Anuradhapura
The Golden Era of SriLanka

ศรีลังกาวันที่ ๙ Anuradhapura เมืองเก่าของเราแต่ก่อน
ช่วงเช้าไปปีน Lion Rock ขึ้น Sigiriya พระราชวังลอยฟ้าเสร็จแล้วกลับที่พักเก็บข้าวของเพื่อไปต่อ พี่ตุ๊กๆพาพวกเรามารอรถที่จุดเดิมที่เราลงเมื่อวาน เราก็อยากจะขึ้นรถบัสใหญ่ (ยังพยายาม) แต่พี่ตุ๊กไม่ยอม 555 พี่แกว่ามันไม่สบาย มันไม่มีแอร์ มันมีแต่คนท้องถิ่น และรถมินิบัสมันมาบ่อยกว่า และจอดน้อยกว่า พวกเราก็เออนะ ได้ๆ ยังถ่ายรูปเล่นกันอยู่เลยรถก็มาจอด ถ้ารอบัสใหญ่ไม่รู้ต้องรอถึงกี่โมง ก็เลยเอาวะ ไปๆๆ พวกเราจะนั่งจาก Dambulla ไป Anuradhapura ระยะทาง 65 กม. ใช้เวลาราวๆ 2 ชม. พอๆกับตอนที่เรานั่งจาก Kandy มาที่นี่ ราคาค่ารถเลยเท่ากันที่ 220 รูปี และไม่เสียค่าวางกระเป๋าด้วย

นั่งเพลินๆไม่นานก็ถึง ลงรถมายืนงงๆเหมือนเคย เพราะรถส่งลงข้างถนน เหมือนหมู่บ้านเล็กๆตามตจว. ตุ๊กๆก็เข้ามาเสนอตัวด้วยราคาแพงกว่าที่ควร (เหมือนเดิม) แต่เราก็รู้ทัน (เหมือนเดิม) เดินกันมาเรื่อยๆก่อน ให้พ้นจากจุดลงรถ แล้วถึงเรียกรถตุ๊กๆ

ถ้าให้เปรียบ Anuradhapura ก็ต้องว่าเหมือนอยุธยา เพราะเป็นเมืองหลวงเก่าแก่มาตั้งแต่ 1600 กว่าปีโน่น มีวัดและเจดีย์มากมาย การจะเที่ยวเมืองเก่า Sacred City นี้ทำได้ทั้งเช่ารถตุ๊กๆ หรือเช่าจักรยานปั่นเที่ยวเอง แต่ถึงแม้ว่า Anuradhapura จะเป็นเมืองที่อยู่เหนือสุดในทริปของเรา แต่มันกลับร้อน ร้อนมาก แดดฆ่ากันได้เลยนะ ถ้ามิตรรักนักปั่นสู้แดดไหวก็เชิญเลย พวกเราขอเลือกเหมาตุ๊กๆเที่ยวดีกว่า

ที่พักวันนี้ ดูดีมากๆ เมื่อเทียบกับเมืองที่ดูธรรมดาๆ “Amsterdam Tourist Rest” บริหารงานแบบครอบครัว มีคุณพ่อเป็นผู้จัดการ มีคุณแม่เป็นแม่ครัว ลูกชายวัยรุ่น ขยันขันแข็งช่วยพวกเราแบกกระเป๋าขึ้นมาทำการ Check-in คุยกันให้ที่พักหาตุ๊กๆให้ พักผ่อนนิดหน่อยก็ออกลุยกันเลย

ที่แรกที่พี่ตุ๊กพาเราไปคือ “วัดสุรุมุณิยะ” (Isurumuniya Rajamaha Viharaya) ต้องเสียค่าเข้า 200 รูปี วัดมีประวัติศาสตร์ยาวนาน สร้างมาตั้งแต่พุทธศตวรรตที่ 3 โดยกษัตริย์ Devanmpiyatissa เพื่อเป็นที่พำนักของนักบวชในวรรณะชั้นสูง 500 รูป รวมทั้งพระราชธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราช ก็ทรงผนวชเป็นภิกษุณีที่นี่ด้วย เข้าไปจะเห็นมีเทวสถานขนาดเล็กติดริมเชิงเขา เข้าไปนมัสการพระพุทธรูปได้ ข้างๆมีภาพสลักบนหน้าผา เป็นภาพการเสด็จลงจากสวรรค์ของแม่พระคงคา ถัดไปมีส่วนโบสถ์สร้างใหม่ และ Isurumuniya Archaeological Museum อาคารพิพิธภัณฑ์ที่เก็บภาพแกะสลักและรูปสลักอยู่บ้างพอสมควร อันที่ได้รับความสนใจมากๆคือ รูปสลักหินคู่รัก (The Lover) จุดเด่นของวัดอีกอย่างคือ เจดีย์สีขาวอยู่บนเนินเขาหลังโบสถ์ เดินขึ้นไปด้านบนได้ มองเห็นวิวได้ไกลๆด้วย




รูปสลัก Isurumuniya Lover (รูปสแกน)


จากนั้น แวะเข้าไปที่ Abhayagiri Museum สามารถซื้อตั๋วเข้า Sacred City ได้ที่นี่ ราคาบัตร 13,800 รูปี หรือ 25$ การเข้าไปเที่ยวใน Sacred City of Anuradhapura อารมณ์คล้ายเข้าไปเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์บ้านเรานั่นแหละ ในส่วนเมืองโบราณนี้มี ทั้งเขตพระราชฐาน มีทั้งวัด ทั้งเจดีย์ กระจัดกระจายอยู่มากมาย ความจริงก็ปั่นจักรยายเที่ยวได้เพราะในบริเวณนี้มีต้นไม้ใหญ่เยอะ ร่มรื่นพอสมควร (ไอ้ที่บอกว่าร้อนนั่นคือ กว่าจะปั่นจากที่พักมาถึงที่นี่น่ะร้อนหัวแตก) ซื้อตั๋วเสร็จแล้ว เดินดูในพิพิธภัณฑ์ด้วย เพราะมีรูปสลัก รูปปั้น ข้าวของโบราณให้ดู แถมด้วยห้องแสดงภาพเก่าของโบราณสถานต่างๆที่เราจะไปดูของจริงต่อไป
ออกจากพิพิธภัณฑ์ ที่ต่อไป พี่ตุ๊กพาไปที่ เจดีย์เชตะวัน (Jethawa Stupa) เป็นเจดีย์อิฐขนาดใหญ่ยักษ์ สมกับที่ได้รับการบันทึกว่าเป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในโลก




จุดต่อไปที่จอดให้ลงไปดูคือ บ่อคู่แฝด Kuttam Pokuna เป็นสถานที่อาบน้ำของพระภิกษุสงฆ์ในสมัยโบราณ บ่อน้ำนี้มีอายุมากกว่า 1700 ปี เดินดูรอบๆจะมีประติมากรรมหินสลักตามบันไดทางลง เป็นรูปพระยานาค,หัวสิงห์และคนโฑ

รถพาวิ่งผ่านหมู่แมกไม้ไปอีกไม่ไกลก็จอดให้พวกเราลง พี่คนขับชี้ให้เดินไปนมัสการพระพุทธรูป พวกเราเดินเข้าไปพร้อมป้าศรีลังกากลุ่มใหญ่ในชุดสีขาวสะอาด ที่ต่างก็เข้าไปก้มกราบสักการะองค์พระพุทธรูปหินทรายที่สลักไว้ได้สวยงามมากๆ The Samadhi Buddha องค์นี้ มีอายุกว่า 2500 ปี พี่คนขับบอกว่าให้เดินดูทั้งด้านซ้ายและด้านขวาจะเห็นหน้าท่านไม่เหมือนกัน คือมีทั้งด้านสุขและด้านเศร้า


จุดต่อไปที่แวะคือ เจดีย์อภัยคีรี (Abhayagiri Stupa) เป็นเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองรองจากเจดีย์เชตวัน ดูแล้วรูปทรงคล้ายกันมากๆ ถ้าไม่ได้ถ่ายรูปป้ายชื่อไว้ก็คงจำสลับกันได้ เจดีย์อภัยคีรีนี้ถูกสร้างโดยพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย เมื่อ 2100 ปีที่แล้ว

พี่ตุ๊กของเราวันนี้ รูปร่างสูงใหญ่ ผิวดำขลับตามแบบฉบับศรีลังกาแท้ ความรู้ดีมากๆ พี่แกอธิบายได้อย่างไกด์ แต่พวกเราเนี่ย ฟังบ้างไม่ฟังบ้าง

วนรถต่อไปอีกหน่อย พี่คนขับพาเราไปดู Moonstone ที่บริเวณทางเข้า Abhayagiri Monastery พวกเราก็เพิ่งรู้ว่าแผ่นหินครึ่งวงกลมแกะสลักบริเวณทางเข้าศาสนสถานต่างๆนี้เรียก Moonstone ซึ่งพวกเราเจอในทุกวัดที่เราไป ตอนแรกก็ไม่กล้าเหยียบเพราะว่าเป็นภาพแกะสลักสวยงามทุกที่ แต่เห็นชาวศรีลังกาเดินเหยียบกันเป็นปกติ ก็เลยกล้าเดินเหยียบบ้าง Moonstone ที่พี่ตุ๊กพามาดูนี้ เขาว่ากันว่าเป็น Moonstone ที่สมบูรณ์ที่สุดในศรีลังกา


ใกล้ๆกันมีรูปแกะสลักทวารบาลเฝ้าทางขึ้น Polonnaruwa Vatadage ซึ่งตอนนี้เหลือแต่โครงเสาและองค์พระ รูปปั้นทวารบาล Guardstone (Mulagara) เป็นศิลปะแบบสิงหลโบราณ แกะสลักสวยงามมาก



ที่สุดท้ายที่พวกเราแวะในอุทยานประวัติศาสตร์ คือ “เจดีย์ถูปาราม” (Thuparama Stupa) เป็นเจดีย์ทางพุทธศาสนาองค์แรกของประเทศศรีลังกา สร้างโดยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ ในราว พ.ศ. 300 เพื่อประดิษฐานกระดูกพระรากขวัญ(ไหปลาร้า) เบื้องขวาของพระพุทธเจ้า องค์เจดีย์ได้รับการบูรณะหลายครั้งจึงดูใหม่มากๆ


ออกนอกเขตอุทยานประวัติศาสตร์ พวกเรามาแวะสถานที่สำคัญมากๆอีกแห่งในอนุราธปุระ พระศรีมหาโพธิ์ (Sri Maha Bodhi) ถือว่าเป็นต้นโพธิ์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ตามประวัติบอกว่า พระนางเถรีสังฆมิตตา พระราชธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงผนวชเป็นภิกษุณีอยู่ที่วัดสุรุมุณิยะ (ที่เราไปแวะที่แรกนั่นแหละ) เป็นผู้นำต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้มาจากพุทธคยา ในประเทศอินเดีย เมื่อ 2,500 กว่าปีที่แล้ว จะเข้าที่นี่ต้องจอดรถไว้ด้านนอก แล้วเดินเข้าไปตามทาง เข้าไปด้านในจะแน่นขนัดไปด้วยพุทธศาสนิกชนที่เข้ามากราบไหว้ศรีมหาโพธิ์เพื่อความเป็นสิริมงคล และผู้คนอีกมากมายที่มานั่งสวดมนต์ มานั่งสมาธิ พวกเราได้แต่เดินรอบๆ และรู้สึกได้ถึงแรงศรัทธาของชาวพุทธ พี่คนขับชี้ให้พวกเราดูว่าต้นไหนที่ถือว่าเป็นต้นดั้งเดิมที่แท้จริง เราก็ไม่รู้หรอกว่าต้นจริงต้นไม่จริงคืออะไร แต่ไม่ว่าอย่างไร ต้นศรีมหาโพธิ์นี้ก็เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชนทั้งหลายไว้ได้

พร้อมอธิบายความหมายว่า ลั่นทมมี 5 กลีบ มีความหมายเหมือนศีล 5









ถึงมีเวลาไม่มากนัก แต่ก็พอได้รู้จักอนุราธปุระ มาถึงพระศรีมหาโพธิ์ตอนบ่ายแก่ๆแล้วพวกเราก็ขอจบการเที่ยวแต่เพียงเท่านี้ พี่คนขับรู้สึกไม่สบายใจมากๆที่พวกเราบอกว่าพอแล้ว ขอกลับที่พัก เพราะยังมีสถานที่น่าสนใจอีกหลายที่ๆพี่แกอยากพาไป แต่พวกเราก็เหนื่อยเกินกว่าจะไปต่อ


หลังอาหารเย็นที่ให้คุณภรรยาเจ้าของที่พักเป็นคนทำอาหารให้ พวกเราก็นอนหลับสลบกันอย่างรวดเร็ว เพื่อที่จะรีบตื่นแต่เช้า จับรถไฟกลับโคลอมโบ