุดพร้อมลุยก็กระโดดลงทะเลได้เช่นกัน (แต่อย่าเลยเสียเวลาต้องไปชมวิวที่อื่นต่อ)

จากหน้าหาดเดินไปทางขวา จะเป็นทางเดินเลาะเขาเลียบทะเลไปเรื่อย วนไป หาดตาโต๊ะ อ่าวโฉลกบ้านเก่า แล้วถึงตรงที่เราจอดรถได้เลย วนได้เป็นวงกลมไม่ต้องเดินอ้อมไปอ้อมมา

นั่งรถต่อไปที่ Two view ตรงนี้เป็นร้านอาหารเป็นคาเฟ่ที่มีจุดชมวิวสวยงามพอสมควร ถ้ามาจิบเครื่องดื่มชมวิวที่ร้านก็จ่ายปกติ แต่ถ้าจะเดินเลยเข้าไปจุดชมวิวด้านในอีก 2 จุด ต้องเสียค่าผ่านทางคนละ 100 บาท! ราคาแรงมากจ้า แลกเครื่องดื่มได้ 1 แก้ว ไหนๆมาแล้วพวกเราก็เอาวะ เข้าไปจุดชมวิวยอดฮิตด้านในที่เรียกว่า West coast view point เป็นเหมือนเขาพิงกัน เดินผ่านช่องเขาไปจะเป็นหน้าผาชมวิวได้กว้างๆ วิวเดียวกับที่ Two View แต่อยู่สูงกว่ามุมเปิดกว้างกว่า สวยงาม บรรยากาศดีไม่น้อย

West coast view point

นอกจาก West coast view point จะมีทางแยกขึ้นเขาไปอีกหน่อยที่ยอดเขามีมุมมองวิวได้ 360 องศา ชื่อว่า โตนดพีค แต่สมาชิกเริ่มขี้เกียจก็เลยไม่ไปกัน

ทางขึ้นตโนดพีค

พวกเราไปจบทริปที่ Moondance ซึ่งเป็นที่พัก + คาเฟ่ วิวดี อยู่ด้านบนมองวิวได้กว้างๆสวยงาม เดินลงไปด้านล่างเป็นลานไม้กว้างๆ บรรยากาศยามบ่ายแก่ๆในวันที่ไม่มีแดดแบบนี้ ก็ดีเหมือนกัน นั่งชิลๆกันได้เลย

ทัวร์เราจบประมาณ 4 โมงเย็นก็เลยไม่ได้ดูพระอาทิตย์ตก จบทริปชมวิวรอบเกาะ แบบเบาๆ ไม่ได้ไปทั่วทุกจุด แต่ก็ได้เห็นวิวหลายๆจุด กลับไปที่พักเล่นน้ำก่อนมื้ออาหารเย็นกันล่ะ

มาเกาะเต่าทั้งทีไม่ควรพลาดออกไปดำน้ำ ใครถนัดดำน้ำลึกอย่าง Scuba ก็ได้ ใครถนัดดำผิวน้ำแบบ Snorkeling ก็ดี หลายๆคนก็มาเรียนดำน้ำเอาที่เกาะเต่านี้เลย มีที่เรียนดำน้ำแบบได้รับการรับรองอยู่หลายเจ้า นอกจากเรียน Scuba แล้วตอนนี้กำลังนิยม Free dive กัน มีคนเรียนกันเยอะ

พวกเราเลือกการเหมาเรือหางยาวออกไปดำน้ำกัน ไม่ซื้อทัวร์รวมกับคนอื่น เพราะเป็นช่วงวันหยุดยาว คิดว่าเรือทัวร์น่าจะคนเยอะเกิน กลัวโควิดด้วย และก็ได้เห็นเรือทัวร์ที่แน่นจริงๆ ติดต่อเหมาเรือหางยาวกับพี่แจ็ค เป็นเรือหางยาวใหญ่หน่อย พี่แจ็คขับเรือด้วย ลงน้ำพาคนว่ายน้ำไม่เก่งไปดำน้ำด้วย พี่แกเอาแผ่นโฟมมาให้เกาะแล้วพี่แจ็คก็ลากไป ชี้จุดดำน้ำให้พวกเราด้วย มีอุปกรณ์ดำน้ำมีชูชีพให้ครบคน มีน้ำเปล่า มีผลไม้ แต่อาหารกลางวันพวกเราเอาข้าวกล่องขึ้นเรือมาเอง จะแวะกินหาดไหนก็ว่าไปหรือนั่งกินบนเรือได้ถ้าไม่เมาเรือ เช่าเหมาเรือพี่แจ็คเต็มวันในราคา 3,000 บาท พาไปเกาะนางยวน และดำน้ำ 4 จุด

ติดต่อเรือพาดำน้ำตื้น | Jack sparrow อ่าวจุนเจือ FB

ข้อดีของการเช่าเหมาเรือแบบนี้ก็คือ เดินทางรวดเร็ว คล่องตัว ชอบตรงไหนก็อยู่นาน ไม่ชอบตรงไหนก็ปรับเปลี่ยนเอาได้ แต่ถ้าวันที่คลื่นแรงๆ เรือทัวร์ลำใหญ่ก็จะดีกว่าเรือเล็ก

พี่แจ็คเอาเรือมารับพวกเราที่หาดทรายรี พาพวกเราไป เกาะนางยวน เป็นที่แรก เสียค่าขึ้นเกาะคนละ 50 บาท พวกเราเดินขึ้นจุดชมวิว กับเที่ยวเล่นหาดทรายขาวสวย ทางเดินขึ้นจุดชมวิวเป็นบันไดเดินง่าย ไม่ชันมาก บนยอดเขาก็แคบๆ รอคิวขึ้นถ่ายรูปเหมือนจุดชมวิวจอห์นสุวรรณที่เกาะเต่านั่นแหละ ถ้าใครไปจังหวะไม่ดีเจอเรือทัวร์มาพอดีคนจะเยอะมาก ยืนรอคิวกันเป็นแถวยาว (เราโชคดีตอนมา เรือทัวร์ยังไม่เข้า มาเจอทัวร์เดินสวนขึ้นไปตอนเราเดินลง แบบว่าเดินขึ้นกันเป็นทิวแถว น่าจะต้องรอคิวขึ้นยอดเขากันนานเลย)

จุดดำน้ำจุดแรกคือ Japanese Garden ด้านหลังเกาะนางยวนนั่นแหละ แต่พี่แจ็คพาขับเรือวนมาให้เราโดดลงน้ำก็ดำได้เลย ตรงนี้สวยมาก ดอกไม้ทะเลเยอะ ปลาเยอะ จนตั้งชื่อว่าสวนญี่ปุ่น วันที่ไปแดดดี น้ำใส ดำกันเพลินเลย

จุดต่อไปคือ อ่าวม่วง หรืออ่าวมะม่วง ตรงนี้ปะการังเขากวางเยอะ ปลาก็มีพอสมควร

จุด 3 คือ อ่าวหินวง ที่พี่แจ็คบอกว่าตรงนี้มีปลาเยอะๆ แต่ให้มองดีๆ ก็ไม่เข้าใจว่ามันยังไง ดำไปดูก็ไม่เห็นอะไร จนเริ่มจับโฟกัสตาได้ เฮ้ย! ปลามันเยอะจริงๆ เยอะแบบอยู่กันเป็นฝูงเลย ปลาอะไรไม่รู้ตัวเล็กๆ เสียดายว่าตรงนี้น้ำไม่ใส และปลาอยู่ลึกลงไปหน่อย แถมอยู่ใต้ท้องเรือ แต่มันเยอะจริงๆ เยอะเหมือนมด ขนลุก

จุดที่ 4 คือ อ่าวลึก ตรงนี้มีปะการังแผ่น กับปะการังสมอง ปลาก็มีพอสมควร

จุดสุดท้ายคือการตามล่าหาเต่าที่ อ่าวเทียน พอเรือพี่แจ็คมาถึง คนเรืออีกลำก็บอกเลยว่า เต่าอยู่ตรงนี้เลย ก็ลงน้ำปุ๊บเจอปั๊บเลย เต่าตัวใหญ่กว่าที่คิด พี่แจ็คบอกว่าตรงอ่าวนี้มีเต่าหลายตัว ช่วงเย็นๆ จะขึ้นมาให้เห็นหลายตัว เรามาถึงบ่ายๆ เจอตัวเดียว แต่ก็ดีใจแล้ว พี่เต่าอยู่ใต้หิน แต่ก็ว่ายขึ้นมาเหนือน้ำด้วย ขึ้นๆลงๆ 2-3 รอบ เราก็ลอยตัวดูได้ใกล้ๆเลย น่ารักมากๆ

บรรลุเป้าหมาย ได้เจอพี่เต่าสมปรารถนา สบายใจ กลับได้

ขากลับพี่แจ็คขอส่งพวกเราที่หาดหน้าบ้านตรง อ่าวจุลเจือ แล้วให้แฟนพี่แจ็คขับรถไปส่งเรากลับที่พัก เลยได้แวะเห็นอ่าวจุลเจือ มีหาดเล็กๆ ทรายขาวจั๊ว น้ำใสกริ๊ก เลยหาดออกไปไม่ไกลมีปะการังเป็นแถบเลย เป็นจุดพักที่สงบสวยงามน่าสนใจดี

เที่ยวเกาะเต่าแบบรถ 1 วัน แบบเรืออีก 1 วัน อิ่มเอมใจ แต่ก็ยังมีอะไรให้เที่ยวอีกหลายอย่าง ถ้ามีเวลาก็พักผ่อนในที่พัก ออกไปพายคายัก หรือไปพายซัพบอร์ด หรือออกไปตระเวนกินอะไรอร่อยๆตามร้านริมผาวิวสวยๆก็ได้อีก

เที่ยวเกาะเต่าใน 7 นาทีที่ Youtube channel : https://youtu.be/_5CB48hQ3q0

ว่าด้วยเรื่องที่พัก

Cape Shark Villa ที่พักแบบวิลล่าราคาแรง แต่คุ้มค่าเงินจริงๆ ห้องพักอยู่แยกๆห่างๆกันไปตามหน้าผา เป็นส่วนตัวมาก แต่ละยูนิตมีสระน้ำริมผา มี่ทั้งแบบห้องเดียว หรืออยู่แบบกลุ่มแบบครอบครัว มี 3-4 ห้องนอน มีพื้นที่ส่วนกลางร่วมกันก็มี ที่พักดีควรใช้เวลาพักผ่อนให้คุ้มค่า พวกเรามาถึงที่พักช่วงบ่ายแก่ๆก็ไม่ไปไหนเลย พักผ่อนลงสระน้ำ เดินลงไปดำน้ำก็ได้ สั่งอาหารเข้ามาปาร์ตี้ยามเย็นเลย บรรยากาศดีสุดๆ เกินบรรยาย เช้าก็มีอาหารเช้ามาส่งให้ที่พักเลย ชอบมาก แต่พักหลายคืนไม่ไหว งบหมด 555

Ban’s Diving Resort ที่พักริมหาดทรายรี ที่เป็นโรงเรียนสอนดำน้ำชื่อดังด้วย มี่ที่พักหลายแบบหลายราคา พวกเราได้ห้องพักแบบห้องโรงแรมอยู่ไม่ใกล้หาด อยู่บนเนินเขาด้านใน มีรถ Shuttle รับส่งจะเดินก็ไม่ได้ไกลมาก มีสระว่ายน้ำหลายสระ อยู่ตรงอาคารที่พัก ตรงริมหาดมีร้านอาหารของที่พัก ที่อาหารอร่อยมาก กินที่นี่มื้อเย็น 2 วันเลย นอกจากร้านอาหารก็มี Beach bar ที่มีดนตรีสดเล่น ยิ่งดึกยิ่งสนุก เหมือนฝรั่งทั้งเกาะมารวมกันที่นี่ Happy Hour 6 โมงเย็น ถึง 4 ทุ่ม

ว่าด้วยเรื่องของกิน

995 Roasted Duck ร้านข้าว-ก๋วยเตี๋ยว เน้นเป็ดย่าง แต่ก็มีเป็ดตุ๋น มีหมูแดง มีข้าวอื่นๆด้วย เขาว่าอร่อย เป็นร้านดัง แต่ชิมแล้วก็ไม่ได้เด่นอะไรนัก เอาเป็นว่ากินได้

ก๋วยเตี๋ยวเรือทองพันชั่ง ร้านก๋วยเตี๋ยวบนถนนเส้นในแถวหาดทรายรี ร้านที่ไกด์แนะนำว่าอร่อย ก็เลยส่งเพื่อนไปชิม (ที่เหลือไปดำน้ำ) เพื่อนบอกว่าก็ใช้ได้แหละนะ แต่ร้านติดริมหาดได้บรรยากาศด้วย

Ban’s restaurant ร้านอาหารของที่พัก Ban’s diving resort อยู่ติดริมหาดทรายรี บรรยากาศยามเย็นดีสุดๆ วันแรกมากินเพราะจะใช้คูปองเราเที่ยวด้วยกัน กลายเป็นว่าอาหารอร่อย โดยเฉพาะแกงเหลือง น้ำพริกก็อร่อย อาหารฝรั่งอย่างพิซซ่า สปาเก็ตตี้ก็ดี มื้อเย็นอีกคืนก็เลยกินที่เดิม เพราะไปดำน้ำมาทั้งวันหมดแรงเดินด้วย

Fish bowl beach bar ร้านนั่งดื่มริมหาดทรายรี มีดนตรีเล่น Happy Hour 6 โมงยัน 4 ทุ่ม บาร์อยู่ติดกับร้านอาหาร Ban เลย ติดแบบสั่งอาหารมากินกันได้ นั่งเพลินๆอาจจะนึกว่าอยู่ไมอามี่ เพราะมีแต่ฝรั่ง สั่งเครื่องดื่มก็ต้องพูดอังกฤษเพราะเด็กเป็นพม่า พูดไทยไม่เข้าใจ ฮา…. ดนตรีดีคนก็เยอะยิ่งดึกยิ่งสนุก

Blue water cafe’ & restaurant ร้านคาเฟ่เก๋ๆริมหาดทรายรีอีกร้าน ตั้งโต๊ะกันบนหาดทรายเลย บรรยากาศนั่งจิบเครื่องดื่มเย็นๆฟังดนตรีเล่นสดตอนดูพระอาทิตย์ตกดีงามมาก อาหารมีไม่มาก เน้นนั่งดื่ม ราคาแรงพอสมควรแลกกับบรรยากาศดีๆ

ยังมีของกินอีกหลายอย่างที่เพจต่างๆแนะนำ อย่างโรตี น้ำเต้าหู้ หรือเบเกอรี่ดีร้าน French market ร้านคาเฟ่เก๋ๆตามจุดชมวิว คงต้องอยู่หลายวันกว่านี้ถึงจะชิมได้ครบ คราวนี้ได้ลองร้านกาแฟ 2 ร้าน ไม่ไหวเลย ไม่แน่ใจว่าร้านไหนบนเกาะเต่าถึงจะเจอกาแฟดีๆ

รายการเที่ยวของทริปนี้ 4 วัน 3 คืน

D1 : ขึ้นเฟอร์รี่รอบ 13:15 ใช้เวลา 2 ชม.ถึงเกาะเต่า > เข้าที่พัก Cape Shark Villa พักผ่อน เล่นน้ำ ดำน้ำ แถวที่พัก

D2 : เหมารถพาเที่ยวจุดชมวิวรอบเกาะ : John Suwan View point / Freedom Beach / Two View / West coast View point / Moon Dance > เข้าที่พัก Ban’s Diving Resort หาดทรายรี

D3 : เหมาเรือออกดำน้ำตื้นรอบเกาะ : เกาะนางยวน / Japanese Garden / อ่าวม่วง / อ่าวหินวง / อ่าวลึก / อ่าวเทียน > เข้าที่พัก Ban’s Diving Resort หาดทรายรี

D4 : ขึ้นเฟอร์รี่รอบ 10:00 กลับฝั่ง ใช้เวลา 1.30 ชม.

เที่ยวงงๆที่ปัตตานี

เที่ยวแบบงงๆที่ปัตตานี | มิถุนายน 2565

ทริปต่อเนื่องจาก เที่ยวเท่ๆที่ยะลา เที่ยวช้าๆที่เบตง แล้วมา เที่ยวงงๆที่ปัตตานีต่อ

“ปัตตานี” 1 ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่คนห่างไกลอย่างเราๆ ได้ยินแต่ข่าวความไม่สงบ แต่เมื่อ ททท. ส่งเสริมการท่องเที่ยว เบตง จ.ยะลา แสดงว่าปัตตานีที่ติดกับยะลา ก็น่าจะปลอดภัยพอเที่ยวได้ซินะ

เริ่มต้นทริปเที่ยวเบตงที่บินตรงจากกรุงเทพไปลงสนามบินเบตงในราคา 3,000 บาท ++ ถ้าไป-กลับ ก็ฟาดไปเกือบ 7,000 บาท หน้ามืดกันเลยทีเดียว ลองหาช่องทางใหม่ คิดไปคิดมากลับจากหาดใหญ่ดีกว่า ค่าเครื่องก็พันกว่าบาท ส่วนต่างเอาไปเที่ยวเพิ่มที่ปัตตานีดีกว่า คิดได้ดังนั้นทริปก็เลยงอกการนอนที่ปัตตานีเพิ่มมา 1 คืน (แทนที่จะประหยัดเงิน เที่ยวเพิ่มงบบานออกไปอี๊กกกก 555)

จากเบตง พวกเรานั่งแท้กซี่เบ๊นซ์ไปยะลาในราคาเหมา 800 บาท และให้ต่อไปส่งที่ปัตตานีในราคาเหมา 600 บาท รวมเป็น 1,400 บาท (รถนั่งได้ 4 คน) เป็นราคามาตรฐานของคิวรถ นั่งสบายสไตล์เบ๊นซ์ ขับนิ่ม สาดโค้งกำลังงาม แวะเที่ยวที่ตัวเมืองเบตงนิดหน่อย แล้ววิ่งตรงมาส่งที่โรงแรม CS Pattani เลย ตอนแรกกะให้พี่คนขับพาแวะวัดช้างให้ก่อน แต่พี่แกบอกว่ามันคนละทาง จะให้ไปก็ได้แหละ แต่ก็คิดว่างั้นไม่เป็นไรเพราะทางใหม่จากยะลาไปปัตตานีวิ่งฉิว 40 นาทีก็ถึงแล้ว เดี๋ยวบ่ายๆเรียกตุ๊กๆออกไปเที่ยวก็ได้ จะได้ให้พาเที่ยวที่อื่นด้วย (ซึ่งคิดผิดอย่างแรง!!!)

โรงแรมซีเอสปัตตานี เป็นโรงแรมใหญ่สุด ดีสุดในปัตตานี เป็นโรงแรมเก่าแก่ที่เคยได้ยินชื่อเสียงมานาน เก่าแต่ไม่แก่ เพราะด้านในตกแต่งสวยงาม ห้องก็กว้างขวาง วิวสวยงาม แต่….. โรงแรมไม่เหมาะกับคนไม่มีรถอย่างมาก ถ้าไม่มีรถคุณก็เหมือนติดเกาะ ไปไหนแทบไม่ได้ แม้จะบอกกันว่าโรงแรมอยู่กลางเมือง ก็ไม่ใช่กลางเมืองแบบเดินทางสะดวกสบาย ถ้าให้เทียบกับกรุงเทพฯ กลางเมืองเดินทางสะดวกก็เช่นแถวอนุสาวรีย์ชัยฯ แต่ที่พักอยู่แถวถนนวิภาวดี แบบนั้น และที่นี่แทบไม่มีรถสาธารณะให้เรียก ก็คือติดเกาะนั่นเอง ตอนโทรจองที่พัก ถามว่าจะออกไปข้างนอกยังไง น้องคนรับจองบอกว่าโรงแรมพอมีรถไปส่งได้แต่ขากลับให้หาเรียกรถกลับมาเอง แต่พอจริงๆแล้ว โรงแรมแนะนำว่าให้เราเดินออกไปที่ถนนเลี้ยวซ้ายเดินไปหน้ามอ. (ดูแผนที่แล้วเกือบ 3 กม.!!) หรือเลี้ยวขวาเดินไปหน้าบิ๊กซี (เกือบ 1 กม.) น่าจะพอหารถได้บ้าง อืมมมมม ก็ต้องตามนั้น

วิวจากห้องพัก ตัวโรงแรมเข้ามาลึกจากถนนพอสมควร จะไปบิ๊กซีต้องเดินผ่านอาคารพาณิชย์หลายสิบห้องนั่นออกไป เจอถนนก็เลี้ยวขวาเลาะริมถนนไปเรื่อยๆ

แผนการเที่ยวปัตตานีพังตั้งแต่เริ่ม ที่คิดว่าจะไปกิน ราดหน้านำรส หรือต้มเนื้อในตลาด ก็ไม่น่าจะไปได้ง่าย เดินออกไปแดดเปรี้ยงๆ เจอผัดไทยข้างทางก็เลยขอซัดเอาแรงก่อนจะเดินต่อไปบิ๊กซี เจอรถกระป๊อจอดเลยลองถามดูว่าไปวัดช้างให้คิดเท่าไหร่ รถบอกว่า 800 บาท แพงกว่านั่งรถไปยะลาอี๊กกกกก ก็เลยล้มแผนไปวัดช้างให้ งั้นไปเดินเที่ยวเล่นในย่านเมืองเก่าดีกว่า ซึ่งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำเลยนั่น จะไปยังไง เข้าไปตั้งหลักในบิ๊กซีก่อน นั่งแอร์เย็นๆลองโทรถามหาแท้กซี่ปัตตานี ตามที่เคยเห็นผ่านตาตามเฟซบุ๊ค ปรากฏว่าไม่ไช่รถในปัตตานีสักคัน บางเบอร์บอกอยู่หาดใหญ่ ชื่อแท้กซี่ปัตตานีนะ งงไปอีก เลยลองถามคนขายของดูว่าคนแถวนี้เขาเดินทางกันยังไง น้องคนขายมองหน้างงๆบอกว่า ขี่รถกัน ฮา…. แต่น้องแนะนำว่า ให้เดินออกไปริมถนนมองหาสองแถวที่เป็นเหมือนรถประจำทาง โบกเรียกเอา จะไปไหนก็บอกเขาไป เอาวะ ลองดู

สองแถวของปัตตานีหน้าตาไม่บ่งบอกว่าเป็นสองแถวเหมือนที่กรุงเทพฯ ไม่เหมือนรถแดงที่เชียงใหม่ เพราะเป็นรถขนาดเล็ก สีเขียวๆ และวิ่งเร็วดั่งผีพอล วอร์คเกอร์มาขับ ซิ่ง Fast & Furious ชิดขวาตลอด เราพลาดคันแรกเพราะไม่ทันโบก ไม่รู้ว่านั่นคือสองแถว พี่คนขายน้ำข้างถนนบอกต้องเล็งดีๆแล้วรีบโบก และถามว่าจะรอสองแถวจริงเหรอมันนานๆจะมาทีนะ อาจจะชั่วโมงละคัน! แต่เราไม่มีทางเลือกนี่ ก็ยืนเล็งไป โชคดีว่าไม่ถึง 1 ชม. ก็มีมาให้โบกแบบไม่แน่ใจ โบกไว้ก่อน ก็ใช่จริงๆ แต่เลยไปเป็นร้อยเมตร รีบวิ่งอย่างไวอย่าให้พลาด ฉันต้องได้ออกจากตรงนี้สักที

ให้เพื่อนไปนั่งประกบคนขับ บอกทาง เพื่อนบอกพิกัดไปร้านกาแฟก่อนเลย ร้อนๆอย่างนี้ขอไปร้านกาแฟ ตามที่เพจกาแฟแนะนำมา ดูจากแผนที่ก็อยู่กลางๆเมืองนี่เอง ไปถึงจริงๆ ก็ไม่เชิงกลางเมือง ออกไปข้างๆเมืองมากกว่า ไร้รถสาธารณะสัญจรเหมือนเดิม แต่ช่างมัน ขอจิบกาแฟก่อน ร้านสภากาแฟ 36 (Sapakafe’36) เหมือนโอเอซิสโผล่กลางทะเลทราย เป็นร้าน Specialty coffee ที่มีเมล็ดให้เลือกหลากหลาย มีวัยรุ่นนั่งจับกลุ่มจิบกาแฟกันเต็มร้าน เหมือนคนนั่งจับกลุ่มจิบชาตามร้านชาอย่างนั้นเลย จิบกาแฟเย็นๆดับร้อนแล้วก็ปรับทุกข์กันต่อว่าจากนี้จะไปยังไง ลองถามน้องบาริสต้าดูว่ามีรถอะไรผ่านบ้าง น้องบอกไม่มี น้องคงสงสารลุงกับป้าเลยให้คนในร้านขี่รถไปตามวินมอเตอร์ไซค์จากหน้าโรงพยาบาลปัตตานีมาให้ 2 คัน ขอบคุณน้องๆมาก ไม่งั้นคงต้องเดินแบบไร้อนาคต

น้องๆร้านสภากาแฟผู้มีพระคุณ ขอขอบคุณน้องๆอีกที ใครไปปัตตานี หาโอกาสไปจิบกาแฟดีๆที่นี่นะครับ

ให้พี่วินไปส่งที่ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ในราคา 60 บาท ลงรถแล้วพี่วินบอกเอาเบอร์ผมไว้ หารถไม่ได้โทรเรียกเลย เดี๋ยวไปรับ โอ้โห… ใจชื้นเลย สบายแล้วเรา จากนั้นก็เดินเที่ยวกันยาวๆ จากศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ที่พวกเราไหว้แก้ชงกันชุดใหญ่ แล้วก็เดินเที่ยวย่านเมืองเก่าปัตตานี ทะลุไปที่ชุมชนอาเนาะซืองา เดินไปถึงมัสยิดกลางปัตตานี ตอนบ่ายแก่ๆ อยากจะอยู่รอถ่ายรูปตอนมืดที่ใครๆว่าเปิดไฟสวยงาม แต่ก็ยังต้องรออีกสัก 2 ชม. ก็ไม่รู้จะไปรอตรงไหน ที่เดินผ่านมาไม่มีร้านอะไรให้นั่งเล่นได้ เท่าที่เห็นร้านน่านั่งก็อยู่แถวเมืองเก่า ต้องเดินกลับไปเกือบกิโล เลยว่ากลับโรงแรมแล้วกัน โทรหาพี่วินที่ให้เบอร์ไว้ก็ไม่รับสาย จะกลับยังไงกันล่ะ ไม่เคยรู้สึกท้อแท้ในการท่องเที่ยวเท่านี้มาก่อน เดินหารถกันอีกรอบ ต้องถามชาวบ้านอีก พี่เขาบอกให้เดินไปแถวสี่แยก เจอลุงวิน 2 คันพอดี เรียกกลับไปโรงแรมราคาเดิม 60 บาท

พอถึงโรงแรมแล้ว ก็ไม่รู้สึกอยากออกไปไหนอีกเลย มันช่างยากลำบากอะไรเช่นนี้ ก็เลยกินข้าวเย็นมันที่โรงแรมนี่แหละ อาหารอร่อยใช้ได้ นอนเร็วๆไปเลย พรุ่งนี้โชคดีที่เราตัดสินใจจองเช่าเหมารถไว้แล้ว โดยเหมาให้พาเที่ยวประมาณครึ่งวัน ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น แล้วให้รถไปส่งที่สนามบินหาดใหญ่เลย จบการเที่ยวงงๆในปัตตานีเท่านี้

ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว (ศาลเจ้าเล่งจูเกียง)

มาถึงปัตตานีก็มาตั้งต้นที่ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวก่อนเลย ชาวจีนปัตตานีและชาวไทยเชื้อสายจีนทั่วไปนับถือเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ในด้านความเมตตา ด้านโชคลาภ ส่งเสริมการค้าขาย ผู้คนนิยมมากราบไหว้ของพรให้ธุรกิจรุ่งเรือง เรา 2 คนก็ขอไหว้แก้ชงกันสักหน่อย เหมือนวัดจีนใหญ่ๆทั่วไปที่มีชุดไหว้ ธูปกำใหญ่ เทียนแท่งโต กระดาษฝากดวง ก็ไหว้ตามลำดับที่เจ้าหน้าที่แนะนำ องค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวอยู่ในตู้ด้านข้างขององค์ประธาน เป็นไม้แกะสลักที่ตำนานบอกว่าแกะมาจากต้นไม้ที่ลิ้มกอเหนี่ยวผูกคอตาย ตำนานว่ายังไงลงไปอ่านที่ สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวด้านล่าง

ข้างๆศาล มีศาลาทรงจีนอีกหลังชื่อ ศาลาสันติสุขเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเรื่องราวของชุมชนชาวจีนในปัตตานี และเป็นที่เก็บเกี้ยวสำหรับแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวประจำปี โดยจะมีงานแห่กัน หลังวันตรุษจีน 15 วันของทุกปี เจ้าแม่องค์จริงที่ใช้แห่อยู่ในศาลเจ้า องค์ที่เกี้ยวเป็นองค์จำลอง

กือดาจีนอ – ย่านเมืองเก่าปัตตานี

จากศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เดินไปตามถนนอาเนาะรู จะเป็นย่านเมืองเก่า – กือดาจีนอ – บริเวณนี้เป็นชุมชนเก่าแก่มาแต่ยุคสงครามโลก ชุมชนกือดาจีนอ หรือชุมชนจีนหัวตลาด เคยรุ่งเรืองคึกคักแต่ก็กลายเป็นอดีตเหลือแต่ความเงียบเหงา จนมาเกิดกระแสอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและวัฒนธรรม จึงมีการเข้ามาปรับปรุงดูแลสถานที่ประวัติศาตร์เหล่านี้ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่ได้คึกคักเพราะคนในชุมชนแต่คึกคักเพราะนักท่องเที่ยว ตลอดถนนมีบ้านแบบจีนเดิมๆให้เห็น บางหลังยังมีคนอาศัยอยู่ หลายหลังปิดตายมีแต่ป้ายบอกเล่าประวัติด้านหน้า บางหลังก็ปิดทิ้งร้างเป็นบ้านนก

เดินสุดถนนตรง 4 แยกเล็กๆ ที่ถนนอาเนาะรูตัดกับถนนปัตตานีภิรมย์ มีบ้านขุนพิทักษ์รายาอยู่ตรงหัวมุมถนน เดิมข้ามแยกผ่านบ้านท่านขุนไปนิดเดียวก็สุดทางที่แม่น้ำปัตตานี เดินเลี้ยวซ้ายตรงสี่แยกไปตามถนนปัตตานีภิรมย์ต่อได้ แถบนี้เคยเป็นย่านธุรกิจที่เจริญรุ่งเรืองมากในอดีต เคยมีโรงเตี๊ยม โรงหนัง โรงโบว์ลิ่ง ร้านค้า ร้านอาหาร ตอนนี้ยังมีบ้านเก่าๆ ตลอดรายทาง บางหลังเริ่มตกแต่งปรับปรุงให้กลายเป็นคาเฟ่เก๋ๆ ที่หลังร้านทะลุไปริมแม่น้ำได้

ชุมชนอาเนาะซืองา

เดินตามถนนปัตตานีภิรมย์มาเรื่อย เจอสามแยกมีป้ายแนะนำชุมชนอาเนาะซืองา ก็เลยเลี้ยวเข้าไปตามถนนมายอ เลียบคลองอาเนาะซืองาไปเรื่อยๆ สมเป็นเมืองพหุวัฒนธรรมจริงๆ เพราะเดินเล่นย่านเมืองเก่าชุมชนชาวจีนอยู่ดีๆ แค่เลี้ยวซ้ายก็กลายเป็นชุมชนมุสลิมเก่าแก่ซะแล้ว

จากแถบนี้เดินไปอีกไม่ไกลก็จะไปถึงมัสยิดกลางปัตตานีได้ ก็เดินชมเมืองไปเรื่อยๆได้เลย

มัสยิดกลางปัตตานี

มัสยิดกลางปัตตานีเป็นมัสยิดประจำจังหวัดปัตตานี หลายคนบอกว่ารูปทรงคล้ายกับทัชมาฮาล ด้านหน้ามีสระน้ำขนาดใหญ่ มากลางวันก็สวยแบบเรียบๆ เขาว่าตอนกลางคืนเปิดไฟสวยกว่า แต่เราไม่ได้เห็น ก็น่าเสียดาย

วันต่อมา เราเช่าเหมารถพร้อมคนขับไว้ รถมารับตรงเวลา 9 โมง ก็เช็คเอาท์เอากระเป๋าออกไปเลย บอกแผนที่คิดไว้ว่า อยากเริ่มด้วยไปล่องเรือชมป่าโกงกางที่ ชุมชนบูนาดารา จากนั้นก็อาจแวะวังยะหริ่งถ้ามีเวลา แล้วขากลับแวะ มัสยิดกรือเซะ แล้วก็ไปวัดช้างให้ (ยังต้องไปให้ได้ ฮา…) แล้วไปส่งที่สนามบินประมาณ 4 โมงเย็น เช่าเหมา 1,300 บาท ไม่รวมน้ำมัน เหมือนเช่าขับเองแต่มีคนขับ (ปกติเช่ารถวันละ 1,000 บาท เพิ่มอีก 300 บาทเป็นค่าคนขับ) ก็ราคาไม่ได้แพง นับว่าดี คิดถูกที่จองรถไว้ล่วงหน้า

ซี สยาม แทรแวล-รถเช่ารายวันปัตตานี โทร : 083-190-2200, 082-822-1388, 086-481-3988

ชุมชนมท่องเที่ยวตะโละกาโปร์ (กลุ่มบูนาดารา)

กิจกรรมท่องเที่ยวยอดนิยมอย่างหนึ่งของการมาเที่ยวปัตตานีคือ ล่องเรือชมป่าโกงกาง ทะลุออกทะเลใน ไปทะเลนอก ชมธรรมชาติ ชมนกชมไม้ ชมปูชมปลา หาหอย แต่ต้องออกนอกตัวเมืองปัตตานีไปหน่อย มีหลายกลุ่ม หลายชุมชนที่ทำท่องเที่ยวคล้ายๆกันนี้ เช่น บ้านบางปู บ้านบานา ที่เราเลือกกลุ่มบูนาดารา เพราะอ่านเจอมาว่า ในตัวหมู่บ้านตะโลกาโปร์มีการทำเรือกอและจำลองด้วย อยากไปดูตรงนี้

ชุมชนท่องเที่ยวตะโละกาโปร์ เป็นชุมชนประมงเพราะอยู่ติดทะเล อยู่ในเขตอำเภอยะหริ่ง ห่างจากตัวเมืองปัตตานี 25 กม. ท่าเรือที่พวกเราจะไปลงเรืออยู่ก่อนถึงตัวหมู่บ้าน คนจัดการท่องเที่ยวคือกลุ่มบูนาดารา คำว่า “บูนา” เป็นชื่อชุมชนเก่าแก่ดั้งเดิม คำว่า “ดารา” เป็นคำภาษามลายู “กาแลดารอ” คือ ท่าเรือดารอ ที่พวกเราจะไปลงเรือกัน

กิจกรรมท่องเที่ยวตะโละกาโปร์ คือการล่องเรือ ซึ่งเป็นเรือกอและ ผ่านเห็นวิถีชีวิตประมงพื้นบ้านของชาวมาลายูในอ่าวปัตตานี ผ่านป่าโกงกางที่อุดมสมบูรณ์ จอดลงหา”หอยกัน” ที่เป็นหอยในท้องถิ่นอยู่ตามป่าโกงกาง หน้าตาเหมือนหอยตลับ ถ้ามาตรงมื้ออาหารให้ชาวบ้านทำอาหารให้กินได้เลย เขาว่าเนื้ออร่อยมาก จุดไฮท์ไลต์อีกจุดคืออุโมงค์ป่าโกงกาง ที่โค้งเข้าหากันอย่างสวยงาม

วันที่เราไปคือวันศุกร์ซึ่งชาวมุสลิมจะหยุดงานวันศุกร์เพื่อไปมัสยิดกัน แต่เราลืมคิด ไม่ได้จองเรือมาก่อน มาโทรตอนเช้าที่เริ่มออกเดินทาง เกือบจะไม่ได้ล่องเรือซะแล้ว แต่พอบอกว่าเรากำลังไปน่าจะถึงก่อนสิบโมง ก็จะล่องเรือช่วงเช้า พี่เขาบอกงั้นได้เลย เพราะคงล่องเรือเสร็จในครึ่งวัน คนขับเรือจะไปมัสยิดช่วงบ่าย ก่อนลงเรือก็มีแจกเสื้อชูชีพ แจกหมวกปีกกันแดด เรือจะเป็นลำเล็กๆนั่งได้ 5-6 คน และไม่มีหลังคา เพราะต้องลัดเลาะไปตามป่าโกงกาง เราโชคดีได้แบแยะมาเป็นไกด์ แบเล่าเรื่องราวความเป็นมา ชี้ชวนดูต้นไม้ ดูปูดูปลา เล่าเรื่องสนุกสนานไปตลอดทาง แบบอกว่ามาช่วงเช้าน้ำขึ้น ก็เลยเข้าได้ทุกซอกทุกซอย นั่งเรือมาถึงจุดที่เป็นแหล่งหาหอยกัน ก็พาแวะลงไปเดินหาหอยได้มา 5-6 ตัว สนุกไม่น้อย