ยาสามัญประจำทริป

เตรียมพร้อมก่อนเดินทาง ตอน ยาสามัญประจำทริป

ก่อนออกเดินทางท่องเที่ยว นอกจากเสื้อผ้า อุปกรณ์ถ่ายภาพแล้ว สิ่งสำคัญที่เราจะเตรียมไปด้วยทุกครั้งคือ “ยาสามัญขนาดพกพา” ไม่ว่าจะทริปสั้นทริปยาว ทริปใกล้ทริปไกล ก็จะพกไปด้วยตลอด เจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆก็ กิน/ทา/นวด รักษาตัวเองเบื้องต้น จะได้เที่ยวต่อได้อย่างมีความสุข แต่ต้องคอยดูอาการตัวเองด้วย หากรู้สึกไม่ดีขึ้น เช่น ปวดหัวข้ามวัน ตัวร้อนไข้สูงไม่ลด ท้องเสียไม่หยุดเกิน 1 วัน อาเจียรและปวดท้องมาก ก็ควรพิจารณาไปพบแพทย์ดีกว่า (การซื้อประกันสุขภาพในการเดินทางเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลยจริงๆ ถ้าเดินทางไกล เอาไว้มาเล่าคราวหน้า) จะขอแนะนำยาที่ควรพกติดตัวไปตามที่เราจัดชุดไว้เป็นประจำ เห็นรายการเยอะๆนี่จริงๆก็เอาไปแค่พอสมควรจัดรวมใส่กระเป๋าเล็กๆไป ย้ำอีกที อันนี้เป็นคำแนะนำเฉยๆนะ หากใครมีข้อแนะนำเพิ่มเติมอื่นๆ ก็แนะนำกันได้นะ ถือว่ามาแบ่งปันประสบการณ์

Med-0

“ยาใช้ภายใน” หรือยากินนี่แหละ

อาการที่คนเดินทางมักเจอบ่อยๆ เช่น ปวดหัว/ตัวร้อน, ท้องเสีย, น้ำมูกไหล, ไอ/จาม อาการพวกนี้ เวลาเราเป็นก็สามารถกินยาเองได้เพื่อบรรเทาอาการ ถ้าท่องเที่ยวในเมืองไทยก็ยังไม่ลำบาก แต่ถ้าเดินทางไกลต้องไปอธิบายอาการกับร้านขายยาในต่างประเทศคงจะลำบาก และบางประเทศต้องพบแพทย์ก่อนเท่านั้นถึงจะซื้อยาได้ การมียาสามัญติดตัวไปจึงช่วยได้มากจริงๆ ยาที่เราพกไปด้วยเป็นประจำ คือ

  • ยาลดไข้-แก้ปวด : ยาตระกูลพาราเซ็ต หากเริ่มอาการ ตัวเริ่มอุ่นๆคล้ายจะเป็นไข้ก็ทานยาลดไข้ได้เลย ไม่อย่างนั้นวันรุ่งขึ้นจับไข้จนลุกไม่ไหวก็อดเที่ยวกันเลย ทานได้ทุกๆ 4-6 ชม.
  • ยาแก้แพ้ :สำหรับเราต้องมีติดตัวไปตลอดเพราะเป็นโรคแพ้อากาศ เจออากาศเปลี่ยนร้อนๆเย็นๆจะจามและน้ำมูกไหล ยาแก้แพ้มีทั้งแบบง่วงนอนและไม่ง่วงนอน ถามร้านขายยาได้ ถ้าแบบง่วงนอนก็ทานก่อนนอนดีที่สุด
  • ยาแก้ท้องเสีย : เวลาเดินทางท่องเที่ยวแล้วไปชิมอาหารท้องถิ่นก็ทำให้เกิดอาการท้องเสียได้บ่อยๆ หรือบางครั้งเจออาหารไม่สะอาดก็ทำให้ท้องเสียได้ การเตรียมยาแก้ท้องเสียไปต้องดูว่าต้องการยาประเภทไหน ยาอิโมเดียมเป็นยาทำให้หยุดถ่ายทันที เรียกว่ายาแรง เหมาะกับคนที่ถ่ายเหลวมากๆ ถ้าไม่หยุดถ่ายคุณจะเสียน้ำมาก แต่ถ้าท้องเสียไม่มากไม่แนะนำให้ทานยาเลย ปกติจะหยุดถ่ายไปเอง หรือถ้าอยากทานยาก็ต้องเป็นพวกผงถ่าน (Activated cabon) ก็จะช่วยได้ระดับหนึ่ง
    หากมีอาการปวดมวนท้องด้วย ปกติอยู่บ้านก็จะทานยาธาตุแต่เดินทางคงไม่สะดวกที่จะพกไป เราสามารถจิบวิสกี้เพียวๆแทนได้ เน้นว่าจิบๆนะคะ ให้พอร้อนๆท้องมันช่วยได้จริงๆ ถ้าปวดท้องมากๆแนะนำให้พบแพทย์ค่ะเพราะอาจเป็นจากมีเชื้อในลำไส้ หรืออาจเป็นโรคอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับท้องเสียนะ หรือถ้ามีอาเจียรด้วยให้ทานยาแล้วรอดูอาการ ถ้า 1 คืนยังไม่หยุดถ่ายไม่หยุดอาเจียรก็ควรพบแพทย์ค่ะ
  • ผงเกลือแร่ : ใช้ละลายน้ำดื่มในกรณีที่คุณเสียน้ำเยอะๆ เช่นท้องเสียมาก หรือเดินทางร้อนและเหนื่อยจนเสียเหงื่อมาก การดื่มเกลือแร่ช่วยให้ร่างกายสดชื่นได้ สามารถซื้อน้ำเกลือแร่สำเร็จดื่มก็ได้ แต่เตรียมไว้เผื่อเกิดอาการตอนกลางคืน
  • ยาแก้ท้องอืด/ท้องเฟ้อ : บางทีหลังอาหารที่มันๆหรือย่อยยาก ก็ทำเราท้องอืด อึดอัดได้ เลยพกยาพวกนี้ไว้บ้าง หยิบมาเคี้ยวๆกลืนก็ช่วยได้ สบายท้องจะได้เที่ยวต่อได้สนุก
  • ยาแก้ปวด/คลายกล้ามเนื้อ : ใช้วิธีทานยาคลายกล้ามเนื้อก่อนนอนเพื่อบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อจากการเดินท่องเที่ยวมากๆก็ได้ หรือใช้วิธีนวดจากยานวดก็ได้เหมือนกัน
  • ยาแก้เมารถ/เรือ : คนที่มักเมารถเมาเรืออย่าลืมพกไปด้วย เตรียมกินยาก่อนเริ่มออกเดินทางสัก ½ ชม. เราเองไม่ค่อยเมา แต่ก็มักจะมีติดไปด้วยเผื่อผู้ร่วมทาง

 

Med-1

“ยาใช้ภายนอก” เป็นพวก ยาทา ยานวด ยาดม

  • ยาทาแก้แมลงกัดต่อย ทั้งแบบเย็นแบบฝาเขียวๆหรือแบบร้อนอย่างยาหม่องหลากหลายยี่ห้อ แล้วแต่ชอบ เลือกติดตัวไปสัก 1 กระปุก เอาไว้ทาเวลาโดนยุง, มด หรือแมลงอื่นๆกัดหรือต่อย ถ้าคนไม่แพ้มันอาจจะยุบไปเองได้ แต่ก็อาจจะคันแล้วเราจะเกา บางทีเกาจนแผลอักเสบ ถ้าโดนกัดแล้วทาถูไว้สักหน่อยให้ยุบเร็วๆก็ดี แต่ถ้าคนแพ้ แม้แค่มดก็บวมแดงได้
  • ยาทาบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เรามักจะพกยานวดขาไปด้วยเสมอๆเวลาออกทริปยาวๆ เพราะการเดินเที่ยวทั้งวัน และหลายๆวัน ก็ต้องมีปวดแข้งปวดขากันบ้าง กลับห้องพักนวดน่องนอนพักสักหน่อยก็คงดี
  • ยาหยอดตาหรือน้ำตาเทียม เผื่อเกิดการระคายเคืองตาหรือตาแห้งมาก ถ้าระคายตาจากฝุ่นผงอย่าขยี้ ให้ลืมตาในน้ำเปล่าก็ได้ ยาหยอดตาแบบขวดเปิดแล้วจบทริปคงต้องทิ้งเลยเพราะเก็บไว้ได้ไม่เกิน 1 เดือน แต่น้ำตาเทียมแบบหลอดใช้แล้วทิ้งเลยเพราะไม่มีสารกันเสียแบบขวด
  • ยาดม : ยาดมนี่พกไปด้วยแต่ไม่ค่อยได้ใช้ เพราะไม่ชอบดม แต่เคยต้องใช้ตอนนั่งรถบัสแล้วมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ มึนหัวมากๆต้องดมยาดมตลอดทาง
  • บาล์ม : ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไรดี ที่เอาไว้ทาอกทาคอเวลานอน ถ้ารู้สึกคัดจมูกน้ำมูกไหล ทาบาล์มพวกนี้ไว้ ตื่นนอนตอนเช้าจะดีขึ้น จมูกโล่งขึ้น

Med-2

“ชุดทำแผลและอุปกรณ์ปฐมพยาบาล”

  • พลาสเตอร์ปิดแผล : เอนกประสงค์มาก ควรมีพกติดตัวไปด้วย ที่ได้ใช้บ่อยๆคือติดส้นเท้า หลังเท้า หรือโดนของมีคมบาด แผลเล็กๆ ซับเลือด ล้างน้ำ ซับให้แห้งแล้วติดพลาสเตอร์ซะ เอาแบบกันน้ำด้วยก็ดี เวลาไปเดินเที่ยวน้ำจะได้ไม่เข้าไปจะทำให้แผลเน่าได้ แต่ไม่ควรแปะข้ามวัน ควรแกะออกทำความสะอาดและเปลี่ยนพลาสเตอร์ทุกวัน
  • สำลี / ผ้าก๊อซ : อันนี้แล้วแต่ว่าอยากจะเอาไปหรือเปล่า ถ้ามีก็ใส่ถุงติดไปด้วย เอาไว้ซับแผลทำแผลเล็กๆได้
  • ผ้าพันข้อมือข้อเท้า : อันนี้แล้วแต่ทริปที่ไปค่ะ ถ้าไปทริปแบบ trekking เราจะเอาไปด้วย แต่ถ้าไปเที่ยวธรรมดาก็ไม่เอาไป

Med-3

“ยาประจำตัว”

สำหรับคนมีโรคประจำตัว อย่าลืมจัดยาไปให้ครบ และควรเอายาไปให้มากกว่าจำนวนวันเดินทางเล็กน้อย เผื่อกรณีต้องเดินทางนานกว่าแผน จะได้มียาทาน ยาที่ต้องทานเป็นประจำให้แยกกล่องต่างหากเก็บไว้ในกระเป๋าที่พกติดตัว หรือจะเอาทั้งหมดเก็บไว้ในกระเป๋าเดินทาง แล้วจัดยาใส่กล่องเล็กเป็นวันๆเพื่อพกติดตัวก็ได้
[อาจแยกยาแก้ท้องเสียไว้กับตัวนิดหน่อยก็ได้เผื่อท้องเสียช่วงยังไม่เข้าที่พัก พลาสเตอร์ติดแผลด้วยแบ่งเอาไว้ใช้ระหว่างเดินทาง]

Med-4

เพิ่มเติม:

  • ยาที่จัดเตรียมไปเวลาท่องเที่ยว ควรตรวจดูก่อนเดินทางบ้างว่าหมดอายุหรือยัง บางทีจัดไว้เป็นปีๆทานไปไม่กี่เม็ด (ก็ดีแล้วล่ะ เวลาเที่ยวไม่ควรป่วย) แต่จะออกทริปใหม่ก็ตรวจดูหน่อย
  • ยาที่มาเป็นแผงห้ามแกะยาออกจากแผงเอามาใส่กล่องพกพาเด็ดขาดให้ตัดเป็นชิ้นๆพกไป ส่วนยาที่แบ่งมาจากขวดเป็นเม็ดๆก็แบ่งมาพอประมาณใส่ซองหรือใส่กล่องยาให้มิดชิด
  • ยากิน ต้องเขียนชื่อยา สรรพคุณของยา และขนาดการใช้ ติดไว้ให้ชัดเจนด้วย กันลืมหรือกินยาผิดชนิด (เขียนวันหมดอายุไว้ด้วยถ้าไม่ใช่แผงยา)
  • กล่องใส่ยาหาซื้อได้ทั่วไป เป็นกล่องพลาสติคมีหลายๆช่องใส่ยาทั่วไปแบ่งชนิดไว้อาจต้องติดชื่อชนิดยาเองใช่สติ๊กเกอร์กระดาษทั่วไปได้ค่ะ, สำหรับยาประจำตัวจะใส่กล่องหลายช่องธรรมดาหรือใส่ซองพลาสติคก็ตามสะดวก หรือจะกล่องแบบมี 7 ช่องระบุวันก็ได้ พกทีเดียวทั้งสัปดาห์ และยังมีกล่องแบบ 1 วัน แบ่งเป็นเช้า-กลางวัน-เย็น-ก่อนนอนก็มี เลือกใช้ตามเหมาะสมค่ะ
  • ผ้าปิดปาก ก็ควรมีติดตัวไป บางประเทศอาจหาซื้อไม่ง่ายเหมือนบ้านเรา เจอใครไอจามในรถในเรือ เราก็เอาขึ้นมาคาดปิดป้องกันตัวเองได้ หรือตัวเราเองไอจามก็ปิดซะ อย่าไปปล่อยเชื้อให้คนอื่น

เที่ยวให้สนุกไม่ป่วยดีที่สุด แต่งตัวให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ ร้อนก็ควรมีร่มมีหมวก หนาวก็แต่งตัวให้อบอุ่นเพียงพอ ฝนตกก็ต้องมีร่มมีเสื้อกันฝน เดินตากฝนไม่มีข้อดีอะไรเลยในการเที่ยว เสื้อกันฝนแบบพกพาบางๆมีขายตามร้านค้าทั่วไปพกติดไปด้วยค่ะ เลือกทานอาหารที่สะอาด และบางประเทศก็ควรฉีดวัคซีนป้องกันไป หาข้อมูลล่วงหน้าด้วยค่ะ

Clip-1

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: