20 มกราคม 2566
บ้านร่องกล้า ประตูสู่’ภูลมโล’
ภูลมโลเป็นภูเขาอยู่บนรอยต่อของสามจังหวัด คือ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย มีพื้นที่กว่าพันไร่ที่ปลูกต้นพญาเสือโคร่งไว้ ช่วงเดือนมกราคมจะเป็นช่วงที่ดอกพญาเสือโคร่งบานเต็มหุบเขา
ทริปนี้เรา 2 คน คอยตามข่าวจากเพจท่องเที่ยวตลอดตั้งแต่ต้นปี รอจังหวะให้พญาเสือโคร่งที่ภูลมโลบานเต็มที่ก็ขับรถไปกันเลย (พญาเสือโคร่งในประเทศไทยตอนบนที่หลายแหล่ง แต่ละที่บานไม่พร้อมกัน และแต่ละปีก็บานไม่ใช่เวลาเดียวกัน แล้วแต่สภาพอากาศในแต่ละป๊)
การจะขึ้นไปดูทุ่งพญาเสือโคร่งบนภูลมโล ต้องใช้รถของชาวบ้านที่ขึ้นทะเบียนรถกับส่วนกลางเท่านั้น นักท่องเที่ยวต้องไปลงทะเบียนเพื่อขึ้นรถ เป็นรถกระบะนั่งได้ 10 คนต่อคัน คันละ 1,000 บาท เหมาก็ได้ นั่งรวมกับคนอื่นก็ได้

จุดขึ้นรถไปภูลมโลมี 3 จุด คือ 1. หมู่บ้านกกสะทอน อ.ด่านซ้าย จ.เลย (รถไปภูลมโล 1,500 บาท/คัน) 2. ที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า และ 3. หมู่บ้านร่องกล้า อ.นครไทย จ.พิษณุโลก
เราเลือกจะไปขึ้นภูลมโลจากที่หมู่บ้านร่องกล้า โดยขับรถจากรุงเทพฯไปทางพิษณุโลก เลี้ยวขึ้นไปทางอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า แล้วขับเลยไปที่บ้านร่มเกล้า


หมู่บ้านร่องกล้า เป็นหมู่บ้านชาวม้ง อยู่ในเขตอ.นครไทย จ.พิษณุโลก ตัวหมู่บ้านอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าประมาณ 9 กม. เป็นหมู่บ้านขนาดไม่ใหญ่แต่ก็ไม่เล็กนัก อยู่ในหุบเขาที่อากาศหนาวทั้งปี พี่คนขายก๋วยเตี๋ยวเล่าว่า ช่วงสงกรานต์เด็กๆจะขอให้พาลงเขาเพราะอยากไปเล่นสาดน้ำ อยู่ในหมู่บ้านอากาศเย็น (ประมาณ 20 องศา) เล่นสาดน้ำไม่ไหว ต้องเชื่อล่ะว่าหนาวทั้งปีจริงๆ



ชาวม้งบ้านร่องกล้า ทำอาชีพปลูกผัก ส่วนมากเป็นกระหล่ำปลีหรือผักกาด มีบางส่วนปลูกข้าวโพด ปลูกสตรอเบอรี่ และปลูกดอกกระดาษ ช่วงที่มีรายได้เสริมคือฤดูหนาวที่มีผู้คนมาเที่ยวรับลมหนาวบนเขา และเที่ยวอช.ภูหินร่องกล้า ก็แวะเข้ามาเที่ยวในหมู่บ้านบ้างก็ขายของได้บ้าง แต่ 10 ปีหลังนี้ บ้านร่องกล้าฮิตติดอันดับเพราะความสวยงามของต้นพญาเสือโคร่งที่บานเต็มภูลมโล เนินเขาที่อยู่ไม่ไกลจากตัวหมู่บ้าน ในฤดูที่ดอกพญาเสือโคร่งบานเต็มที่ทำให้ภูเขากลายเป็นสีชมพูสวยหวาน รวมไปทั้งในตัวหมู่บ้านร่องกล้าเองก็มีต้นพญาเสือโคร่งที่ออกดอกเต็มต้นทุกบ้าน กลายเป็นหมู่บ้านในฝันกันไปเลย

เราเลือกที่จะไปนอนที่บ้านร่องกล้า เพราะอยากไปเดินเที่ยวเล่นในหมู่บ้านด้วย อย่างที่บอกว่ารอข่าวว่ามันบานจนพอใจก็ขับรถไปเลย เตรียมเต้นท์เตรียมอุปกรณ์ไปให้พร้อม แต่ลองโทรถามที่พักด้วย โชคดีที่ได้ห้องพัก ก็เลยได้นอนห้องพักสบายหน่อย เพราะวันก่อนไปอุณหภูมิลงไปแตะ 0 องศา มีแม่คะนิ้งด้วย ขอนอนห้องจะดีกว่า ที่บ้านร่องกล้าตอนนี้มีที่พักเยอะแยะมากมาย เป็นบ้าน/ห้องเล็กๆ และแต่ละที่มีห้องไม่มาก ส่วนมากมีแค่ 3-4 ห้อง ที่มีเหลือเฟือคือที่กางเต้นท์ จะกางที่พื้นที่กลางของหมู่บ้านก็ได้ ไม่มีค่าใช้จ่ายแต่มีที่รับบริจาค มีจุดห้องน้ำให้ใช้ หรือจะไปกางในพื้นที่ของรีสอร์ทที่พักก็ได้มีค่าบริการตามปกติ ที่พักที่ยอดนิยมจะเป็นที่พักที่ออกนอกตัวหมู่บ้านไปหน่อย จะอยู่ตามเชิงเขาหรือบนเนิน มีวิวหุบเขากว้างๆ และแต่ละที่ปลูกพญาเสือโคร่งไว้ด้วย ชนิดว่าแค่มานอนก็ชมพญาเสือโคร่งหน้าห้องหรือหน้าเต้นท์ได้เลย แต่เราไม่ได้ที่พักแบบนั้นหรอก เพราะมันเต็มไปหมดแล้ว แต่ได้ห้องพักแบบง่ายๆในตัวหมู่บ้าน ที่ระเบียงห้องมีต้นพญาเสือโคร่งต้นใหญ่หลายต้นกำลังออกดอกแน่นเต็มกิ่งสวยทีเดียว
ร่องกล้าสานฝัน ข้ามสะพานเข้าหมู่บ้านแล้วเลี้ยวซ้ายซอยแรกเลย พี่พักเล็กๆมีแค่ 4 ห้อง ระเบียงหน้าห้องมีพญาเสือโคร่งต้นใหญ่กำลังบานสวย เสียที่ไม่มีเก้าอี้หน้าห้อง พอดีเตรียมของมากางเต้นท์ เลยมีเก้าอี้มากางนั่งจิบกาแฟชมดอกไม้





ขับรถจากรุงเทพฯสบายๆรวมแวะกินข้าวเที่ยงกับแวะจิบกาแฟแล้วใช้เวลาประมาณ 7 ชม.ก็ถึงบ้านร่มเกล้า รวมระยะทางประมาณ 440 กม. อากาศช่วง 4 โมงเย็นช่วงกลางเดือนมกราคม มากกว่าเย็นค่อนไปทางหนาว เก็บของเข้าห้องพักแล้วใส่เสื้อหนาวตัวบางออกไปเดินเล่นในหมู่บ้านสักหน่อย มีต้นพญาเสือโคร่งให้ชม ให้ถ่ายรูปอยู่กระจัดกระจายทั่วหมู่บ้าน มีชาวม้งเอาของมาขาย ทั้งผัก ผลไม้ ของที่ระลึก มีเด็กมาวิ่งเล่น มีหนุ่มๆชาวม้งมาเล่นเปตอง












ทางขึ้นไปเที่ยวภูลมโล เปิด-ปิด 05:00-16:00 ไม่อนุญาตรถส่วนตัวทุกชนิด ต้องมาติดต่อที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเพื่อเข้าคิวขึ้นรถนำเที่ยว

เดินเล่นไปเรื่อยๆ เสื้อหนาวตัวบางไม่พอแล้วแหละ กลับห้องไปเพิ่มอุปกรณ์กันหนาวแล้วออกมาหาข้าวเย็นกินดีกว่า ร้านอาหารตามสั่งมีขายหลายร้าน เลือกกินได้ตามสะดวก ที่หลายคนนิยมกินในช่วงอากาศหนาวๆคือหมูกระทะก็มี แต่เราขอกินก๋วยเตี๋ยวซดน้ำซุปร้อนๆแก้หนาวดีกว่า
เที่ยวภูลมโลจากบ้านร่องกล้า
คุยกับพี่เจ้าของที่พักไว้ว่าพรุ่งนี้จะไปเที่ยวภูลมโลช่วงเช้า พี่เขาเป็นรถคิวด้วย ก็เลยตกลงเอารถพี่เขาเลยราคา 1,000 บาทเป็นมาตรฐาน เดี๋ยวพี่เขาไปลงชื่อให้ เราก็ขึ้นรถจากที่บ้านได้เลย ไม่ต้องเดินไปเอาคิวรถที่จุดลงทะเบียน นัดกันไว้ประมาณ 05:30 ออกเดินทาง เพื่อไปดูพระอาทิตย์ขึ้น (ถ้าใครไม่ดูพระอาทิตย์ขึ้น ก็ออกสายกว่านั้นได้เลย) จากนั้นก็ไปทุ่งพญาเสือโคร่ง 3 จุด

อากาศตอนตีห้ากว่าๆที่บ้านร้องกล้า หนาวมาก หนาวจริง อยากมีถุงมือ แต่ไม่ได้เอามาเลยต้องซุกมือไว้ในเสื้อหนาวตลอด ขาไปเรา 2 คนขอนั่งข้างในรถก็แล้วกัน ไม่ขอสู้ลมหนาวตอนเช้ามืด ระยะทางจากบ้านร่องกล้าไปภูลมโลประมาณ 7 กม. นั่งรถไประมาณ ½ ชม. เราได้คุยกับพี่เขาก็ช่วงนี้ พี่ชัยวัฒน์เป็นชาวม้งที่พ่อแม่อพยพมาจากลาว เข้ามาที่จังหวัดน่าน และย้ายถิ่นลงมาที่เพชรบูรณ์ พี่บอกว่าพ่อแม่เล่าให้ฟังว่าช่วงสู้รบต้องคอยหลบกระสุนหลบการทิ้งระเบิด ต้องย้ายบ้านหนีไปเรื่อยๆ พี่เขาบอกว่าพ่อกับแม่เคยสร้างบ้านอยู่แถวลานหินปุ่มด้วย เราคุยกันไปเรื่อยเปื่อย พี่เขาบอกว่าพ่อแม่เล่าเรื่องนักศึกษาที่หนีเข้าป่ามาให้ฟังอยู่ว่าน่าสงสารมาก คนเมืองที่ต้องมาเดินป่า มาแบกข้าวสาร มานอนบนดิน เรื่องอดีตที่ฟังแล้วไม่รู้ว่าจะเศร้าหรือรู้สึกยังไงดี
เช้านี้ที่จุดชมวิว คนไม่มากนักเพราะเป็นเช้าวันศุกร์ เรามาถึงตอนฟ้ายังมืด มองเห็นพระจันทร์เสี้ยวได้ชัดเจน นักท่องเที่ยวต่างนั่งรอพระอาทิตย์ลูกที่ตกไปเมื่อวานกลับมาฉายแสงอีกครั้ง อากาศหนาวจริงจัง บางคนเอาผ้าห่มมาห่อตัว บางคนที่เตรียมเสื้อผ้ามาไม่พอก็กระโดดหยองแหยงเพื่อให้ร่างกายมีความอบอุ่น จากตรงนี้มองไปได้ไกลถึงภูทับเบิก พอแสงเริ่มส่อง มองเห็นได้รอบทิศ ที่เห็นได้ชัดเจนคือยอดเจดีย์ของวัดป่าภูทับเบิก ถ้าเดินไปทางขวามือ จะมองเห็นเป็นทุ่งสีชมพู ที่สียังไม่สดใส รอให้แสงสาดไปถึงก็จะเป็นเขาสีชมพูสวยหวาน








ได้เวลาพระอาทิตย์ลูกกลมโผล่มาส่องแสงให้ได้รู้สึกอุ่นขึ้นบ้าง จากหุบเขามืดๆก็มองเห็นสีชมพูขึ้นมา




จากจุดชมพระอาทิตย์ขึ้น นั่งรถไปชมพญาเสือโคร่งตามทุ่งต่างๆกัน คราวนี้เราขอนั่งท้ายกระบะรับลมหนาว เพื่อชมวิว อากาศดีแต่ฝุ่นเยอะมากเพราะทางเป็นลูกรัง ในหน้าแล้งแบบนี้รถวิ่งทีฝุ่นคลุ้งไปหมด ให้เตรียมหมวกและหน้ากากมาด้วย

จุดที่รถไปแวะมี 3 จุดหลักๆคือ แปลงที่ 1 / 2 / 3 และจุดจอดอื่นๆตามแต่คุณจะบอก บางคนก็ขอให้รถพาไปถึงภูขี้เถ้า (ราคาต้องเพิ่มหรือเปล่าไม่รู้เราไม่ได้ไป)
ทุ่งพญาเสือโคร่งแปลง 3 อยู่ใกล้จุดชมพระอาทิตย์ขึ้นมากที่สุด










ทุ่งพญาเสือโคร่งแปลง 2 แปลงติดริมถนนไม่กว้างใหญ่มาก มีห้องน้ำอยู่ใกล้ๆลานจอด






ทุ่งพญาเสือโคร่งแปลง 1 เป็นจุดชมวิวมองเห็นทุ่งพญาเสือโคร่งในมุมกว้าง







ปีนี้พญาเสือโคร่งที่ภูลมโลออกดอกช้า แต่ออกดอกสวยงาม บานพร้อมกันทุกแปลง กลายเป็นสีชมพูไปทั้งเขา สวยงามน่าประทับใจ ช่วงกลางเดือนมกราที่เราไป เริ่มมีใบเขียวแตกออกมาบ้างแล้ว ช่วงเวลาสวยสุดมันสั้นนิดเดียว แต่ความสวยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แค่มีใบแซมมาบ้าง หลายๆคนก็ยังบอกว่ามันสวยสุดอยู่ดี อันนี้ไม่มีผิดมีถูก

จากทุ่งสีชมพู เรานั่งรถกลับเข้าหมู่บ้าน บอกพี่ชัยวัฒน์ให้พาไปจุดชมวิวตรงวัดป่าภูหินร่องกล้า จุดที่มองลงมาเห็นตัวหมู่บ้าน มีต้นพญาเสือโคร่งที่ตอนนี้ดอกสีชมพูบานพร้อมกันทุกต้น ดูสวยงามจนหลายคนบอกว่าเหมือนญี่ปุ่น (ที่เราขัดใจมากว่าทำไมต้องเอาไปเทียบกับญี่ปุ่นวะ) พี่คนขับถามเราว่า มันเหมือนญี่ปุ่นหรือครับ เราบอกว่า ไม่รู้ซิ เราไม่เคยไป รู้แค่ว่ามันสวยแบบบ้านร่องกล้า





ใช้เวลาตั้งแต่เช้ามืดกับเจ้าเสือโคร่งสีชมพูจนเกือบ 10 โมงเช้า บอกพี่เขาว่าส่งพวกเราลงตรงโค้งที่มีร้านอาหารหลายๆร้าน พวกเราลงหาอะไรลงท้องกันหน่อย สุ่มเลือกไป 1 ร้าน สั่งไข่กระทะกับเครื่องดื่มร้อนมาจิบ ดูผู้คนเดินไปเดินมา มารู้ทีหลังว่าร้านดังของหมู่บ้าน ชื่อร้านตานวย


ร่ำลาบ้านร่องกล้าตอนก่อนเที่ยง วันนี้เราจะไปกางเต้นท์นอนกันที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ที่พวกเราไม่ได้มาเที่ยวกันสิบกว่าปีแล้ว…
ย้อนไป 70 กว่าปีที่ผ่านมา ชาวม้งจากทางเหนือได้อพยพกันลงมาตั้งเป็นหมู่บ้านกันตามเทือกเขาแถบภูหินร่องกล้า กระจัดกระจายกันเป็นหลายหมู่บ้าน ทำอาชีพปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ หาของป่า พื้นที่แถบนี้ยังเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ แต่การทำเกษตรของชาวม้งคือการทำไร่เลื่อนลอย ย้ายที่ปลูกไปเรื่อย จนทำให้ป่าแถบนั้นโดนเผาโดนถางจนโล้นเลี่ยนไปมากมาย รวมทั้งชาวม้งบางส่วนยังมีการแอบปลูกฝิ่นด้วย ทำให้เจ้าหน้าที่จึงต้องเข้ามาจัดการ มาจับกุม เกิดการกระทบกระทั่งกันอยู่เรื่อยๆ ราวๆปี 2507 มีการก่อตั้ง พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) การมองหาแนวร่วมจากต่างจังหวัดจึงเกิดขึ้น พคท.ส่งคนเข้าไปตามที่ห่างไกลที่ความเจริญเข้าไม่ถึง และไปตามชนเผ่าต่างๆ นำเรื่องการแบ่งชนชั้น การกดขี่ ไปปลุกระดมให้ผู้คนมาร่วมขบวนการ ชาวม้งจำนวนหนึ่งจึงเข้าร่วมกับพคท. มีการส่งชาวม้งไปเรียนหลักสูตรการเมืองการทหารที่เวียดนาม แล้วกลับมาเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ให้กับคนในหมู่บ้าน ทำให้มีชาวม้งในแถบภูหินร่องกล้าเป็นแนวร่วมกับ พคม. มากขึ้น มีการจัดตั้งฐานปฏิบัติการสู้รบบนเขาที่มีมีชัยภูมิดีต่อการหลบซ่อน และในปี 2511 พคท.ภูหินร่องกล้าได้เข้าทำการโจมตีเจ้าหน้าที่คุ้มครองพื้นที่เพื่อที่จะยึดครองพื้นที่และหมู่บ้านต่างๆ มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ต่อมามีการประท้วงรัฐบาลของประชาชนและนักศึกษาจนเกิดการปราบปรามขั้นรุนแรง คือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และตามมาด้วย 6 ตุลาคม 2519 ทำให้มีนักศึกษาหนีการปราบปรามเข้าไปร่วมกับพคท.มากขึ้น ฐานกำลังของพคท.ที่ภูหินร่องกล้าเริ่มขยายออกไปอย่างกว้างขวาง มีการจัดตั้งโรงเรียนการเมืองการทหาร สอนเรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างจริงจัง จากที่ตำรวจ-ทหารเคยสู้รบกับ พคท. ที่เป็นต่างชาติหรือชาวเขาอพยพ ก็กลายเป็นการสู้รบกับคนไทยด้วยกันเองไปแล้ว การสู้รบทำให้ชาวม้งที่ไม่ได้ร่วมรบอพยพหนีตายลงจากเขากันมาเรื่อยๆ ที่เหลืออยู่ด้านบนก็คือพวกที่ตัดสินใจเข้าร่วมรบกับ พคท. และเหล่านักศึกษาที่หนีการปราบปราม การสู้รบในแถบภูหินร่อองกล้าต่อเนื่องยาวนาน จากปี พ.ศ. 2511 ไปจนถึงในช่วงปี พ.ศ. 2523 ในหลวง ร.๙ ทรงแนะนำให้เปลี่ยนยุทธวิธีการสู้รบใหม่ พระองค์ได้มองเห็นว่าคอมมิวนิสต์ก็คือคนไทยด้วยกันเพียงแต่มีความคิดที่ไม่ตรงกัน ไม่ให้เรียกพวกเขาว่าผู้ก่อการร้ายหรือผู้ทรยศ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รับพระราชโองการ มีคำสั่งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกับพคท. เข้ามอบตัวได้โดยไม่มีความผิด ทำให้มีชาวเขาเผ่าม้งลงจากเขาเข้ามอบตัวต่อทางการและรับที่ทำกิน เรียกว่าเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย รวมทั้งประชาชน นักศึกษา ก็ทยอยกันออกมามอบตัว เหตุการณ์เริ่มคลี่คลายไปเรื่อยๆโดยไม่เสียเลือดเนื้ออีก จนในปี พ.ศ. 2526 ก็ได้ประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ชาวเขาเผ่าต่างๆก็อยู่กันเป็นหมู่บ้าน ทำมาหากินสุจริตต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน เหมือนกับชาวม้งที่หมู่บ้านร่องกล้า สรุปเหตุการณ์คร่าวๆนี้มีที่มาจากผู้ที่อยู่ในพื้นที่ได้สัมผัสกับเหตุการณ์จริง บันทึกไว้ให้เป็นข้อมูลตามอ่านเรื่องเต็มๆได้ที่ - https://www.phitsanulokhotnews.com/2018/06/23/119997