Trip Jan. 2005
เจ้ากุ้งแห่ง Trip & Trek มาชวนไปเที่ยวพม่า แบบที่ไม่ต้องขึ้นเครื่องบิน แต่ไปทางรถ ไม่ต้องขอวีซ่าไปล่วงหน้า (เบื่อการขอวิซ่าที่สถานฑูตพม่ามาก) มาทำบัตรผ่านแดนที่ด่านแม่สายได้เลย สามารถใช้เดินทางไปได้ถึงเชียงตุง เมืองลา ในระยะเวลาไม่เกิน 15 วัน ใช้รูปถ่ายสี 3 รูป บัตรประชาชนตัวจริงพร้อมสำเนา


ตั้งต้นจากด่านแม่สายทำเอกสารฝั่งไทย แล้วก็เดินข้ามพรมแดนไปทำเอกสารฝั่งพม่า เรียบร้อยตรวจผ่านเข้าเขตพม่าก็คือ เมืองท่าขี้เหล็ก จากท่าขี้เหล็กจะไปเชียงตุงวิธีแบบไม่ติดต่อล่วงหน้าก็คือการเดินไปเช่าเหมาแท็กซี่ จะมีคนมาถามเมื่อคุณเดินข้ามไป คิวรถอยู่บริเวณวงเวียนไม่ไกลจากสะพานข้ามแดน เป็นรถนั่ง 4 คนจากท่าขี้เหล็ก ไปถึงเชียงตุงราคาเหมาประมาณ 1500-2000 บาท หรือจะนั่งรถโดยสารประจำทางก็ได้มีท่ารถแถวๆนั้น หรือจะติดต่อรถตู้หรือรถเช่าพร้อมคนขับจากเมืองไทยไป มีหลายบริษัทฯจากทั้งเชียงใหม่และเชียงราย จัดทัวร์หรือให้เหมารถไปเชียงตุงเมืองลา หรือจะขับรถข้ามไปเองก็ยังได้แต่ยุ่งยากเพิ่มไปอีก ต้องทำใบผ่านแดนของรถด้วย ต้องศึกษารายละเอียดเรื่องการตรวจเอกสาร การจ่ายค่าผ่านทางให้ดี (ตลอดทางไปเชียงตุงมีด่านเยอะมาก เป็นด่านชนกลุ่มน้อยเรียกเก็บ) และรถขับเลนชิดขวา ต้องสลับด้านที่กลางสะพาน




แท็กซี่ที่พวกเราเหมามาก็หน้าตาประมาณนี้ แอร์ธรรมชาติ ช่วงล่างหาความนุ่มนวลไม่เจอ
เชียงตุง อยู่ในรัฐฉานตะวันออกของประเทศพม่า ห่างจากชายแดนไทย แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก ประมาณ 168 กม. คนเชียงตุงส่วนมากเป็นชาวไต หรือ ชาวไท มีคนพม่าอาศัยอยู่บ้างแต่ก็น้อย นอกจากนั้นตามหมู่บ้านต่างๆรอบเมืองเชียงตุง ไปจนถึงเมืองยองเมืองลา มีทั้งชาวไทใหญ่ ไทลื้อ ไทยอง ระยะทางไม่ไกลแต่ต้องนั่งรถข้ามเขาคดเคี้ยว และผ่านด่าเยอะมาก เป็นด่านของชนกลุ่มน้อยในพม่า มีทหารยืนถือปืนคอยโบกเรียกเก็บค่าผ่านทาง ตอนเจอด่านแรกก็กลัวๆอยู่ แต่พอเจอสัก 5-6 ด่านก็เลิกกลัวแล้ว คนขับรู้อยู่แล้ว เขาเตรียมเงินไว้จ่ายค่าผ่านทางเรียบร้อย ไม่เกี่ยวอะไรกับผู้โดยสาร
นั่งรถกระเด้งกระดอนไปพักใหญ่ก็ถึงจุดพักรถ สำหรับเข้าห้องน้ำหรือทานอาหารกลางวัน ที่เมืองพยาก (PYAK) หรือบ้านท่าเดื่อ ซึ่งอยู่ประมาณกลางทาง ลงมายืดเส้นยืดสาย หาอะไรรองท้องหน่อย






หลับๆตื่นๆกันมาอีกเกือบ 2 ชม. ก็เจอป้ายที่อ่านไม่ออก แต่พลขับบอกว่า ถึงแล้ว….เชียงตุง

เชียงตุง เมือง 3 จอม 7 เชียง 9 หนอง 12 ประตู

ที่เรียกว่า เชียงตุงเมือง 3 จอม เพราะคนเชียงตุงเชื่อกันว่า จอมคำ, จอมสัก, จอมมน เป็นสามเส้าที่ค้ำเมืองเชียงตุงให้มั่นคง จึงเรียกว่าเป็นเมือง 3 จอม
ส่วน 7 เชียงคือ เมืองเชียงตุงมีชุมชนดั้งเดิม 7 ชุมชน คือ เชียงอินทร์ เชียงคุ่ม เชียงลาน เชียงจันทร์ เชียงงาม เชียงจาม เชียงยืน
และมี 9 หนองน้ำ อันที่ดังสุดใหญ่สุดคือ หนองตุง
ส่วนที่ว่า 12 ประตู นั่นคือประตูเมือง แต่ตอนนี้ถูกทำลาย เหลือให้เห็นแค่ประตูเดียว
การเที่ยวเมืองเชียงตุงก็มีวัดเป็นหลัก มีฉายาอีกอันว่า เชียงตุงเมืองร้อยวัด ตั้งต้นกันที่ วงเวียนวัดพระเจ้าหลวง หรือวัดมหาเมี๊ยตมุนี สร้างโดยเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง ผู้ปกครองเชียงตุงองค์สุดท้าย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป หล่อด้วยโลหะผสมทองคำ มีพระพักต์งดงาม ดูคล้ายๅกับพระมหามุนีที่เมืองมัณฑะเลย์



วัดพระเจ้าหลวง หรือวัดมหาเมี๊ยตมุนี // วัดหัวข่วง


วัดพระแก้ว // วงเวียนวัดพระเจ้าหลวง
ฝั่งตรงข้ามวัดพระเจ้าหลวงด้านทิศตะวันตกคือ วัดพระแก้ว ภายในประดิษฐานพระแก้วมรกต จะเปิดให้เข้านมัสการเฉพาะวันสำคัญทางศาสนา ถัดจากวัดพระแก้วไปอีกฝั่งถนนคือ วัดหัวข่วง เป็นพระอารามหลวงเหมือนกัน เป็นที่เรียนหนังสือของเณรด้วย เดินเข้าไปจะเจอเณรน้อยนั่งเล่นกันตามศาลา ตามลานวัด


3 จอม ของเชียงตุง เป็นเนินเขาอยู่ 3 มุมเมือง ด้านบนสร้างวัด สร้างเจดีย์ ให้คนขึ้นไปกราบไหว้บูชา นักท่องเที่ยวก็ขึ้นไปใช้เป็นจุดชมวิวด้วย
วัดจอมคำ มีองค์พระธาตุที่ทำด้วยทองคำสูงถึง 226 ฟุต บนยอดประดับด้วยเพชรพลอย ด้านข้างพระธาตุมีระเบียงมองออกไปเห็นเมืองเชียงตุงและพระชี้นิ้วแห่งวัดจอมสักอยู่ฝั่งตรงข้ามอย่างชัดเจน

วัดจอมสัก ใครไปใครมาเชียงตุงก็จะต้องหาโอกาสขึ้นมานมัสการ และถ่ายรูปพระชี้นิ้วเพื่อยืนยันว่ามาถึงเมืองเชียงตุงแล้ว พระชี้นิ้วเมืองเชียงตุงมีสวยงามแบบศิลปะพม่า ครองจีวรเป็นริ้วละเอียด สัดส่วนได้ขนาดต่างกับพรพุทธรูปพม่าทั่วไปที่มักจะดูผิดสัดส่วน พระชี้นิ้วเชียงตุง ก็ยืนชี้นิ้วลงไปยังเมืองเชียงตุง เหตุผลก็แล้วแต่จะถามใคร ถ้าถามคนพม่าจะได้คำตอบว่าพระชี้นิ้วไปที่เมืองใด เมืองนั้นจะเจริญรุ่งเรือง แต่ถ้าไปถามชาวไทหรือชาวไต ซึ่งเป็นชนชาติที่ตกอยู่ใต้การปกครองของพม่า ก็จะได้คำตอบว่าพม่าสร้างพระชี้นิ้วมาเพื่อเป็นเคล็ดว่า จะชี้นิ้วสั่งให้ทุกชนเผ่าอยู่ใต้อำนาจการควบคุมได้

วัดจอมมน อยู่บนเนินเขาด้านทิศใต้ของเมือง ภายในอุโบสถมีพระประธานสวยงาม และยังมีพระบัวเข็มจำลอง ที่มีลักษณะกลมมนเพราะการปิดทอง ทำเหมือนที่วัดโผ่วต่ออูที่อินเลแต่องค์เล็กกว่า ใกล้ๆกับวัดจอมมนมีจุดน่าสนใจอีกแห่ง คือ ต้นยางใหญ่ เป็นต้นยางขนาด 9 คนโอบ มีอายุ 300 ปี เชื่อกันว่าปลูกโดยเจ้าอ้าย ราชบุตรของเจ้าฟ้ากองไต เจ้าฟ้าเชียงตุงองค์ที่ 38 ชาวเชียงตุงถือว่าเป็นไม้หมายเมือง คือเป็นต้นไม้สัญญลักษณ์ของเมือง เป็นศูนย์กลางเมือง







วัดหนองคำ อยู่ริมหนองคำ บึงเล็กๆอีกที่ในเมืองเชียงตุง

วัดเมืองดีเพียงใจ วัดชื่อน่ารัก ที่อ่านภาษาอังกฤษก็คงอ่านไม่รู้เรื่อง แต่มีป้ายภาษาไทยด้วย เลยอ่านชื่อวัดรู้เรื่อง อยู่ใกล้ๆหนองตุง มองเห็นยอดเจดีย์สีทองมาแต่ไกล





เชียงตุงนี่วัดเยอะจริงๆ วัดเล็กวัดน้อยมีทุกถนน บางวัดก็อยู่บนเขา ถ้าไม่มีรถมาคงต้องเรียกรถรับจ้างพาไป ซึ่งมีทั้งมอเตอร์ไซต์รับจ้างและรถสามล้อเครื่อง เรียกเหมาให้พาไปได้เที่ยวหลายๆวัด


พระเกล็ดนาค ทรงเครื่องสวยงาม ในวัดยางโกง วัดจอมแจ้ง กับพระธาตุอินทร์แขวนจำลอง
วัดหนองเงิน อยู่ไปทางทิศตะวันออกของเมือง มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่อยู่กลางแจ้ง และมีพระนอนฝีมือช่างชาวไทใหญ่



วัดพระธาตุจอมดอย วัดที่อยู่บนเนินเขา ออกนอกตัวเมืองไปไม่ไกล เป็นวัดของชาวลั๊วะ มีองค์พระธาตุที่บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าให้ไปนมัสการ แต่ห้ามผู้หญิงขึ้น ได้แต่เดินลานรอบๆองค์พระธาตุ มีจุดชมวิวมองเห็นนาขั้นบันได ถ้ามาหน้าฝนคงสวยมาก





โรงแรมนิวเชียงตุง โรงแรมที่ได้ชื่อว่าเป็นโรงแรมดีที่สุดของเมืองเชียงตุง ที่นี่เคยเป็นวังมาก่อน เจ้าก้อนแก้วอินแถลงได้โปรดให้สร้างหอเจ้าฟ้า เพื่อเป็นที่ประทับของพระองค์และพระมเหสี เล่ากันว่าเป็นสถาปัตยกรรมผสมแบบอังกฤษผสมอินเดียและไทเขิน สวยงามมาก เมื่อรัฐบาลทหารของพม่าเข้ายึดอำนาจ ได้ล้มเลิกระบอบเจ้าฟ้าในเชียงตุง และสั่งทุบทำลายหอเจ้าฟ้า แล้วเอาเศษซากอิฐซากปูนไปถมประตูทางเข้าเมือง เพื่อให้คนเหยียบย่ำอีกด้วย

คุ้มเจ้านาง ธิดาของเจ้าฟ้าก้อนแก้ว ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของโรงแรมนอยยี่ ที่บริหารโดยลูกหลานที่สืบเชื้อสายเจ้านาง


เดินเลยผ่านโรงแรมนิวเชียงตุงไปอีกไม่ไกล จะพบกับ ตำหนักของเจ้าบุญวาทย์ ผู้เป็นราชบุตรของเจ้าก้อนแก้วอินแถลง ซึ่งถูกทิ้งร้างเนื่องจากต้องหนีภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ

แหล่งพักผ่อนหย่อนใจของชาวเชียงตุงคือ หนองตุง หนองน้ำกลางเมืองเชียงตุง ที่ผู้คนพากันมาเดินเล่น มานั่งเล่น หรือมานั่งร้านน้ำชา ชมแสงยามเช้ายามเย็นกัน มีตำนานเรื่องหนองตุงที่เล่าต่อๆกันมา ตุงคฤษีมาเห็นว่าเมืองเชียงตุงนั้นน้ำท่วมจนชาวบ้านอยู่กันไม่ได้ต้องหนีขึ้นดอย จึงใช้ไม้เท้าขีดพื้นดินให้กลายเป็นร่องน้ำ ให้น้ำไหลออก ครั้งแรกขีดลงทิศใต้น้ำไม่ยักไหล ครั้งที่สองเลยขีดขึ้นทิศเหนือน้ำจึงไหลออก เส้นทางที่น้ำไหลออกนั้นจึงมีชื่อว่าแม่น้ำขึน คือ ขืนหรือฝืนธรรมชาตินั่นเอง น้ำไหลออกไปจนเหลือเพียงหนองน้ำ จึงมีชื่อว่าหนองตุง และมีชื่อว่าเมืองเชียงตุง

รอบๆหนองตุง ทำเป็นทางเดินได้รอบ บรรยากาศดีทั้งเช้าทั้งเย็น มองขึ้นไปบนเนินเขาด้านหนึ่งจะเห็นพระชี้นิ้ววัดจอมสัก อีกด้านหนึ่งก็เห็นองค์พระธาตุจอมคำ เห็นเป็นภาพสะท้อนในหนองตุงได้ยามน้ำนิ่งสงบ

ยามเช้าในเชียงตุง ชวนกันไปเดินตลาดเช้า ผู้คนที่มาตลาดมีทั้งชาวเมืองเชียงตุงและชาวบ้านจากหมู่บ้านรอบนอก รวมทั้งชาวเขาเผ่าต่างๆก็นำของมาขายด้วย มีทั้งผัก ผลไม้ ดอกไม้ ร้านขายอาหารก็มี เลือกสักร้านนั่งกินข้างๆสาวพม่า

















อนุสาวรีย์แห่งเอกราช สัญญลักษณ์การหลุดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ

ประตูป่าแดง ประตูเมืองหนึ่งเดียวจาก 12 แห่งที่ยังหลงเหลืออยู่ของเชียงตุง
ออกไปเที่ยวนอกตัวเมืองที่ ดอยเหมย ต้องนั่งรถออกนอกเมืองขึ้นเขาไปประมาณ 30 กม. ทางยังไม่ค่อยดี ควรไปช่วงหน้าแล้ง ไม่อย่างนั้นถนนน่าจะเละสุดๆ ถ้ามาหน้าหนาวก็จะได้ชมดอกซากุระบานไปตามทางจนถึงด้านบน



ดอยเหมยเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนของทหารอังกฤษเมื่อครั้งที่มาปกครองเชียงตุง อากาศเย็นสบายตลอดปีเพราะอยู่บนเขาสูง มีการสร้างบ้านพักตากอากาศไว้หลายหลัง สวยงามแบบยุโรป ตอนนี้ทรุดโทรมไปหมดแล้ว




นอกจากนั้นก็มีโบสถ์ มีสถานรับเลี้ยงเด็ก พวกเราไปบริจาคเงินกันคนละนิดละหน่อย แล้วก็เอาขนมไปแจกเด็กๆ ซิสเตอร์เลยให้เด็กๆมาร้องเพลงให้ฟัง มาเล่นเกมส์กัน รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง สนุกสนานกันไป









มาเชียงตุง ไปที่ไหนก็เจอหนอง ที่ดอยเหมยก็มีหนองน้ำเหมือนกัน แถมด้วยสะพานหลากสี



ขากลับ แวะเข้าไปในตัวหมู่บ้านสักหน่อย บ้านไม้แบบดั้งเดิมยังมีให้เห็น ชาวบ้านยังทำนา เลี้ยงควาย หาฟืนกันเหมือนเมื่อร้อยปีก่อน





ทริปนี้มาช้าไปหน่อย เป็นปลายหน้าหนาวแล้ว แต่ก็พอได้เห็นดอกพญาเสือโคร่งสีชมพูหวานหลงเหลืออยู่บ้าง



จบทริปเชียงตุง 3 วัน 2 คืน มาง่าย แต่นั่งรถกันเมื่อยเลย ความจริงแล้วเชียงตุงมีสนามบินนะ แต่เที่ยวบินน่าจะน้อย และยุ่งยากกว่านั่งรถเยอะ


Leave a Reply