
“ชุมชนกุฎีจีน” หนึ่งในชุมชนเก่าแก่ฝั่งธนบุรีที่น่าจะคุ้นหูหรือผ่านตาหลายๆคน ย่านกุฎีจีนอยู่ตรงไหน บอกพิกัดได้ง่ายๆคืออยู่คนละฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยากับปากคลองตลาด ถ้าอ้างอิงด้านฝั่งธนบุรี ก็เลยจากวัดอรุณฯมาทางจะไปวงเวียนใหญ่มาไม่ไกล
ก่อนไปกุฎีจีนก็อ่านข้อมูลไปบ้างเล็กน้อย สงสัยจริงๆว่าชุมชนเก่าแก่นี้เป็นชุมชนชาวจีนหรือชุมชนชาวตะวันตกกันแน่ เพราะย่านกุฎีจีนมีชื่อเสียงว่าเป็นแหล่งขนมฝรั่ง เรียกว่าขนมฝรั่งกุฎีจีน คำว่าขนมฝรั่งคือขนมที่มีต้นตำหรับจากฝรั่ง ฝรั่งที่อ้างถึงคือชาวโปรตุเกส
ไปเดินเที่ยวก่อนแล้วกลับมาหาข้อมูลเพิ่มเติม(นิสัยเดิม 😊) หาข้อมูลอ้างอิงหลายแหล่งก็ยังไม่ชัดเจนนัก แต่สรุปรวมๆแล้วได้ความว่า ชุมชนบริเวณนี้น่าจะมีชาวจีนอยู่มาแต่ดั้งเดิม เป็นชาวจีนที่เข้ามาค้าขายทางเรือตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีหรือก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ เพราะเป็นจุดพักเรือเพื่อมาจ่ายค่าธรรมเนียมต่างๆก่อนเข้าไปค้าขายต่อที่อยุธยา คำว่า “กุฎีจีน” มาจากคำว่า “กุฏิจีน” เพราะมีวัดจีน มีพระจีนอยู่ พูดไปพูดมาก็เพี้ยนเป็น “กุฎีจีน”
ส่วนชาวโปรตุเกสมายังไง? ชาวโปรตุเกสก็ติดต่อค้าขายกับไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว มีบันทึกว่านอกจากค้าขายแล้วชาวโปรตุเกสยังมาเป็นทหารรับจ้างด้วย ตอนที่พระเจ้าตากฯทำสงครามเพื่อกอบกู้เอกราชก็มีทหารรับจ้างโปรตุเกสเข้าร่วมรบด้วย เมื่อรบชนะและได้สถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ก็ได้พระราชทานพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณนี้ให้ชาวโปรตุเกส ได้สร่างที่พักอาศัย สร้างโบสถ์ (ปัจจุบันคือโบสถ์ซางตาครูส) ชาวโปรตุเกสจากอยุธยาก็อพยพติดตามพระเจ้าตากมาอยู่ในบริเวณนี้ด้วย ชุมชนกุฎีจีนก็เลยมีหลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายวัฒนธรรม ปะปนกันไป [ที่มา: บทสัมภาษณ์ คุณนาวีนี พงศ์ไทย ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน เรื่องเล่าชุมชนกุฎีจีน ]
ผ่านมากว่า 200 ปี ชาวกุฎีจีนร่วมมือร่วมใจ พยายามอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นไว้ให้คงอยู่ โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน มีการจัดระบบการท่องเที่ยวที่ดี มีแผนที่อยู่ทั่ว มีป้ายบอกทางชัดเจน เดินเที่ยวได้ง่าย ไม่มีหลง
สำหรับคนที่ขับรถมา แนะนำตั้งพิกัดไปที่วัดกัลยาณมิตรเลย ไปจอดรถที่วัด เสียค่าจอด 20 บาท ลานจอดกว้างขวางใหญ่โต แต่ถ้าไม่ขับรถมา ก็มาทางเรือด่วนได้แต่ลงท่าปากคลองตลอด หรือท่าสะพานพุทธ (แล้วแต่ว่านั่งเรือธงสีอะไรนะ) แล้วขึ้นเรือข้ามฟากตรงปากคลองตลาด มาที่ท่าเรือวัดกัลยาฯ หรือมาทางถนนก็รถเมล์ลงปากคลองตลาดนั่งเรือข้ามฟาก หรือนั่งรถเมล์ไปทางฝั่งธนฯ เช่น สาย 3, 7, 21 ผ่านปากทางเข้าวัดกัลยาฯ หรือ โบสถ์ซางตาครูส เลือกลงเอาตามชอบว่าอยากเริ่มต้นเดินเที่ยวจากทางไหน
วัดกัลยาณมิตร
วัดกัลยาณมิตร เป็นพระอารามหลวง สร้างมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 สถาปัตยกรรมเป็นลักษณะผสมผสาน มีการนำเอาศิลปะจีนเข้ามาประกอบ มีการตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบ มีหอกลองแบบจีนและหอระฆังแบบไทย มีศาลาเก๋งจีน 3 หลังด้านริมแม่น้ำ มีพระวิหารหลวงอยู่ระหว่างพระอุโบสถและศาลาการเปรียญ
พระประธาน ภายในวิหารหลวงเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ชื่อ พระพุทธไตรรัตนนายก ชาวบ้านเรียก หลวงพ่อโต ส่วนชาวจีนเรียก “ซำปอกง”

พระพุทธไตรรัตนนายก หรือ หลวงพ่อโต หรือ ซำปอกง
จากวัดกัลยาฯ เดินออกไปที่ท่าเรือ จะเห็นทางเดินเลียบริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นทางปูนอย่างดี มีสัญลักษณ์บอกแนวให้นักปั่นได้ปั่นเที่ยวด้วย มาปั่นช่วงเช้าหรือช่วงเย็นน่าจะบรรยากาศดี เดินเลียบแม่น้ำมาไม่กี่เมตร ก็เจอศาลเจ้าเกียนอันเกง

ศาลเจ้าเกียนอันเกง
เปิดทุกวันเวลา 08.00 – 17.00 น. (ด้านในห้ามถ่ายรูป)
ศาลเจ้าเก่าแก่แห่งย่านกุฎีจีน อ่านประวัติมาว่ามีการสร้างศาลเจ้าในบริเวณนี้โดยชาวจีน แต่เดิมมี 2 ศาล ต่อมาในสมัย ร.๓ ศาลเจ้าได้ทรุดโทรมลงไปมาก จึงได้รื้อศาลเจ้าเดิมออกสร้างใหม่รวมเป็นศาลเดียว มีเจ้าแม่กวนอิมสลักด้วยไม้เป็นองค์ประธานในศาลเจ้า
ตอนที่ไปโชคร้ายไปนิด เพราะศาลเจ้ากำลังอยู่ในช่วงบูรณะซ่อมแซมโดยกรมศิลปากร แต่แค่มองทางเข้าศาลเจ้าและหลังคาผ่านนั่งร้านและตาข่ายเข้าไปก็ประทับใจในความสวยงามแล้ว เดินเข้าไปด้านในแล้วขอบอกว่า มันสวยงามมาก มาก มาก มากจริงๆ ยิ่งได้รับการบูรณะซ่อมแซมภาพฝาผนังแล้วเลยทำให้สวยงามมากขึ้นไปอีก เสียดายว่าด้านในห้ามถ่ายรูป
จากศาลเจ้าเดินเลียบแม่น้ำต่อไปอีก มองเห็นสะพานพุทธอยู่ไม่ไกล เดินมาแค่ 100 เมตร ก็ถึงโบสถ์ซางตาครูสแล้ว


โบสถ์ซางตาครูส
เปิดเฉพาะเวลามิสซาเท่านั้น หากมีความประสงค์จะเคารพสักการะ
วันจันทร์ – วันเสาร์ เวลา 17.00 น. – 19.30 น.
วันอาทิตย์ เวลา 06.00 , 08.30 และ 19.00 น.
ตามที่เล่ามาข้างบน เมื่อพระเจ้าตากสินชนะสงครามกอบกู้เอกราชสำเร็จ ได้สถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ก็ได้พระราชทานพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานี้ให้ชาวโปรตุเกส มีสร้างโบสถ์ เป็นโบสถ์ของศาสานาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิค ที่เรียกกันว่าพวกคริสตัง ในครั้งแรกสร้างเป็นโบสถ์ไม้ ต่อมาไฟไหม้เสียหาย และได้สร้างใหม่ขึ้นมาอีก 2 ครั้ง โบสถ์ปัจจุบันสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีสถาปัตยกรรมแบบเรอเนสซองส์ผสมนีโอคลาสสิก ยอดโดมทรงกลมมีลักษณะคล้ายกับโดมของมหาวิหารฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี กระจกสีประดับด้านในนำเข้าจากประเทศฝรั่งเศส
เดินวนไปเจอประตูโบสถ์เปิด เดินเข้าไปเจอเจ้าหน้าที่ แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่อนุญาตให้เข้าไปเยี่ยมชม ก็เลยเดินออกมา ถามพี่ที่ร้านแถวๆนั้นบอกว่าถ้าอยากเข้าไปดูให้มาประมาณ 5 โมงเย็นโบสถ์จะเปิดให้เข้าได้ ได้กลับมาอ่านประวัติที่มาของโบสถ์ถึงได้รู้เรื่องราวอันเข้มข้นของการพยายามชักชวนคนไทย คนจีน เข้ารีต จนสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในเวลานั้นไม่พอพระทัย พวกคริสตังใช้คำเรียกคนที่เปลี่ยนจากการนับถือศาสนาอื่นหรือไม่นับถือศาสนาใดแต่มาเข้ารีตว่า “คนกลับใจ” เป็นคำถามในใจ ทำไม?

จากนี้ก็เดินเข้าไปเที่ยวในชุมชนกุฎีจีกันล่ะ เราเดินไปด้านหลังโบสถ์จะเจอซอยกุฎีจีน 1 วนต่อไปซอย 2 ซอย 3 มาถึงซอย 4 เป็นตรอกเดินเข้าไปได้ มีตรอกซอกซอยเยอะแยะ เลือกเดินกันตามสะดวก มีเวลามาก ก็เดินวนไปทุกซอกทุกซอย บางซอยก็มีกราฟิตี้ บางซอยก็มีบ้านสวยๆ บางซอยก็มีขายอาหาร ขายยขนม บางซอยก็มีแต่บ้านคน จุดเด่นที่อยู่ในแผนที่เดินเที่ยวจะมีป้ายชีบอกทางอยู่
ชุมชนกุฎีจีน

5. ที่ทำการชุมชน




10. พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน
เปิดทุกวัน ๙.๓๐ – ๑๘.๐๐ น. ยกเว้นวันจันทร์
เดินตรงๆตามตรอกซอย 3 จะมาเจอ พิพิธภัณฑ์กุฎีจีน เข้าฟรีนะ เป็นคนในชุมชนที่ต้องการทำพิพิธภัณฑ์เพื่อบอกเล่าประวัติของย่านกุฎีจีน และเพื่อบันทึกเรื่องราวความเป็นมาของชาวสยาม-โปรตุกิส แนะนำเลยว่าควรเข้าไปชม ตัวพิพิธภัณฑ์เป็นบ้านเก่าที่บูรณะแล้วมาเปิดให้เข้าชม มี 3 ชั้น ชั้นล่างเป็นคาเฟ่ และร้านขายของที่ระลึก กรุณาอุดหนุนด้วยนะ เพราะเขาเปิดให้เข้าชมฟรี ขึ้นไปชั้นที่ 2 จัดเป็นห้องแสดงเรื่องราวความเป็นมาของชาวโปรตุเกสในประเทศไทย และที่มาของชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกส ขึ้นไปชั้น 3 จะจำลองห้องนอนสมัยก่อน มีเตียงมีโต๊ะจัดแสดง อันที่เห็นแล้วมันใช่เลยคือผ้าม่าน เป็นแบบที่จำได้ว่าเคยเห็นตอนเด็กๆที่บ้านคุณชวดเลย ลมพัดผ้าม่านปลิวไสว สุดท้ายขึ้นไปดาดฟ้า เป็นจุดชมวิวชุมชนกุฎีจีนได้ทั่ว ด้านซ้ายมองเห็นวัดกัลยาฯ เห็นศาลเจ้า ไล่มาถึงทางขวามือคือโบสถ์ซางตาครูส มองลงไปที่ชุมชนเห็นแต่หลังคาแน่นไปหมด



ชั้นล่างเป็นคาเฟ่ และร้านขายของที่ระลึก
ชั้น 2 จัดนิทรรศการ บอกเล่าเรื่องราวของชาวโปรตุเกสกับชาวไทย
ชั้น 3 จำลองสภาพบ้านเรือนในยุคเก่า และแสดงข้าวของเครื่องใช่
สุดท้ายขึ้นชั้นดาดฟ้าไปชมวิวกัน

ในพิพิธภัณฑ์ชั้น 3 ที่โต๊ะอาหาร วางอาหารโปรตุเกสให้ดู มื้อเที่ยงก็เลยต้องไปหาชิมอาหารโบราณสักหน่อย ฝั่งเยื้องๆกับพิพิธภัณฑ์ มีร้านอาหารสกุลทอง ดูน่าสนใจมาก แต่เราไม่ได้กินข้าวร้านนี้ เพราะมาคนเดียวอยากกินหลายอย่าง กินไม่ไหว เลยเดินย้อนไปที่โบสถ์ ตรงติดกับท่าน้ำ มีร้านอาหารเล็กๆแอบอยู่
15.ขนมจีนแกงไก่คั่วร้านเฮโลนมสด
ฝากท้องกับร้านเฮโลนมสดแต่ไม่กินนมสด จัดขนมจีนแกงไก่คั่วดูหน่อย รอไม่นานก็ได้ชิม แกงไก่เหมือนแกงเผ็ดแต่ไม่ใส่ผักเลย อร่อยตามสมควร เพราะไม่ชอบกินผักในแกงเผ็ดอยู่แล้วเลยถูกใจมาก กินเกลี้ยงเลย ร้านอยู่ริมแม่น้ำติดกับทางเข้าวัดซางตาครู๊สเลย ป้ายจะเล็กๆหน่อย
ขนมจีนแกงไก่คั่ว เป็นอาหารโบราณสูตรโปรตุเกส ใช้ไก่สับผัดกับกะทิและพริกแกงแดง มีใส่ถั่วคั่วผสมด้วย มีใส่เลือดไก่ ตับไก่ ดูคล้ายน้ำเงี้ยวเหมือนกัน ที่แปลกคือกินคู่กับพริกเหลืองน้ำมันที่คล้ายน้ำส้มพริกตำ บางตำราบอกว่ามีที่มาจากสปาเก็ตตี้ไวท์ซอส



อิ่มอาหารแล้ว ถึงเวลาพักผ่อนจิบกาแฟ ซึ่งเลือกได้ว่าจะไปนั่งชิลจิบกาแฟที่พิพิธภัณฑ์กุฎีจีนก็ได้นะ บรรยากาศดีมาก นั่งสบาย แต่เราอุดหนุนเครื่องดื่มเย็นไปแล้ว ก็เลยเลือกไปกระจายเงินร้านอื่นบ้าง เลือกไปนั่งจิบกาแฟที่ร้านขนมฝรั่งธนูสิงห์ ร้านขนมฝรั่งชื่อดังของย่านนี้
ระหว่างทางเดินแวะซื้อขนมจาก ร้านป้าอำพรรณ (7) เป็นการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง ซื้อมา 3 อย่าง 3 ถุง 100 บาท ราคามาตรฐานขนมของฝาก ก๋วยตั๊ส (พายสัปปะรด) ขนมหน้านวล ขนมกุสลา (ร้านบอกว่าไม่ได้มีทุกวัน ทำเฉพาะเทศกาล เราโชคดีที่มีขายวันนี้เพราะทำไว้ในงานของโบสถ์) ส่วนขนมฝรั่งไม่ได้อุดหนุนเพราะจะไปอุดหนุนของร้านธนูสิงห์


- ขนมกุสลา หรือ “ขนมตรุษฝรั่ง” เพราะนิยมทำขึ้นบริโภคในครอบครัวเฉพาะช่วงเทศกาลคริสต์มาส หรือ ตรุษฝรั่ง มีส่วนผสมแบบเดียวกันขนมฝรั่งกุฎีจีน แต่เพิ่มเนย เกลือ และน้ำเข้าไป นำไปทอดแล้วเคลือบน้ำตาล
- ขนมหน้านวล ขนมไทยโบราณทำจากแป้งสาลี ไข่แดง และน้ำตาล อบให้สุก
- ก๋วยตั๊ส หรือพายสัปปะรด ขนมตำรับโปรตุเกสอีกอย่างที่หาทานได้เฉพาะที่กุฎีจีน


11. ร้านธนูสิงห์
ขายขนมฝรั่งสูตรดั้งเดิมมานานเป็นร้อยๆปี ปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 5 แล้ว ก็ยังคงรักษาสูตรขนมฝรั่งดั้งเดิมและยังทำขายอยู่ นอกจากส่วนที่ทำขนมอบหอมฟุ้งแล้ว ยังมีแบ่งส่วนเปิดเป็นร้านกาแฟด้วย ที่นี่จะเป็นกาแฟดริป ถามแล้วเป็นกาแฟผสม อราบิก้า+โรบัสต้า สั่งกาแฟร้อนใส่นม มาจิบกับขนมฝรั่งที่เพิ่งเสร็จใหม่ร้อนๆ อร่อยเข้ากัน นั่งพักเหนื่อยได้ดี

ขนมฝรั่งกุฎีจีน ทำจากแป้ง ไข่ และน้ำตาล ผสมเข้ากันจนขึ้นฟู เทใส่พิมแล้วอบจนสุก นำออกมาโรยหน้าด้วยน้ำตาล ปัจจุบันมีเหลือแค่ 3 ร้านเท่านั้นที่ยังคงทำขนมฝรั่งกุฎีจีนสูตรโบราณแบบนี้ขาย (เราผ่านมาแล้ว 2 ร้าน คือ 2.ร้านหลานป้าเป้า และ 7.ร้านป้าอำพรรณ) ลองชิมขนมฝรั่งกุฎีจีนแล้ว ด้านนอกจะกรอบๆ เนื้อขนมด้านในนุ่มๆแต่ไม่เหมือนขนมฝรั่งทั่วไปที่เคยกิน เราสั่งแบบชิ้นใหญ่มาจะแต่งหน้าด้วยฟักเชื่อม ลูกพลับเชื่อม ลูกเกด ถ้าเป็นชิ้นเล็กจะใส่แต่ลูกเกด


12. บ้านจันทนภาพ
เดินออกจากร้านธนูสิงห์ เลี้ยวไปนิดเดียวตามแผนผังหมายเลข 12 คือบ้านจันทนภาพ เรือนไม้เก่าอายุกว่า 10 ปี เป็นเรือนไม้สักทอง หน้าจั่วตีไม้กระดานรูปแสงอาทิตย์ เป็นบ้านที่ยังอยู่อาศัยจริงไม่เปิดให้เข้าชมทั่วไป นอกจากติดต่อไปเข้าชมเป็นหมู่คณะ เพื่อการศึกษาหรือดูงาน เรามองเห็นได้แค่หน้าจั่วรูปแสงอาทิตย์จากชั้นดาดฟ้าของพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน
ความจริงเห็นจั่วบ้านรูปแสงอาทิตย์ตั้งแต่เลี้ยวเข้าตรอกมาร้านธนูสิงห์แล้ว แต่ตอนนั้นไม่รู้ว่าคือบ้านนี้ พอเดินเข้ามาใกล้ยิ่งไม่เห็นอะไรเพราะตรอกแคบมาก ใครอยากเห็นด้านในบ้านไปดูที่รายการอจ.เผ่าทองได้ > เปิดตำนานกับเผ่าทอง EP.115 กรุงธนบุรี – พระเจ้าตากสิน (2/4)
13. บ้านขนมปังขิง (บ้านวินเซอร์)
เดินเลี้ยวไปมาอีกนิดก็มาโผล่ทางเดิมที่เดินไปถึงท่าน้ำโบสถ์ได้ จะผ่านบ้านเก่าแก่อีกหลังที่ใครมาเที่ยวกุฎีจีนก็จะถ่ายรูปกัน ถ้าเดินถนนริมน้ำจะเห็นบ้านนี้ได้ชัดเจน แต่ถ้ามาตรงตรอกนี้เป็นประตูทางเข้าบ้าน ในแผนที่เป็นเลขที่ 13 บ้านขนมปังขิง หรือบ้านวินเซอร์ เดิมเป็นบ้านของมิสเตอร์หลุยส์ วินเซอร์ ลูกชายของนักเดินเรือชาวอังกฤษที่เดินทางมาค้าขายในเมืองไทยจนร่ำรวย เปิดห้างวินเซอร์ (คนไทยเรียกห้างสี่ตา) ที่เคยอยู่ตรงสี่พระยา มิสเตอร์หลุยส์แต่งงานกับสาวไทยที่เป็นลูกสาวเจ้าของโรงสีแถวคลองบางหลวง เดิมมีบ้าน 2 หลังในพื้นที่ แต่พังเสียหายไปแล้ว 1 หลัง เหลือเรือนไม้หลังนี้อยู่แต่ก็ผุงพังทรุดโทรมมาก แต่ยังไงก็ยังเห็นความสวยงามของลวดลายฉลุเหนือกรอบประตูหน้าต่างทุกบาน น่าจะเคยสวยงามมากๆ เจ้าของปัจจุบันคือคุณสมสุข จูฑะโยธิน ทายาทตระกูล วินด์เซอร์ ได้มอบให้กรมศิลปากรเพื่ออนุรักษ์ แต่ยังไม่มีการเข้ามาปรับปรุง ตอนนี้น่าจะยังมีคนเฝ้าอยู่ เห็นมีมอเตอร์ไซค์จอดอยู่ด้านในหลายคัน ถ้าเดินมาทางตรอกนี้จะเป็นประตูทางเข้า มีซุ้มประตูโค้งและกำแพงเก่าปูนหลุดร่อน



ชุมชนกุฎีจีนนี่เป็นชุมชนเล็กๆ ใช้เวลา 3 ชม.กว่าๆ เดินครบจบรอบ เลี้ยวไปแทบทุกซอกทุกมุม แถมแวะทานขนมจีน แวะจิบน้ำหวานแก้ร้อน และนั่งชิลจิบกาแฟแกล้มขนมฝรั่งด้วยนะ เดินวนกลับมาที่ท่าน้ำโบสถ์ซางตาครูส ออกไปที่ทางเดินริมน้ำ กลับไปที่วัดกัลยาฯ ได้ขนมกลับบ้านไป 3 ถุง กับของที่ระลึกจากพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน

และเห็นวัดอรุณฯอยู่ไม่ไกล
ที่มาของข้อมูลและประวัติต่างๆ
- ข้อมูลเรื่องทหารรับจ้างโปรตุเกส | silpa-mag.com
- ตะลุยเที่ยว ‘ชุมชุนกุฎีจีน’ กรุงเทพฯ ในมุมที่ไม่คุ้นเคย | JS100
- ประวัติศาสตร์มีชีวิตที่พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน | creativethailand.net
- เที่ยวชุมชนกุฎีจีน ย้อนเวลา เยือนย่านหลากวัฒนธรรม | thai.tourismthailand.org
- บ้านวินด์เซอร์ | m.museumsiam.org
- บทสัมภาษณ์ คุณนาวีนี พงศ์ไทย ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน [เรื่องเล่าชุมชนกุฎีจีน] | สารคดีสั้นเกี่ยวกับชุมชนกุฎีจีน ถ่ายทำโดย คุณจักรพันธ์ เจริญลาภ นักศึกษาจากมหาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกะบัง คณะสถาปัตย์ สาขา การถ่ายภาพ
Leave a Reply