Beautiful Bhutan – Part 2

Beautiful Bhutan

Trip : April 2017

Bhutan Only” จัดโปรแกรมการท่องเที่ยวภูฏาน 5 วัน เป็นรายการทัวร์มาตรฐานทั่วไป ได้เที่ยว 3 เมืองหลักของภูฏาน คือ ทิมพู (Timphu), พาโร (Paro), พูนาคา (Phunama) ในตอนแรก Beautiful Bhutan – Part 1 เดินทางจากพาโรไปถึงทิมพูและข้ามดอชูลาไปถึงปูนาคาแล้ว มาต่อตอน 2 กันเลย

วันที่ ๓
แปลงร่างเป็นหนุ่มสาวชาวภูฏาน

เช้าสดใสอีกวันที่ปูนาคา ออกมาดูวิวริมแม่น้ำ มันสวยงามตามที่คาดไว้ เสียดายที่หมอกลงจัดเกินไปหน่อย นาขั้นบันไดมีสีเขียวสลับน้ำตาล แต่อากาศสดชื่นดีจริงๆ


เห็นฟ้าใสๆแดดดีๆแบบนี้แต่หนาวจับใจ จะหยิบกาแฟมานั่งจิบชมวิวริมน้ำก็ไม่ไหวต้องกลับไปนั่งมองผ่านหน้าต่างแทน

วันนี้พวกเราแปลงร่างเป็นชาวภูฏานกันหมด มีชุดโกะชุดคีร่ามาให้เลือกใส่กัน โดยมีเจ้าหน้าที่โรงแรมทั้งชายหญิงมาช่วยพวกเราแต่งตัว ชาวภูฏานภูมิใจในเครื่องแต่งกายของตนเองมากๆ และย้ำเสมอว่า ถ้าคุณจะแต่งกายแบบชาวภูฏานคุณต้องแต่งให้ถูกต้อง ต้องใส่ให้ครบชุด จะมาแต่งแบบหัวมังกุท้ายมังกรไม่ได้เด็ดขาด ชุดโกะของผู้ชายที่โนบุใส่ปกติทุกวันจะไม่มีผ้าพาดไหล่ แต่วันนี้เราจะเข้าไปปูนาคาซอง ต้องมีผ้าพาดไหล่ด้วย ซึ่งมันต้องม้วนๆเหน็บๆแบบมีเคล็ดลับไม่ให้หลุดลุ่ยอยู่เหมือนกัน และชุดผู้หญิงก็จะมีผ้าพาดไหล่เพิ่มจากปกติ 1 ผืนด้วย

 


แต่งตัวให้หนุ่มใหญ่เสร็จก็มาแต่งตัวให้หนุ่มน้อยบ้าง มันต้องมีเทคนิคพอสมควรนะ
เห็นง่ายๆเหมือนเสื้อคลุมแบบนี้ ต้องจับต้องดึงต้องมัดให้ถูกไม่อย่างนั้นชุดจะรุ่ยร่าย
ขอบคุณนายแบบรูปหล่อ น้องต้นกล้า

  
โนบุคอยดูต้นกล้าตลอดเวลาไม่ใช้ชุดหลุดรุ่ย เดินตามกันเหมื่อนพี่ชายน้องชาย ^^
♦ พอเปลี่ยนชุดใส่โกะ-คีร่า ก็กลายเป็นชาวภูฏานได้เลยนะเนี่ย (ตอนเข้าซองต้องเพิ่มผ้าพาดไหล่ด้วย)

พอใส่ชุดโกะชุดคีร่ากันหมดแล้วพวกเราดูสวยดูหล่อกันขึ้นมาเลยจริงๆ รู้สึกกลมกลืนกับสถานที่ดีมาก ออกจากโรงแรมแล้ว โนบุพาพวกเราขึ้นเขาไปโรงเรียนแม่ชี Sangchen Dorji Lhundrup Choeling Buddhist College for Nun กันก่อน ที่นี่มีแม่ชีและภิกษุณีอยู่รวมกันเพื่อเรียนหนังสือและศึกษาพุทธศาสนา ได้ยินเสียงท่องบทสวดดังทั่วไป ดังนั้นเข้าไปแล้วก็ควรไปแบบสงบๆหน่อย เดินลึกเข้าไปด้านหลังจะมีเจดีย์ที่มีดวงตาแบบเจดีย์เนปาล ตรงนั้นยังเป็นจุดชมวิวได้กว้างไกลดีด้วย

 

กลับลงมานั่งรถเข้าเมืองปูนาคาเพื่อไป ปูนาคาซอง (Punaka Dzong) ก่อนจะถึงไม่ไกล จะมีจุดที่ถ่ายรูปได้สวยงามเพราะมองเห็นสะพานที่จะข้ามไปซองและเห็นซองได้พร้อมแม่น้ำสีฟ้าใส ควรบอกให้รถจอดเพื่อถ่ายรูปตรงนี้ก่อนเข้าไป

 

ปูนาคาซ็อง ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำโพ(โพ = ผู้ชาย)และแม่น้ำโม( โม =ผู้หญิ ง)ถือเป็น “ซอง” ที่สําคัญของภูฏานเพราะเป็นสถานที่เก็บ พระอัฐิ ของท่านซับดรุง งาวัง นัมเกล และ ยังเป็นสถานที่ซึ่งพระเจ้าอุกเยน วังชุก ได้กระทําพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเป็ นปฐมกษัตริย์แห่งภูฏาน เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2450 ( ต่อมาจึงกําหนดให้ทุกวันที่ 17 ธ.ค. เป็ นวันชาติภูฏาน ) “ปูนาคา ซอง” เป็นซองขนาดใหญ่มาก นอกจากมีพระตําหนักมีศาลาว่าการของ เมืองแล้ว ยังมีโบสถ์ วิหารประดิษฐานในซองนี้ถึง 21 แห่ง มีภิกษุสามเณรจําพรรษากว่า 6,000 รูป แม้จะเคยเกิดไฟไหม้ถึง 6 ครั้ง น้ำท่วม และแผ่นดินไหว อย่างละครั้ง แต่ได้รับการบูรณะอย่างต่อเนื่องคงความสง่างาม สถานทีสวยงามเป็นที่จัดงานอภิเษกสมรสกษัตริย์จิ๊กมี่ และพิธีสำคัญๆ

 
เวลาเข้าด้านในซองต้องเพิ่มผ้าคลุมไหล่ทั้งชายหญิง ♦ ด้านในปูนาคาซองกว้างแต่เงียบสงบ

จากรายละเอียดด้านบนที่บอกว่าพื้นที่ค่อนข้างใหญ่ พวกเราจึงใช้เวลาข้างในพอสมควร ประกอบกับต้องเดินในชุดคีร่า ก็คือผ้าถุงดีๆนี่เอง ทำเอาเราก้าวฉับๆเหมือนปกติไม่ได้ แต่ผู้ชายน่าจะเดินสบายเพราะโปร่งโล่งสบายดี ข้ามสะพานเข้าด้านในจะเข้าในซองต้อง ขึ้นบันไดที่สูงและชัน กับชุดคีร่าทำให้ต้องก้าวอย่างระมัดระวังไม่อย่างนั้นอาจมีกลิ้งตกบันไดมาให้อายฝรั่ง


กิจกรรมพายเรือ/คายัคตามแม่น้ำก็ดูน่าสนใจ

ออกจากปูนาคาซอง ก็มาทานอาหารกลางวัน ก่อนจะนั่งรถพักเหนื่อยกันยาวๆสัก 2 ชม.กลับเมืองทิมพู ระหว่างทางแวะจิบชากาแฟชมหมอกที่ ดอชูลา (DochuLa) เหมือนเดิม เข้าถึงเมืองทิมพูพวกเราไปไม่ทันเข้าทิมพูซอง เลยได้แค่ไปชมทิมพูซองจากจุดชมวิวตอนกลางคืน แต่ยังมีเวลานิดหน่อยก่อนมืด พอไปเดินชมตลาดสดกัน ตลาดที่ทิมพูนี่สะอาดมากๆ แบ่งพื้นที่ขายของเป็นหมวดหมู่ชัดเจน ตลาดค่อนข้างใหญ่แต่คนซื้อค่อนข้างน้อย อาจเพราะเป็นตอนเย็น ตอนเช้าๆคนน่าจะเยอะเหมือนตลาดปกติ

ที่โชคร้ายอีกอย่างในการมาเที่ยวภูฏานครั้งนี้คือ อดไปดูเจ้าทาคิน (Takin) สัตว์ประจำชาติของภูฏานอยากเห็นมากเจ้าตัวทาคินที่ตัวเป็นวัวแต่หัวเป็นแพะนี่ แต่ช่วงที่เราไปสวนสัตว์ปิดชั่ววคราว เนื่องจากก่อนหน้านั้น มีทาคินตายไป 16 ตัว คาดว่าสาเหตุมาจากอาหารเป็นพิษ ปกติมีอยู่ 26-27 ตัวก็ตายไปกว่าครึ่ง การที่ทาคินตายเป็นเรื่องใหญ่มากของชาวภูฏานเพราะเป็นสัตว์ประจำชาติและเป็นสัตว์สงวน ก็เลยต้องปิดสวนสัตว์เพื่อทำการแก้ไข ตรวจสอบอย่างละเอียด แต่ตอนนี้ได้ข่าวว่ามีการไปหาทาคินจากในป่ามาเพิ่มแล้ว และคิงจิกมี่ให้หาตัวเมียจากในป่ามาทำการเพาะพันธุ์เพิ่มด้วย ถ้ามีโอกาสไปภูฏานอีกครั้งต้องไปสบตาเจ้าตัวเป็นวัวหัวเป็นแพะนี้ให้ได้


เจ้าทาคินหน้าตาอย่างนี้แหละ ขอยืมรูปมาจาก wiki (Photo cr.wikimedia.org)

เย็นนี้คงจะเข้านอนพักผ่อนกันเร็วหน่อย เพราะพรุ่งนี้มีศึกหนัก พวกเราจะไปเดินแสวงบุญขึ้นวัดทักซัง (Taktshang Goemba) กัน ต้องมีการสอบถามความสมัครใจกันอีกครั้งว่าจะเดินกันหรือไม่ และการขึ้นเขานี้มีออฟชั่นพิเศษคือนั่งม้าได้ในช่วงครึ่งทางแรก (ยังไงก็ต้องเดินอีกครึ่งทาง) หากใครกลัวการนั่งม้าหรือไม่ได้กลัวแต่อยากเดินตลอดก็ย่อมได้ แต่ต้องประเมินกำลังตัวเองด้วยเพราะหากเดินช้ามากอาจขึ้นไปและลงมาไม่ทันเวลา สำหรับคนที่ตัดสินใจว่าไม่ขึ้นเลย Bhutan Only ก็จะพาไปดรุกเกลซอง (Drukgyle Dzong) ระหว่างรอคนที่ขึ้นทักซัง สรุปแล้วพวกเราส่วนมากขึ้นวัดทักซังกัน มีไม่ขึ้นอยู่ 3 คน ดังนั้นนอนเอาแรงกันแต่หัวค่ำเลยวันนี้

วันที่ ๔
เหล่าผู้แสวงบุญจากไปไทยไปทักซัง

วันนี้ตื่นเช้าหน่อย รีบไปถึงแต่เช้าจะได้มีเวลาเดินสบายๆ แถมแดดไม่แรงด้วย วัดทักซัง (TaktshangGoemba) หรือ รังเสือ (Tiger Nest) อยู่ที่ภูเขาโชโมละลี ( Jomolhari Mountain ) ซึ่งภูเขานี้สูงที่สุดในภูฎาน มีความสูงอยู่ที่ 7,326 เมตร ตัววัดทักซังนี้ตั้งอยู่บนหน้าผาสูง 900 เมตร รถจะไปส่งตรงจุดเริ่มเดินที่ระดับ 2,300 เมตร พวกเราต้องเดินขึ้นไปที่ยอดเขาความสูง 3,100 เมตร สำหรับคนที่จะนั่งม้าก็นั่งจากจุดนี้ขึ้นไปได้เลย โดยกรุ๊ปเราทุกคนนั่งม้าหมด จะมีคนจูงม้า 1 ต่อ 1 เพื่อความปลอดภัย เพราะเจ้าม้านี้ชอบเดินเลียบริมผาเอาจริงๆ หลายคนจะเสียวจนเกร็งขาอาจไปบีบตัวม้าทำให้ม้าเตลิดได้มันก็จะอันตรายหน่อย ดังนั้นถ้ามีคนจูงทุกตัวก็น่าจะช่วยให้ปลอดภันขึ้นได้

ช่วงเวลานั่งม้าใช้เวลาประมาณ 1 ชม. ถ้าไม่กลัวจนเกินไปควรนั่งชมวิวสวยๆให้สบายใจ เพราะวิวทิวทัศน์ข้างทางมันสวยงามจริง ยิ่งมาฤดูนี้ที่มีกุหลาบพันปีบานสะพรั่งตามรายทางยิ่งสวยประทับใจ เมื่อถึงจุดพักกลางทางเป็นจุดสิ้นสุดการนั่งม้า จุดนี้จะมีร้านอาหาร-เครื่องดื่ม จัดไว้ให้ ทุกคนจะได้ทานอาหารเหมือนๆกัน ซึ่งไกด์จะมาติดต่อไว้ให้ จัดแจงเติมพลังงาน จิบกาแฟมองดูตัววัดที่อยู่ริมหน้าผาลิบๆไปพลาง เข้าห้องน้ำให้เรียบร้อย จากนี้เราจะเริ่มเดิมกันขึ้นไปอีกครึ่งทาง


อาหารหลักร้อยวิวหลักล้าน

ทางเดินก็เหมือนเดินเที่ยวเขาบ้านเรา มีเนินขึ้นเนินลง มีโค้งหักศอกชันคอตั้งบ่า เดินไปหอบไป จนสุดท้ายก็มองเห็นวัดใกล้ๆเข้ามา แวะถ่ายรูปบ้างเป็นการพักเหนื่อย ช่วงสุดท้ายเป็นทางลงเขายาวๆมองเห็นธงมนต์มากมายปลิวไสวในหุบเข้าด้านล่าง เราต้องลงไปผ่านสะพานข้ามหุบเขาแล้วเดินขึ้นบันได้ยาวๆช่วงสุดท้ายอีกช่วงก็ถึงแล้ว พวกเราใช้เวลาเดินหลังจากลงม้าช่วงหลังนี้ไปเกือบๆ 2 ชม. เหนื่อยพอสมควรเลย แต่ในกรุ๊ปเรามีทั้งคุณน้าอายุ 70 กว่าและเด็กชายนายต้นกล้าที่อายุไม่ถึง 10 ขวบ ทั้งคู่เดินได้แบบกำลังใจดีเยี่ยม เป็นแรงผลักดันเราให้เดินต่อไป

 
ถ้าคุณน้าและเด็กน้อยยังไปไหวเราก็ต้องไหว!

  


จุดที่เชื่อว่าทุกคนต้องหยุดถ่ายรูป (ถือโอกาสพักเหนื่อยด้วย ฮ่าๆๆ)


ทางลงช่วงสุดท้ายเป็นหุบเขาธงมนต์

ขึ้นถึงตัววัดแล้ว โนบุไปติดต่อซื้อบัตรเข้าวัด จากนั้นโนบุนำทีมพาเดินเที่ยววัด ซึ่งมีส่วนต่างๆหลายส่วน ห้องต่างๆอีกหลายห้อง เดินไต่ขึ้นไต่ลง บางที่เป็นถ้ำ บางที่เป็นบ่อน้ำ ต้องคอยถือรองเท้าข้ามไปข้ามมาเพราะทุกที่ห้ามใส่รองเท้า โนบุให้พวกเราถือรองเท้าไปด้วยตลอด อยากให้ทุกคนทำตามธรรมเนียมปฏิบัติ เราเห็นนักท่องเที่ยวบางคนใส่รองเท้าเดินทั่วไปหมด แม้ไกด์จะบอกแล้วก็ยังทำตีมึน เฮ้อ!

วัดทักซังเป็นสถานที่แสวงบุญที่ชาวภูฏานเลื่อมใสศรัทธากันมากที่สุด การเดินขึ้นสู่ยอดเขาจากระดับน้ำ 2,300 เมตรสู่ยอดเขา 3,100 เมตร ใช้เวลาประมาณ 3 -4 ชั่วโมง (บริเวณตีนเขามีม้าบริการให้ขี่ขึ้นเขา ค่าขี่ม้าประมาณ 15 – 20ดอลล่า ข้อแนะนำ:ควรใช้ผู้ดูแลม้า 1 คน ต่อม้า 1 ตัว ไม่ใช้แบบแค่ปิดหัว-ท้าย เพื่อความปลอดภัย ) ม้าจะพาไปได้แค่ครึ่งทางหลังจากนั้นต้องลงเดิน และขาลงไม่สามารถขี่ม้าได้

การเดินขึ้นวัดทักซัง ชาวภูฏานคิดว่าเป็นการแสวงบุญ เป็นการเดินทางเพื่อไปสักการะสถานที่สำคัญที่พวกเขาเคารพศรัทธา ระหว่างเดินนอกจากชมนกชมไม้เพลิดเพลินกับวิวข้างทางแล้ว ก็น่าจะมีเวลาที่ได้กำหนดลมหายใจทุกก้าวเดิน สร้างสมาธิให้กับตนเอง เมื่อขึ้นถึงจุดหมาย ก็ให้มีความสุขเต็มเปี่ยม เหมือนการประสบความสำเร็จหลังความยากลำบากตลอด 3-4 ชั่วโมง โอ้โห… เห็นมั๊ย หากมองให้เห็นประโยชน์ การไปท่องเที่ยวของเราก็ไม่ได้ด้อยค่านักนะ

ถึงเวลาต้องกลับแล้ว โนบุเรียกรวมพล เริ่มต้นเดินทางกลับ ขากลับใช่ว่าจะไม่เหนื่อย เพราะเดินข้ามเขาก็จะต้องมีขึ้นมีลง แต่ก็จะเป็นทางลงซะมากกว่า รองเท้าจึงควรใช้แบบพื้นไม่ลื่นและรองรับน้ำหนักได้ดี เพราะถ้ามาหน้าแล้งทางเป็นฝุ่น เดินลงก็จะลื่นๆฝุ่น ถ้ามีฝนก็จะเละๆก็ลื่นอีก ค่อยๆเดินลงไปที่จุดพักทานอาหารตอนขาขึ้น ก็เท่ากับครึ่งทางแล้ว พักเหนื่อยทานอาหารกลางวัน (จริงๆคืออาหารบ่ายแล้วนะ แต่ถ้ากินขาขึ้นคงเดินไม่ไหว จุกแน่ๆ) อิ่มแล้วเดินลงอีกครึ่งทางที่เรานั่งม้าขึ้นมาก เป็นทางลงและลงและลง ช่วงนี้จะเจ็บข้อเจ็บเข่าพอควรเลย แต่จะเหนื่อยน้อยหน่อย ตัวเราเองใช้เวลาเดินทางขาลงทั้งหมดเกือบ 2 ชั่วโมง ไม่รวมเวลาแวะพักทานอาหาร ลงมาถึงได้ภูมิใจกับตัวเองทุกคน ก่อนขึ้นรถเป็นเวลาช้อปปิ้ง มีชาวบ้านมาวางแผงขายของต่างๆให้เลือกซื้อกัน หลายแผง ต่อรองกันตามสะดวก

รวมพลกับสมาชิกที่ไม่ขึ้นทักซัง แต่ไปเที่ยว ดรุกเกลซอง (Drukgyle Dzong) แล้วนอนจิบชาแอ้ปเปิ้ลเก๋ๆที่โรงแรม 5 ดาว (น่าอิจฉาดีเหมือนกัน) ก็ขึ้นรถไป วัดคิชู (Kichu Lakhang) วัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของพาโร ตัววัดมีขนาดไม่ใหญ่โตมาก แต่ด้านในมีรูปสลักพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรพันตา มีรูปปั้นท่านคุรุรินโปเชสูง 5 เมตร มีภาพวาดฝาผนังสวยงาม และเช่นเคยที่ห้ามถ่ายรูป

 
มาเที่ยวช่วงนี้จะมีดอกไม้ให้ชมทั่วไปทุกที่ (วัดคิชู)

จบวันที่ Farm Stay พักผ่อนอิริยาบถกัน ใครอยากทดลองอาบน้ำร้อนแบบพื้นบ้าน (Hot Stone Bath) ก็เปลี่ยนชุดเข้าแช่น้ำ ใครไม่อยากอาบน้ำ ก็ปิคนิคจิบชากาแฟ ขนม แถมมีข้าวกระเพราจากร้านไทยมาให้เติมพลังด้วย อากาศดีสดชื่นที่สุด แถมด้วยการดวลฝีมือในการยิงธนูของหนุ่มๆทั้งหนุ่มไทยหนุ่มภูฏาน

 

  

ว่าด้วยการอาบน้ำร้อน คือการแช่ในอ่างน้ำมีผ้าม่านกั้น โดยที่บ่อจะยาวออกไปด้านนอกอาคาร มีแผ่นไม้กั้น ด้านนอกจะมีชายฉกรรจ์คอยอุ่นหินแม่น้ำจนร้อนแดงอยู่ด้านนอก แล้วนำหินมาหย่อนลงในบ่อตรงที่อยู่นอกอาคาร แผ่ความร้อนเข้ามาในน้ำที่เราแช่อยู่ ใครอยากร้อนจัดก็ตะโกนเอา more more ดีที่ส่วนมากจะรู้สึกร้อนพอแล้ว เลยไม่ได้ร้องมอๆกันระงมอย่างแม่วัวแถวสระบุรี กลับเป็นร้อง enough enough พอแล้วๆๆๆ ในอ่างน้ำจะมีการใส่สมุนไพรเขียวๆเพื่อสุขภาพผิวพรรณ แต่นอนแช่ไปก็รู้สึกเหมือนเป็นต้มยำไก่ที่รอน้ำเดือดอย่างไรอย่างนั้น


อ่างแช่จะยาวเลยอาคารออกมา เพื่อให้หย่อนหินร้อนลงไปได้

อ่างง่ายๆพื้นอ่างเป็นหิน ลงไปนอนแช่ ร้อนเกินก็เปิดก็อกน้ำเย็นเติม

พักผ่อนกันอย่างเพลิดเพลินพอแล้วก็ นั่งรถกลับเข้าพาโร คืนนี้นอนรีสอร์ท แต่มาถึงมืดไป เลยไม่ได้เห็นวิวยามเย็น แต่มองเห็นพาโรซองยามค่ำคืนได้ชัด นั่งจิบไวน์ภูฏานเย็นๆ ซึมซับบรรยากาศแสนสงบ ที่จะไม่พบเมื่อกลับเมืองไทย ก่อนเข้านอน หลับอย่างมีความสุข

วันที่ ๕
ลาแล้วแต่ไม่ลาเลย

ตื่นเช้าในวันสุดท้ายของทริปที่รีสอร์ทในเมืองพาโร มีฝนลงปรอยๆทำให้อากาศเย็นยะเยือก แต่ก็ได้สายหมอกลอยอ้อยอิ่งบนยอดเขา เป็นภาพประทับใจภาพสุดท้าย ก่อนจะจากลา พยายามเก็บความสงบสวยงามสดชื่นรื่นรมย์และอีกหลากอารมณ์ไปกับตัวให้มากที่สุด เครื่องบิน Bhutan air ทะยานขึ้นฟ้า กับคำสัญญาในใจว่าเราจะกลับมาอีก

บทสรุป

มีหลายคนถามว่าไปเที่ยวภูฏานช่วงไหนดี ถ้าตามที่เราคุยกับคนที่เคยไปภูฏานมาหลายครั้ง หลายฤดูกาล ก็ต้องตอบว่า ภูฏานไปเที่ยวได้ตลอดปี คุณต้องถามตัวเองว่าชอบบรรยากาศแบบไหน คุณอยากเห็นอะไร

ช่วงไฮซีซั่นมี 2 ช่วง [มีค. – เมย. – พค.] กับ [กย. – ตค. – พย.] ค่าเดินทางค่าที่พักจะแพงหน่อย (ขั้นต่ำ 250$ ต่อคนต่อวัน : อัตราปี 2017)

ช่วงมีนาคมถึงพฤษภาคม เป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิ คุณก็จะได้เจอดอกไม้ผลิบานโดยทั่วไป กุหลาบพันปีบานเต็มหุบเขาในช่วงเมษายนเป็นต้นไป
อากาศก็เย็นถึงหนาว ใส่เสื้อหนาวแบบไหมพรมสักตัวก็เอาอยู่ ซึ่งเป็นช่วงที่เราไป ก็ได้รูปดอกไม้มาตามอัลบั้มที่โพสต์

ช่วงกันยายนถึงพฤศจิกายน เป็นฤดูใบไม้ร่วง อากาศจะสดใส เริ่มหนาวเย็น ช่วงเดือนตุลาคมเป็นช่วงอากาศดีที่สุดสามารถเห็นแนวเทือกเขาหิมาลัยได้ชัดเจน

ช่วงโลวซีซั่น [มิย. – กค. – สค.] กับ [ธค. – มค. – กพ.] (ขั้นต่ำ 200$ ต่อคนต่อวัน : อัตราปี 2017)

เดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมเป็นฤดูร้อนในภูฏาน ฤดูนี้จะมีฝนตก จากเบาจนถึงหนัก การเดินทางก็อาจจะไม่สะดวกนักเพราะถนนหนทางยังไม่ดีทั้งหมด แต่คุณจะได้บรรยากาศสดชื่น ภูเขาสีเขียวสด น้ำตกสวยงาม ทุ่งนาเขียวสวย

ฤดูหนาวตั้งแต่ปลายพฤศจิกายนไปจนถึงกุมภาพันธ์ ภูฏานจะหนาวจนมีหิมะตกในบางพื้นที่ โดยเฉพาะที่มีความสูงเกิน 3,000 ม.จากระดับน้ำทะเล แต่มีน้ำค้างแข็งได้ทั่วไป มีหิมะตกปกคลุมเทือกเขาก็สวยงามไปอีกแบบ แต่ท้องฟ้าอาจจะไม่สดใสหมอกเยอะ

ถ้าคุณอยากร่วมงานเทศกาล อย่างระบำหน้ากาก ก็ต้องเริ่มจากเลือกช่วงฤดูที่จะไป แล้วไปดูวันเวลางานเทศกาลในช่วงนั้นว่าจัดที่เมืองไหน แล้วเลือกวันเวลาให้ตรงกับวันจัดงาน งานจะมีจัดหลายเมืองตลอดปี ลองดูตารางวันเวลาของเทศกาลจาก http://www.tourism.gov.bt/plan/ เมืองหลักที่คนนิยมไปและเป็นซองใหญ่คือพาโร ทิมพู ปูนาคา วังดี เดินทางไม่ไกลมากนัก ถ้าเป็นภูฏานตอนกลางอย่าง ตรองสา บุมทัง ก็จะเดินทางค่อนข้างไกลและถนนยังไม่ค่อยดี

ดังนั้น เลือกช่วงเวลาที่ต้องการไป เอาตามความชอบ ช่วงเวลาที่ลางานได้ และเงินในกระเป๋า

สนใจเที่ยวภูฏานแบบสบายๆไม่เร่งรีบ เที่ยวแบบทัวร์แต่เหมือนครอบครัวพาไป สอบถามรายละเอียดได้ที่ Bhutan Only

Bhutan Photo Gallery at pbase.com

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: