เที่ยวอ่างทอง
มิถุนายน ปีโควิดบุก
การต้องนั่งๆนอนๆอยู่แต่ในบ้านเป็นเวลานานๆมันทรมานใจนักเดินทางสิ้นดี แต่เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง ครอบครัว และเป็นความรับผิดชอบต่อส่วนรวมก็ต้องยอม ผ่านมา 2 เดือน ทางการผ่อนปรนให้เดินทางข้ามจังหวัดได้ นั่งทานอาหารตามร้านได้ ก็ขอออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์ มองสีเขียว พบผู้คนกันบ้าง เริ่มจากจังหวัดใกล้ๆ เลือกไป “อ่างทอง” เหตุผลก็เพราะ ช่วงหนีโควิดอยู่บ้าน 2-3 เดือน ก็จะได้ดูทีวีมากหน่อย วันก่อนเปิดไปเจอรายการพาไปเที่ยววัดร้าง มีโบสถ์ที่ต้นไม้เลื้อยพันผนังโบสถ์ ตอนแรกคิดว่าวัดบางกุ้งแถวอัมพวา พอฟังรายละเอียดแล้วไม่ใช่ เป็นวัดที่อ. จ.อ่างทอง ชื่อวัดน่ารักมาก วัดสังกระต่าย แปลกใจเหมือนกันที่ไม่เคยรู้จัก
บางคนอาจสงสัยว่ามาอ่างทองจะเที่ยวอะไร หลายคนก็อาจจะตอบคล้ายๆกันว่าไหว้พระ ถูกต้องแล้ว มาอ่างทองก็ต้องเที่ยววัด แถมด้วยตลาดเก่า แล้วก็พวกศูนย์ชุมชนต่างๆ เดี๋ยวจะลงรายการไว้ให้ตอนท้าย
วัดสังกระต่าย
ต.ศาลาแดง อ.เมือง
มาอ่างทองคราวนี้เพราะอยากมาวัดนี้แหละ แต่พอเลี้ยวรถเข้าเขตวัดมองเห็นโบสถ์ ก็ร้องกรี๊ด เพราะวันนี้โบสถ์ต้นไม้ล้อมแห่งนี้ โดนล้อมด้วยนั่งร้าน
ณ วันนี้ โบสถ์ร้างวัดสังกระต่ายมีนั่งร้านล้อมรอบตัวโบสถ์ทั้งด้านนอกด้านใน ยังดีที่ไม่ได้ขึงผ้าใบปิดมิด ไม่รู้รายละเอียดโครงการว่าจะมีการบูรณะหรือซ่อมแซมปรับปรุงอะไรยังไง เพราะความหงุดหงิดในอารมณ์ว่าทำไมเราไม่รู้จักนะ จนคนเขามาเที่ยวมาถ่ายรูปกันไปมากมาย เราไปอยู่ที่ไหนมา ทำไมเพิ่งรู้จัก บลาๆๆ หงุดหงิดจนแค่เข้าไปไหว้พระแปะทองแล้วออกมาเดินวนถ่ายรูปไม่กี่รูปก็กลับ เลยไม่ได้เข้าไปอ่านป้ายแสดงรายละเอียดการบูรณะ แต่ได้มายืนอ่านประวัติทีป้ายใกล้ที่จอดรถ ได้ความว่า วัดนี้สร้างมา 400 กว่าปี และถูกทิ้งร้างมา 200 กว่าปี เลยนึกด่าตัวเองซ้ำไปอีก โถ…. มีเวลาตั้ง 200 กว่าปีไม่มา ดันมาตอนมีนั่งร้านล้อมรอบโบสถ์!!!!






โบสถ์วัดสังกระต่ายทำให้ผิดหวังน้ำตาหลั่งริน แต่ไหนๆมาอ่างทองทั้งที ก็ไปแวะไหว้พระตามวัดต่างๆ แวะจิบกาแฟ พักใจพักกายกันดีกว่า และก็พบว่า อ่างทองนี่มีแต่พระใหญ่ๆ แบบว่าใหญ่มากๆ ใหญ่คับโบสถ์ ชนิดว่าถ้าไม่ได้เอาเลนส์ซุปเปอร์ไวด์ติดมา ก็จะเก็บภาพไม่หมดกันเลย อ่ะ! ไป! แบกกล้องไปส่องพระใหญ่กัน

๑. วัดป่าโมก
ต.ป่าโมก อ.ป่าโมก
พระนอนพระพักตร์สวยที่สุด
พระนอนวัดป่าโมกเก่าแก่ทั้งองค์พระและตัววัด เพราะเล่ากันว่าองค์พระนอนขนาดยาว 23 ม. ลอยน้ำมาจมอยู่ริมตลิ่ง ชาวบ้านจึงได้ทำพิธีอัญเชิญขึ้นไปไว้ที่บนตลิ่ง มาถึงสมัยพระเจ้าท้ายสระได้มีรับสั่งให้ชะลอพระมาที่วัดตลาด และให้สร้างวิหารเพื่อประดิษฐานองค์พระและรวมเขตวัดตลาดกับวัดชีปะขาวเข้าด้วยกัน ตั้งชื่อว่าวัดป่าโมก องค์พระนอนเป็นศิลปะแบบสุโขทัยจึงน่าจะเก่าแก่มากๆ มีเรื่องเล่ากันอีกว่าสมเด็จพระเนศวรมหาราช ได้เคยเสด็จมาสักการะพระนอนวัดป่าโมก ก่อนจะไปออกศึกกับพระมหาอุปราชด้วยนะ




๒. วัดราชปักษี
ต.โพสะ อ.เมือง
พระนอนองค์ใหญ่ สมัยอยุธยา
พระนอนขนาดใหญ่อีกองค์ที่อยู่ในวัดราชปักษี สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปเก่าสมัยอยุธยา มีการอัญเชิญองค์พระจากริมแม่น้ำมาไว้ที่วัดและสร้างวิหารครอบองค์พระไว้ ได้ชื่อว่า “พระรอดวชิรโมลี” เพราะรอดจากการเสียหายมาหลายครั้ง




๓. วัดจันทรังษี
ต.โพสะ อ.เมือง
รูปหล่อหลวงพ่อสดองค์ใหญ่ที่สุดในโลก
ขับรถอยู่ในอ่างทองตามริมถนนจะเห็นป้าย หลวงพ่อสดองค์ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่หลายป้าย เลี้ยวรถตามป้ายจะพาไป วัดจันทรังษี มีวิหารหลวงพ่อสด เป็นวิหารหลังคาทรงแหลมแบบเจดีย์ เข้าไปนมัสการรูปหล่อ หลวงพ่อสด (หลวงพ่อสด จันทสโร) ที่เป็นรูปเหมือนทำด้วยโลหะมีขนาดใหญ่ หน้าตัก 6 เมตร 9 นิ้ว สูง 9 เมตร น้ำหนัก 45 ตัน ลงรักปิดทองคำทั้งองค์ ในบริเวณวัดมีวิหารพระโพธิสัตว์กวนอิมพันกรด้วย แต่ไม่ได้เข้าไปดู เจ้าแม่กวนอิมน่าจะองค์ใหญ่ด้วยเหมือนกัน


๔. วัดต้นสน
ต.บางแก้ว อ.เมือง
พระพุทธรูปโลหะทองเหลืองขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
วัดสมัยอยุธยาตอนปลาย มี “สมเด็จพระพุทธนวโลกุตร ธัมมบดีศรีเมืองทอง” หรือ “สมเด็จพระศรีเมืองทอง” เป็นประธานในโบสถ์ องค์พระใหญ่หน้าตักกว้าง 6 วา 3 ศอก 9 นิ้ว สูง 9 วา 2 ศอก 19 นิ้ว หล่อด้วยทองเหลืองปิดทองคำแท้ทั้งองค์ เป็นที่เคารพของชาวอ่างทองและนักท่องเที่ยว


๕. วัดขุนอินทประมูล
ต.อินทประมูล อ.โพธิ์ทอง
พระนอนใหญ่อันดับ 2 ของประเทศไทย
วัดดังของนักท่องเที่ยว มีพระนอนองค์ใหญ่อยู่กลางแจ้ง เพราะวิหารเดิมเคยถูกไฟไหม้ ทำให้พังทลายลงมาหมด เหลือแต่องค์พระ ประดิษฐานอยู่กลางแจ้งมาหลายร้อยปี องค์พระนอนวัดขุนอินฯ ชื่อว่า “พระศรีเมืองทอง” มีความยาว 50 ม. ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทยรองจากวัดบางพลีใหญ่ จังหวัดสมุทรปราการ เลยทีเดียว ด้านข้างมีโบสถ์เก่าที่เหลือแต่ผนัง มีต้นไม้เลื้อยพันผนังอิฐก่อ กำลังทำการบูรณะ
๖. วัดม่วง
ต.หัวตะพาน อ.วิเศษชัยชาญ
พระพุทธรูปใหญ่ที่สุดในโลก
วัดเก่าแก่สมัยอยุธยาที่โดนเผาทำลายเสียหายจนแทบไม่เหลือซาก ภายหลังได้รับการบูรณะจนกลับมาเป็นวัดใหญ่โตสวยงาม มีวิหารที่มีปูนปั้นรูปกลีบบัวล้อมรอบ และวิหารเงินวิบวับ แต่จุดเด่นของวัดม่วงอยู่ที่พระพุทธรูปองค์ใหญ่ มองเห็นได้แต่ไกล “พระพุทธมหานมินทร์ศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ” มีขนาดหน้าตักกว้าง 62 เมตร สูง 93 เมตร สร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ใช้เวลาก่อสร้าง 16 ปี
๗. วัดไชโยวรวิหาร
ต.ไชโย อ.ไชโย
พระประธานปางสมาธิองค์ใหญ่ สร้างโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
มาถึงอำเภอไชโยต้องไม่พลาดมาไหว้พระที่วัดไชโยวรวิหาร วัดอารามหลวงในอำเภอไชโย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา พระประธานปางสมาธิองค์ใหญ่อยู่ในโบสถ์หลังคา 3 ชั้นลดระดับทาสีขาวอมชมพูสวยแปลกดี องค์พระประธาน “พระมหาพุทธพิมพ์” ขนาดหน้าตักกว้าง 8 วา 6 นิ้ว สูง 11 วา ศอก 7 นิ้วใหญ่ ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทองสวยงาม สร้างโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ตัวโบสถ์และวิหารมีการปรับปรุงต่อเติมมาเรื่อยๆ พื้นที่วัดติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เดินไปที่ริมแม่น้ำจะมีวิหารสร้างใหม่อีกหลังที่มีรูปปั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) องค์ใหญ่อีกองค์ให้เข้าไปกราบไหว้
๘. วัดมหานาม
ต.ไชยภูมิ อ.ไชโย
พระสังกัจจายน์องค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ไม่ไกลจากวัดไชโย ไปแวะไหว้พระสังกัจจายน์องค์โตที่วัดมหานาม เข้าไปในวัดจะเจอโบสถ์และรูปปั้นหลวงพ่อขาว พระพุทธรูปสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ชาวอ่างทองศรัทธา เดินเลยไปด้านในของวัดจะเจอศาลาหน้าตาคล้ายศาลเจ้าเล็กๆ ถัดกันคือรูปปั้นพระสังกัจจายน์องค์ใหญ่ ว่ากันว่าใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หน้าตักกว้าง 6 วา 1 ศอก 7 นิ้ว สูง 17 วา 4 ศอก 29 นิ้ว เหนือเศียรพระสร้างเป็นเจดีย์เล็กบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มีรูปปูนปั้นแบบจีนบนขอบรั้วรอบองค์พระด้วย สวยดี




๙. วัดสี่ร้อย
ต.สี่ร้อย อ.วิเศษชัยชาญ
“พระร้องไห้”พระพุทธรูปองค์ใหญ่ปางป่าเลไลย์
วัดเก่าแก่คาดว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ปางป่าเลไลย์อยู่กลางแจ้ง ชาวบ้านเรียก “หลวงพ่อโต” หน้าตักกว้าง 6 เมตร สูง 21 เมตร เคยมีเหตุการณ์แปลก มีของเหลวไหลออกมาจากองค์พระ ชาวบ้านก็เลยเรียกกันว่า”พระร้องไห้” ข้างๆองค์พระมีการสร้างเจดีย์และรูปปูนปั้นทหารโบราณเพื่อเป็นที่เตือนใจให้กับเหตุการณ์ ขุนรองปลัดชู กรมการเมืองวิเศษไชยชาญ ที่พาทหาร 400 นายไปร่วมรบกับกองทัพจากอยุธยาสู้กับกองทัพพม่าที่เมืองประจวบฯแต่พ่ายแพ้และเสียชีวิตทั้งหมด มีเรื่องเล่ากันว่า กลางคืนมีคนเคยเห็นทหารโบราณเดินในบริเวณวัดด้วย น่ากลัวแท้ๆ



วันเดียวก็ไหว้พระ 9 วัดอ่างทองได้ ถ้าไปแต่เช้าๆ ก็ขับรถสบายๆ ที่เอามาแนะนำมีแต่พระใหญ่ๆทั้งอยู่กลางแจ้งหรือในโบสถ์ วิหาร แต่ยังมีวัดอื่นๆที่พระไม่ใหญ่อีกเยอะแยะ อย่าง วัดนางในธัมมิการาม พระธาตุเจดีย์ศรีโพธิ์ทองวัดท่าอิฐ

เสริมศิริมงคลด้วยการไหว้พระ ๙ วัดแล้ว แถมร้านกาแฟให้พักหลบแดดหลบฝน จิบเครื่องดื่มร้อนเย็นเพลินๆ จุดแรกที่คนชอบไปกันมาก เพราะมีมุมมองเห็นพระใหญ่วัดม่วงผ่านทุ่งนา ร้านแรกโด่งดังมานานคือร้าน “มะขาม คาเฟ่” มุมดีสุดเพราะอยู่ใกล้วัดม่วง แต่…วันที่เราไปร้านปิด เลยได้รูปมาให้ดูมุมว่า ถ้าร้านเปิดสั่งกาแฟไปนั่งจิบชิมวิวได้ มีทำทางเดินไม้เข้าไปในทุ่งนา สวยงามดูดี

พลาดจากร้านมะขามคาเฟ่ ก็เลยต่อมาในมุมมองคล้ายกันแต่อยู่ไกลออกมาหน่อย มีร้านกาแฟมาเปิดอีกร้านชื่อ “The Lao Coffee” ทำร้านคล้ายๆกัน แต่มุมมององค์พระไม่สวยเท่า มีส่วนห้องแอร์และด้านนอกนั่งรับลมชมวิว ใช้เมล็ดกาแฟจากที่ราบสูงบอละเวนในประเทศลาว นอกจากกาแฟ ก็มีอาหารด้วยนะ
หากมาเที่ยววัดขุนอินฯ อ.โพธิ์ทองแนะนำ ร้านภูมิคาเฟ่ (Poom cafe’) อยู่ไม่ไกลจากวัด ตัวร้านไม่ต้องการมุมมองหรือวิวอะไรนอกจากความเก๋ของตัวร้านเองกับเรือนไม้ เปิดโล่ง กว้างขวาง มีของเก่าสะสมวางตกแต่งทั่วร้าน เลือก ชา กาแฟ เค๊ก ขนม นั่งรับลมใต้ร่มไม้
หลายๆคนอาจเคยเห็นหุ่นยนต์ตัวยักษ์ยืนเด่นเวลาขับรถผ่านขึ้น-ลงสายเหนือ ทางถนนสายเอเชีย (ทางหลวง 32) แวะ “สภากาแฟ บ้านหุ่นเหล็ก” จิบชากาแฟหรืออาหาร พร้อมชมประติมากรรมหุ่นเหล็กเก๋ๆที่บ้านหุ่นเหล็กก่อนกลับกรุงเทพฯก็ดี เพราะอยู่ริมถนนตรงฝั่งขาเข้า มีค่าเข้าชม 20 บาทแค่นั้น สายถ่ายรูปคงชอบ
แถมร้านอาหารให้ 1 ร้านที่ได้ไปแวะชิม ขับซิกแซกไปตามระบบนำทาง เลาะคลองส่งน้ำไป เลี้ยวเข้าไปทางวัดอัมพวัน ยังนึกว่าลึกลับขนาดนี้จะมีใครมา ที่ไหนได้ รถเต็มที่จอดแม้จะไม่ใช่วันหยุด ร้าน”ปิ่นโต” ที่อ่านเจอในเว็บต่างๆมีคนแนะนำหลายคน ร้านขนาดไม่ใหญ่ไม่เล็ก อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บรรยากาศดีมาก อาหารอร่อยอีกต่างหาก เสียดายที่ไปคนเดียวสั่งได้แค่นี้ อาหารบางอย่างใส่มาในโถปิ่นโตสวยเก๋ ข้าวก็ใส่โถปิ่นโตเล็กน่ารัก ร้านนี้อร่อยแนะนำ
เอาจริงๆแล้ว วันเดียวเที่ยวไม่หมดหรอก นอกจากวัดก็มีตลาดเก่าวิเศษชัยชาญให้เดินเล่น มีศูนย์ตุ๊กตาชาววังให้เข้าไปเดินดูงานฝีมือ ร้านอาหารอร่อยอีกหลายร้าน สำหรับคนกรุงเทพฯคงไม่ยากที่จะไปได้อีกหลายๆครั้ง

ว่าที่จริงแล้ว คนโดยมากไม่ค่อยชอบ ‘ปิดทองหลังพระ’ กันนัก
เพราะว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า…
ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้….”
( พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๐๖ )
Leave a Reply