Beautiful Bhutan
Trip : April 2017
ภูฏาน หรือ ภูฐาน ไม่ว่าจะเขียนอย่างไรก็ออกเสียงว่า พู – ถาน ยืนยันด้วยการออกเสียงจากโนบุไกด์หนุ่มรูปหล่อของเรา การเดินทางไปภูฏานครั้งนี้เรา 2 คนใช้บริการของผู้ที่ได้ชื่อว่าช่ำชองในการเดินทางไปภูฏานคนหนึ่ง ช่ำชองขนาดไหนน่ะเหรอ ก็ขนาดโดนจับเซ็นสัญญาเป็นตัวแทนในการติดต่อประสานงานเกี่ยวกับการค้าขายระหว่างไทยกับภูฏานเลยทีเดียว ช่วงว่างจากการทำงานประสานงาน ‘ครูฐอน’ ของลูกศิษย์ตัวน้อยๆก็เลยจัดเที่ยวภูฏานตามคำเรียกร้องของมิตรรักแฟนคลับร้านหนังสือสุนทรภู่ (อ่านดูแล้วงงมั๊ย เรานี่เหนื่อยแทน ทำหลายอย่างจริงๆ นี่ยังไม่นับร้านข้าวสาร ที่เป็นมรดกตกทอดมาอีก 1 งานนะ)
“Bhutan Only” จัดโปรแกรมการท่องเที่ยวส่งมาให้ดู ซึ่งดูแล้วเป็นโปรแกรมมาตรฐานเหมือนที่หลายๆทัวร์จัด แต่ช่วงที่เราไปเป็นช่วงเทศกาลเตชู (Tsechu) ก็เลยจัดวันให้พอดีกับ Paro Tsechu วันสุดท้าย ซึ่งกษัตริย์จิกมี่จะเสด็จมาร่วมงานทุกปี
“Bhutan’s strategy of “low volume, high quality” tourism has made it a highly regarded destination among discerning travelers” CNN
ภูฏานเป็นประเทศที่ผลิตอะไรเองแทบไม่ได้ นอกจากเกษตรกรรมขั้นพื้นฐาน ข้าว ผัก ผลไม้ เลี้ยงสัตว์บ้าง ทำชีสบ้าง นอกนั้นต้องนำเข้าเกือบทั้งหมด สิ่งที่ภูฏานผลิตขายได้มากๆคือไฟฟ้าพลังน้ำ เนื่องจากมีแม่น้ำเยอะ จึงปั่นไฟขายอินเดียได้ การท่องเที่ยวเป็นรายได้อีกอย่างของภูฏาน ใครๆก็อยากมาสัมผัสประเทศเล็กๆในหุบเขาหิมาลัย ที่ได้ชื่อว่ามี ความสุขมวลรวมประชาติ (Gross National Happiness : GNH)สูงที่สุดในโลก! แต่ถึงแม้รายได้จากการท่องเที่ยวจะสามารถมีได้มาก แต่ประเทศภูฏานกลับเลือกที่จะควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ โดยการ กำหนดค่าใช้จ่ายขั้นต่ำต่อวัน (คือไม่มีเงินก็ไม่ต้องมานะ) แล้วนำเงินรายได้ส่วนนี้แบ่งไปเป็นเงินสนับสนุนการศึกษาของประเทศถึง 60% กันเลย: ค่าใช้จ่ายขั้นต่ำที่กำหนดให้นักท่องเที่ยวทุกคนต้องจ่ายในปัจจุบัน (ปี 2559) คือ คนละ 200$ – 250$ ต่อคนต่อวัน ตามช่วงเวลา Low season และ High season
การควบคุมนักท่องเที่ยวอีกอย่างคือการกำหนดให้นักท่องเที่ยวทุกคนต้องดำเนินการผ่านตัวแทนท่องเที่ยวท้องถิ่น จะไปเที่ยวไหนคุณต้องมีไกด์ ซึ่งไกด์จะเป็นผู้ดูแลท่านให้ท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัยและให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมได้อย่างถูกต้อง(ดังนั้นจะมาเที่ยวแบบทัวร์ 0 เหรียญ ไกด์พูดภาษาท้องถิ่นยังไม่ชัด ให้ข้อมูลมั่วๆนี่ไม่มีนะ บอกไว้ก่อน) ขนาดว่ามีกฏมีระเบียบ แต่ก็ยังมีคนเข้าไปในภูฏานต่อปีจำนวนมากมาย โดยเฉพาะช่วงเทศกาลต่างๆ ในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชมระบำหน้ากากในเทศกาลเตชูกันจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นโจทย์ข้อหนึ่งที่ชาวภูฏานต้องคิดล่วงหน้าว่าจะรับมือกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่อาจจะนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่วิถีชีวิตอย่างไร
ไกด์หนุ่มรูปหล่อของพวกเรามีนามว่าโนบุ คนภูฏานไม่มีนามสกุล และชื่อก็มีไม่มาก ชื่อจึงซ้ำๆกัน ต้องใช้วิธีต่อท้ายด้วยคำอธิบายตัวตนเช่น โนบุคนที่เป็นไกด์
อารัมภบทมายืดยาว สรุปได้ว่าเราจะไปเที่ยวภูฏาน 5 วัน เป็นรายการทัวร์มาตรฐานทั่วไป ได้เที่ยว 3 เมืองหลักของภูฏาน คือ ทิมพู (Timphu), พาโร (Paro), พูนาคา (Phunama) ค่าใช้จ่ายราคาประมาณ 5 หมื่นกว่าบาท ราคาแต่ละทัวร์ถูกหรือแพงกว่านี้นิดหน่อยตามความหรูหราของที่พักและอาหาร ช่วงที่เราไปกันคือช่วงคาบเกี่ยววันหยุดสงกรานต์ของไทย โดยเลือกให้บินไปถึงเมืองพาโร (Paro) ในวันสุดท้ายของเทศกาลเตชู ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 11 เมษายน (ตารางงานเทศกาลตลอดปี สามารถเข้าไปดูได้ในเวป http://www.tourism.gov.bt) นอกจากเมืองหลักๆแล้วภูฏานยังมีเมืองอื่นๆที่น่าไปเที่ยวอีก เช่น ภูฏานตอนกลาง อย่าง ผอบจิกะ (Pobjika), ตรองสา (Trongsa), บุมทัง (Bumthang) ต้องมีเวลาอีกสัก 4-5 วัน เอาไว้ค่อยไปใหม่อีกรอบ
วันที่ ๑
จากพาโรไปทิมพู และเทศกาลเตชูที่สวยงาม
จากที่เคยรู้ว่าไปภูฏานต้องบิน Druk air เดี๋ยวนี้มีอีกสายการบินเพิ่มมาอีก ชื่อบอกจุดหมายปลายทางชัดเจน Bhutan Airline ทั้งสองสายการบินออกเดินทางจากสุวรรณภูมิแต่เช้าตรู่ และไปถึง Paro International Airport เมืองพาโรตอนสายๆ ใช้เวลาบินประมาณ 5 ชั่วโมง โดยต้องไปแวะส่ง-รับคนที่ Kolkata ประเทศอินเดียประมาณ 40 นาที (ไม่ต้องลงจากเครื่อง) แต่เที่ยวบินของ Bhutan Airline วันที่เราไปนอกจากจะเปลี่ยนเวลาไปๆมาๆแล้ว จากบิน 6.30 เป็น 5.30 แล้วสุดท้ายก็บิน 6.30 ตามเดิมแล้ว ยังบินตรงไม่ลงจอดอินเดียด้วย! เอาเป็นว่าถึงภูฏานเร็วถูกใจก็แล้วกัน ความหวังจะได้เจอกษัตริย์จิ๊กมี่มีไปเต็มเปี่ยม
ภายในสนามบินแห่งชาติพาโร เรียบง่ายแต่มีสไตล์ | มีเคาเตอร์แลกเงินอยู่ในสนามบิน
สนามบินระหว่างประเทศภูฏานอยู่ที่เมืองพาโร ซึ่งไม่ใช่เมืองหลวงของประเทศ แต่ด้วยภูมิประเทศที่เหมาะในการทำสนามบิน จึงสร้างอยู่ที่เมืองนี้ สนามบินมีขนาดเล็กๆเหมือนสนามบินต่างจังหวัดบ้านเรา สายพานรับกระเป๋ามีแค่ 2 สายพานไม่ต้องกลัวหาไม่เจอ ลงเครื่องแล้ว ต้องทำการขอ Visa on arrival ซึ่งไม่ได้ยากเย็นอะไร กรอกข้อมูลในใบขอวีซ่านำไปยื่น (แต่ของพวกเรา Bhutan Only ทำไว้ให้แล้วเรียบร้อย) ทำการแลกเงิน Ngultrum ภูฏาน (BTN) หรือเรียกง่ายๆว่าเงินนู (อัตราแลกเปลี่ยน ณ เมษายน 2560 1$ : 63.5BTN) ออกไปรับกระเป๋าที่สายพานแล้วก็ออกไปพบ โนบุ ไกด์หนุ่มรูปหล่อมาเอารถมินิบัสมารอรับอยู่ด้านนอก แล้วเดินทางกันเลย
จากสนามบินเราตรงไปที่ Paro Rinpung Dzong เพื่อเข้าไปชมระบำหน้ากากในเทศกาล Paro Tsechu กันเลย โนบุบอกว่ากษัตริย์จิ๊กมี่ไปถึงพาโรซองก่อนแล้ว เรายังหวังว่าอาจจะได้เห็นพระองค์ท่านตอนกลับหรือเสด็จออกมาบ้าง
โฉมหน้าไกด์หนุ่มรูปงามนามโนบุ | ออกจากสนามบินขับขึ้นเขาจากจุดชมวิวจะเห็นสนามบินและพาโรซองไกลๆ
จากสนามบินสามารถมองเห็นพาโรซองบนเชิงเขาได้ไม่ไกล แต่รถก็ต้องวนตามถนนเลียบเขาอ้อมไปประมาณ 15-20 นาที พาโรซองในวันเทศกาลดูคึกคักมีสีสรร ผู้คนแต่งตัวสวยงามมาร่วมงาน ผู้ชายใส่ชุด โกะ (Kho) ผู้หญิงใส่ชุด คีร่า (Kira) ชุดประจำชาติ โดยเฉพาะเด็กๆ แต่งแล้วดูน่ารักทุกคน
พวกเราเดินกันไปดูการแสดงที่ลาน แหวกผู้คนเดินขึ้นไปหาที่นั่ง ชาวภูฏานใจดีมีมนุษย์สัมพันธ์ เขยิบที่ให้พวกเรานั่ง แบ่งมุมให้พวกเราดู เรานั่งชมการแสดงซึ่งยังเป็นการแสดงทั่วไป มีร้องมีรำโดยชุดพื้นเมือง แม้จะมีลมหนาวแต่นั่งแบบโดนย่างอยู่ค่อนชั่วโมงก็ไม่ไหว โนบุเลยมาต้อนพวกเราให้เข้าไปชมซองก่อน ค่อยกลับมาดูระบำหน้ากาก
การเข้าไปด้านในของวัดหรือซอง ไม่ใส่เสื้อแขนกุด ไม่ใส่กางเกงสั้นหรือกระโปรงสั้น โนบุจะคอยเตือนทุกคนให้แต่งตัวเรียบร้อย พาโรรินปุงซอง (Paro Rinpung Dzong) สร้างโดยซับดรุง งาวัง นัมเกล หรือท่านซับดรุง ผู้ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณสูงสุดของชาวภูฏาน เดินเข้าไปด้านในจะมีส่วนลานกว้างล้อมรอบด้วยอาคาร 2 ชั้น เดินผ่านไป 2 ลานใหญ่จนถึงส่วนของวัด เดินเข้าไปดูด้านในอาคารได้ ควรเข้าไปอย่างสงบไม่ส่งเสียงดัง เพราะจะมีทั้งพระและคนเข้ามานั่งสมาธิกันอยู่ด้วย และอย่าลืมว่าด้านในห้ามถ่ายรูป
ออกจากซองเดินกลับมาที่ลานการแสดง ระบำหน้ากากกำลังเริ่มพอดี แต่เบียดเข้าด้านในไม่ได้แล้ว เพราะคนแน่นมากและมีเจ้าหน้าที่มากั้น จำเป็นต้องปีนป่ายกันบ้าง บอกแล้วว่าคนภูฏานใจดี ทุกคนช่วยกันขยับ ช่วยกันเหนี่ยวกันไว้ ก็ได้ดูได้เห็นกันทุกคน แต่พวกเราก็ดูกันได้แค่ 2 ชุดเพราะเวลาล่วงเลยมาเที่ยงกว่าแล้ว ชุดเด็ดยังไม่ออกมา ก็จำต้องลาล่ะ เอ๊ะ! ไหนล่ะกษัตริย์จิ๊กมี่ ตอบตามตรงว่าแห้วค่ะ โนบุว่ามาแล้วไปแล้ว มีพี่กลุ่มแรกที่แยกรถไป 4 คนมาถึงก่อนพวกเรา 15-20 นาที ทันรับเสด็จค่ะ แง….. (ถ้าคุณมากรุ๊ปส่วนตัว วางแผนอยู่ที่งานทั้งวันเลยค่ะ เพราะระบำชุดเด็ดๆจะออกทีหลัง หรือไปเที่ยวที่อื่นก่อนค่อยมาช่วงเที่ยงๆ แต่ก็แลกกับคนแน่นจนอาจเข้าดูด้านในไม่ได้)
เทศกาลเตชู (Tsechu) เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองและระลึกถึงท่านกูรู รินโปเช เทศกาลเตซูจะจัดขึ้นโดยซองแต่ละเมือง โดยจะกำหนดขึ้นมาปีละครั้ง จัดงานเฉลิมฉลองกันเ 3-5 วัน ในงานจะมีการแสดงท้องถิ่นจากชาวบ้าน และระบำหน้ากากโดยพระ (monk dance) ที่มีเรื่องราวเนื้อหาเกี่ยวข้องกับศาสนา ชาวบ้านทั้งเมืองจะเข้ามาชมการแสดงกันเต็มวัด ถือเป็นงานใหญ่ของเมือง มีขบวนแห่รูปท่ารคุรุรินโปเช มีการแขวนผ้าทังกาผืนใหญ่สวยงาม ซึ่งจะได้เห็นกันแค่ปีละครั้ง
ออกจากพาโรซอง เรานั่งรถขึ้นเขาต่อไปอีกไม่ไกล เพื่อเข้าชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติภูฏาน (National Museum of Bhutan) ซึ่งในอดีตเคยเป็นหอสังเกตการณ์รบ หรือ ตาซอง (Ta Dzong) ให้แก่พาโร ริงปุง ซอง ดังนั้นขึ้นมายืนบนนี้จะมองเห็นพาโรซองได้ ที่นี่มีส่วนป้อมปราการสีขาวคลาสสิคอยู่ริมผา แต่ปิดไว้ เจ้าหน้าที่บอกว่ากำลังปรับปรุง แต่มีอาคารเล็กๆอีก 1 หลังที่ภายในเป็นพิพิธภัณฑ์ ก่อนเข้าชมต้องฝากของทุกอย่างไว้ในตู้เก็บของด้านนอก เข้าไปได้แต่ตัว คือห้ามถ่ายรูปเด็ดขาด ด้านในก็มีผ้าทังก้าสวยๆ หน้ากากงามๆ และข้าวของแสดงความเป็นมาเป็นไปของประเทศภูฏานอีกหลายอย่าง รวมถึงนิทรรศการเกี่ยวกับพืชพรรณและสัตว์ต่างๆของภูฏานด้วย เดินชมกันเพลินๆไม่เกินครึ่งชั่วโมง ก็ลากลับลงไปทานอาหารกลางวันกัน ก่อนจะนั่งรถต่อไปราวๆ 2 ชั่วโมง เพื่อไปที่เมืองหลวง เมืองทิมพู (Thimpu)
ทางไปเมืองทิมพูเป็นทางเขาคดเคี้ยวแต่ไม่มากมายจนเวียนหัว การเดินทางจากเมืองพาโรคือการเดินทางจากความสูง 2,200 เมตร ไปที่ระดับความสูง 2,400 เมตร การได้อยู่เที่ยวเมืองพาโรสักครึ่งค่อนวันจึงเป็นการค่อยๆปรับสภาพร่างกายไปด้วย แม้ว่าภูฏานจะเป็นประเทศที่อยู่ในระดับความสูงไม่ต่างจากประเทศไทยมากเกินไปนัก (เทียบเคียงกันง่ายๆว่าดอยอินทนนท์ ดอยสูงที่สุดในประเทศไทยสูง 2,565 เมตร จากระดับน้ำทะเล) หลายคนจึงไม่รู้สึกอะไรเลย แต่ก็ไม่ควรวิ่ง ระวังตัวไว้ก่อนดีกว่า ระหว่างทางแวะชมวิวทิวทัศน์ที่ วัดตัมชู (Tamchoe Monastery) มุมถ่ายรูปสวยๆคือสะพานโซ่เหล็กเก่าแก่ ที่มีธงมนต์สีสรรสดใสพลิ้วไหวตามแรงลม เป็นสะพานที่ใช้ข้ามแม่น้ำ Chuzom ไปที่วัด เดินขึ้นเนินลงเนินข้ามสะพานไปมาบางคนมีออกอาการมึนๆบ้างเหมือนกัน ค่อยเดินกันล่ะ
จากพาโรไปทิมพูใช้เวลาประมาณ 2 ชม. กับระยะทาง 65 กม. เพราะเป็นทางเขา ถึงเมืองทิมพูตอนเย็นๆ ยังมีเวลาไปเดินเล่นในเมืองได้ เมืองทิมพูนี่เล็กมาก จุดนัดพบกลางเมืองคือลานหอนาฬิกา รอบๆนั้นมีร้านขายของใช้ ขายเสื้อผ้า ขายชุดโกะชุดคีร่า ให้เดินเลือกซื้อ สาวๆเดินช็อปปิ้งกันได้เพลินๆ ของนิยมซื้อกันคือ ผ้าสวยๆ แล้วก็พวกยาสมุนไพร ลิปบาล์ม อากาศเดือนเมษายน กลางคืนก็หนาวเย็นไม่น้อย เดินๆเที่ยวต้องแอบเข้าร้านกาแฟหลบลมหนาว รอเวลาทานอาหารเย็น ซึ่งคืนนี้เป็นอาหารพื้นเมือง พร้อมมีการแสดงพื้นเมือง สนุกสนานเพลิดเพลินตามสไตล์เที่ยวทัวร์
เมืองทิมพูยามเย็น อาจจะดูเงียบเหงาไปหน่อยเพราะยังไม่เข้า High season
ถึงจะมาเย็นแล้วแต่ร้านยังเปิดให้ช้อปปิ้งได้ | Ambient Cafe ร้านกาแฟบรรยากาศดี
เที่ยวกับทัวร์จะได้บรรยากาศทานอาหารพร้อมชมการแสดง แถมจิบไวน์/เบียร์ภูฏาน
วันที่ ๒
จากทิมพูไปปูนาคา แวะดอชูลาหนาวจับใจ
อากาศหนาวๆกับเช้าวันใหม่ที่เมืองทิมพู หลังจากจัดการอาหารเช้าที่โรงแรมเสร็จแล้ว ก็ต่างคนต่างออกเดินชมเมืองกัน ด้วยว่าที่พักอยู่ทำเลแสนดี เดิน 4 ก้าวก็ถึงลานหอนาฬิกาแล้ว เลยเดินมาถ่ายภาพแสงเช้าส่องหอนาฬิกาก่อนเลย
จิบกาแฟยามเช้าพร้อมอ่านหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวกษัตริย์จิ๊กมี่ไปงานพาโรเตชูเมื่อวาน
ตามอาคารต่างๆประดับรูปกษัตริย์จิ๊กมี่-พระราชินีเจตซุน และเจ้าชายน้อย
วันนี้ค่อนข้างหนาวเลยมีคนมานั่งอาบแดดหาความอุ่นอยู่บ้าง จากลานหอนาฬิกา เดินขึ้นไปตามถนนสวนทางกับหนุ่มสาวภูฏานที่ออกไปทำงาน ใส่ชุดโกะ-คีร่ากันเป็นส่วนใหญ่ ดูดีมีเสน่ห์ สวยงาม เดินเล่นเรื่อยๆไปให้ถึงสี่แยกที่ไม่มีไฟแดง เป็นสี่แยกที่โด่งดังไปทั่วโลก กับลีลาการจัดจราจรด้วยการใช้มือโบก แบ่งปริมาณรถซ้ายขวาหน้าหลังได้พอเหมาะพอเจาะ รถทุกคันเชื่อฟังน้องตำรวจรูปงามในป้อมกลางสี่แยกอย่างเคร่งครัด ด้วยจำนวนประชากรในเมืองหลวงทิมพูแค่หนึ่งแสนคน จำนวนรถก็ไม่มาก จึงไม่ต้องมีไฟแดงไฟเขียว ตำรวจโบกให้หยุดก็หยุด ไม่ต้องมีไฟนับถอยหลังด้วย เพราะรถทุกคันก็ขับไม่เร็ว เป็นกลางเมืองที่ไม่วุ่นวาย สบายใจสบายตาดีจริงๆ (ไม่อยากคิดถึงเมืองหลวงของเราเลยนะ ตำรวจโบกห้ามยังไม่ค่อยสนใจกันเลย ห้ามซ้ายขวาไป ห้ามขวาซ้ายแอบไป เฮ้อ)
Different is Beautiful
เมืองทิมพูยามเช้า เดินขึ้นบันไดแดง 8 ขั้น แล้วเดินตามถนนไปทางขวาไปดูจราจรแขนอ่อนที่สี่แยก
สี่แยกกลางเมืองหลวงที่ไม่มีสัญญานไฟ ใช้จราจรโบกซ้ายขวาหน้าหลังก็จัดการจราจร
เดินเล่นชมเมืองไปจนได้เวลานัดก็กลับมาที่โรงแรม ที่แรกที่ไปในวันนี้คือ Memorial Choten เป็นมหาสถูปที่พระเจ้าจิกมี่ ดอร์จี วังชุก กษัตริย์องค์ที่ 3 สร้างเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา รอบๆสถูปสีขาว จะมีผู้ศรัทธาเดินสวดมนต์วนไปเรื่อยๆเหมือนไม่รู้จบ บางคนทำการสักการะแบบอัษฎางคประดิษฐ์ (การกราบแบบนอนราบไปทั้งตัวตามแบบฉบับของชาวธิเบต โดยให้ส่วนสำคัญของร่างกายแตะพื้น 8 จุดหรือ 8 ส่วน ได้แก่ มือทั้งสอง เข่าทั้งสอง เท้าทั้งสอง ลำตัว และหน้าผาก ) หลายๆคนอาจจะชินตากับภาพเหล่านี้ที่ธิเบต ที่ภูฏานนี้ก็ไม่ต่างกัน เพียงแต่จำนวนคนไม่มากมายเท่านั้น
ออกจาก Memorial Choten รถพาพวกเราขึ้นเขาเตี้ยๆกลางทิมพูขึ้นไปที่ Buddha Dordenma statue หรือที่เรียกกันว่า Big Buddha Point เพราะจากบนนั้นสามารถมองลงมาที่ตัวเมืองได้ เลยกลายเป็นจุดชมวิวที่สวยงามที่หนึ่ง ถ้าได้ขึ้นมาตอนแสงเย็นหรือแสงเช้าก็คงจะดี แต่พวกเราขึ้นมาเจอแสงใกล้เที่ยง แดดแรงจนแสบตัว ข้อดีคือถ่ายรูปพอสวยงามอยู่กับรูปปั้นบนรั้วระเบียงรอบพระศรีศากยมุนีหล่อด้วยสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่ ถ่ายรูปเสร็จแล้ว ควรเข้าด้านในชมพระพุทธรูปนับพันองค์ กับภาพฝาผนังงามๆ
กลับลงมาในเมืองต้องไปแวะไปรษณีย์ภูฏานเสียหน่อย เพราะไปรษณียากรณ์ ซึ่งเรียกกันติดปากว่าสแตมป์นี่แหละ เป็นสิ่งที่ขึ้นชื่ออีกอย่างหนึ่งของภูฏาน ด้วยว่ามันได้รับการออกแบบได้สวยงามมากๆ ถ้าใครชอบหรือสะสม คุณคงหมดเงินกับที่นี่พอสมควร คนไม่สะสมก็ไปดูไปชมสแตมป์สวยๆในตู้โชว์ได้ แถมด้วยการถ่ายรูปตัวเองทำสแตมป์ที่ใช้ติดจดหมายส่งได้จริงๆ ถ้าไม่กลัวบุรุษไปรษณีย์ไทยเห็นแล้วจะตกใจก็ถ่ายและแปะลงโปสการ์ดส่งกลับไทยกันได้เลย
หลังอาหารกลางวันซึ่งวันนี้ได้กินอาหารเกาหลี อร่อยดีมีหมูย่าง มีซุป ถ้าเป็นอาหารภูฏานจริงๆแล้วจะมีแต่ผักเป็นหลัก ก็อาจจะเบื่อและโหยโปรตีนกันบ้าง บอกแล้วเที่ยวภูฏานกับ Bhutan Only ไม่มีเบื่อ (งานโฆษณาก็มาเป็นระยะ 555 )
อิ่มดีแล้วออกเดินทางไปเมืองปูนาคา เป็นการนั่งรถข้ามเขาอีกครั้ง แถมเขาสูงด้วย รถทุกคันจะมาจอดที่ ดอชูลา (DochuLa) เป็นจุดสูงที่สุดของถนนเส้นนี้ เป็นจุดพักบนยอดเขาอันหนาวเหน็บ ลงรถแล้วเข้าไปจิบชาในร้าน ชมหมอกลอยอ้อยอิ่งกับวิวภูเขาหิมาลัย วันที่อากาศดีๆจะมองเห็นยอดเขากังก้า พุนซุม Gangkhar Phuensum ที่เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก (ที่ยังไม่มีผู้ใดสามารถปีนขึ้นไปได้) แต่วันที่เราผ่านไปและกลับ หมอกเยอะเหลือเกิน มองไปแทบไม่เห็นยอดเขา รอบๆพื้นที่มีกุหลาบพันปีออกดอกสีแดงสดอยู่ทั่วๆ หรือจะค่อยๆเดินไปชมสถูป 108 องค์ “Druk Wangyal Chortens” ที่สร้างโดยราชินีองค์ที่ 1 ในพระเจ้าจิกมี่ซิงเก วังชุก กษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์วังชุก เพื่อเป็นการขอบคุณพระสวามีและบุตรชายในการชนะสงครามอินเดียและเดินทางกลับมาอย่างปลอดภัย ที่ดอชูลานี้สูงถึง 3,150 ม.จากระดับน้ำทะเล จึงมีอาการมึนๆกันบ้าง ต้องเดินกันแบบนับก้าวเพื่อไม่ให้ร่างกายน็อค
ถ้าโชคดีไปถึงดอชูลาในวันฟ้าเปิดจะมองเห็นเทือกเขาหิมาลัยได้ | นั่งจิบชารับอากาศหนาวๆสุดสดชื่น
บ่ายแก่เริ่มเข้าเขตเมืองปูนาคา โนบุพาพวกเราไปแวะชมวัด Chimme Lhakhang วัดนี้สร้างโดยลามะดรุกปะ คุนเลย์ ชาวภูฏานชอบมาขอพรเรื่องความรัก ครอบครัว หรือมาขอลูก รถขับผ่านหมู่บ้าน Sopsokha เข้าไปถึงจุดจอดรถ ต้องเดินขึ้นเนินไปอีกนิดหน่อย ระหว่างทางที่ผ่านหมู่บ้าน สาวๆอาจรู้สึกกระอักกระอ่วนเล็กน้อย เพราะจะเห็นองคชาติเต็มไปหมด ทั้งรูปภาพ ทั้งรูปปั้น ทั้งแกะสลัก ที่มาขององคชาตินี้เกิดจากแนวการปฏิบัติขององค์ดรุกปะ คุนเลย์นั้นคือการเสพทุกอย่างไปจนถึงที่สุด เช่นการเสพเมถุนจนถึงที่สุดแล้วก็จะหลุดพ้น ก็จะไม่อยากมีอีกเลย ก็ออกแนวสุดโต่งไปเลย แต่ชาวภูฏานก็นับถือท่านกันมาก อย่าได้ไปคิดเขินอายอะไรเลยนะ
Chimme Lhakhang สร้างโดยลามะดรุกปะ คุนเลย์
ขึ้นไปที่วัดเข้าไปด้านในจะเห็นภาพฝาผนังรูปภาพท่านดรุกปะ คุนเลย์กับแนวปฏิบัติของท่าน ขากลับเดินลงจากวัดมาแล้ว พวกเราไม่ขึ้นรถกันล่ะ เดินเล่นลัดเลาะทุ่งนาขั้นบันได เพื่อไปตัวหมู่บ้าน Sopokha ระยะทางไม่ไกลมาก เดินได้เพลินๆ สวนทางกับเด็กๆที่กลับจากโรงเรียน เดินร่วมทางกับชาวบ้านที่เลิกงานกลับหมู่บ้าน เจ้าหมาน้อยวิ่งตามพวกเราไปเรื่อยจนเป็นเพื่อนกัน เดินขึ้นไปถึงร้านอาหารบนเนินที่มีวิวทุ่งนากว้างสุดตา เชิญชวนจิบชา กาแฟ พักเหนื่อยกันอีกรอบ (ซึ่งไม่เหนื่อยเลย) จิบไปชมวิวไปเพลิดเพลินเจริญใจ
ใกล้ค่ำพวกเราก็ถึงที่พักที่อยู่ในจุดที่สวยมากๆ แม้จะมาถึงตอนมืดแล้วก็รู้ได้ว่าพรุ่งนี้เช้า เมื่อมองออกมาเห็นแม่น้ำ puna tsang shu (Sankosh River) สายยาวไหลคดเคี้ยวไปตามแนวเขา มันจะต้องสวยแน่ๆ
อ่านต่อ ตอน ๒ พวกเราแปลงกายเป็นหนุ่มสาวภูฏานในชุดโกะ-คีร่า สวยงาม