ศรีลังกา กับ ชาซีลอน
หากพูดถึงศรีลังกา ของเด่นของดังของขึ้นชื่ออย่างหนึ่งคือ ชาซีลอน
ทำไมต้องซีลอน (Ceylon)?
ก็ ศรีลังกาเคยอยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักรในนาม British Ceylon มากว่าร้อยปี เพิ่งจะหลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศศรีลังกา เมื่อ ค.ศ. 1972 นี้เอง
สมัยที่ชาวอังกฤษยังอยู่กันเต็มศรีลังกาหรือซีลอนในตอนนั้น ชาวอังกฤษเริ่มต้นโดยนำต้นชาจากจีนมาปลูกแทนที่ธุรกิจกาแฟที่ตกต่ำ โดยเริ่มกิจการไร่ชาขึ้นที่แคนดี้ (Kandy) ธุรกิจรุ่งเรืองดีจนเกิดอุตสาหกรรมชาซีลอนส่งออกมากมาย การปลูกชาก็เริ่มขยับขยายไปภาคกลางของประเทศ เพราะมีภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง ฝนก็ชุก อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี (แถบ Ella ที่เราไปพักอยู่ถึง 3 คืนนั่นแหละ)
(ลองอ่านเรื่อง ชาซีลอนจากบล็อกนี้ สนุกมาก และข้อมูลละเอียดมากค่ะ https://bit.ly/2H9Fqft )
หนึ่งในรายการท่องเที่ยวยอดนิยมในเมือง Ella คือการไปเที่ยวชมโรงงานชา พวกเราได้ไปที่โรงงาน Uva Halpewatte Tea Factory ที่ผลิตชาส่งให้หลายๆแบรนด์เอาไปปะยี่ห้อขายอีกต่อ และก็มียี่ห้อ Halpe ของตัวเองด้วย มีวิทยากรแนะนำใบชา บอกเล่าประวัติ วิธีการดูชา วิธีการผลิตชา และให้เดินดูขั้นตอนการผลิต จบด้วยการชิมชา แล้วก็เดินซื้อชากันคนละกล่อง สองกล่อง เหมือนเป็นอุปทานหมู่
ธรรมเนียมการดื่มชาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติตามแบบฉบับผู้ดีอังกฤษที่ยังหลงเหลืออยู่ในศรีลังกา มี Tea Room หรือ Tea Lounge มากมายให้เข้าไปนั่งจิบชาเสวนากันทั้งวัน มีทั้งแบบหรูหรา หรือแบบธรรมดาเหมือนสภากาแฟ
หลายๆคนน่าจะคุ้นเคยกับชาลิปตัน ไร่ชาลิปตันของ Sir Thomas Lipton ก็อยู่ที่เมือง Haputale ศรีลังกานี้ด้วย แต่เราไม่ได้แวะไปเยี่ยมชม
ธุรกิจชาซีลอนยังคงโด่งดังสร้างรายได้ให้ศรีลังกามาจนถึงปัจจุบัน ระหว่างนั่งรถไฟจาก Ella ไป Kandy จะได้เห็น Tea Valley หรือหุบเขาที่เต็มไปด้วยไร่ชา มีที่พักสวยๆมากมาย นักท่องเที่ยวหลายๆคนแวะลงแถบนี้เพื่อท่องเที่ยวเมือง “อังกฤษน้อย” (Little England)
Tea Room ที่ Uva Halpewatte Tea Factory วิวเยี่ยม ชาชั้นยอด


ขั้นตอนสุดท้าย ก็โกยใบชาที่อบแห้งเสร็จเรียบร้อยใส่ถุง สังเกตุได้ว่าแรงงานทุกขั้นตอนมีแต่ผู้หญิง / ดูโรงงานจบก็มาจิบชา จิบมันทุกเกรด ตั้งแต่ชั้นดี จนถึงชั้นธรรมดา (นางว่าของนางไม่มีชั้นเลว ที่แบบเป็นเศษๆใบชาผสมกิ่งก้านใบแก่ที่ป่นๆใส่ถุงชามาขายทั่วไป ฮา…)




