Trip: Myanmar NY2007 (Yangon-Bagan-Mandalay-Inle)

ตอนที่ ๒ เที่ยวมัณฑะเลย์ ทั้งฮาทั้งเฮทั้งเศร้า
ทริปเที่ยวพม่าข้ามปีตอนแรก | แวะย่างกุ้ง แล้วมุ่งไปพุกาม | ใช้เวลาไป 2 วันครึ่ง ช่วงเที่ยงของวันที่ 3 ก็ขึ้นเครื่องจากสนามบินยองอู มามัณฑะเลย์

มัณฑะเลย์ | Mandalay | မန္တလေ
นั่งเครื่องไม่ถึงชั่วโมงก็ถึงสนามบินมัณฑะเลย์ (Mandalay Airport at Tata Oo Township) คราวนี้รถมารับเป็นบัส 30 ที่นั่งกันเลย 6 คนนี่เลือกนั่งเลือกนอนกันตามสดะวก นั่งบัสเข้ากลางเมืองมัณฑะเลย์แล้วตื่นตาตื่นใจกว่าพุกามเยอะ เพราะเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าทางตอนเหนือของพม่า และเป็นเมืองใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศรองจากย่างกุ้ง มัณฑะเลย์นี่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เคยเป็นเมืองหลวงของพม่ามาจนถึงวันสุดท้ายของระบอบกษัตริย์

แผนการเที่ยวมัณฑะเลย์คลาดเคลื่อนไปหน่อยเพราะความล่าช้าของเที่ยวบินจากพุกาม วันนี้ก็น่าจะเที่ยววัดได้วัดเดียว แล้วตอนเย็นไปขึ้นเขาดูพระอาทิตย์ตกที่มัณฑะเลย์ฮิลล์ (ก็สงสัยตัวเองอยู่เหมือนกันว่าจะตามดูพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตกกันทุกวันหรือยังไง)
วัดชเวนันดอ | Shwenandaw Monastery | ရွှေနန်းတော်ကျောင်
วัดที่เลือกไปบ่ายนี้คือวัดชเวนันดอร์ วัดนี้สวยมาก เพราะสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง มีลวดลายแกะสลักสวยไปทุกมุม ทุกเหลี่ยม มามัณฑะเลย์ต้องไม่พลาดนะ


คำว่าชเวนันดอร์ แปลว่า วิหารไม้ทองคำ ด้วยคำร่ำลือว่าสมัยก่อนนั้นด้านนอกแปะทองเหลืองอร่าม แต่มาถึงปัจจุบัน เหลือเห็นแต่ผิวไม้สักทองก็ไม่น่าแปลกใจ ผู้สร้างเรือนไม้แกะสลักสวยงามนี้คือพระเจ้ามินดง สร้างเป็นที่ประทับของพระองค์เอง ดังนั้นความจริงก็คือเป็นตำหนักในวัง เลยไม่น่าแปลกใจที่จะสลักเสลาลวดลายสวยงามขนาดนี้ เมื่อพระเจ้ามินดงสวรรคต พระเจ้าสีป่อผู้เป็นพระราชบุตรขึ้นครองราชย์ ก็สั่งให้รื้อวังของท่านพ่อมาประกอบใหม่ด้านนอกพระราชวังหลวง โดยมอบให้อยู่ในพื้นที่วัด มีการนำพระประธานเข้ามาประดิษฐาน และได้เพิ่มการแกะสลักเรื่องราวพุทธชาดกเพิ่มเติมไปอีกให้สมกับเป็นวิหารในวัด ตั้งชื่อว่าวัดชเวนันดอร์ วังทองคำจึงเปลี่ยนมาเป็นวัดทองคำ



โชคดีของคนรุ่นหลังที่ชเวนันดอร์รอดพ้นสงครามและไฟไหม้มาจนถึงปัจจุบันนี้ จึงได้มาเห็นเป็นบุญตา ถ้ายังเป็นวังอยู่ในพระราชวังก็อาจจะโดนไฟไหม้ไปจนหมดเหมือนทุกหลังในพระราชวัง
มหาคีรีแห่งมัณฑะเลย์ มัณฑะเลย์ฮิลล์ | Mandalay hill | မန္တလေးတောင်
แปลกันตรงๆเลยก็คือ ยอดเขามัณฑะเลย์ เป็นเนินเขาขนาดย่อมกลางเมืองมัณฑะเลย์ เขามัณฑะเลย์ถือว่าเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของชาวพม่า เคยมีคำทำนายว่าจะเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองด้วยพุทธศาสนา จนถึงขนาดว่าพระเจ้ามินดงย้ายเมืองหลวงจากอมรปุระขึ้นเหนือมาสร้างเมืองหลวงใหม่ที่เชิงเขามัณฑะเลย์กันเลยทีเดียว


เนื่องจากพวกเราซื้อบัตรเข้าเที่ยวชมเมืองมัณฑะเลย์ไปแล้วที่วัดชเวนันดอร์ ก็เลยไม่ต้องซื้ออีก สามารถขึ้นด้านบนได้เลย ซึ่งคุณสามารถใช้พลังงานที่เหลือในการเดินขึ้นบันได 1,729 ขั้นได้ หรือใช้การนั่งรถขึ้นเขา หรือใช้ลิฟต์อย่างพวกเราก็สบายเข่ากว่ามาก พี่ไกด์พาเข้ามาในอาคารทางขึ้น เดินขึ้นบันไดเลื่อนแล้วมารอคิวขึ้นลิฟต์ ปุ๊บปั๊บโผล่มายอดเขาเลย



เขามัณฑะเลย์มีความสูง 236 เมตร บนยอดเขามีเจดีย์ซูตองพญา (Su Taung Pyi Pagoda) อยู่บนยอดวิหาร ตัววิหารประดับกระจกวิบวับไปหมด ในวิหารมีพระพุทธรูปประจำ 4 ทิศ ด้านนอกมีระเบียงสำหรับชมเมืองมัณฑะเลย์ มองไปได้ไกลถึงแม่น้ำอิระวดี เห็นพระราชวังมัณฑะเลย์กับวัดกุโสดอว์ด้วย


พวกเราใช้เวลาชื่นชมบรรยากาศยามเย็นจนแสงสุดท้ายหมด ก็ลงจากเขาเข้าที่พัก ต้องนอนไวๆหน่อย เพราะพรุ่งนี้เช้าต้องออกแต่เช้าไปดูพิธีล้างหน้าพระมหามัยมุนี
พระมหามัยมุนี | Mahamuni Buddha Temple | မဟာမုနိဘုရားကြီ
เช้าวันสุดท้ายของปี เริ่มต้นกันแต่เช้าๆหน่อย นั่งรถไปกราบพระมหามัยมุนี ที่วัดทางใต้ของเมืองมัณฑะเลย์ “พระมหามัยมุนี” คือพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของประเทศพม่า สร้างจากทองสัมฤทธิ์ ความศรัทธาของชาวพม่าเห็นได้จากที่แต่เดิมองค์พระมีน้ำหนักราว 7 ตัน แต่มีผู้คนมาปิดทองคำเปลวจนปัจจุบันน้ำหนักเพิ่มเป็น 22 ตัน มองเห็นเป็นตะปุ่มตะป่ำไม่เรียบเนียน เพราะทองพอกหนามาก ถ้าลองได้เอานิ้วจิ้มดูก็จะรู้ได้ว่ามีความอ่อนนิ่มจากทองคำเปลว บางคนก็เลยเรียกว่า พระเนื้อนิ่ม

ประเพณีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี มีขึ้นทุกเช้า ประมาณตี 4 โดยมีเจ้าอาวาสหรือพระเถระ จะมาเป็นผู้ทำพิธี โดยนำอาหาร ข้าวหอม ดอกไม้ น้ำอบ ทานาคา และอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ขึ้นสักการะ จากนั้นก็ทำการล้างพระพักตร์ด้วยน้ำหอมผสมทานาคา ด้วยขันทอง ขันเงิน และขันธรรมดา พร้อมกับใช้แปรงทองปัดทำความสะอาดที่พระโอษฐ์เสมือนหนึ่งแปรงพระทนต์ถวายพระพุทธเจ้า สุดท้ายใช้ผ้ามาเช็ดจนแห้งสนิท (ผู้ศรัทธาก็จะนำผ้าไปให้เจ้าหน้าที่เพื่อให้หลวงพ่อเอาไปเช็ดพระพักตร์ แล้วไปรับกลับตอนเสร็จพิธีนำกลับบ้านไปบูชา) ขั้นสุดท้ายก็ใช้พัดทองโบกถวาย เสมือนหนึ่งได้อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ยังทรงพระชนชีพอยู่จริง ๆ เป็นอันเสร็จพิธี
หลังเสร็จพิธี ผู้ศรัทธาสามารถต่อแถวขึ้นไปปิดทองได้ แต่ได้เฉพาะผู้ชาย ไม่เข้าใจจริงๆผู้หญิงไม่เป็นผู้ศรัทธาหรือยังไงกัน เราเองก็เลยต้องฝากผู้ชายขึ้นไปปิดทองให้แทน
พวกเราไปถึงวัดก็อยู่ห่างไกลจากองค์พระมากแล้วเพราะด้านหน้าคนเต็มไปหมด ได้นั่งกราบอยู่ไกลๆ อยากดูใกล้ๆก็ต้องเดินแอบไปด้านข้างๆแอบส่องพระและเจ้าหน้าที่ๆขึ้นไปทำพิธี รอจนเสร็จพิธี ก็ส่งตัวแทนขึ้นไปปิดทอง

ก่อนกลับ เดินเข้าไปดูส่วนพิพิธภัณฑ์ได้ มีข้าวของสะสมให้ดูพอสมควร



****
อมรปุระ | Amarapura | အမရပူရ
อมรปุระเป็นเมืองที่อยู่ห่างจากเมืองมัณฑะเลย์ไปทางทิศใต้ 12 กิโลเมตร เคยเป็นเมืองหลวงในสมัยราชวงศ์อลองพญา ภายหลังพระเจ้ามินดงได้ย้ายเมืองหลวงจากอมรปุระไปสร้างวังใหม่ที่มัณฑะเลย์ โดยรื้อพระราชวังเดิมที่อมรปุระนี้ไปสร้างใหม่ ส่วนที่เหลืออยู่ก็สั่งให้เผาทำลายทิ้ง พระราขวังเก่าที่อมรปุระก็เลยไม่เหลือให้ได้เห็น มีแต่ซากปรักหักพัง ก็เลยไม่ได้แวะไปดู แต่ยังมีวัดอยู่หลายที่ ถ้าสนใจก็เที่ยวชมได้ แต่พวกเรา ไปแค่สะพานไม้อูเบ็ง กับวัดเจ๊าต่อจีแค่นั้นแหละ เวลาไม่พอ
สะพานไม้อูเบ็ง | U bein Bridge | ဦးပိန် တံတာ
ออกจากวัดพระมหามัยมุนีก็มุ่งหน้าไป “สะพานอูเบ็ง” ที่ได้ชื่อว่าสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในโลก ด้วยความยาว 1,200 เมตร สะพานอูเบ็งอยู่เขตพระราชวังเดิมอมรปุระ สะพานนี้ถูกสร้างข้ามทะเลสาบตองตะมาน เพื่อให้ประชาชนได้เดินทางข้ามไปมาระหว่างเมืองและหมู่บ้านฝั่งตรงข้ามได้สะดวก
ไม้ที่นำมาใช้ทำสะพานนั้นไม่ใช้ไม้ธรรมดาเลย พระเจ้าปดุงผู้ย้ายเมืองหลวงจากกรุงอังวะมาสร้างเหมืองหลวงใหม่ที่อมรปุระนี้ ได้เอาไม้สักแท้ๆจากพระราชวังเก่าแห่งกรุงอังวะมาสร้าง ไม้ดีอย่างนี้เองสะพานถึงยังได้แข็งแรงมานานกว่า 200 ปี
มองเห็นเจดีย์ปะโทดอจีอยู่ไกลๆ


ชื่อสะพานอูเบ็ง เรียกตามชื่อเสนาบดีผู้รับผิดชอบในการสร้างสะพานตอนนั้น ก็แปลกนะไม่ยักเรียกชื่อตามผู้สั่งให้สร้างอย่างพระเจ้าปดุง
สะพานอูเบ็งเป็นจุดยอดนิยมของนักท่องเที่ยวนักถ่ายภาพมากๆ เพราะสะพานไม้ยาวเลี้ยวไปมา มีศาลาพักเป็นระยะ ยังมีชาวพม่าใช้สัญจรไปมาทุกวัน แถมด้วยมีทะเลสาบตองตะมานเป็นฉาก ถ่ายรูปสนุกมาก ยิ่งแสงตอนเช้ายิ่งสวยจนกดชัตเตอร์กันไม่ยั้ง แต่บางคนก็มาตอนเย็น เคยเห็นรูปแล้วแสงเย็นก็สวยไม่น้อยเลย ถ้ามีโอกาสจะมาใหม่



พวกเราใช้การเดินเล่นตามสะพานไปจนถึงฝั่งตรงข้าม เที่ยววัด แล้วเรียกเรือนั่งข้ามกลับมา ได้บรรยากาศคนละแบบ


เจดีย์เจ๊าต่อจี | KyaukTawGyi Pagoda | ကျောက်တော်ကြီးဘုရာ
เดินข้ามสะพานอูเบ็งมาจนสุดสะพาน ก็จะเหมือนข้ามเข้าหมู่บ้านอีกแห่ง เดินไปไม่ไกลจะมีวัดและเจดีย์สีขาว ก็ไปเยี่ยมชมสักหน่อย วัดเจ๊าต่อจีชื่อเดียวกับวัดในมัณฑะเลย์ที่อยู่ใกล้ๆพระราชวังมัณฑะเลย์ แต่วัดนี้อยู่ที่อมรปุระ บางคนก็เลยต้องใส่คำขยายให้ว่า วัดตองตะมานเจ๊าต่อจี กันการสับสน

วัดและเจดีย์นี้สร้างโดยพระเจ้าพุกามแมง โดยเอาต้นแบบจากเจดีย์อนันดาในพุกาม ก็ดูคล้ายๆกันอยู่แต่มีขนาดเล็กกว่า เดินเข้าไปดูภาพวาดฝาผนังอายุกกว่า 200 ปีด้านใน พร้อมกราบพระประธานที่เป็นพระหินอ่อนองค์ใหญ่ศิลปะพม่าแท้ๆ อย่าลืมแหงนดูภาพวาดบนเพดานทางเดินเข้าด้วย มีการวาดแผนที่ดาวไว้ด้วย นับว่าแปลกกว่าภาพวาดเขียนสีตามผนังวัดทั่วๆไปนะ แล้วออกมาเดินชมหมู่บ้านนิดหน่อย ก็มองหาเรียกเรือแถวท่าน้ำ เพื่อพาข้ามฝั่งกลับไป ไม่เดินกลับทางสะพาน เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศสักหน่อย

วัดมหากันดายงค์ | Mahāgandhāyon Monastery | မဟာဂန္ဓာရုံကျောင်းတိုက်
นั่งเรือกลับมาถึงฝั่ง พี่ไกด์ยื่นคอมองหาพวกเราเพราะอยากรีบพาไปวัดมหากันดายงค์ จะได้ไปดูพระภิกษุสามเณรนับพันรูปเดินแถวกันกลับมาจากบิณฑบาต โดยจะนำมาฉันเป็นอาหารเพล ก็นั่งรถจากสะพานอูเบ็งไปไม่ไกลก็มาถึงวัด
ที่นี่เป็นวิทยาลัยสงฆ์ที่ใหญ่ที่สุดของพม่า มีภิกษุและสามเณรมาศึกษาเล่าเรียนทางธรรมเป็นพันรูป มีพระภิกษุทั้งพม่า และจากประเทศอื่นๆ เช่น ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ฯลฯ มาบวชเรียนด้วย




ระหว่างทางกลับเข้าเมืองมัณฑะเลย์ แวะดูโรงงานทอผ้าย้อมสีกันหน่อย


กลับเข้ามัณฑะเลย์กินข้าวเที่ยงก่อน แล้วเข้าวังกันหน่อยก่อนที่บ่ายแก่ๆจะไปล่องเรือขึ้นเหนือไปมิงกุน
****
พระราชวังมัณฑะเลย์ | Mandalay Palace | မန္တလေး နန်းတော်
พระเจ้ามินดง ได้ทำการย้ายเมืองหลวงจาก เมืองอมรปุระ มาอยู่ที่เชิงเขามัณฑะเลย์ ในปี พ.ศ. 2404 สร้างพระราชวังใหม่ใหญ่โตสวยงาม โดยวางผังตามภูมิจักรวาลแบบพราหมณ์ปนพุทธโดยสมมุติให้เป็นศูนย์กลางของโลก (เขาพระสุเมรุ) พื้นที่พระราชวังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างยาวด้านละ 2 กิโลเมตร มีกำแพงก่อด้วยอิฐล้อมรอบ สูงราว 8 เมตร มีประตู 12 ประตู ทิศละ 3 ประตู ถัดจากกำแพงวังมีคูน้ำกว้าง 75 เมตร ลึก 4 เมตรอยู่ล้อมรอบ


ความพิศดารพันลึกของการสร้างพระราชวังมัณฑะเลย์ คือ การที่พระเจ้ามินดงย้ายเมืองหลวงจากอมรปุระขึ้นมาทางเหนือ 12 กม. โดยการขนย้ายพระราชวังเดิม ย้ายสถูปเจดีย์ ตั้งขบวนแห่ มาถึงเชิงเขามัณฑะเลย์ภายในวันเดียว เพราะทรงเชื่อว่าอมรปุระเป็นเมืองอัปยศ พระเจ้าปะกันกษัตริย์องค์ก่อนหน้าทรงเสียดินแดนตอนใต้ให้อังกฤษไปหลายเมือง พระเจ้ามินดงจึงสำเร็จโทษพระเจ้าปะกันที่เป็นพระเชษฐาเสีย แล้วย้ายเมืองหลวงขึ้นเหนือมาซะ

โศกนาฎกรรมของพระราชวังมัณฑะเลย์เล่าต่อๆกันมาช่างน่าเศร้าสูสีกับพระราชวังต้องห้ามของจักรพรรดิองค์สุดท้ายในประเทศจีน เพราะพระราชวังมัณฑะเลย์นี้คือพระราชวังสุดท้ายของราชวงศ์อลองพญาและระบอบกษัตริย์ในพม่า เดินเข้าไปตรงมุมกำแพงวังด้านในจะเห็นหอคอยปราสาททรงกลมสูงสีแดง มีหลังคาเป็นมณฑปยอดแหลม มีบันไดเวียนเดินขึ้นไปบนยอดหอคอยได้ หอคอยนี้มองไปได้ไกลถึงแม่น้ำอิระวดี คราวที่กองทัพเรืออังกฤษยกทัพมาประชิดท่าน้ำมัณฑะเลย์ พระเจ้าสีป่อและพระนางศุภยลัต ได้เสด็จขึ้นหอคอยมาทอดพระเนตร จึงได้เห็นความจริง สุดท้าย พระเจ้าสีป่อ พระนางศุภยลัต และพระนางอเลนันดอ (มเหสีพระเจ้ามินดง) ก็โดนทหารอังกฤษอัญเชิญออกจากวัง นั่นคือเหตุการณ์พม่าเสียเมือง และโดนล้มล้างระบอบกษัติย์หมดสิ้น






พระราชวังมัณฑะเลย์ที่เห็นอยู่เกือบทั้งหมด เป็นสิ่งก่อสร้างใหม่สร้างเลียนแบบของเดิม เพราะหลังจากอังกฤษได้อัญเชิญพระเจ้าสีป่อออกไปแล้ว ก็ปล่อยพระราชวังทิ้งร้าง ก็โดนเข้ามาปล้นมาขโมยของไปมากมาย และต่อมากองทัพญี่ปุ่นได้บุกมาถึงมัณฑะเลย์แล้วยึดเอาพระราชวังเป็นกองบัญชาการรบ ก็เลยโดนทิ้งระเบิดโดนทำลายและโดนไฟไหม้จนไม่เหลือซาก ที่พอเหลือรอดมาก็คืออาคารที่ใช้หินอ่อนในการสร้าง ไม่ไหม้ไฟไปในตอนนั้น และพระตำหนักของพระเจ้ามินดง ที่พระเจ้าสีป่อให้รื้อออกไปสร้างใหม่ที่วัดชเวนันดอร์นั่นไง ก็เลยรอดมาได้
****
มิงกุน | Mingun | မင်းကွန်းမြို့
หลังจากไปเดินเศร้าใจกับชะตากกรรมของพม่าในพระราชวังมัณฑะเลย์กันแล้ว ก็นั่งรถออกนอกเมืองไปที่ท่าเรือ เพื่อลงเรือล่องแม่น้ำอิระวดี มุงหน้าขึ้นเหนือไปที่หมู่บ้านมิงกุน ในเขตสะกาย (Sagaing) เมืองที่พระเจ้าปดุงตั้งใจมาสร้างศาสนสถานอัน(ที่ทรงคาดว่า)ยิ่งใหญ่ที่สุดในแคว้นสุวรรณภูมิยุคนั้น ยิ่งพอพระองค์ได้ขึ้นไปตียะไข่ได้สำเร็จและอัญเชิญพระมหามัยมุนี พระคู่บ้านคู่เมืองของชาวยะไข่ลงมาที่อมรปุระด้วยแล้ว ยิ่งฮึกเหิม ยิ่งต้องการสร้างทุกอย่างให้ใหญ่โตสมพระเกียรติ แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จสมพระทัย







เจดีย์เซตตอยา | Settawya pagoda | စက်တော်ရာဘုရား
เมื่อเรือใกล้เทียบท่า จะมองเห็นสิ่งก่อสร้างใหญ่โตสวยงาม สีขาวเด่น สร้างเป็นชั้นลดหลั่นกันขึ้นไปจนเป็นองค์เจดีย์ คือ เจดีย์เซตตอยา พระเจ้าปดุง โปรดฯให้สร้างเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการก้าวย่างสู่ดินแดนแห่งนี้ ที่พระองค์จะมาสร้างความยิ่งใหญ่ให้สมกับพระเกียรติของพระองค์

เจดีย์มิงกุน | Mingun | မင်းကွန်းပုထိုးတော်ကြီ
เจดีย์ที่พระเจ้าปดุงตั้งพระทัยสร้างให้ยิ่งใหญ่ เพื่อประดิษฐานพระทันตธาตุที่ได้มาจากจีน ว่ากันว่าถ้าสร้างเสร็จตามแผนจะเป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดและสูงที่สุดในโลก สูงถึง 152 เมตร แต่ด้วยอาเพศเหตุร้ายยังไงไม่ยืนยัน พระเจ้าปดุงสวรรคตเสียก่อนในตอนที่เจดีย์เพิ่งสร้างไปได้ 7 ปี ไม่ได้อยู่ดูความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของเจดีย์เลย ตัวเจดีย์ก็เลยมีแค่ส่วนฐานสูงได้แค่ 50 ม. โดนปล่อยทิ้งร้างเรื่อยมา และยังได้ส่วนหักพังลงมาตามกาลเวลา แถมด้วยเหตุการณ์แผ่นดินไหวในปี พ.ศ. 2381ทำให้เกิดรอยแตกร้าวขึ้นตรงกลางของเจดีย์



ความใหญ่โตของเจดีย์มิงกุนถ้าเสร็จจริงจะใหญ่ขนาดไหน ก็ดูได้จากซากบั้นท้ายของสิงห์คู่ ซ้าย ขวา ทางเดินเข้าเจดีย์มีการก่อสร้างเป็นรูปสิงห์ในท่าหมอบ หันหน้าไปทางแม่น้ำอิระวดี แต่สิงห์คู่นี้ก็สร้างไม่เสร็จเหมือนกับเจดีย์มิงกุน แถมพังทลายลงมาเหลือแต่บั้นท้ายให้นักท่องเที่ยวได้มายืนจินตนาการเอาเอง

พวกเราเดินขึ้นบนยอดเจดีย์ที่สร้างไม่เสร็จ นั่งเล่นกันอยู่บนพื้นราบด้านบนอยู่นานมาก บรรยากาศยามบ่ายแก่ๆแบบนี้ดีไม่ใช่น้อย นั่งรับลมชมวิวกันไปเรื่อย จนเกือบลืมว่าต้องเดินต่อไปดูอีก 2 จุด สุดท้ายก็แงะร่างๆของเพื่อนๆลงมาจนได้


ระฆังมิงกุน | Mingun bell | မင်းကွန်းခေါင်းလောင်းတော်ကြီ
เดินต่อไปจากเจดีย์มิงกุนไม่ไกล ไปดูระฆังมิงกุน ที่สร้างโดยพระเจ้าปดุงเช่นกัน เป็นระฆังสำริดที่ใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลก แต้ถ้านับเป็นระฆังชนิดแขวนแล้วยังตีได้ดังคือยังใช้งานได้ ก็ต้องถือว่าเป็นระฆังแขวนที่ใหญ่ที่สุดของโลก สูง 12 ฟุต และวัดปากขอบยาว 16 ฟุต 3 นิ้ว หนัก 90 ตัน ไปดูแล้วมันใหญ่จริงๆ



เจดีย์ชินพิวเม | Hsinbyame pagoda | ဆင်ဖြူမယ်စေတီ (AKA: Myatheindan Pagoda (မြသိန်းတန်စေတီ)
ตีระฆังมิงกุนเสร็จแล้วให้เดินต่อไปอีกนิด จะเจอเจดีย์ชินพิวเม สร้างโดยพระเจ้าบากะยีดอว์ พระราชนัดดาของพระเจ้าปดุง เป็นอนุสรณ์แห่งความรักที่พระองค์มีต่อพระมหาเทวีชินพิวเม ซึ่งถึงแก่พิราลัยก่อนเวลาอันควร ก็เลยได้รับสมญานามว่า “ทัชมาฮาลแห่งลุ่มน้ำอิระวดี”
ลักษณะเจดีย์เป็นก่ออิฐฉาบปูนทาสีขาว สร้างขึ้นด้วยหลักภูมิจักรวาล ก็คือ มีองค์พระเจดีย์อยู่ตรงกลาง ณ ยอดเขาพระสุเมรุ ที่เชื่อกันว่าเป็นแกนกลางของจักรวาล ชั้นล่างสร้างเป็นหอคอยเล็ๆและโค้งลอนล้อมรอบแทนขุนเขาและมหาสมุทรตามหลักไตรภูมิ และสูงขึ้นไป 7 ชั้นจนถึงชั้นบนสุดที่แกนกลางเป็นองค์เจดีย์ มีลักษณะสมมาตรสวยงาม เหมาะสมแก่การเป็นอนุสรณ์แห่งความรัก

ได้เวลากลับลงเรือกันแล้วก่อนจะมืดกลางแม่น้ำ กลับมาลงเรือ ล่องกลับเมืองมัณฑะเลย์ นั่งพักผ่อนบนเก่าอี้ผ้าใบจิบเครื่องดื่มเย็นๆที่มีมาขายให้เลือกกันตามชอบ เคลิ้มหลับไปบ้าง ตื่นมาชมวิวบ้าง พวกเราใช้เวลาชื่นชมบรรยากาศยามเย็นบนเรืองล่องแม่น้ำอิระวดีจนแสงสุดท้ายของปี 2006 หมดลง

****
กลับโรงแรมเพื่อไปร่วมปาร์ตี้ต้อนรับปีใหม่ที่โรงแรมจัด (และบังคับลูกค้าทุกห้องมาทานอาหาร ฮือ…) บรรยากาศงานเลี้ยงก็เป็นไปแบบเหงาๆ เพราะอาหารก็ไม่ได้อร่อยอะไรนัก มีการแสดงบนเวทีให้ดูพอให้ไม่เบื่อ ไม่ได้เป็นดนตรีคึกคักอะไรนัก แต่พวกเราก็นั่งกินดื่มไปคุยกันไปจนฉลองเวลาเข้าปีใหม่ด้วยกัน Happy New Year 2007!!

ยามเช้าในมัณฑะเลย์


ตักบาตรวันขึ้นปีใหม่

ได้เที่ยวมัณฑะเลย์อีกครึ่งวัน หลังอาหารเช้าก็เก็บกระเป๋าขึ้นรถ ออกไปเที่ยวที่วัดกุโสดอว์ กับ วัดสันตมุนี ตอนบ่ายจะบินต่อไปยองชเวเพื่อไปนอนที่ทะเลสาบอินเลกันคืนนี้
วัดกุโสดอว์ | Kuthodaw Pagoda | ကုသိုလ်တော်ဘုရာ
สร้างโดยพระเจ้ามินดง เพราะพระองค์ศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างมากจึงโปรดให้สร้างวัดและทำการสังคยานาพระไตรปิฏก นับเป็นการสังคยานาพระไตรปิฏกครั้งที่ 5 ของโลก และยังให้ทำจารึกพระไตรปิฎก 84,000 พระธรรมขันธ์ ลงบนแผ่นหินอ่อน ขนาดใหญ่ 729 แผ่น แผ่นละ 2 หน้า รวม 1,428 หน้า แล้วนำมาจัดวางในมณฑปรอบๆเจดีย์ โดยองค์เจดีย์ได้จำลองแบบมาจากพระเจดีย์ชเวซกองที่พุกาม พระไตรปิฏกหินอ่านนี้ก็เลยได้รับการบันทึกว่า เป็นพระไตรปิฎกเล่มใหญ่ที่สุดในโลก (The World biggest book) และยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกพระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลี)





ตอนที่พวกเราไป ไม่แน่ใจว่าโชคดีหรือโชคร้าย เพราะมีการกั้นพื้นที่บางส่วน มีผู้หลักผู้ใหญ่ของพม่ามาทำพิธีเฉลิมฉลองยอดเจดีย์หุ้มทอง มีพระเถระชั้นผู้ใหญ่มาทำพิธีด้วย แต่ก็โชคดีได้เห็นขบวนพิธี สวยงาม





วัดสันตมุนี | Sandamuni Pagoda | စန္ဒာမုနိစေတီ
ใกล้ๆกับวัดกุโสดอว์เดินไปวัดสันตมุนี สร้างขึ้นโดยพระเจ้ามินดงเหมือนกัน มีเจดีย์สันตุมุนีที่พระองค์สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแก่ พระมหาอุปราชกะนอง พระอนุชาของพระองค์ที่ถูกพวกขบถปลงพระชนม์ ในวิหารยังมีการอัญเชิญ พระสันติมุนี จากเมืองอมรปุระมาเป็นพระประธานด้วย เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยเหล็กทรงเครื่องเต็มยศ ดูรูปลักษณ์แล้วคล้ายกับพระมหามัยมุนี
ในบริเวณรอบๆจะมีเจดีย์เล็กๆเต็มไปหมด เพราะนอกจากมณฑปบรรจุพระศพพระมหาอุปราช พระเจ้ามินดงได้โปรดให้สร้าง เจดีย์สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่ถูกขบถฆ่าด้วย



พวกเราได้แต่ยืนถ่ายรูปอยู่ด้านนอก ไม่ได้เข้าไปในวัด เพราะจะรีบไปสนามบินแล้ว มัวแต่ไปโอ้เอ้อยู่ในวัดกุโสดอว์นานไปหน่อย
ร่ำลามัณฑะเลย์ รีบบึ่งไปสนามบิน เพื่อขึ้นเครื่อง Air Mandalay ไปเมืองยองชเว เพื่อต่อรถแล้วลงเรือไปนอนในทะเลสาบอินเล

ไปเที่ยวอินเลกันต่อตอนหน้า > มัณฑะเลย์-อินเล-พุกาม เที่ยวข้ามปี (ตอน ๓) <

ข้อมูลอ้างอิง
วาดไว้ในเมียนมาร์ : พิษณุ ศุภ