ยโสธร เมืองรองที่ไม่เป็นรอง

“ยโสธร” เมืองรองที่ไม่เป็นรอง

หลายคนคงรู้จักจังหวัดยโสธรจากเรื่องเล่า ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ แต่ไม่เคยได้ทำความรู้จักยโสธรจริงๆ เราเองก็รู้จักยโสธรแค่เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคอิสาน ร้อน แล้ง มีลูกชายโมโหหิวฟาดแม่ตัวเองตายเพราะเอาข้าวมาให้ช้า
อ่านข่าวเจอ เทศกาล ไฟตูมกา จ.ยโสธร ตั้งแต่กลางปี เห็นรูปแล้วสวยดี อยากไปดูกับตา คิดๆแล้วก็ลืมไป จนใกล้ถึงวันงาน เห็นข่าวอีกครั้ง ก็ตัดสินใจปุบปับไปกันเลย ปีนี้ขอสนับสนุนนโยบายท่องเที่ยวเมืองรองของรัฐบาลสักหน่อย
เอาจริงๆแล้ว จังหวัดยโสธร อยู่ตรงไหนของประเทศไทย ก็ยังไม่รู้เลย ไม่เคยไปมาก่อนด้วย แต่ยุคนี้ข้อมูลอยู่ที่ปลายนิ้ว กดคอมพ์กดมือถือปุ๊บเดียวรู้เรื่อง ยโสธร เป็นจังหวัดในภาคอิสานตอนล่าง มีพื้นที่ติดกับ อำนาจเจริญ อุบล ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ มุกดาหาร ดังนั้นการเดินทางง่ายสุดน่าจะเป็นการบินไปลงที่สนามบินอุบล แล้วเช่ารถขับต่อไป ร้อยกว่ากิโล เพราะจากจังหวัดที่ล้อมรอบทั้งหมด อุบลดูจะมีเที่ยวบินมากสุด เลือกได้ตามสบาย จัดการซื้อตั๋ว ทำการเช่ารถออนไลน์เรียบร้อยพร้อมบินวันมะรืน

เท่าที่รู้มาแต่เด็กแต่เล็ก ยโสธรมีชื่อเสียงในการทำบั้งไฟจนได้ชื่อว่า “เมืองบั้งไฟ” นอกจากนั้นก็เคยได้ยินเรื่อง “ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่” รู้ว่ามีเจดีด้วย รู้แค่นี้จริงๆ ไปเที่ยวเทศกาลไฟตูมกา ก็ถือโอกาสไปเที่ยวทำความรู้จักยโสธรกันเลย ข้อมูลอยู่ที่ปลายนิ้วจริงๆ ไม่กี่คลิ๊กก็ได้ข้อมูลแล้วว่า ไปยโสธรมีที่ไหนน่าสนใจไปเที่ยวชมบ้าง

ก่อนอื่น มารู้จัก เทศกาลไฟตูมกา กันก่อน เพราะเป็นเป้าหมายหลักในการไปครั้งนี้


จากอุบลขับมาชั่วโมงกว่าๆก็ถึงยโสธรแล้ว กะเวลาให้มาถึงช่วงเย็นๆ เข้าที่พักแล้วก็ขับรถออกมาที่หน้าอำเภอ มองเห็นไฟตูมกา สวยงามเต็มทั้งพื้นที่ ผ่านเลยไปเพื่อหาที่จอดรถ พอเดินกลับมากลายเป็นมืดสนิท จะว่าปิดงานแล้วก็คงไม่ใช่ ไปเดินสำรวจดูถึงรู้ว่าไฟดับ! หม้อแปลงระเบิดเลยด้วยซ้ำ คงเพราะใช้ไฟเกิน เพราะไฟตูมกาที่ประดับตกแต่งในงานไม่ได้จุดเทียนไขตามแบบฉบับดั้งเดิมอีกแล้ว แต่ใส่หลอดไฟเล็กๆไว้ข้างใน ซึ่งลูกตูมกามีไม่รู้กี่พันลูก แถมด้วยไฟฟ้าสำหรับตลาดนัด และเวทีการแสดงอีก เราก็เลยไปเดินหาข้าวเย็นกินกันก่อน ซึ่งริมถนนแจ้งสนิทเส้นที่ผ่านที่ว่าการอำเภอ มีร้านอาหารให้เลือกเยอะแยะ และเป็นถนนที่ดูคึกคักที่สุดแล้วในยโสธร แอบได้ยินโต๊ะข้างๆคุยกันว่า เมื่อคืนไฟก็ดับ! กินข้าวจนอิ่มเดินไปดูก็ยังมืด การไฟฟ้ายังคงกำลังเปลี่ยนหม้อแปลง รอนานจนเกือบจะเบื่อหนีกลับไปนอนก็พอดีไฟติด เลยได้โอกาสเข้าไปเดินเล่น แต่คนก็หายไปจนบางตาแล้ว น่าจะขี้เกียจรอ กลับบ้านกันไปหมด ถ้ายโสธรจะพยายามผลักดัน ประเพณีจุดไฟตูมกา ให้เป็นประเพณีประจำจังหวัด ก็คงต้องวางแผนให้ดีกว่านี้

การจุด “ไฟตูมกา” ในงานบุญวันออกพรรษาเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนบ้านทุ่งแต้ ต.ทุ่งแต้ อ.เมือง จ.ยโสธร ที่สืบทอดต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน โดยการเอาลูกตูมกามาคว้านเอาเนื้อและเมล็ดข้างในออกให้หมดใช้มีดแกะเป็นลายต่างๆ ตามความต้องการหลังจากจุดเทียนที่สอดขึ้นไปจากรูที่เจาะไว้ส่วนล่างของผลตูมกา แสงสว่างจากเปลวเทียนก็จะลอดออกมาเป็นลวดลายตามรูที่เจาะไว้ เจ้าลูกตูมกานี่เป็นผลไม้ป่าลูกกลมๆคล้ายส้ม มีก้านยาว มีลักษณะพิเศษคือเปลือกบางโปร่งแสงเมื่อขูดเอาผิวสีเขียวออกและสลักลวดลายแล้วจุดไฟข้างใน จึงเรืองแสงสวยงาม ชาวบ้านจัดพิธีจุดไฟตูมกาถวายเป็นพุทธบูชาในวันออกพรรษา แล้วร่วมสวดมนต์ใหว้พระตามวิถีของชาวพุทธ

งานจุดไฟตูมกาในปี 2018 นี้จัด 19-23 ตุลาคม 2561 ณ ที่หน้าว่าการอำเภอเมืองยโสธร วันสุดท้ายจะมีการแห่ไปที่วัดบูรพา บ้านทุ่งแต้

   

 

 

เช้าวันต่อมา ใช้เวลา ทำความรู้จัก “ยโสธร”กัน ก็ไปตามรายการแนะนำการท่องเที่ยวยโสธรกันเท่าที่เวลา 1 วันกว่าๆจะไปได้

⊕ วัดอัครเทวดามิคาแอล บ้านซ่งแย้ ⊕

จาก อ.เมืองยโสธร ขับรถออกไปประมาณ 40 กม. มาดู “โบสถ์ไม้ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย”  ที่ อ.ไทยเจริญ เป็นโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิคสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง มีป้ายบอกว่าขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ดูแล้วก็ไม่ได้ใหญ่มาก แต่คงมีไม่กี่ที่ๆสร้างโบสถ์คริสต์ด้วยไม้ ที่นี่เลยใหญ่สุด แต่ก็น่าทึ่งที่อยู่มากว่า 100 ปีแล้วนะ ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ มีหอกลองคู่กับซุ้มพระแม่มารี แปลกดี เป็นการกลมกลืนของศาสนาและวัฒนธรรม

 

 

    

⊕ วัดล้านขวด ⊕

อีกวัดที่แวะไปคือ วัดลาดเก่า อ.ทรายมูล ที่วัดนี้ใช้ขวดแก้วมาประดับตกแต่งสิ่งก่อสร้างแทนการใช้กระเบื้องและทาสี ที่เด่นๆก็พระอุโบสถกลางน้ำ ศาลาการเปรียญ แต่เราว่า เมรุเผาศพ สวยสุด มองในแง่ว่าเอาของเหลือใช้มาทำให้เกิดประโยชน์และประหยัดค่าฉาบปูนทาสี ก็ว่าความคิดดีนะ แต่ขวดที่ใช้เป็นขวดเบียร์ซะเยอะ ก็รู้สึกแปลกๆอยู่

 

 

⊕ หมู่บ้านทำหมอนขิดบ้านศรีฐาน ⊕

ของขึ้นชื่อของยโสธรอีกอย่างคือ หมอนขิด หมู่บ้านศรีฐานถือเป็นแหล่งผลิตหมอนขิตส่งขายทั่วประเทศและส่งออกต่างประเทศด้วย สมัยก่อนหลังฤดูทำนา ชาวบ้านว่างงานนาก็จะมาทอผ้า มาทำหมอนขิด แต่สมัยนี้ทำหมอนขิดขายกันเป็นล่ำเป็นสันทั้งหมู่บ้านเลย ขับรถไปถึงหมู่บ้านศรีฐานก็มั่นใจได้ว่าเป็นศูนย์กลางหมอนขิดเพราะเห็นหมอนขิดยักษ์บนหลังคาศาลาตรงสี่แยกกันเลย ไปถึงแหล่งก็คิดว่าจะมีศูนย์ทำหมอนขิดให้ได้ดูการทำเหมือนจังหวัดอื่น อย่างศูนย์ทำร่ม ศูนย์แกะสลัก แต่ไปแล้วหาไม่ยักเจอศูนย์ทำหมอนขิด เลยแวะซื้อกาแฟกินแก้ร้อน คุยกับคนขายกาแฟ พี่แกบอกว่า ไม่มีหรอก อยากดูคนทำก็เดินๆดูเอาตามบ้านหรือตามร้าน เขาก็นั่งทำกันในร้านนั่นแหละ เดินๆดูตามร้าน ก็แสนจะเงียบเหงา คนขายยังแทบไม่เจอ หยิบหมอนไปก็คงไม่รู้ 5555 แต่ที่ได้เห็นคือ หมอนขิดพัฒนารูปแบบไปไกลมากแล้วนะ ไม่ใช่หมอนสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม อย่างที่คุ้นเคย เดี๋ยวนี้มีรูปดาว รูปหัวใจ มีเป็นเบาะพับ เป็นหมอนข้าง สารพันจะออกแบบ พอวนรถจะกลับ ก็มาเจอชาวบ้านนั่งรวมกลุ่มกันทำหมอนอยู่ลานหน้าบ้านใต้ต้นไม้ริมถนน เลยลงไปขอถ่ายรูป ไปคุยกันหน่อย พี่ๆบอกว่า ขายดิบขายดี ทำกันไม่ทัน เดี๋ยวนี้ทำกันแบบมีระบบ หมู่นี้เย็บ หมู่นี้ยัด(นุ่น) หมู่นี้ขนส่ง ประมาณนี้ ที่เราเจอนี่เป็นหมู่เย็บ หมอนยัดนุ่นมาเรียบร้อยแล้ว พี่ๆป้าๆรวมกลุ่มกันเย็บอย่างเดียว เสร็จแล้วเดี๋ยวมีคนมารับ

 

  

  

⊕ วัดมหาธาตุ ⊕

วัดคู่บ้านคู่เมืองยโสธร อยู่ใกล้ๆกับที่ว่าการอำเมืองเมืองยโสธรที่จัดงานไฟตูมกา จุดที่น่าสนใจในวัด มี 3 จุด 1. พระธาตุอานนท์ ที่มีแห่งเดียวในประเทศไทย 2. หอไตรโบราณกลางน้ำ 3. พระพุทธบุษยรัตน์ หรือพระแก้วหยดน้ำค้าง พระพุทธรูปประจำเมืองที่มีขนาดเล็กที่สุด เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะสมัยเชียงแสน เป็นพระบูชาคู่บ้านคู่เมืองของยโสธร ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้า ฯ พระราชทานให้พระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองยโสธรคนแรก พระแก้วหยดน้ำค้างไม่ได้อยู่ในโบสถ์ ถ้าอยากชมต้องถามพระหรือเจ้าหน้าที่วัดให้พาเข้าไปดูในกุฏิเจ้าอาวาส

 

  

  

⊕ ย่านเก่าบ้านสิงห์ท่า ⊕

ถัดจากวัดมหาธาตุมาอีกนิด เป็นย่านเมืองงเก่า ต้องจอดรถแล้วเดินเล่นนะ บางคนก็มาใส่บาตรตอนเช้า แต่เรามาเดินเล่นกันตอนบ่ายแก่ๆ เป็นชุมชนเงียบๆที่ยังใช้ชีวิตอยู่กันจริง บางห้องก็เปิดขายของ บางห้องก็เปิดขายอาหาร แต่ส่วนมากปิดไว้เพราะเจ้าของบ้านไปทำงาน มีตึกเก่าสวยๆอยู่แทรกกับบ้านไม้เก่าที่บางหลังก็ยังอยู่อาศัย บางหลังก็ผุพัง ในย่านเมืองเก่ามี ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ด้วย โดยยโสธรเป็นที่เดียวในประเทศไทยที่มีเสาหลักเมือง 3 หลัก เสาต้นใหญ่ตรงกลางคือเสาหลักเมือง ส่วนเสาที่อยู่ซ้ายขวา คือ ที่สิงสถิตย์ของผีพระละงุมและผีพระละงำ ผู้ปกปักษ์รักษาหลักเมือง แปลกดี

  

       

  

 

⊕ พิพิธภัณฑ์พญาคันคาก ⊕

บ่ายแก่ๆแดดร่มลมตก เหมาะแก่การไปเดินเล่น สวนสาธารณะพญาแถน ริมอ่างเก็บน้ำลำทวน ที่ซึ่งมีอาคารรูปคางคกตัวใหญ่ยักษ์ ด้วยความแปลกทำให้กลายเป็นสัญญลักษณ์ของเมืองยโสธรไปแล้ว ใครไปใครมาก็ต้องมาดู มาถ่ายรูป แต่ถ้าคนเกลียดคางคกขอเตือนว่ามายืนใกล้ๆน่าจะขนลุก ตัวอาคารเป็นพิพิธภัณฑ์บอกเล่าเกี่ยวกับพญาคันคาก หรือพญาคางคกนั่นแหละ ตอนนี้ยังเข้าฟรี ใกล้ๆกันเป็นอาคารรูปพญานาค สีสวยสด ช่วงเย็นเป็นมุมที่แสงเข้า ถ่ายรูปสวย อย่าไปเช้าจะย้อนแสง ถ้าอยากถ่ายภาพมุมไกลต้องขับรถไปทางถนนแจ้งสนิท ขาออกเมือง จะมีช่วงที่เลาะผ่านอ่างเก็บน้ำ มองเห็นคางคกและพญานาคมุมไกล ทั้งพญาคันคาก พญาแถน และพญานาค นี่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันเป็นเรื่องเล่าโบราณ ยาวยืด ไปหาอ่านกันได้

 

   

 

 

⊕ พระธาตุก่องข้าวน้อย ⊕

ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ เป็นนิทานพื้นบ้าน เกี่ยวกับชายคนหนึ่งที่ออกไปทำนา รอแม่เอาข้าวมาส่งก็ไม่มาสักที หิวข้าวจนหน้ามืด พอแม่มาบันดาลโทสะคว้าแอกฟาดแม่จนตาย พอกินอิ่มถึงได้สติ สำนึกผิด สุดท้ายขอบวชและสร้างพระธาตุเพื่อไถ่บาป น่าจะเป็นที่มาของประโยค หิวจนหน้ามืด ได้ยินได้ฟังมาแต่เด็กๆ จะจริงจะเท็จก็ไม่รู้นะ มาถึงยโสธรต้องมาดูให้ได้ ธาตุก่องข้าวน้อย นี่ใหญ่โตกว่าที่คิด มันไม่ใช่พระธาตุทำมือของชาวนาละมั๊ง ประวัติบอกว่าเป็นศิลปะแบบขอม ที่อื่นเค้ามีไก่ มีม้า มีช้าง วางรอบศาลหรือเจดี ที่นี่เป็นควาย

 

  

⊕ พระธาตุกู่จาน ⊕

ขากลับสนามบินอุบล แวะวัดพระธาตุกู่จาน ที่อ.คำเขื่อนแก้ว เพื่อไหว้พระธาตุกู่จาน องค์พระธาตุรูปทรงดูเหมือนองค์พระธาตุพนม เพราะตามประวัติบอกว่า น่าจะถูกสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ และมีต้นแบบมาจากพระธาตุพนม เชื่อกันว่าถูกสร้างขึ้นโดยช่างคนเดียวกัน ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มีศิลาใบเสมาที่มีอักษรจารึกฝังอยู่รอบๆพระธาตุด้วย

  

  

ยโสธร กับ 7 สิ่งมหัศจรรย์ ที่เป็นที่สุดในประเทศไทย

เที่ยวยโสธรแค่วันกว่าๆ ไปได้ยังไม่ครบ 7 ที่สุด ที่ยโสธรเขาบอกไว้ แต่ก็ได้ไป 5 ที่ เกือบครบนะ ตามจริงยโสธรยังมีที่เที่ยวอำเภออื่นๆอีก อย่าง ภูถ้ำพระ อ.กุดชุม อำเภอที่เขาว่ากันว่าลูกชิ้นหมูอร่อย หรือ ทุ่งบัวแดง อ.มหาชนะชัย ถ้ามีโอกาสไปเที่ยวอิสานใต้ จัดเวลามาเยี่ยมเยือนยโสธรสักวันหรือสองวันก็ได้นะ ยโสธรเป็นจังหวัดเงียบๆสงบๆ เป็นเมืองรองที่ไม่เป็นรองใครเหมือนกัน

ว่ากันเรื่องของกิน เอาแค่ที่ไปชิมมา ยังมีร้านอื่นๆอีกหลายร้าน ใครไปยโสธรลองชิมร้านอื่นตามรีวิวก็ได้

   

ร้านครัวเช้า

ชื่อชัดเจนว่าขายอาหารเช้า แต่จริงๆขายหลายอย่าง ตั้งแต่ไข่กระทะ ข้าวต้ม ก๋วยเตี๋ยว ข้าว ชา กาแฟ ขายตั้งแต่เช้าถึงบ่าย ถามคนที่พักว่ากินอาหารเช้าที่ไหนก็บอกครัวเช้า ถามใครก็บอกครัวเช้า ก็เลยกินไป 2 เช้า

 

ก๋วยเตี๋ยวเรือร้านปุ๋ย

ที่หลายๆรีวิวแนะนำให้มาทาน เราก็เลยไป ก็ไม่ได้อร่อยมากเท่าที่คาด ธรรมดาๆ แต่คนเยอะมาก แต่ก็รอคิวไม่นาน คนยโสธรคงชอบรสชาติแบบนี้

 

ลาบเป็ด กับ ก๋วยจั๊บ มีขายหลายร้านในยโสธร มายโสธรทั้งทีต้องหากินลาบยโสให้ได้ ในกรุงเทพฯมีป้ายกลาดเกลื่อนมาก ร้านที่เราไปกิน แซ่บอีหลี ยโสธร” อยู่ในซอยลึกลับมืดตื๋อ อาหารอร่อยใช้ได้ แต่ไร้ลูกค้าเลย วันหยุดจะมีคนหรือเปล่าก็ไม่รู้ได้ ก๋วยจั๊บหรือข้าวเปียก ทานร้านกลางเมือง “ร้านก๋วยจั๊บแจ่มใส” น่าจะร้านดังใช้ได้ คนเต็มร้านตั้งแต่เย็นจนดึก ที่ร้านมีขนมปังปิ้งหน้าต่างๆกับเครื่องดื่มด้วย ก็เลยเป็นศูนย์ร่วมวัยรุ่นยโสฯกลายๆ

   

Va-Chi Coffee bar & bistro

ร้านกาแฟร้านนี้แนะนำ เพราะบรรยากาศดี แต่งร้านสวย เครื่องดื่มกับขนมใช้ได้ ราคามิตรภาพมาก จากใจคนกรุงเทพแล้วสถานที่กับราคาประทับใจเลย นั่งพักร้อนจากแดดเปรี้ยงๆ จิบชา กาแฟ สักครึ่งค่อนชั่วโมง

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: