Friendly Iran [Part I]

Persian Trip in Iran [Part I]
Oct. 2016

ทริปเที่ยวอิหร่านของพวกเรา 4 คน ใช้เวลาเดินทาง 10 วัน เลือกเดือนตุลาคมเพราะไม่ใช่ช่วงฤดูหนาวจัด ซึ่งหนาวจนทรมาน และไม่ใช่ช่วงฤดูร้อน ซึ่งก็ร้อนทรมานเหมือนกัน และที่สำคัญมีวันหยุดให้พวกเราได้ลดทอนวันลาลงบ้าง

ณ ตอนที่คิดจะไปนั้น สายการบินราคาประหยัดสีแดงๆโปรโมทเส้นทางบินตรง กรุงเทพ – เตหะราน จองตั๋วล่วงหน้ากันครึ่งปี พอใกล้จะบินพี่แกก็บอกขี้เกียจจะบินตรงซะงั้น ต้องไปต่อเครื่องที่กัวลาลัมเปอร์ต้องเสียเวลาเดินทางไป-กลับเพิ่มขึ้นอีก 2 วัน ทำให้แผนเที่ยวรวนกันไปพักใหญ่ สุดท้ายคงทนเสียงสรรเสิรญจากลูกค้าที่กำตั๋วไว้มากมายไม่ไหว เลยบอกว่าบินตรงต่อไปก็ได้จ้า แต่บินแค่ถึงสิ้นปี 2016 พอนะ หากใครอยากบินตรงตอนนี้ก็ไปบินเจ้าจำปีกันจ้า

สำหรับการเตรียมพร้อมก่อนไปอิหร่าน ไปดูจากโพสต์ก่อนหน้าได้เลยนะ รู้ไว้ก่อนไปอิหร่าน – Iran Tips

เตรียมตัวเยอะแล้วไปเที่ยวกันได้แล้ว

วันเดินทางเราไม่นับ เพราะออกเดินทางด้วยเที่ยวบินช่วงเวลาบ่ายๆ บินตรงไปลงที่สนามบินอิหม่ามไคไมนี่ (Imam Khomeini International Airport) กรุงเตหะราน (Tehran) ตอนเย็นๆ นอนยาวๆรวดเดียว 8 ชั่วโมง บนเที่ยวบินมีคนอิหร่านเยอะพอๆกับนักท่องเที่ยว เป็นข้อพิสูจน์ที่ชี้ว่าอิหร่านเป็นเป้าหมายในการท่องเที่ยวของนักเดินทางมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้หญิงก็แต่งตัวสบายๆเหมือนเราๆ แต่การนั่ง แยกหญิงชายชัดเจน แม้เป็นครอบครัวเดียวกันก็ตาม ผู้ชายจะนั่งด้านหน้า ผู้หญิงมานั่งด้านหลังกับเด็ก เห็นหลายครอบครัวแยกกันแบบนี้ มีเดินไปมาหากันบ้าง พอมีการประกาศลดระดับเพื่อเตรียมลงจอด ฝ่ายชายจะส่งถุงผ้ามาให้ ฝ่ายหญิงจัดการแต่งตัวเพิ่มเติม เช่นสวมเสื้อคลุมยาวเต็มตัว หรือเปลี่ยนมาป็นเสื้อแขนยาว ตัวยาวคลุมสะโพก พร้อมผ้าโพกผม แปลงกายกันปุ๊บปั๊บ พรึ่บเดียว เหมือนคนละคนกับที่นั่งมา ผู้ชายเองที่ใส่ขาสั้นขึ้นเครื่องมาจากเมืองไทยก็เปลี่ยนเป็นขายาวกัน เป็นธรรมเนียมปฏิบัติเริ่มแรกที่เราเรียนรู้ได้จากการสังเกต

ใช้เวลาขอวิซ่า 2 ชั่วโมงกว่า ต่อแถวแลกเงินอีกเกือบครึ่งชม. ออกมาก็มืดใกล้ดึก ดีว่ามีติดต่อรถเช่ามาแล้ว เลยมีคนมารอรับ คืนนี้บึ่งยาวๆไปนอนที่ คาชาน Kashan, کاشان

l วันที่ 1 | Kashan, کاشان 

เช้าแรกในอิหร่านที่เมืองคาชาน น่าตื่นตาตื่นใจ เดินชมเมืองยามเช้า มีแต่คนมอง บางคนถึงขนาดตะโกนทักทายมาจากบนรถ ชาวอิหร่านช่างอัธยาศัยดีอะไรอย่างนี้ โปรแกรมวันนี้ไม่ได้เที่ยวในเมืองคาชานเลย พวกเราเลือกออกไปเที่ยวนอกเมือง มี 2 ที่หลักๆคือ ออกนอกเมืองไปอาเบยาเน่ห์ เมืองโบราณบนเชิงผา ที่มีแต่คนแก่แต่มุ้งมิ้ง (ด้วยผ้าคลุมลายน่ารัก) กับช่วงบ่ายเปลี่ยนเป็นรถจี๊บไปลุยทะเลทราย Maranjab ต่อด้วย Caravan Sarei และทะเลเกลือ

สวัสดีคาชาน…

อะเบยาเน่ห์เสน่ห์บ้านดิน

เช่าเหมารถจากคาชาน ไปเที่ยวหมู่บ้านแอบยาเน่ห์ (Abyaneh Village) ชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 7 ที่ผู้คนหนีจากการรุกรานของชาวอาหรับมาอยู่ตามหุบเขาคาร์คาส (Karkas Mountain) ตัวหมู่บ้านอยู่ห่างจากคาชานราว 50 กม. มีเอกลักษณ์เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวทั้งลักษณะบ้านเรือนและตัวชาวบ้าน การแต่งกายของผู้หญิงจะใส่ผ้าคลุมสีขาวแล้วคลุมด้วยผ้าลายดอกไม้สีสดใส ใส่ชุดยาวคลุมสะโพกสวมกระโปรงหรือกางเกงอีกที เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนชุมชนอื่นๆในอิหร่าน บ้านและอาคารเป็นแบบบ้านดิน ใช้ดินมาอัดเป็นก้อนๆเอามาก่อผนังแล้วเอาดินผสมฟางมาฉาบทับอีกครั้ง ทั้งหมู่บ้านจึงเป็นสีส้มอมชมพูตามสีของดินในแถบนั้น สร้างลดหลั่นกันตามเชิงเขา

ลุยทะเลทราย แล้วย้ายไปทะเลเกลือ

ช่วงบ่ายเปลี่ยนเป็นรถจี๊ปไปลุยทะเลทรายที่ Maranjab แล้วต่อไปดูทะเลเกลือกัน นั่งรถขึ้นไปทางเหนือของคาชาน ประมาณ 60 กม. หลายคนไปดูพระอาทิตย์ขึ้น แต่เราเลือกมาตอนบ่ายๆ แสงเลยไม่สวยเท่าไหร่ แซนดูนกว้างขวางใช้ได้ รถจี๊บพาลุยทะเลทรายกระเด้งกระดอนจนอวัยวะภายในไหลไปรวมกันหมด จากนั้นไปพักจัดลำไส้กันที่ Caravan Serai โรงพักของนักเดินทางสมัยการค้าขายบนทางสายไหมรุ่งเรือง เอาไว้พักนอนชั่วคราว และจุดสุดท้ายของวันคือ ทะเลเกลือ (Maranjab salt lake) แม้จะไม่ใหญ่โตน่าตื่นตาตื่นใจแบบทะเลเกลือที่โบลิเวีย แต่ก็กว้างใหญ่ไม่ใช่น้อยเลย พื้นดินแห้งแตกระแหงเหมือนภาพทุ่งกุลาร้องไห้ในความทรงจำ เพียงแต่พื้นที่แตกไม่ได้เป็นพื้นดิน แต่เป็นพื้นเกลือ จะเดินเหยียบก็กล้าๆกลัวๆ เหยียบลงไปก็แตกเสียงก๊อบแก๊บไปตลอดทาง ทะเลเกลือนี้เป็นส่วนหนึ่งของ namak lake ที่ส่วนมากจะแห้งแตกระแหงไปด้วยเกลือ ถ้าเห็นรถสิบล้อขนเกลือสวนทางไปเรื่อยๆแสดงว่ามาถูกทางล่ะ

ผ่านวันแรกของการเที่ยวอิหร่านไปแล้ว คืนนี้นอนบนรถบัส เพื่อไปเช้ามืดที่เมืองชีราซ

l วันที่ 2 – มรดกโลกเมืองชีราซ | Shiraz, شیراز 

ขอข้ามความลำบากลำบนในการวนรถหาที่พักไปนะ เพราะที่พักในเมืองชีราซที่หมายตาไว้เต็มหมด วนหาเป็นชั่วโมงจนได้ในที่สุด พักผ่อนแล้วออกลุยกันโดยนัดพี่แท้กซี่คันที่รับพวกเราจากสถานีรถตอนเช้าวนหาโรงแรม ลองถามราคานำเที่ยวดู ก็อยู่ในงบเลยเหมาแกพาเที่ยว หลังจากให้แกพาไปกินไข่กวนในร้านที่เหมือนสภากาแฟแล้วก็นั่งรถออกจากเมืองกันเลย

Naqsh-e Rostam สุสานกษัตริย์

ที่แรกที่เราจะแวะดูคือ Naqsh-e Rostam (Necropolis) แปลตามตัวคือสุสานขนาดใหญ่ ห่างจากตัวเมืองชีราซออกมาราวๆ 60 กม. นั่งรถไม่นานมาก จะมองเห็นได้จากถนนใหญ่ เป็นหน้าผาที่แกะสลักภาพนูนต่ำใหญ่โตยาวตามแนวผา เลี้ยวรถเข้าไปได้ใกล้ๆ จ่ายค่าเข้าแล้วเข้าไปยืนแหงนคอตั้งบ่าจะเห็นเป็นกรอบทางเข้า มีภาพสลักรูปนักรบ ยิ่งใหญ่อลังการ ทางเข้านี้เป็นทางเข้าที่ฝังพระศพของกษัตริย์ดาริอุสที่ 1และอื่นๆอีก 2-3 องค์ ใช้การเจาะเขาเข้าไปเป็นห้องเพื่อเก็บศพ เป็นแนวความเชื่อคล้ายๆหุบผากษัตริย์ในอิยิปต์ และเพตราในจอร์แดน แต่ที่อิหร่านนี่ได้แต่ยืนมอง ไม่ได้ให้ขึ้นไป ไม่ได้เปิดช่องประตูให้เข้าไปดูด้านใน

Pasagard สุสานนักรบผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรเปอร์เซีย

จาก Naqsh-e Rastam พวกเราตั้งใจจะไป Persepolis ต่อเลย เพราะอยู่ใกล้ๆกัน แต่โดนไกด์ท้องถิ่นกล่อมให้ไปดูสถานที่ๆพี่แกบอกว่ามาถึงชีราซต้องไปให้ได้ ที่นั้นคือ Pasargard ลังเลกันอยู่สักพัก แต่เห็นมันเป็นรูปหน้าปกของสมุดภาพหลายๆเล่ม เลยตกลงใจไปก็ไป ถามพี่คนขับแกบอกไปได้ เพิ่มราคาไปอีกหน่อย ที่พี่ไกด์ท้องถิ่นแนะนำว่าไปอีกไม่ไกล จริงๆแล้วโคตรไกลคือไปอีกเท่านึงพอดี Pasargard คืออะไร? มันคือที่ฝังศพอีกเช่นกัน แต่เป็นที่ฝังศพของพระเจ้าไซรัซมหาราช กษัตริย์นักรบที่ยิ่งใหญ่สุดของอาณาจักรเปอร์เซีย มีที่บรรจุพระศพสีขาวตามปกหนังสือตั้งตระหง่านเป็นจุดแรกและเป็นจุดเดียวที่น่าสนใจ พื้นที่ทั้งหมดกว้างอยู่ แต่ทุกจุดหักพังเหลือแต่ฐานราก เลยให้รถขับวนดูไม่นาน ไม่ค่อยคุ้มค่าเงิน

Persepolis อาณาจักรเปอร์เซียที่เหลืออยู่

กลับมาที่ Persepolis ซึ่งน่าจะเป็นไฮท์ไลต์ตัวจริงของเมืองชีราซ เพราะทั้ง 2 วันที่อยู่ในชีราซทุกคนจะถาม ไป Persepolis หรือยัง? ทางเข้าอยู่คนละฝั่งกับ Naqsh-e Roastam ที่แวะเมื่อเช้า ที่นี่ต้องฝากของพวกเป้ใหญ่ๆอย่างพวกแบ็คแพ็คห้ามเอาเข้า และมีเครื่องตรวจวัตถุ ตรวจอาวุธ เดินเข้าด้านใน มองเห็นซากปรักหักพังยิ่งใหญ่อยู่บนเนินเขาข้างหน้า ใช้เวลากันที่นี่ค่อนข้างนาน จนใกล้ปิด แสงยามบ่ายแก่เหลืองสวยดี มีหลืบมุมให้ถ่ายรูปอยู่พอสมควร แต่รูปสลักต่างๆหักพังไปเกือบหมด ได้รับการบูรณะไปบางส่วน มีเสาสูงที่ประกอบใหม่ พอให้ตื่นตาตื่นใจอยู่บ้าง เดินขึ้นบันไดไปทางซ้าย วนดูไปทางขวา มีเวลาก็ให้ไต่หน้าผาขึ้นไปดูทางเข้าที่ฝังพระศพ…. หันหลังกลับมาดูจะเห็น Persepolis ทั้งหมด นั่งมองแล้วจินตนาการว่าสมัยที่อาณาจักรเปอร์เซียรุ่งเรือง คงใหญ่โตสวยงามมาก ไต่ผากลับลงมาอ้อมไปด้านขวามีนิทรรศการภาพถ่ายสวยงาม มีภาพแกะสลักตามบันได ตามผนังที่ยังคงหลงเหลือยู่ให้ดู สวยงามใช้ได้ ก่อนจะวนมาออกทางเดิม

กลับเข้าเมือง ก็เกือบหมดแรง แม้ลมจะหนาวเย็นพอสมควรแต่แดดก็แรงจนสูบพลังงานพวกเราไปเกือบหมด แม้พี่คนขับจะชวนไปดู Hafez Garden สวนสวยที่เป็นสุสานของกวีชื่อดังของอิหร่าน พวกเราก็ไม่ไป แต่เลือกจะเดินเล่นละแวก Karim Khan แล้วหาอาหารเย็นมาเพิ่มพลังก่อนกลับไปสลบในโรงแรมที่ชื่อ Hafez แทน

l วันที่ 3 – เก็บตกชีราซ | Shiraz, شیراز 

วันนี้เก็บตกที่เที่ยวในเมืองชีราซ ซึ่งอาศัยการเดินตามแผนที่ เป็นการชมเมืองไปในตัว ที่เที่ยวหลักๆจะอยู่ไม่ไกลกันมาก เดินพอไหว อันไกลๆค่อยไปแท้กซี่ ไม่แน่ใจว่าจะไปได้กี่ที่แล้วแต่ว่าชื่นชอบที่ไหนมากก็อยู่นานหน่อย

Nasir-ol-Molk Mosque มัสยิดสีรุ้งแห่งชีราซ

จุดหมายแรกในช่วงเช้าคือ Nasir-ol-Molk Mosque ที่บางคนเรียกว่า Pink Mosque เพราะมัสยิดมีการประดับด้วยกระเบื้องสีชมพู แต่เราอยากเรียกว่า มัสยิดสีรุ้งมากกว่า เพราะจุดเด่นของมัสยิดแห่งนี้ที่นักท่องเที่ยวส่วนมากตั้งใจมาดูคือ แสงที่ส่องผ่านหน้าต่างที่กรุด้วยกระจกสี ทำให้เกิดแสงสีสาดเข้าด้านในเป็นสีรุ้งสวยงาม ควรไปแต่เช้าๆก่อนกรุ๊ปทัวร์ก็จะถ่ายรูปได้สะดวก และยิ่งสายแสงสีที่สาดผ่านกระจกมาก็จะสั้นขึ้น พวกเราก็ไปแต่เช้าแล้วแต่ก็ยังเช้าไม่พอ เจอทัวร์ไทยไป 2-3 กรุ๊ปติด ต้องรอจังหวะว่างอยู่พักใหญ่ถึงจะถ่ายรูปแสงจากช่องกระจกได้ยาวๆ นอกจากแสงสีสวยๆด้านใน ออกมาเดินดูรอบๆก็สวยงามด้วยกระเบื้องสีที่แต่งผนังไปถึงหลังคา ถ่ายรูปกันจนพอใจ ค่อยย้ายไปที่ต่อไป

Shah Cheragh Shrine – มัสยิดกระจกล้านชิ้น

เดินออกมาหลงทางเล็กน้อย แต่มีชาวอิหร่านใจดี พาพวกเราเดินไปส่งถึงที่ Shah-e-Cheragh Shrine ที่นี่เป็นมัสยิดที่ชาวอิหร่านยกให้เป็นมัสยิดที่สวยที่สุด เพราะด้านในของมัสยิดประดับด้วยกระจกสวยงามวิบวับ และเป็นที่ฝังศพของชาวอิหร่านด้วย การเข้าไปด้านในต้องมีพิธีรีตองมากกว่าปกติหน่อย คือผู้หญิงต้องสวมชุดคลุมทั้งตัวที่เรียกว่า “ชาดอว์” (chador) ซึ่งพวกเราไม่มี แต่เค้ามีให้ขอยืมได้ที่ด้านหน้า พวกเราโชคดีที่ที่แว่นใจดีพาเดินมาส่งและไปติดต่อบอกเจ้าหน้าที่ให้ แถมพี่แกเดินเข้าไปชมด้านในด้วยเหอะ ทางเข้าแยกชาย-หญิง มีตรวจกระเป๋าละเอียด ผู้หญิงต้องลบเครื่องสำอางด้วย แบบปากแดงคิ้วโก่ง มีสำลีให้เช็ด เข้าไปเดินด้านใน มีเจ้าหน้าที่พาเดินคอยดูแลตลอดจนเกร็งไปหมด จะถ่ายรูปได้ต้องมีป้ายห้อยคอ ขาตั้งห้ามใช้ ตัวมัสยิดหลักที่มีกระจกสวยๆนักท่องเที่ยวเข้าด้านในไม่ได้ ได้แต่ยืนส่องจากด้านนอก บรรยากาศก็ดูขลังด้วย เงียบๆสงบๆแต่กว้างขวางมาก เดินๆไปกลัวผ้าคุลมหลุดต่างหาก เลยไม่ค่อยได้ถ่ายรูปเท่าไหร่

Vakil Mosque มัสยิดเสาเกลียว

ช่วงบ่ายวันนี้ไปตามรายการต้องไปอีกแห่งของชีราซ คือ Vakil Mosque หรือเราเรียกว่ามัสยิดเสาเกลียว เพราะด้านในมีโถงที่เต็มไปด้วยเสาเกลียว เป็นที่ชื่นชอบของนักถ่ายภาพ พวกเราก็ไปตั้งขาตั้งหามุมถ่ายภาพกันร่วมชั่วโมง เดินไปดูโถงอื่นๆก็ไม่มีอะไรเด่นเท่าตรงโถงเสาเกลียว แหงนคอมองเพดานจะมีกระเบื้องสีสวยๆตกแต่งหลงเหลืออยู่บ้าง

Vakil Bathhouse

ออกจาก Vakil Mosque มาเลี้ยวซ้ายเดินไป 100 เมตร จะเจอทางเจ้า Vakil Bathhouse เป็นโรงอาบน้ำรวมของเมือง สมัยก่อนแต่ละบ้านไม่ใช่จะมีห้องน้ำ ทุกคนจึงมาใช้ห้องอาบน้ำสาธราณะรวมกัน อารมณ์เหมือนโรงอาบน้ำสาธารณะที่เกาหลี ญี่ปุ่น แต่ที่อิหร่านมีโถงคล้ายสภากาแฟด้วย ผู้คนที่มาใช้บริการมีทุกสาขาอาชีพ พ่อค้า นักบัญชี หมอ กวี แม้แต่ข้าราชการ ที่รู้เพราะมีการเอาหุ่นมาตั้งจำลองสภาพให้เห็นว่าเมื่อก่อนเป็นยังไง โถงแรกจะเป็นโถงนั่งเสวนา จิบชา สูบยาไปถึงกระทั่งคุยธุรกิจ หุ่นจำลองแสดงให้เห็นแต่ละมุม กลุ่มนี้พ่อค้า กลุ่มนี้นักบัญชี เดาว่าคงมาพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เดินเข้าไปอีกเป็นบริเวณนวด บริเวณบ่ออาบน้ำ เข้าไปลึกสุดเป็นส่วนของผู้หญิง ซึ่งมีทางเข้าต่างหากด้านหลัง แบ่งแยกกันมาแต่อดีตแล้ว

วันนี้ ได้ 4 ที่ แต่เวลายังเหลือเลยมานั่งจิบกาแฟที่ร้านกาแฟด้านหน้า เป็นร้านเดียวในชีราซที่พบว่าเป็นคาเฟ่แบบชาวตะวันตก มี wifi ให้ใช้ด้วย ดีใจน้ำตาไหล เลย search ขอมูลดูว่ามีที่ไหนในชีราซน่าไปอีก เลือกไปเลือกมาตัดสินใจไปดู Eram Garden เห็นว่าเป็นมรดกโลกด้วย แต่ไกล เลยต้องเหมาแท้กซี่ไป

Eram Garden

นั่งแท้กซี่มาจอดหน้าสวน เสียค่าเข้าสองแสนเรียลราคามาตรฐานสำหรับสถานที่ขึ้นบัญชีมรดกโลก เดินเข้าไปแล้วอึ้งๆหน่อย เพราะสวนมันออกจะรกๆร้างๆ ดูแผนที่แล้วมุ่งตรงไป Qavam House เพราะเป็นไฮไลต์ของที่นี่ บ้านสไตล์เปอร์เซียของตระกูล Qavam ยังพอมีเค้าความสวยงามให้เห็น การตกแต่งด้วยกระจกเงา กระจกสี กระเบื้องสี ปูนปั้นงามๆ ทำให้จินตนาการได้ว่าน่าจะเคยเป็นบ้านใหญ่สวยงามในสวนสวยมาก่อน แต่ในตอนนี้ดูหม่นๆหมองๆ มีบ่อน้ำพุอยู่ด้านหน้า ล้อมรอบด้วยแปลงดอกไม้เหมือนดอกดาวเรืองเหี่ยวๆ ทำเราอึ้งต่อเนื่อง แต่ยังขอเดินสำรวจให้ทั่วๆก่อนจะตัดสิน เลยออกเดินไปรอบๆพื้นที่ ก็เลิกอึ้งเพราะมันทรุดโทรมไปทั้งสวน เหมือน Botanic Garden ที่ขาดการดูแล วนกลับมารอแสงไฟที่หน้าบ่อน้ำเดิม มีนักท่องเที่ยวอยู่รอด้วยกันเป็นสิบ ถ่ายรูปตอนไฟเปิดไปนิดหน่อยก็ขอลา

    

Arg-e Karim Khan

นั่งรถกลับมาตรง ป้อมปราการกลางเมืองชีราซ (Arg-e Karim Khan) ศูนย์กลางการบริหารราชการของคาริมข่าน เจ้าเมืองชีราซในราชวงศ์แซนด์ (Zand) พวกเราเดินผ่านป้อมนี้ทั้งเช้าทั้งเย็น รอบๆป้อมนี้ปรับปรุงเป็นเหมือนสวนหย่อม มีที่นั่งเล่นเยอะแยะ ชาวเมืองเลยมานั่งเล่นกันทั้งวัน โดยเฉพาะเย็นๆจนถึงมืด เดินเลยป้อมนี้ไปไม่ไกลก็จะเจอตลาด (Bazaar) หลังอาหารเย็นก็เดินเล่นฆ่าเวลารอบๆป้อม จนถึงเวลาเดินไปเอากระเป๋าที่โรงแรมเพื่อไปขึ้นรถบัส คืนนี้นอนบนรถไปตื่นที่อิสฟาฮาน

ลาก่อนชีราซ…

 

ต่อตอน 2 ที่ Friendly Iran [Part II]

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: