Once in my life…. Cambodia

Once in my life…. Cambodia
ครั้งหนึ่งในชีวิต เที่ยวกัมพูชา
Trip: 2 – 8 มกราคม 2006

ซัวซะเดย แปลว่า สวัสดี

See Angkor Wat and Dies ใครพูดไว้ก็ไม่รู้ แปลไทยๆคงได้ว่า ถ้าได้ไปเห็นนครวัดกับตาสักครั้งก็ตายได้แล้ว บร๊ะ! ว่ากันเสียขนาดนั้นก็ทำให้อยากไปเห็นสักครั้ง แต่ทริปลุยเขมรที่วางแผนแล้วก็ไม่ได้ไปสักที ด้วยเห็นว่าใกล้ๆนี่เองไปเมื่อไหร่ก็ได้ซินะก็เลยไม่ได้ไปสักที ทริปลุยปราสาทหิน เริ่มจริงจังขึ้นอีกครั้ง หลัง Tomb Raider ออกฉาย ฉากที่ Lara Croft เดินไปในดงปราสาทหิน ที่รากไม้ใหญ่เลื้อยปกคลุม มันติดตาตรึงใจมาก (ใครอายุมากพอได้ดูป้าแองเจลีน่า โจลี่สมัยยังสวยสะพรั่งปากเจ่อน่าจูบกับอกตูมๆ ต้องจำได้!) แต่ที่ว่าจริงจังก็หลังจากหนังฉายไปแล้วอีก 3-4 ปี

ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=Rb7ezWhWK1s

กัมพูชา หรือที่คนไทยเรียกกันติดปากว่า เขมร อยู่ติดกับประเทศไทยตามแนวชายแดนยาวจากตะวันออกไปถึงอิสานใต้ ช่องทางการเดินทางผ่านแดนที่ทุกคนรู้จักดีคือ ด่านอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว สามารถนั่งรถข้ามไป ปอยเปต (Poipet) และต่อเข้าไปถึงเสียมราฐ หรือเสียมเรียบ (Siem Reap) ได้สะดวกสบาย แต่ทางไม่ดี ต้องนั่งรถกันไปค่อนวัน (สมัยนั้นนะ)

พอมานั่งทำรายละเอียดทริปคิดๆดูแล้ว ไปทั้งทีขอไปให้ทั่วหน่อย เลยขอไปทั้งเมืองหลวงพนมเปญ (Phnom Penh) และเสียมเรียบ (Siem Reap) เลยก็แล้วกัน การเดินทางที่เราเลือกคือ บินไป-กลับพนมเปญ นั่งรถไปเสียมเรียบ เที่ยวหมู่ปราสาทหินให้พอใจ แล้วกลับไปพนมเปญ เที่ยวต่ออีกสักหน่อย แล้วบินกลับไทย รวมเวลา 6 วัน

6 วันเที่ยวได้แค่ 2 เมือง เที่ยวเสียมเรียบ 4 วันกว่า แล้วเที่ยวพนมเปญ 1 วัน
ด่านชายแดนไทย-กัมพูชา (ข้อมูลปี 2015)

ก่อนจะบรรยายเรื่องเล่าคราวเดินทางในทริปปราสาทหินดินแดนขอมของเรา ต้องบอกก่อนว่าจะมีเขียนเล่าที่มาที่ไปคร่าวๆของแต่ละปราสาทไว้ด้วย โดยรายละเอียดและที่มาที่ไปที่เขียนเล่านั้น ได้มาจากหนังสือ `ตามกลิ่นนางอัปสรา ตามหานครวัด นครธม” ผลงานการเขียนของ อจ.พิษณุ ศุภนิมิตร ผู้มีความรู้ในเรื่องของศิลปะต่างๆอยากมากมาย หนังสือเล่มนี้บอกเล่าประวัติ ความเป็นมาเป็นไป พร้อมรายละเอียดทางศิลปะวัฒนธรรมขอมไว้ละเอียดมากๆ ได้อ่านก่อนเดินทางไป ซึ่งยอมรับว่างงมาก พอไปกลับมาแล้วได้มาอ่านอีกรอบ ถึงพอเข้าใจมากขึ้น ตอนที่มาเขียนรีวิวครั้งนี้ห่างจากตอนไปจริง 13 ปี ได้หยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านอีกครั้ง แล้วหยิบบางส่วนมาเล่าต่อ ใครอยากรู้เรื่องละเอียดขอให้ไปตามหาหนังสือเล่มนี้อ่านกัน สนุกมากๆ

การเข้าไปเที่ยวเขตอุทยานโบราณคดีอังกอร์ (Angkor Archaeological Park) ต้องทำพาสปอร์ดเข้าไปเที่ยว ทุกปราสาทจะมีคนตรวจบัตร โดยบัตรเข้าเที่ยวในเขตอุทยานมีบัตร 1 วัน 3 วัน และบัตร 7 วัน เราวางแผนมาเที่ยว 4 วัน! มันก็จะมึนๆหน่อย ถ้าจะทำบัตร 3 วันแล้วมาทำบัตร 1 วันเพิ่มก็ได้ แต่เหมือนจะแพงกว่า แถมเสียเวลาด้วย เลยทำบัตร 7 วันมันเลยในราคา 60$ (ราคาปัจจุบันปี 2019 คือ 1วัน-$37, 3วัน-$62, และ 7วัน-$72) ต้องเอารูปติดบัตรไปด้วยนะ เหมือนทำพาสปอร์ตจริงๆ บัตรนี้ใช้เข้ากบาลสะเปียนกับบันทายสรีได้ด้วย


หน้าตาบัตรประมาณนี้ มีรูปด้วย

แผนการเที่ยวของเราคือ ออกเที่ยวแต่เช้ามากๆ แล้วกลับมาพักช่วงเที่ยงถึงบ่าย แล้วออกเที่ยวใหม่ช่วงบ่ายแก่ๆ เพราะตอนกลางวันอากาศโหดร้ายมากๆ แดดแรงสุดๆ วันที่ไปไกลหน่อย เช่นออกนอกเมืองไปกบาลสะเปียน เราเหมาแท็กซี่ ส่วนวันอื่นๆเที่ยวหมู่ปราสาทในเขตเมืองพระนคร เหมาตุ๊กๆเที่ยว

วันที่ 1 กรุงเทพ – พนมเปญ – เสียมเรียบ

การเดินทางครั้งนี้ เลือกบินกับการบินไทย บินไปถึงพนมเปญ เรียกบัสไปที่ท่ารถ แล้วหาเหมารถไปพนมเปญ หาได้ที่ราคา 20$ รถไปส่งที่พักแถบตลาดเก่า ที่จองไปจากเมืองไทย เป็น Guesthouse ราคาถูก อ่านจากรีวิวตามเว็บนิยมสมัยนั้น ที่แข่งกันรีวิวเที่ยวแบบถูกๆ ไปถึงแล้วก็พบว่าห้องพักพอใช้ได้ แต่รู้สึกอึดอัดที่ไม่มีหน้าต่าง แต่ก็พักไปก่อน 2 คืน แล้วขอย้ายไปพักที่อื่นที่สภาพดีกว่า (ถามว่าทำไมไม่ไปพักโรงแรมดีๆล่ะ ก็สมัยนิยมน่ะช่วงนั้น Backpack ให้ถูกๆมันเท่ 555 แต่สุดท้ายเราก็ทนไม่ได้นะ ไม่จำเป็นต้องเที่ยวแบบนอนที่พักสภาพแย่ขนาดนั้น ก็ปรับเปลี่ยนไป ขอไม่แพงมากแต่ดีหน่อย)

เสียมเรียบ (Siem Reap | សៀមរាប )

อากาศที่เสียมเรียบร้อนอบอ้าวไม่ต่างจากเมืองไทย ขอพักผ่อนแถวที่พัก จิบกาแฟคลายร้อนก่อน บ่ายแก่ๆก็หาเช่าจักรยานปั่นเข้าไปเที่ยว ผ่านวัด ผ่านโรงเรียน โรงพยาบาล ไปถึง Royal Independent Garden สวนสาธารณะที่มีศาลพระองค์เจ๊ะ-พระองค์จอม อารมณ์เหมือนสนามหลวง แต่เล็กกว่า ถ่ายรูปเล่นเพลินๆ ก็ได้ยินเสียงคนทักทายเป็นภาษาไทย “สวัสดีครับ” หันไปตามเสียงก็พบพี่สามล้อยิ้มแฉ่ง พี่แกแนะนำตัวว่าแกเคยไปทำงานที่เมืองไทยหลายปี พูดไทยได้ ทำงานโรงงานจนโดนเลิกจ้าง ก็เลยกลับบ้านมา ก็มาขี่รถสามล้อนี่แหละ คุยกันถูกคอดี เลยตกลงเหมารถพี่แกไปเที่ยว 2 วัน นัดแนะเวลาและสถานที่ เริ่มต้นวันมะรืน เพราะพรุ่งนี้เราจะไปไกลเลยเหมารถแท็กซี่ไปดีกว่า

วันที่ 2-3-4-5 เขตอุทยานโบราณคดีอังกอร์ (Angkor Archaeological Park)

เที่ยววนไปในเขตเมืองพระนคร 4 วัน แต่ตัดสินใจไม่เขียนเล่าตามจุดที่แวะเที่ยวจริงแต่ละวัน เหตุเพราะเที่ยวตามใจตุ๊กๆมันเลยไม่ได้เที่ยวตามเนื้อหาประวัติศาสตร์ พี่ตุ๊กผ่านตรงไหนก่อนก็แวะตรงนั้น ถ้าเล่าไปตามนั้นก็จะอ้างอิงยากไปหน่อย ขอมาเล่าเป็นพื้นที่ว่าฝั่งตะวันออกมีปราสาทอะไรบ้าง ฝั่งตะวันตกมีอะไรบ้าง ลักษณะนี้แล้วกัน บางคนจัดได้หมดใน 2 วัน บางคนก็ 3 วันแล้วแต่จะจัดโปรแกรม แต่อย่างที่บอก แผนการเที่ยวของเราคือ ออกเที่ยวแต่เช้ามากๆ แล้วกลับมาพักช่วงเที่ยงถึงบ่าย แล้วออกเที่ยวใหม่ช่วงบ่ายแก่ๆ จึงเที่ยวแบบสบายๆ 4 วัน

นครวัด ( Angkor Wat | អង្គរវត្ត )

นครวัดถือเป็นไฮไลต์ของทริป เราจึงไปนครวัดแทบทุกวัน เปลี่ยนช่วงเวลาไปเรื่อย เช้า สาย บ่าย เย็น

การไปรอดูพระอาทิตย์ขึ้นที่นครวัดเป็น The must ของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ คือไม่ใช่ทุกคน บางคนขอนอนสบายๆสายๆค่อยออกเที่ยวก็มีอยู่ นั่งตุ๊กๆรับลมยามเช้า ก็พอมีลมเย็นๆบ้าง  ไปถึงนครวัด เล็งพิกัดด้านขวา ที่มีบ่อน้ำให้ใช้เป็นฉากหน้า เคยเห็นรูปตามเว็บ มันสวยดี เดินไปจับจองวางขาตั้งกล้อง กลางหมู่ตากล้องมากมายที่มารอแสงเช้าด้วยกัน แสงทองออกมาเรื่อๆ เสียงชัตเตอร์ยิงกันสนั่นหวั่นไหว จนพระอาทิตย์ขึ้นมาเหนือยอดไม้แสงก็แรงเกินไป ไม่นวลพอให้ถ่าย ต่างคนก็เก็บขาตั้งกล้องแยกย้ายกันกลับ เราเองก็กลับที่พักเหมือนกัน กินข้าวเช้าแล้วค่อยเข้ามาเที่ยวใหม่

เที่ยวนครวัดแบบละเอียดควรมีเวลาอย่างน้อย ½ วัน จะไปช่วงเช้าหรือช่วงบ่ายก็แล้วแต่ต้องการ หรือจะอยู่ทั้งวันก็อยู่ได้ ถ้าเป็นสายเข้มข้น มีรายละเอียดภาพสลักต่างๆให้ดูมากมาย เราเองชอบดูนางอัปสรา มีรายการว่าต้องไปหาอัปสราแบบไหนบ้าง อย่างนางอัปสรายิ้มเห็นฟัน นางอัปสราลิ้นเป็นแฉก นางอัปสราไม่นุ่งผ้า สนุกตรงนี้แหละ เดินหากันไป

บ่ายๆแดดดีมาเก็บภาพอีกรอบ
ทางเดินเข้า ผ่านบารายซ้ายขวา

ประวัติและความเป็นมาของนครวัด มีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไปในหลายๆแหล่งข้อมูล จะเล่าคร่าวๆจากหนังสือของอจ.พิษณุก็แล้วกัน ความเข้าใจแรกคือ นครวัด ไม่ใช่เมืองหลวงของเมืองพระนคร หรือยโศธรปุระ สมัยที่สร้างนั้นไม่ได้ชื่อนครวัด แต่มีชื่อว่า “ปราสาทพระวิษณุโลก” หรือเมืองของพระวิษณุ เป็นเทวาลัยที่ประทับของพระวิษณุ หรือพระนารายณ์ตามลัทธิไวษณพนิกาย เป็นการเปลี่ยนแปลงจากการกราบไหว้พระศิวะและบูชาศิวลึงค์ ตามลัทธิไศวนิกายที่มีมายาวนาน ความยิ่งใหญ่ของนครวัดใช้เวลาสร้างร่วม 30 ปี คือตลอดรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 คาดกันว่าชื่อ”นครวัด”ที่เรียกกันตอนหลังนี้อาจจะได้มาภายหลังจากที่อาณาจักรขอมล่มสลายแล้วชาวสยามเข้ามาครอบครอง มีการเปลี่ยนแปลงใช้เทวาลัยนี้เป็นวัดในพุทธศาสนา ก็เลยเรียกกันว่า นครวัด ก็พอเป็นไปได้อยู่นะ

รูปสลักขบวนกองทัพชาว “เสียมกุก” ที่ว่ากันว่าเป็นชาวสยาม แต่ยกทัพมาเพื่ออะไรยังไงนั้นยังไม่ยืนยัน

นักประวัติศาสตร์ได้วิเคราะห์กันว่า ตัวนครวัดไม่ได้สร้างขึ้นให้เป็นเมือง แม้จะมีองค์ประกอบเหมือนเมือง มีคูน้ำล้อมรอบ มีกำแพงเมือง แต่เพราะในเขตนครวัดนี้ไม่มีคนอยู่ กษัตริย์เองก็ไม่ได้อยู่ แถมตัวปราสาทยังหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ผิดกับปราสาทอื่นๆทั้งหมดที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก จึงคาดกันว่า พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ตั้งใจสร้างให้เป็นพระราชสุสานของพระองค์เอง

หินที่ใช้สร้างนครวัดนี้ เป็นหินทรายจากเขาพนมกุเลน ถูกส่งมาตามแม่น้ำเสียมเรียบสู่พื้นที่ก่อสร้าง เอาขึ้นมาตัดแต่งยกขึ้นประกอบเป็นเสาเป็นคานเป็นประตูหน้าต่าง แล้วจึงแกะสลักลวดลายต่างๆ (ใช้เทคนิคเดียวกับการสร้างวิหารต่างๆในอิยิปต์เลยนะ อันนี้อจ.พิษณุไม่ได้เขียน เราคิดเอง เพราะเคยได้อ่านวิธีการก่อสร้างวิหารและปิรามิดในอิยิปต์ จากตอนเขียนเรื่องเที่ยวอิยิปต์มาแล้ว เหมือนกันแบบนี้เลย) ที่มาที่ไปของนครวัดก็เล่าคร่าวๆแค่นี้แล้วกัน

ปี 2005 ที่พวกเราไป นครวัดยังสามารถเดินขึ้นได้ถึงยอดปราสาทด้านบน ทางเดินขึ้นเป็นบันไดหินที่ลูกขั้นเล็กและแคบมาก เป็นสาเหตุที่นางอัปสรานุ่งผ้าถุงเดินละเมียดละไมเอียงข้างขึ้นได้สวยงาม ถึงพวกเราไม่เป็นนางอัปสราก็ต้องเดินแบบนั้นเหมือนกันเพราะไม่สามารถเดินขึ้นตรงๆได้ ลูกขั้นเล็กเกิน

ขึ้นถึงด้านบน เดินพินิจพิจารณานางอัปสราไปทุกซอกทุกมุม แล้วมานั่งรอพระอาทิตย์ลูกเดิมตอนเช้า ค่อยๆเคลื่อนต่ำลง จนลับขอบฟ้าไป         

นครวัดแสงเย็นก็ได้โทนสีอุ่นๆ

สรุปแล้ว นครวัดสวยงามทั้ง เช้า กลางวัน เย็น แล้วแต่ใครจะชอบช่วงเวลาไหน ถ้ามีเวลาก็อยู่ให้ครบทุกช่วงเวลา

นครธม ( Angkor Thom | អង្គរធំ )

นครธมเป็นราชธานีหรือเมืองหลวงของเมืองพระนครในช่วงรุ่งเรืองยุคสุดท้ายของอาณาจักรขอม สมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เกิดหลังจากยุครุ่งเรืองก่อนหน้าคือสมัยพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ที่ศูนย์กลางของเมืองพระนครอยู่ที่พนมบาเค็ง มีนครวัดเป็นเทวสถานบูชาพระอิศวรพระวิษณุ แต่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้สร้างปราสาทบายนเป็นศูนย์กลางของนครธมหรือเมืองพระนครใหม่ ประดิษฐานพระอวโลกิเตศวรที่ปราสาทประธาน

นักท่องเที่ยวนิยมเข้าทางเข้าด้านทิศใต้ มีทางเดินยาวไปโคปุระที่มียอดเป็นหน้า 4 หน้า ตลอดทางเดินซ้ายและขวามีรูปสลักหินตลอดทาง ด้านขวาจะเป็นแถวของยักษ์ (อสูร) ด้านซ้ายเป็นเทวดา ทั้งยักษ์และเทวดาต่างแบกพญานาคอยู่สองข้างของสะพาน

ปราสาทบายน ( Bayon | ប្រាសាទបាយ័ន )

ผ่านประตูเข้าสู่ส่วนปราสาทประธาน ที่มองเข้าไปจะมีลักษณะเป็นหน้า 4 หน้า คือปราสาทบายน เดินมาถึงตรงนี้ใครๆก็น่ารู้สึกตื่นเต้นพอสมควร เพราะรูปสลักหินใบหน้าใหญ่ยักษ์น่าเกรงขามเหมือนคอยมองตามทุกย่างก้าว บางคนก็ว่านั่นคือใบหน้าของพระเจ้าชัยวรมันเองที่ช่างขอมใช้ฝีมืออันสุดยอดแกะสลัก เข้าไปที่ปราสาทบายน ที่มียอดปปราสาทรูปสลักหน้าบายน 54 ยอด รวมๆก็สองร้อยกว่าหน้า เดินไปทางไหนก็จะต้องโดนสายตาจากรูปสลักหินใหญ่ยักษ์จ้องมอง รอยยิ้มแบบบายนก็ดูเยือกเย็นจนน่าขนลุก ยิ่งเดินดูก็ยิ่งทึ่งในความสามารถของช่างขอมพันปีก่อน

จากปราสาทบายน เดินต่อไปที่ปราสาทบาปวน – พิมานอากาศ – ลานช้าง ต่อเนื่องกันได้เลย

ปราสาทบาปวน ( Bapuan | ប្រាសាទបាពួន )

ปราสาทบาปวน สร้างโดยพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 เพื่อใช้เป็นศาสนสถานประจำเมืองพระนคร ว่ากันว่าเดิมนั้นมียอดเป็นศิวลึงค์ทองคำเลยเชียว ปัจจุบันองค์ปราสาทหักพังลงไปเกือบหมด

ปราสาทบาปวนเหลือแค่นี้แหละ
ปราสาทพิมานอากาศ ( Phimeanakas | ប្រាសាទភិមានអាកាស )

เดินต่อไป ปราสาทพิมานอากาศเป็นปราสาทหลังใหญ่สร้างบนฐานสูง 3 ชั้น จึงดูเหมือนอยู่ในพิมานหรือวิมานสมชื่อจริงๆ ยังไม่แน่ชัดว่ากษัตริย์องค์ใดสร้าง

ลานช้าง ( Terrace of the Elephants | ព្រះលានជល់ដំរី )

เดินต่อไปผ่าน ลานช้าง ที่สร้างเป็นพลับพลาเพื่อออกว่าราชการ ทางเดินยกสูงมีหินสลักรูปช้างอยู่ตามแนวผนัง และทางขึ้น

ฐานพระเจ้าขี้เรื้อน ( Terrace of the Leper King | ព្រះលានស្តេចគម្លង់ )

ติดๆกันเป็น ฐานพระเจ้าขี้เรื้อน ที่เรียกแบบนี้เพราะมีรูปสลักเป็นคนนั่งชันเข่า ดูสีดำด่าง เหมือนคนเป็นโรคเรื้อน ก็เดากันไปว่าเป็นพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ป่วยเป็นโรคผิวหนัง แต่นักประวัติศาสตร์บอกว่าไม่ใช่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หรอก และที่หินมันกระดำกระด่างเพราะหินคุณภาพต่ำ ก็เล่นขนหินดีๆจากเขาพนมกุเลนลงมาหมดแล้ว ก็เหลือแต่หินคุณภาพไม่ดี นานไปก็เลยเป็นตะไคร่บ้าง สีเปลี่ยนบ้าง

์North Khleang & South Khleang ตรงข้ามลานช้าง
ปราสาทพนมบาเค็ง ( Bakheng | ប្រាសាទភ្នំបាខែង )

ผู้คนนิยมขึ้นพนมบาเค็งในช่วงเย็น เดินขึ้นเขาทางดินลูกรัง แข่งกับแสงพระอาทิตย์ เดินขึ้นพร้อมนักท่องเที่ยวมหาศาล ขึ้นไปถึงยอดเขา ยังต้องเดินขึ้นบันไดเพื่อขึ้นไปตัวปราสาทอีก ลิ้นห้อยกันกำลังดี นักท่องเที่ยวเนืองแน่นในตัวปราสาทที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก ต้องแหวกหามุมถ่ายรูปกันเอาเอง จากยอดปราสาทนี้มองเห็นนครวัดได้จากมุมสูง สวยดี

มองเห็นนครวัดได้จากบนยอดพนมบาเค็ง

ปราสาทพนมบาเค็งสร้างอยู่บนยอดเขาพนมบาเค็ง โดยพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ผู้ย้ายเมืองหลวงจาก หริราลัย มาสร้างยโศธรปุระ หรือเมืองพระนคร พระองค์ได้เลือกเนินเขาพนมบาเค็งนี้เป็นศูนย์กลางจักรวาล เปรียบเหมือนเขาไกรลาศ ให้เป็นที่สถิตย์ของพระอิศวรหรือพระศิวะตามความเชื่อของลัทธิเทวราชา แล้วปรับพื้นที่ยอดเขาเพื่อสร้างปราสาทฐานปิรามิด 5 ชั้น พร้อมปราสาทตามมุมต่างๆรวม 108 องค์ นึกจินตนาการดูว่ามันคงอลังการอยู่พอสมควร แต่ด้วยว่าเนินเขานี้เป็นชัยภูมิที่ดี จึงเคยถูกใช้เป็นฐานกำลังในสงครามอยู่หลายครั้ง ทั้งจากญี่ปุ่น ทั้งเขมรแดง ก็โดนยิงโดนถล่ม จนพังไปมาก เหลือแค่ให้นึกจินตนาการกันเอาเอง

นอกจาก นครวัด นครธม แล้ว ถ้ามีเวลาให้เที่ยวเก็บตกปราสาทเล็กๆน้อยๆรอบเมืองพระนคร มีอีกเยอะมาก แล้วแต่จะเลือกแวะปราสาทไหนบ้าง แล้วแต่ความชอบและเวลาที่มี เราเองก็แวะบางปราสาทเท่านั้น

กลุ่มปราสาททิศตะวันออกของเมืองพระนคร
(Eastern Angkor)

ปราสาทเจ้าสายเทวดา ( Chao Say Tevada | ប្រាសាទចៅសាយទេវតា )

ปราสาทเจ้าสายเทวดา เป็นปราสาทขนาดย่อมๆกลางหมู่ไม้ สร้างในสมัยพระเจ้ายโศวรมันที่ 2 เป็นศิลปะแบบนครวัด เหมือนถอดแบบปราสาทบางยอดจากนครวัดมาสร้างไว้ ตอนที่ไปกำลังบูรณะอยู่ ป่านนี้น่าเสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว

แอบคิดเสมอๆว่า หินใหม่ๆนั่นจะเอาไปทำดำมาหน่อยก็ไม่ได้
ปราสาทธรรมนูญ ( Thommanon | ប្រាសាទធម្មនន្ )

ที่ติดๆกัน ฝั่งตรงข้ามถนนคือ ปราสาทธรรมนูญ หรือปราสาทธรรมนน เรียกกันว่าปราสาทคู่แฝดกับปราสาทเจ้าสายเทวดา เพราะลักษณะคล้ายกันและสร้างในยุคสมัยเดียวกัน ปราสาทธรรมนูญบูรณะได้สมบูรณ์กว่า มีรูปสลักนางอัปสราสวยงามชัดเจน

ปราสาทตาแก้ว ( Ta Keo | ប្រាសាទតាកែវ )

ปราสาทตาแก้ว ปราสาทใหญ่ที่ยังสร้างไม่เสร็จของพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 ยังมีเสาที่เพิ่งจะวางยังไม่ได้แกะสลักลวดลาย ที่ว่าทำไมสร้างไม่เสร็จก็เพราะมีเหตุฝ้าผ่าหลายครั้ง เลยคิดกันว่าเป็นลางไม่ดี ก็เลยเลิกสร้างกันไป

ปราสาทตาพรม ( Ta Prohm | ប្រាសាទតាព្រហ្ម )

ปราสาทตาพรม เป็นหนึ่งในไฮไลต์ของทริปเรา เพราะเป็นปราสาทที่ติดตาตรึงใจเรากับภาพของ Lara Croft ใน Tomb Raider ที่เดินปีนป่ายกองหินที่หักพังขององค์ปราสาทที่มีต้นไม้รากไม้ขึ้นปกคลุมเหมือนหนวดหมึกยักษ์ ต้นไม้ที่ขึ้นปกคลุมนี้คือต้นสะปุง เติบโตขึ้นบนซากกองหินและเลื้อยขึ้นไปปกคลุมตัวปราสาทได้สวยงามเหลือเกิน การเลือกที่บูรณะบางส่วนก็ทำให้มันมีเสน่ห์ได้ ไม่จำเป็นต้องรื้อต้องก่อต้องต่อเติมทั้งหมดก็ได้ ประทับใจจริง

ปราสาทตาพรมเป็นวัดในศาสนาพุทธ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สร้างเพื่อถวายแด่บรรพบุรุษของพระพรหม  หรือพรหมผู้เฒ่า จึงมีชื่อว่า ตาหรือยายของพรหม ปราสาทตาพรมนี้ประดิษฐานพระรูปนางปัชญาปารมิตาพระมารดาของพระพุทธเจ้า เป็นตัวแทนแห่งความเฉลียวฉลาด

ปราสาทบันทายกเดย ( Banteay Kdei | ប្រាសាទបន្ទាយក្តី)

นั่งรถต่อไปที่ปราสาทบันทายกเดย บางคนเรียกว่าบันทายกุฎี เป็นปราสาทลูกผสม ที่มีร่องรอยของยุคสมัยที่แตกต่างกัน 2 ยุค คือศิลปะแบบนครวัดและศิลปะแบบบายน เนื่องจาก พระนครใหม่ (นครธม) สร้างทับซ้อนลงไปบนพื้นที่ของ เมืองพระนครเดิม (ยโศธปุระ) ปราสาทสามหลังมีรูปแบบศาสนสถานฮินดู แต่โคปุระทั้ง 4 ด้าน มีรูปสลักพระพักตร์ของพระอวโลกิเตศวร เหมือนกับปราสาทบายน ซึ่งน่าจะเกิดจากการสร้างต่อเติมปราสาทจากการก่อสร้างครั้งแรกๆ

สระสรง ( Srah Srang | ស្រះស្រង់ )

สระสรง เป็นบารายหรือสระน้ำที่อยู่มานับพันปี อยู่ใกล้ๆกับปราสาทบันทายกเดย เป็นอีกจุดที่คนนิยมมาถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้น ท่าน้ำของสระสรงสร้างด้วยหินทราย มีบันไดสิงห์ลงไปที่ท่าน้ำ ราวสะพานนาคตรงหัวสะพานเป็นพญานาคเจ็ดเศียร สร้างในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เชื่อว่าสระสรงนี้ใช้เป็นที่สรงน้ำของพระมหากษัตริย์ แต่บางตำราก็บอกว่า เป็นที่อาบน้ำของบรรดานางสนมกำนัล ๗๐๐ นางของพระองค์ ไม่รู้ว่าอย่างไหนถูกต้องนะ

ปราสาทแม่บุญตะวันออก ( East Mebon | ប្រាសាទមេបុណ្យខាងកើត )

ปราสาทแม่บุญตะวันออกเป็นปราสาทขนาดใหญ่ สร้างอยู่บนฐานปิรามิด 3 ชั้น มีปรางค์ปราสาท 5 องค์ มุมฐานมีช้างศิลาเฝ้าอยู่ เป็นต้นกำเนิดวัดช้างล้อม (เพิ่งรู้นะเนี่ย) ปราสาทแม่บุญตะวันออก ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าอยู่ทางทิศตะวันออก สร้างโดยพระเจ้าราเชนวรมันที่ 2 ซึ่งเป็นหลานของพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 สร้างเพื่ออุทิศถวายแด่พระบิดาและพระมารดา โดยตัวปราสาทสร้างอยู่กลางบารายที่พระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ได้ขุดสร้างไว้ แต่ตอนนี้บารายตื่นเขินจนน้ำแห้งหมดแล้ว

ปราสาทแปรรูป ( Pre Rup |ប្រាសាទប្រែរូប )

ปราสาทแปรรูปเป็นปราสาทที่พระเจ้าราเชนวรมันสร้างขึ้นหลังจากการสร้างปราสาทแม่บุญตะวันออก สร้างอยู่บนฐานปิรามิด 3 ชั้น มีปรางค์ปราสาท 5 องค์ เหมือนกับปราสาทแม่บุญ แต่เพราะสร้างทีหลัง จึงสร้างสัดส่วนดีกว่า แต่ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์เพราะสวรรคตก่อน จะเห็นกรอบประตูที่ยังไม่ได้แกะสลักอยู่ เพราะการก่อสร้างหยุดไป

บันทายสำเหร่ ( Banteay Samre | ប្រាសាទបន្ទាយសំរែ )

ว่ากันว่าปราสาทบันทายสำเหร่มีเค้าโครงคล้ายกับปราสาทหินพิมายในบ้านเรา เพราะสร้างขึ้นในแบบศิลปะนครวัดเหมือนกัน มองดูก็คล้ายๆกันจริง แต่ขนาดของบันทายสำเหร่น่าจะใหญ่กว่าเล็กน้อย ความสวยงามของปราสาทบันทายสำเหร่อยู่ที่ภาพสลัก มีภาพสลักที่หน้าบันและเสาประตูต่างๆละเอียดสวยงามมาก

กลุ่มปราสาททิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองพระนคร
(NorthEastern Angkor)

ปราสาทพระขรรค์ ( Preah Khan | ប្រាសាទព្រះខ័ន )

ประสาทพระขรรค์เป็นปราสาทองค์สำคัญของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เพราะสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ ตรงบริเวณที่เคยรบชนะชาวจามปาอยู่หลายครั้ง ข้างในประดิษฐานพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรแทนศิวลึงค์เพราะเปลี่ยนมานับถือพุทธ (ตามที่อจ.พิษณุเล่า ปราสาทคู่กันกับปราสาทพระขรรค์คือปราสาทตาพรม)

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ที่นี่มีปราสาท 2 ชั้นด้วย
ปราสาทนาคพัน ( Neak Pean |ប្រាសាទនាគព័ន្ធ )

เป็นปราสาทรูปทรงแปลกกว่าปราสาทอื่น จะเรียกให้ถูกก็น่าจะเรียกว่าศาสนสถานมากกว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นผู้สร้าง โดยองค์ปราสาทเดี่ยวขนาดไม่ใหญ่มากเป็นปราสาทกลมสร้างอยู่บนฐานสลักรูปดอกบัว มีรูปสลักพญานาค 2 ตัว เอาหางพันเกี่ยวที่ฐานดอกไม้ ก็เลยได้ชื่อว่า นาคพัน ตัวปราสาทและฐานดอกบัวสร้างอยู่ในบ่อน้ำ แต่ว่าน้ำแห้งขอด เดินข้ามไปที่ปราสาทได้ ถ้าน้ำเต็มบ่อคงเหมือนเป็นดอกบัวลอยน้ำ น่าจะสวยงามน่าดู

ปราสาทตาสม ( Ta Som |ប្រាសាទតាសោម )

ปราสาทตาสมเป็นศิลปะแบบบายนแน่นอน เพราะเห็นโคปุระที่มีรูปหน้าบายนตั้งแต่ทางเข้า เดินเข้าไปด้านในจะเจอกำแพงอีกชั้น แล้วทะลุเข้าไปปราสาทประธาน ยังมีรูปสลักหินสวยงาม ชัดเจนตามผนังให้ชม ทั้งนางอัปสรา และลายสลักรูปดอกไม้ ใบไม้ รูปสลักนางอัปสราที่นี่ไม่ได้สวยอ้อนแอ้นแบบที่นครวัด แต่ดูอวบๆตันๆ แถมไม่แต่งองค์ทรงเครื่องประดับอะไร

กลุ่มปราสาทเมืองหลวงเก่า หริราลัย (Rolous Group)

กลุ่มปราสาทเรอลั้วะ (Roluos Group) เป็นกลุ่มปราสาทนอกเมืองพระนคร ในบริเวณที่ตั้งของเมืองหริหราลัย ราชธานีสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 และ 3 ก่อนพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 จะย้ายราชธานีมาที่เมืองยโศธรปุระหรือเมืองพระนคร ปัจจุบันอยู่ในตำบลเรอลั้วะ ห่างจากเสียมเรียบประมาณ 15 กม.

ปราสาทโลเลย ( Lolei | ប្រាសាទលលៃ )

ปราสาทโลเลยอยู่ในเขตเมืองหริราลัย เมืองราชธานีของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 แต่ตัวปราสาทโลเลยนี้สร้างโดยพระเจ้ายโศวรมัน เพื่ออุทิศแด่พระราชบิดาคือพระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 และพระราชมารดา (แต่พอสร้างแล้วก็ย้ายราชธานีไปที่ใหม่ซะอย่างงั้น โดยย้ายไปสร้างเมืองยโศธรปุระ หรือที่เรียกันว่าเมืองพระนคร ใหญ่โตอลังการ ให้พวกเราทึ่งมาถึงปัจจุบัน)

ปราสาทพระโค ( Preah Ko | ប្រាសាទព្រះគោ )

ออกจากปราสาทโลเลยมาไม่ไกล เป็นที่ตั้งของปราสาทพระโค มีรูปสลักหินเป็นรูปพระโคนอนหมอบอยู่ด้านหน้าปราสาท 3 ตัว คนเลยเรียกชื่อตามนั้น เป็นปราสาทที่พระเจ้าอินทรวรมันได้สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานเทวรูปประจำพระองค์ของพระบิดาและมารดาของพระองค์เอง (เริ่มงงใช่มั๊ย 555)

ปราสาทบากอง ( Bakong |ប្រាសាទបាគង )

เป็นปราสาทองค์เดี่ยว ที่พระเจ้าอินทรวรมันสร้างไว้เป็นที่ฝังพระศพของตัวเอง โดยมีการขุดบารายแล้วสร้างปราสาทเดี่ยวบนเนินสูง แล้วมีการปักศิวลึงค์ไว้ในปราสาท เพื่อแทนองค์พระอิศวรผู้เป็นพระราชาแห่งเทพ  

บันทายสรี ( Bantreay Srei | ប្រាសាទបន្ទាយស្រី )

บันทายสรี เป็นปราสาทหินทรายสีชมพูที่สร้างตามคติความเชื่อในศาสนาฮินดูเพื่อบูชาพระศิวะ แปลกตรงที่เป็นเทวสถานที่ไม่ได้สร้างโดยกษัตริย์ แต่สร้างโดยพราหมณ์ยัชญวราหะ เป็นปราสาท 3 องค์ขนาดเล็ก มีองค์กลางสูงกว่าองค์ข้างๆ ลักษณะเดียวกับพระปรางค์สามยอดบ้านเรา แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก นอกจากมีขนาดเล็กแล้วยังมีความแปลกที่สร้างแนวทางเดินเข้าและซุ้มประตูจากขนาดใหญ่และลดขนาดเล็กไปเรื่อยๆ จนถึงซุ้มประตูในสุดเล็กจนแทบต้องก้มตัวเข้าไป ว่ากันว่าน่าจะสื่อถึงการนอบน้อมเมื่อจะเข้าไปพบกับพระเจ้า ถ้าดูจากแผนผังจะเห็นว่าคล้ายกลับปราสาทนครวัด แต่ที่นี่เล็กกว่าหลายสิบเท่า แต่ก็สร้างมาก่อนนานเกือบสองร้อยปี ปราสาทบันทายสรี เด่นดังด้วยการสร้างด้วยหินทรายสีชมพู แถมมีรูปสลักสวยงามมาก โดยเฉพาะรูปสลักนางอัปสราที่นี่ยังคมชัด และสวยสมส่วน ลวดลายชัดเจน แถมด้วยทับหลังที่ลวดลายละเอียดสุดๆ นักท่องเที่ยวเดินผ่านแนวทางเดินไปจนปราสาทประธาน แล้วเดินดูได้รอบๆเพราะล้อมเชือกไว้ แต่ตัวปราสาทมีขนาดเล็ก เดินรอบๆก็มองเห็นลวดลายแกะสลักได้ชัดเจนได้ชัด

กบาลสะเปียน ( Kbal Spean | ក្បាលស្ពាន )

ต้องออกนอกเมืองเสียมเรียบไปร่วม 50 กม. แนะนำให้เหมาแท็กซี่ไป นั่งตุ๊กๆคงหัวฟู แถมทางเป็นฝุ่นตลบ นั่งรถไปเกือบ 2 ชั่วโมงก็ถึง กบาลสะเปียน หรือที่ ปอล บัวลิเย่ นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสผู้ค้นพบคนแรกให้สมญานามว่า “The River of the Thousand Lingar” แปลตรงตัวว่า แม่น้ำพันลึงค์

กบาลสะเปียน เป็นศิลปะแบบปาปวน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 ที่ต้นน้ำที่เทือกเขากุเลน โดยสลักหินเป็นรูปเทพต่างๆ แล้วก็รูปโยนี-ศิวะลึงค์ โดยเฉพาะที่ใต้น้ำ น้ำที่ไหลผ่านศิวะลึงค์และโยนี ก็กลายเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อในศาสนาฮินดูและไหลลงไปรอบๆเมืองพระนคร จนไปรวมตัวกับแม่น้ำเสียมเรียบ คือทำให้เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์กันแต่ต้นทางไปเลย ชาวบ้านทุกคนได้ใช้ดื่มกิน ใช้ทำไร่นา ไปจนถึงรักษาโรค และยังใช้น้ำศักดิ์สิทธิ์นี้ไปประกอบพิธีหลวงในพระราชวังด้วย ถ้าไปหน้าน้ำก็จะเห็นยากหน่อยเพราะน้ำเยอะแถมทางเดินก็จะเละ ไปหน้าแล้งเห็นรูปสลักชัดเจนแต่ก็จะร้อนมาก เพราะต้องเดินขึ้นเขาไปที่ต้นน้ำ นอกจากศิวลึงค์และโยนีเป็นพันๆรูป ก็ยังมีภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ ภาพพระศิวะ พระพรหม พระวิษณุ และเทพองค์อื่นๆด้วย

วันที่ 5 อำลาเสียมเรียบที่โตนเลสาบ

เที่ยวในเมืองเสียมเรียบมา 5 วันเต็มๆ เย็นวันสุดท้ายเลือกที่จะออกจากเมืองพระนคร ไปล่องเรือในโตนเลสาบ ชมพระอาทิตย์ตก บรรยากาศดีสวยงาม

โตนเลสาบ ( Tonlesap | បឹងទន្លេសាប )

โตนเลสาบ หรือ คนกัมพูชาเรียกว่า ทะเลสาบกัมพูชา เป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านประเทศกัมพูชา ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด คือ พระตะบอง กำปงธม กำปงชนัง โพธิสัตว์ และเสียมราฐ ปกติทะเลสาบมีเนื้อที่ประมาณ 2,700 ตร.กม. แต่ช่วงฤดูฝนที่มีน้ำหลากทะเลสาบเคยกว้างถึง 16,000 ตร.กม. ส่วนในหน้าแล้งน้ำจะลดลงจนกลายเป็นพื้นที่ลุ่มเต็มไปด้วยแร่ธาตุต่างๆที่ตกตะกอน ทำให้เป็นดินอุดมสมบูรณ์ ปลูกข้าวได้ผลผลิตดีมาก

นั่งรถออกจากตัวเมืองมาขึ้นเรือที่ท่าเรือเสียมราฐ เลือกเหมาเรือหรือไปขึ้นเรือทัวร์รวมหลายคนก็ได้ นั่งเรือลัดเลาะตามแม่น้ำจนไปทะลุโตนเลสาบ ในทะเลสาบมีชุมชนลอยน้ำขนาดใหญ่ ที่คนจะสร้างบ้านอยู่บนแพ มีจำนวนหลายร้อยครัวเรือน มีทั้งตลาดลอยน้ำ วัดลอยน้ำ โบสถ์คริสต์ลอยน้ำ ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่เป็นอดีตทหารเวียดนามที่ตกค้างหลังสงครามสงบเมื่อหลายสิบปีก่อน ลงหลักปักฐานแต่งงานอยู่ที่นี่ อาชีพหลักทำประมงน้ำจืด ความกว้างใหญ่ของโตนเลสาบ ทำให้ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งอาหารน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ปัจจุบันก็เกิดปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง จากการสร้างเขื่อนมากมายทางต้นน้ำ ทำให้การประมงได้ผลผลิตตกต่ำลงมาก

ลอยลำอยู่ในทะลสาบรอเวลาพระอาทิตย์ตก มีเรือเข้ามาเทียบชวนซื้อของอยู่เรื่อยๆ อันไหนพออุดหนุนได้ก็ช่วยซื้อกันไป นับว่าเป็นวันที่ดี ได้เห็นพระอาทิตย์ลูกกลมโตร่วงลงที่ขอบฟ้าจรดขอบน้ำ

วันที่ 6 เยี่ยมเยือนพนมเปญ

พนมเปญ (Phnom Pehn | ភ្នំពេញ )

วันสุดท้ายร่ำลาเสียมเรียบ กลับพนมเปญ ให้โรงแรมจ้างเหมา Taxi ให้ ได้ราคา 40$ ระหว่างนั่งรถไปก็คุยต่อว่าช่วงบ่ายเราอยากเที่ยวในพนมเปญ ขอเหมาพาเที่ยวเลยได้มั๊ย แล้วพาพวกเราไปส่งสนามบินตอนเย็นเลย คุยไปคุยมาสรุปตกลงเพิ่มอีก 30$ พาไปเที่ยวที่หลัก 4-5 ที่ (แต่ทุลักทุเลนิดหน่อย เพราะพี่แกไม่รู้จักสถานที่ เหมือเราเหมารถจากต่างจังหวัดให้พาเที่ยวกรุงเทพ กว่าจะไปได้แต่ละที่พี่แกต้องโทรถามทางเพื่อนแกหลายรอบ

ที่แรกที่ไปคือ คุกโตลแสลง (Tuol Sleng Genocide Museum | សារមន្ទីរឧក្រិដ្ឋកម្មប្រល័យពូជសាសន៍ទួលស្លែង ) อยู่ในเมืองพนมเปญเลย หน้าตาเหมือนโรงเรียนหรือโรงพยาบาลประมาณนั้น เพราะแต่เดิมเป็นโรงเรียน ช่วงที่เขมรแดงเข้ามายึดอำนาจ ใช้ที่นี้เป็นที่กักกันและทรมานนักโทษการเมืองจำนวนนับหมื่นคน ต้องอ่านประวัติความเป็นมาของคุกนี้ แล้วเดินดูไปตามห้องต่างๆ มีทั้งห้องขัง ห้องทรมาน ยิ่งดูยิ่งเศร้า บรรยากาศมันช่างหดหู่สิ้นดี

จากคุกเราก็ออกนอกเมืองไปหน่อย ไปที่อนุสรณ์เจืองเอ็ก หรือเรียกให้ชัดเจนกว่าว่า ทุ่งสังหารเจืองเอ็ก (Choeung ek | ជើងឯក ) หรือถ้าบอกว่าที่นี่คือ “Killing Fields’’ ยิ่งชัดเจนเข้าไปอีก ที่นี่ยิ่งหดหู่หนักไปกว่าที่คุกโตลแสลง เมื่อไปถึงจะเห็นอาคารทรงสูงที่หน้าตาเหมือนเมรุเผาศพ เรียกันว่า อนุสรณ์สถานเจืองเอ็ก (Choeng ek monument) เข้าไปในอาคารจะต้องตกตะลึง เพราะกองกระดูกมากมายที่ทับถมกันอยู่ในตู้กระจกสูงตามทรงอาคาร ออกมาด้านนอกก็ยังมีจุดที่บอกว่า หลุมนี้เคยใช้พานักโทษมายิงทิ้ง เยอะแยะหลายหลุม ไม่เข้าใจว่าคนเราทำไมช่างโหดร้ายกันได้ถึงเพียงนี้

อนุสรณ์สถานเจืองเอ็ก มีกองกระดูก หัวกระโหลก ของมนุษย์ที่โดนฆ่าฝังไว้บริเวณนี้มากองรวมกัน สูงเท่าแนวผนังกระจก
หลุมที่ฝังกลบนักโทษที่โดนสำเร็จโทษ มีมากมายหลายหลุมในบริเวณรอบๆ

หดหู่มาพอแล้วก็ไปดูความรุ่งเรืองบ้าง ไปที่ พระราชวังหลวง (Royal Palace) หรือชื่อเต็มว่า พระราชวังจตุมุขสิริมงคล บางคนเรียก พระราชเขมรินทร์ เพราะเป็นชื่อพระที่นั่งในวังหลวง

ขอบอกตามที่เห็นเลยว่า ลอกเลียนแบบอย่างชัดเจน ช่างเหมือนกับพระบรมมหาราชวังของเราย่อส่วนมาก แม้รายละเอียดฝีมือจะสวยงามไม่เท่า มือคนละชั้น แต่ก็ชัดเจนว่าเสิ่นเจิ้น

จากส่วนพระราชวัง เดินต่อไปวัดเจดีเงินได้ อยู่ติดกัน เดินทะลุไปได้เลย

แล้วไป วัดพระแก้วมรกต (Wat Preah Keo Morakot | វត្តព្រះកែវមរកត) หรือ วัดอุโบสถรัตนาราม ( Wat Ubaosoth Ratanaram | វត្តឧបោសថរតនារាម ) แต่เรียกกันติดปากว่า วัดเจดีเงิน (Silver Pagoda) เป็นวัดที่อยู่ในบริเวณพระราชวัง ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของกัมพูชาคือ “พระแก้วมรกต” สร้างขึ้นตามแบบไทยอีกเช่นกัน ใช้แก้วหล่อเป็นองค์พระ นอกจากนั้นก็มีพระพุทธรูปทองที่หล่อด้วยทองคำบริสุทธิ์ 90 กิโลกรัม พื้นภายในพระอุโบสถ ปูลาดด้วยแผ่นเงินแท้กว่า 5,000 แผ่น แต่ละแผ่นหนักมากกว่า 1 กิโลกรัม ด้านนอกมีเจดีสีปูนรูปทรงคล้ายพระปรางค์วัดอรุณอีกล่ะ (ไม่ได้อคติเลยนะ แต่เห็นแล้วคิดได้ตามนี้) มีรูปปูนปั้นประดับรอบเจดี ที่เรียกว่าเจดีเงินน่าจะเพราะเจดีสีออกขาวเทาเหมือนสีเงินนี้

จบทริปที่ วัดพนม (Wat Phnom |ផ្លូវវត្តភ្នំ ) วัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นมากว่า 600 ปี วัดพนมตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆในกรุงพนมเปญ มีบันไดทางขึ้นสีส้มอมชมพู ด้านล่างประดับไปด้วยพญานาคและด้านบนตกแต่งด้วยสิงโต

จากนั้นพี่แท็กซี่ก็พาพวกเราไปส่งที่สนามบิน Phnom Penh International Airport ได้ตามเวลา

จบทริป 6 วัน กลับบ้านได้ ไม่สรุปค่าใช้จ่ายนะ เพราะข้อมูลนานมากแล้วไม่น่าใช้อ้างอิงได้

See Angkor Wat and Don’t Die!!

ใครหนอบอกว่าเห็นอังกอร์วัดแล้วตายได้ เราไม่คิดแบบนั้นหรอกนะ เพราะถ้าตายไปตอนนั้น คงไม่ได้ไปเห็นปิรามิดและเทวสถานต่างๆในอิยิปต์ที่ต้องตะลึงอ้าปากค้าง ดังนั้นใครไปดูอังงกอร์วัดแล้วอย่าเพิ่งรีบตาย เพราะยังมีอะไรในโลกนี้อีกมากมายนะ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: