Colorful Rajasthan

สีสันแห่งราชาสถาน
Colorful Rajasthan

November 2022

เที่ยวราชาสถาน นักท่องเที่ยวส่วนมากตั้งต้นกันที่ Jaipur เพราะมีเที่ยวบินตรงจากกรุงเทพพฯ Jaipur เป็นเมืองใหญ่ที่สุดในแคว้นราชาสถาน เป็นจุดศูนย์กลางการเดินทางทุกชนิด มาตั้งตั้นเที่ยวกันที่ Jaipur แล้วไปเที่ยวต่อที่เมืองอื่นๆ อย่าง Udaipur / Ranakpur / Jodhpur / Pushkar / Jaisalmer ได้อย่างสะดวกสบาย

>> ทำความรู้จักราชาสถาน / การเดินทาง / ที่พัก / อาหาร <<

แต่ละเมืองในราชาสถานต่างก็มีเอกลักษณ์โดดเด่น โดยเฉพาะเรื่องสีสรร เช่น ไจปูร์ ได้ฉายาว่า นครสีชมพู หรือ จ๊อดปูร์ มีฉายาว่า นครสีฟ้า หรือ ไจซัลแมร์ เป็น นครสีทอง เป็นต้น

Jaipur | ไจปูร์ ไทยตั้งชื่อให้ว่า ชัยปุระ ปูร์หรือปุระ ความหมายเดียวกับ บุรี ของไทย เมืองไจปูร์ได้ฉายาว่าเมืองสีชมพู | Pink City เพราะบ้านเรือนทาสีส้มอมชมพูสวยหวานไปทั้งเมือง ตามประวัติเล่าว่า สมัยที่อินเดียยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ มหาราชาไสวรามซิงห์ที่ 2 (Sawai Ram Singh II) สั่งให้ทาสีอาคารบ้านเรือนในเมืองให้เป็นสีชมพูสดใสสวยงาม เพื่อต้อนรับเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ที่เสด็จเยือนเมืองไจปูร์ จากนั้นก็คงความเป็นสีชมพูเรื่อยมาจนมีการออกกฏหมาย ให้บ้านเรือนในเขตเมืองเก่าทาสีชมพูเท่านั้น ก็เลบยังคงเป็นเมืองสีชมพูมาร้อยกว่าปี กลายเป็นเอกลักษณ์ของไจปูร์ไปแล้ว

เที่ยวเมืองไจปูร์ ถ้าให้ทั่วๆน่าจะต้องใช้ 2-3 วัน แต่ถ้ามีเวลาวันเดียวก็เลือกเที่ยวที่เด่นๆได้ 4-5 ที่ แนะนำให้เหมารถพาไปเที่ยวอันที่ไกลๆสักครึ่งวัน แล้วมาเที่ยวตรง City Palace อีกครึ่งวัน ที่เที่ยวหลักๆของไจปูร์อยู่ใกล้ๆกันเป็นกลุ่ม วางแผนเที่ยวให้ไปในทิศทางเดียวกันได้

กลุ่มที่ 1 ที่เที่ยวได้ใกล้ๆกันคือ City Palace / Jantar Mantar / Hawa Mahal และกลุ่มอาคารเก่าแก่สีส้มอมชมพู เดินเที่ยวได้ต่อเนื่องกันหมด

City Palace of Jaipur | พระราชวังหลวงแห่งไจปูร์ สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ.1797 สมัย มหาราชาสไวจัยซิงห์ ที่ 2 (Maharaja Sawai Man Singh II) แม้มหาราชาจะหมดอำนาจแล้ว แต่ City palace ก็ยังเป็นสมบัติส่วนพระองค์ ปัจจุบันก็ยังมีส่วนพื้นที่อยู่อาศัยส่วนตัว แต่ก็เปิดพื้นที่หลายส่วนให้เข้าชม เก็บค่าเข้าเป็นรายได้เข้าทรัพย์สินส่วนพระองค์ นอกจากค่าเข้าราคาปกติแล้ว ยังมีพื้นที่ส่วนพิเศษที่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม 3,500 รูปี เกือบ 2000 บาท เพื่อเข้าไปดูพื้นที่พิเศษ (รู่สึกว่าแพงจัง เลยไม่เข้า)

🎟 Fee : foreigner 700 INR / Royal splendor ticket 3,500 INR

Jantar Mantar จันตาร์มันตาร์ มีความหมายตรงๆว่า เครื่องมือเครื่องคำนวณ เป็นที่รวมของสิ่งก่อสร้างที่เอาไว้ใช้คำนวนวันเวลาต่างๆ สร้างโดย มหาราชาสไวจัยซิงห์ ที่ 2 (Maharaja Sawei Jai Singh II) ที่สนพระทัยในเรื่องดาราศาสตร์ ด้านในมีหอดูดาวขนาดใหญ่ มีนาฬิกาแดดที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ยังบอกเวลาได้แม่นยำ เคยใช้เป็นเครื่องมือในการคำนวณฤกษ์ยามในการออกรบ แล้วยังมีเครื่องคำนวณด้านดาราศาสตร์อีกหลายอย่าง จันตาร์มันตาร์จึงเป็นที่รวมสุดยอดความรู้ความสามารถในการคำนวณของคนเมื่อ 300 กว่าปีที่แล้ว ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 2010

🎟 Fee : foreigner 200 INR

Hawa mahal มีความหมายว่า Palace of the wind พระราชวังแห่งสายลม ที่มหาราชาสไว ประธาป สิงห์ (Maharaja Sawai Pratap Singh) โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อให้นางสนมหลายร้อยคนอาศัยอยู่ อยู่ติดกับพระราชวังหลวง (City Palace of Jaipur) สร้างด้วยหินทรายสีแดงอมชมพูสวยงามสมชื่อ Pink City

อ่านเรื่อง > จุดถ่ายรูป Hawa mahal จากดาดฟ้าร้านกาแฟฝั่งตรงข้าม

🎟 Fee : foreigner 200 INR

อาคารรอบเขตพระราชวัง ด้าน Tripolia gate เป็นอาคารเก่าแก่ ทาสีส้มอมชมพู เป็นร้านขายของกิน ของใช้ต่างๆ ตลอดแนว มีโถงทางเดินด้านหน้า กันแดดกันฝนให้ใช้เดินซื้อของได้เหมือนอาคารชิโนโปรตุกิสในบ้านเรา ถ้าเดินเลยไปถึงฝั่งตรงข้ามฮาวามาฮาลจะเน้นขายเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว

กลุ่มที่ 2 ต้องนั่งรถออกไปจากกลางเมือง แต่เที่ยวได้ไม่ไกลกัน Panna Meena Ka Kund / Shri Jagat Shiromani ji Temple / Amber Fort

การจะขึ้นไปที่ป้อมด้านบนมี 3 วิธี คือ นั่งช้าง นั่งจี๊ป หรือเดิน ถ้าจะนั่งช้างต้องมาช่วงเช้าเท่านั้น บ่ายช้างไม่เดิน มันร้อน ค่านั่งช้างประมาณ 1,000 รูปีต่อช้าง 1 เชือกนั่งได้ 2 คน ถ้านั่งจี๊บมีให้นั่งทั้งวัน ค่ารถประมาณ 300 รูปี นั่งได้ 4-6 คน ประหยัดสุดคือเดิน แต่ไกลและร้อนสุดๆเราเคยนั่งช้างเมื่อมาเที่ยวชัยปุระครั้งก่อน ก็ตรงขึ้นป้อมไปเลย คราวนี้ได้นั่งจี๊บ รถจะแวะเที่ยวบ่อน้ำ Panna Meena Ka Kund กับวัดฮินดู Shri Jagat Shiromani ji Temple ด้วย

นั่งรถจากในเมืองมาจอดถ่ายรูป Amber Fort กับทะเลสาบเมาตา (Maota) ตรงนี้ และเป็นจุดขึ้นจี๊บด้วย

Panna Meena Ka Kund บ่อน้ำโบราณ สร้างเพื่อไว้กักเก็บน้ำไว้ใช้และเอาไว้ประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ สร้างบันไดรอบบ่อไว้สำหรับเดินลงไปตักน้ำได้ ไม่มีค่าเข้าชม แต่ห้ามเดินลงบันได (มีหลายรีวิวมาช่วงไม่มีคน จะมียามมากระซิบถามว่าอยากลงมั๊ย ให้ทิปไปเล็กน้อยสัก 100-200 รูปี ก็ลงไปได้นะ)

🎟 Fee : free

Shri Jagat Shiromani ji Temple วัดฮินดูเก่าแก่ ที่มีลวดลายสลักสวยงามมากๆ

🎟 Fee : free

Amber Fort ป้อมปราการนอกเมือง Jaipur อยู่บนเนินเขา สร้างโดยมหาราชา มาน ซิงห์ที่ 1 (Maharaja Man Singh I) เป็นพระราชวังดั้งเดิมก่อนจะย้ายเข้าไปอยู่ในเขตเมืองเก่า (City Palce ปัจจุบัน) Amber Fort มีแนวกำแพงยาว 13 กม.ด้านในมีแบ่งพื้นที่เป็นส่วนๆ ทั้งส่วนประทับของมหาราชา มหารานี มีส่วนรับแขกเมือง ส่วนท้องพระโรง ส่วนของมหาราชาก็จะประดับกระจกวิบวับสวยงามมากหน่อย ส่วนของมหารานีก็ตกแต่งน้อยกว่าไม่หรูหราเท่า แต่ละพื้นที่มีลานกว้าง มีสวนสวย เห็นลวดลายของฝ้าและผนัง แบบสถาปัตยกรรมสไตล์ราชปุต (Rajput) ผสมฮินดู

🎟 Fee : foreigner 500 INR

ยังมีป้อมปราการอีก 2 ป้อมที่สวยงามยามเย็น แต่เราไม่ได้ไปเพราะเหนื่อยมาก จากการเดินเที่ยวทั้งวัน เสียดายอยู่เหมือนกัน เพราะว่ากันว่า เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยมาก

Jaigarh Fort คนไทยเรียกว่า ป้อมชัยคฤห์ เป็นป้อมปราการที่เชื่อมต่อกับ Amber Fort ด้วยทางลับใต้ดิน ด้านในมีที่ประทับของเชื้อพระวงศ์ต่างๆ มีปืนใหญ่น้ำหนัก 50 ตันที่สมัยนั้นได้ชื่อว่าใหญ่ที่สุดในโลก

🎟 Fee : foreigner 85 INR

รูปจาก : https://jaipurtourism.co.in

Nahargarh Fort ป้อมปราการขนาดเล็ก สร้างในสมัยของ มหาราชาไสวจัยซิงห์ที่ 2 (Maharaja Sawei Jai Singh II) เพื่อช่วยปกป้องเมืองชัยปุระปัจจุบัน อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองเก่า ถ้าขึ้นไปด้านบนของ Hawa mahal มองไปด้านหลังจะเห็น Nahargarh Fort อยู่บนยอดเขา นักท่องเที่ยวนิยมขึ้นไปชมแสงยามเย็นกับวิวเมืองสีชมพูของชัยปุระ

🎟 Fee : foreigner 200 INR

กลุ่มที่ 3 อยู่ในเมือง เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวชอบไปเที่ยว ไปถ่ายรูป แต่อยู่กระจัดกระจายกัน ไกลเกินกว่าจะเดินไปได้ ควรเรียกรถไป

Gatore Ki Chhatriyan เป็นสุสานที่สร้างโดยมหาราชาผู้เคยปกครอง Jaipur มีศาลายอดโดมสร้างจากหินอ่อนกับหินทรายอยู่หลายศาลา พื้นที่กว้างมาก มี 3 ส่วน เดินเข้าไปดูได้หมด ด้านข้างอยู่ชิดติดแนวกำแพงที่สร้างตามแนวสันเขา อารมณ์เหมือนกำแพงเมืองจีนเดินขึ้นไปเที่ยวได้

🎟 Fee : foreigner 30 INR

Jal mahal พระราชวังฤดูร้อนที่อยู่กลางทะเลสาบ Man Sagar Lake สร้างโดยมหาราชาสไวจัยซิงห์ที่ 2 (Maharaja Sawai Jai Singh II) ตัวอาคารใช้หินทรายสีส้มอมชมพูในการก่อสร้าง ไม่แน่ใจว่าด้านในได้รับการบูรณะให้เข้าไปได้หรือยัง แต่นักท่องเที่ยวส่วนมากก็แค่มาถ่ายรูปจากลานริมทะเลสาบ

Albert Hall เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะของเมือง Jaipur ถ้าไม่ได้เป็นคนชื่นชอบศิลปะ หรือไม่ได้สนใจใคร่รู้ความเป็นมาของชัยปุระก็ไม่ต้องเข้าไป แค่มาถ่ายรูปที่ลานด้านหน้าอาคารก็สวยแล้ว ถ้ามาช่วงเย็นๆ อากาศไม่ร้อน จะมีคนอินเดียมานั่งเล่น มาเดินเล่นเยอะแยะ คนเยอะนกก็เยอะด้วย ตากล้องชอบมาถ่ายรูป Albert hall กับฝูงนกพิราบในแสงยามเย็น

🎟 Fee : foreigner 150 INR

Patrika Gate ประตูเมืองลำดับที่ 9 ของ Jaipur อยู่ไกลจากตัวเมืองมาก ใกล้กับสนามบินนานาชาติ Jaipur นักท่องเที่ยวส่วนมากก็เลยแวะมาเที่ยวก่อนไปสนามบิน ประตูอยู่แถววงเวียน Jawahar มีโดม 9 โดม มีซุ้มประตู 7 ซุ้ม แต่ละซุ้มมีภาพวาด เล่าประวัติศาสตร์ของแคว้นราชสถาน สีสันสดใสถ่ายรูปสวยมาก ควรแวะอย่างยิ่ง

กำแพงเมืองชัยปุระ ยังเป็นทรัพย์สินของมหาราชา การซ่อมแซมปรับปรุงก็ทำโดยมหาราชา เพื่อให้เมืองดูสวยงามอยู่ตลอดเวลา


Jodhpur บางคนออกเสียงว่าจ๊อดปูร์ บางคนออกเสียงจู๊ดปูร์ คนไทยเลยตั้งชื่อให้เรียกง่ายๆว่า โยธะปุระ ได้ฉายาว่า เมืองสีฟ้า เพราะอาคารบ้านเรือนทาสีฟ้ากันหมด ที่มาที่ไปของสีฟ้ามีหลายเรื่องเล่า บ้างก็ว่าเพราะว่าชาวเมืองแต่ดั้งเดิมเป็นวรรณะพราห์ม ซึ่งชาวฮินดูเชื่อว่าสีฟ้าเป็นสีแห่งพระศิวะ จึงทาบ้านเรือนเป็นสีฟ้าเพื่อแสดงความเคารพ และใช้สีฟ้าบ่งบอกว่าชุมชนย่านนี้คือวรรณะพารห์ม แต่ก็มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์อยู่ด้วยคือ จ๊อดปูร์เป็นเมืองในแถบทะเลทรายอากาศร้อนเป็นส่วนใหญ่ สีฟ้าเป็นสีเย็น จึงเหมาะแก่การใช้สีฟ้า แถมด้วยส่วนผสมของสีฟ้าคือ Copper sulfate ซึ่งช่วยกันแมลง กันปลวก ได้อีกด้วย ก็น่าจะหลายๆเหตุผลผสมผสานกันมาอย่างยาวนานนับร้อยปี และยังนิยมทาสีฟ้ากันอยู่จนถึงตอนนี้

Mehrangarh Fort เมื่อมาถึงจ๊อดปูร์ แทบทุกคนต้องไปเที่ยวป้อมปราการขนาดใหญ่บนเนินเขา ที่มีแนวกำแพงยาว 15 กม. สร้างขึ้นโดยมหาราชาราวจ๊อด (Maharaja Rao Jodha) ในปี 1459 ตอนที่รวบรวมแผ่นดินคืนได้จากพวกกบฏ จึงมาสร้างวังในป้อมปราการบนยอดเขาเพื่อความมั่นคงปลอดภัย ปัจจุบันเปิดให้เข้าไปเที่ยวชมได้

🎟 Fee : foreigner 600 INR / Camera 100 INR

การจะได้เห็นเมืองสีฟ้าจริงๆ ต้องเข้าไปเดินเที่ยว Old Town Jodhpur เดินคุยกับผู้คน โดยเฉพาะเด็กๆที่จะวิ่งตามพวกเราไปตามซอกซอย

พวกเรามีเวลาน้อยไปหน่อย เลยได้เที่ยวจ๊อดปูร์นิดเดียว ถ้ามีเวลามากกว่านี้ ก็ยังมีที่น่าไปเที่ยวชมอีก เช่น

Jaswant thada เป็นหลุมฝังพระศพและอนุสาวรีย์ของมหาราชา จัสวัน ซิงห์ที่ 2 (Maharaja Jaswant Singh II) สร้างด้วยหินอ่อนจากแหล่งเดียวกับที่สร้างทัชมาฮาล

Umaid Bhawan Palace เป็นพระราชวังสร้างใหม่โดย มหาราชาอุเมด ซิงห์ (Maharaja Umaid Singh) ก่อนที่มหาราชาจะหมดอำนาจหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ ออกแบบโดยสถาปนิกอังกฤษ สร้างด้วยหินทรายสีเนื้อ อยู่บนเนินเขา ปัจจุบันก็เป็นที่พำนักของเชื้อสายมหาราชาแห่งจ๊อดห์ปูร์ แบ่งบางส่วนทำเป็นโรงแรมห้าดาว


Udaipur | อุไดปูร์ คนไทยตั้งชื่อให้ว่า อุทัยปุระ เป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในแคว้นราชาสถาน หลายคนเรียกว่า เมืองสีขาว | White city of Rajasthan เพราะบ้านเรือนมีสีขาวนวลตา อีกฉายาที่ได้รับคือ เมืองแห่งทะเลสาบ | City of Lake เพราะมี Lake Pichola ทะเลสาบใหญ่อยู่กลางเมือง ที่หลายๆคนบอกว่ามันสวย มันโรแมนติค จนได้อีกฉายาว่า เมืองที่สุดแสนโรแมนติคในราชาสถาน แต่บางคนก็เปรียบเทียบอุทัยปุระว่าเป็นเวนิชอินเดียกันเลย หลายชื่อ หลายฉายา เหลือเกิน

Mansapurna Karni Mata Ropeway จะได้เห็น Udaipur ในมุมมองสวยๆ ต้องขึ้นกระเช้าไปบนเขา มาช่วงเช้าก็สวย มาช่วงบ่ายก็ยิ่งสวย จากจุดชมวิว เดินเข้าไปมีวัดด้วย

🎟 Fee : Ropeway (RT) 150 INR

Lake Pichola ทะเลสาบใหญ่กลางเมืองอุไดปูร์ ที่เป็นจุดท่องเที่ยวหลักของเมือง จะขึ้นเขาชมวิวก็วิวทะเลสาบพิโชล่า จะเดินเที่ยวก็เดินรอบๆทะเลสาบ หรือจะเดินเล่นข้ามสะพานไปฝั่งโน้นฝั่งนี้ก็ข้ามทะเลสาบ City Palace of Udaipur ก็อยู่ริมทะเลสาบเช่นกัน ผู้คนชอบมานั่งเรือล่องทะเลสาบ นั่งชมวิวรับลมเพลินๆ ถ้ามาช่วงเย็นราคาเรือจะแพงกว่า เป็นราคานั่งเรือชมพระอาทิตย์ตก

🎟 Fee : Cruise (RT) 500 INR

Jag Niwas พระราชวังฤดูร้อนกลางทะลสาบพิโชล่า สร้างด้วยหินอ่อนสีขาวสวยเด่น ได้รับการปรับเปลี่ยนเป็นโรงแรม Taj Lake Palace หรูหรา 5 ดาว ราคาเริ่มต้นหลักหมื่นบาท โด่งดังขึ้นไปอีกเมื่อเป็นฉากในภาพยนต์ James Bond ตอน Octopussy (ปี 1983 โรเจอร์ มัวร์ยังหนุ่มๆอยู่เลย) เพราะความสวยงามและบรรยากาศโรแมนติคสุดๆ จึงเป็นที่ยอดนิยมมาฮันนีมูนทั้งเศรษฐีอินเดียและเศรษฐีต่างชาติ ดาราคนดังก็เคยมาพักหลายคน อย่าง มาดอนน่า นิโคล คิดแมน

Jagmandir เกาะกลางทะเลสาบ ที่มีวัด มีโรงแรมหรู มีร้านอาหาร ถึงไม่ได้พักก็ขึ้นไปเที่ยวเล่นถ่ายรูปได้ ไปนั่งจิบกาแฟ จิบชา หรือทานอาหารก็ได้

City Palace of Udaipur / Fateh Prakash Palace พระราชวังแห่งอุไดปูร์ สร้างอยู่ริมทะเลสาบพิโชลา สร้างด้วยหินอ่อนสีขาว เป็นพระราชวังที่ใหญ่โตที่สุดในราชาสถาน สวยงามทั้งด้านนอกด้านใน มีแยกส่วนที่เป็นเขตที่พักอาศัยของเชื้อสายมหาราชา ที่ยังอาศัยอยู่ และมีส่วนที่ปรับปลี่ยนเป็นโรงแรมหรูริมน้ำด้วย

🎟 Fee : foreigner 300 INR

อุไดปูร์ เมืองที่ย่านเมืองเก่าสุดแสนสวยงามโรแมนติค ย่านเมืองใหม่ก็วุ่นวายเหมือนทุกเมืองในอินเดีย


Jaisalmer อ่านว่าจัยซัลแมร์ หรือ จัยซัลเมียร์ เสียงมันควบกล้ำฟังไพเราะเสนาะหูดี เมืองนี้ไม่มีใครตั้งชื่อไทยให้ เมืองอยู่ไกลไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของแคว้น ห่างจากชายแดนปากีสถานแค่ 50 กม. เป็นเมืองทะเลทราย และมีฉายาว่า เมืองสีทอง | Golden city เพราะบ้านเรือนทำจากหินทรายสีเหลืองทอง สวยงามทั้งเมือง

Jaisalmer Fort ป้อมปราการจัยซัลแมร์ ทุกเมืองในราชาสถานจะมีป้อมปราการที่มหาราชา มหารานา สร้างไว้ ปัจจุบันก็กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวไปหมดแล้ว แต่ที่จัยซัลแมร์นี่แปลกแตกต่างจากป้อมปราการเมืองอื่นๆ ตรงที่เป็นป้อมที่ยังมีชีวิต คือเดินผ่านประตูเมืองเข้าป้อมไปไม่ต้องเสียเงินเลย เพราะว่าภายในป้อมมีคนอยู่อาศัย เป็นบ้าน เป็นร้านค้า ร้านอาหาร เป็นที่พัก เป็นวัด เหมือนหมู่บ้านในป้อมปราการ ส่วนที่ต้องจ่ายเงินเข้าไปเยี่ยมชมก็จะเป็นพิพิธภัณฑ์ หรือวัด ถ้าไม่เข้าเลยก็ไม่เสียเงินเลย เข้าไปเดินเล่นดูผู้คนได้ทั้งวันทั้งคืน ถ้าจะเสียเงินก็เป็นค่าอาหารเครื่องดื่มตามร้านอาหารที่มีจุดชมวิวสวยๆ มีหลายร้านมากๆ | อ่านเรื่องร้านอาหารในราชาสถาน |

Jaisalmer Fort เมื่อมองจากดาดฟ้าฮาเวลีด้านนอก

Jaisalmer Fort Museum พิพิธภัณฑ์จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของมหาราชา บอกเล่าประวัติความเป็นมาต่างๆ เดินลัดเลาะเข้าไปในอาคารที่เคยเป็นส่วนพระราชวัง ขึ้นถึงชั้นบนสุดเป็นดาดฟ้า ชมวิวได้ด้วย พื้นที่ไม่ได้ใหญ่โตมากเมื่อเทียบกับราคารู้สึกว่าแต่ราคาแพงไปหน่อย

🎟 Fee : foreigner 600 INR (include audio guide)

Jain Temple วัดเชนในเขตป้อมจัยซัลแมร์ สวยงามตามมาตรวัดเชน สลักเสลาวิจิตรตระการตา ขนาดยืนดูแค่ด้านนอกนะ ขี้เกียจเข้าด้านใน แต่เลือกที่จะขึ้นไปร้านอาหารฝั่งตรงข้ามตามป้ายที่บอกว่า Temple view เพราะมาตรงมื้ออาหารพอดี กินไปชมวิวไป ฟังเสียงสวดไป ก็เพลินดี

🎟 Fee : foreigner 300 INR

Baa-ri Haveli คำว่า Haveli แปลง่ายๆคือคฤหาสน์ คือบ้านของเศรษฐีในยุคเก่าก่อน ภายหลังเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป มหาราชาหมดอำนาจ เศรษฐีต่างๆที่มักจะเป็นชนชั้นสูง วรรณะพราห์ม ก็พลอยหมดอำนาจไปด้วย คฤหาสถ์หลายหลังก็ต้องเปิดให้เข้าเยี่ยมชม เก็บเงินค่าเข้าเป็นค่าดูแลรักษาบ้านไปในตัว Baa-ri Haveli อายุมากกว่า 400 ปี อยู่ในเขตป้อม ใกล้กับวัดเชน

🎟 Fee : foreigner 50 INR

Salim Singh Ki Haveli คฤหาสถ์อีกหลังใน Jaisalmer อยู่ด้านนอกป้อม สวยงามใหญ่โต มีการสร้างทับซ้อนคฤหาสถ์เดิมที่อายุ 300 ปี เจ้าของคือ Salim Singh Mahto เคยเป็นนายกรัฐมนตรีในยุคที่จัยซัลแมร์เป็นเมืองหลวงของแคว้น เล่ากันว่าเคยมีการต่อเติมฮาเวลีขึ้นไปอีก 2 ชั้นเพื่อให้สูงขึ้นไปทัดเทียมกับมหาราชา แต่โดนสั่งรื้อออก ปัจจุบันยังเป็นทรัพย์สินของตระกูล ด้านนอกสวยดีแต่ไม่ได้เข้าด้านใน (อ่านรีวิวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติบอกว่าดูข้างนอกก็พอ ข้างในไม่มีอะไรน่าสนใจ)

🎟 Fee : foreigner 15 INR / Camera 50 INR

Nathmal Ki Haveli คฤหาสถ์ขนาด 5 ชั้นของ Diwan Mohata Nathmal ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากท่าน Salim Singh แต่ท่าน Nathmal ได้โดนลอบยิงเสียชวิตก่อนที่คฤหาสถ์จะสร้างเสร็จสมบูรณ์ คฤหาสถ์นี้ไม่มีเก็บค่าเข้า แต่เข้าไปได้แค่ลานเล็กๆด้านในเท่านั้น เพราะส่วนอื่นยังเป็นที่พักอาศัยของคนในตระกูล ไม่อนุญาตให้เข้า

Patwon Ki Haveli คฤหาสถ์หลังใหญ่ของ Guman Chand Patwa พ่อค้ามหาเศรษฐีเมื่อ 300 กว่าปีที่แล้ว ใช้เวลาสร้างมากกว่า 50 ปี ได้ชื่อว่าเป็น Haveli แห่งแรกใน Jaisalmer และเป็น Haveli ที่ใหญ่ที่สุดในเมือง หรูหราที่สุดด้วย มีระเบียงยื่นมากกว่า 60 ระเบียง สลักหินทรายเป็นลวดลายละเอียด ที่นี่น่าจะดังที่สุดในหมู่นักท่องเที่ยวด้วย เพราะผู้คนเยอะมาก เราเลยเลือกขึ้นไปนั่งจิบชากาแฟบนดาดฟ้าของร้านที่อยู่ใกล้ๆ นั่งชมวิว Patwon Ki Haveli มุมสูงแทนการเข้าไปเบียดผู้คนด้านใน

🎟 Fee : foreigner 250 INR / Camera 50 INR

Gadisar Lake ทะเลสาบที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญของเมืองทะเลทราย รอบๆทะเลสาบมีศาลาให้มานั่งเล่น มีสวน มีวัดเล็กๆน้อยๆหลายวัด มีเรือให้เช่านั่งเล่นในทะเลสาบด้วย

เดินตามตรอกซอยซอยในเมืองจัยซัลแมร์ สวยงามตามชื่อเมืองสีทอง เพราะทุกบ้านสร้างด้วยหินทรายสีเหลืองทองหมด ถ่ายรูปเล่นได้ไม่เบื่อเลย

Thar desert เมืองจัยซัลแมร์เป็นเมืองที่อยู่กลางทะเลทรายธาร์ นอกจากเที่ยวในเมืองแล้ว นักท่องเที่ยวก็ชอบที่จะออกไปเที่ยวทะเลทราย มีทั้งไปแบบดูพระอาทิตย์ตกในทะเลทรายด้วยการขี่อูฐ หรือนั่งจี๊ปเข้าไป บางคนก็ออกไปนอน Desert camp ในทะเลทราย จากในตัวเมืองต้องนั่งรถออกไปประมาณ 45 นาที ค่ารถมาตรฐานประมาณ 2,000 รูปี แต่ละที่พักหรือตัวแทนท่องเที่ยว ก็จะมีจุดไปขึ้นอูฐหรือขึ้นจี๊ป แตกต่างกันไป แต่จุดหมายเดียวกันคือไปชมทะเลทรายยามเย็น ถ้าไปนอนแถวทะเลทรายก็จะได้แสงเช้าด้วย (ที่พัก Desert camp มีจุดต้องพิจารณาเล็กน้อย ไปอ่านเรื่อง เที่ยวทะเลทรายในจัยซัลแมร์)

Sam Sand Dune จุดชมทะเลทรายยอดนิยมของเมืองจัยซัลแมร์ มีที่พักแบบ Desert camp หลายที่ ทะเลทรายอยู่ติดริมถนนสาย 53 เลย มีต้นไม้เขียวเยอะไปหน่อย ใครอยากถ่ายรูปเนินทรายเวิ้งว้าง ก็ต้องหมุนหามุมกันหน่อย มุมพระอาทิตย์ตกก็จะเห็น Desert camp สีขาวเต็มไปหมด แถบนี้เป็นที่นิยมของคนอินเดียออกมาขี่อูฐกัน จะเดินจากริมถนนขึ้นเนินมาก็พอได้ หรือจะหาอูฐนั่งขึ้นเนินมาก็มีนอนรอริมถนนเยอะแยะ แต่ถ้าจะให้เห็นเนินทรายสวยๆ ต้องนั่งอูฐเข้าไปลึกๆหน่อย แต่คนจูงอูฐมักจะพาขึ้นมาบนเนินแล้วให้ลงแค่ตรงนั้น

Sand Dune on road no. 11 จุดชมทะเลทรายอีกจุดที่เราได้ไปนั่งจี๊บลุยทะเลทราย แถบนี้จะไม่คึกคักคนเยอะเหมือนแถบ Sam sand dune แต่เนินทรายแถบนี้สวยกว่ามาก ไม่มีสิ่งก่อสร้างให้เห็น พนักงานโรงแรมที่แนะนำบอกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติชอบมาแถบนี้มากกว่า เพราะสวย สงบ คนไม่มาก นอกจากมาขี่อูฐหรือนั่งจี๊บแล้ว บางคนก็มานอน Desert camp บางคนก็มานอนกลางทะเลทราย แบบปูผ้านอนบนทราย ไม่มีเต้นท์ใดๆ ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ แต่น่าจะสวยงามยามตื่นมาเห็นแสงทองตอนเช้า


Ranakpur | รานัคปูร์ เมืองเล็กๆแต่เก่าแก่ อยู่กึ่งกลางระหว่าง Udaipur – Jodhpur ในหุบเขาฝั่งตะวันตกของเทือกเขา Aravalli มีจุดที่นักท่องเที่ยวชอบแวะไปเที่ยวชมคือ Ranakpur Jain Temple วัดนิกายเชนขนาดใหญ่ สวยงาม ที่ตอนสร้างต้องใช้คนงานมากมาย จนต้องตั้งเมืองขึ้นมาให้คนงานอยู่ เมืองจึงชื่อรานัคปูร์ ตามชื่อของผู้ปกครองเมือง Rana Kumbha ที่เป็นคนอุปถัมภ์ในการสร้างวัดนี้ด้วย

Ranakpur Jain Temple (Chaturmukha Dharanavihara) 1 ใน 5 วัดศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาเชนในอินเดีย สร้างโดยคหบดี Dharna Sah เมื่อ 500 ปีก่อน ด้วยหินอ่อนทั้งหลัง มีโดม 80 โดม สวยงามสุดๆด้วยเสาแกะสลักพันกว่าต้น ลวดลายสลักแต่ละเสาละเอียดสวยงามไม่ซ้ำกัน คิดเป็นพื้นที่แกะสลักกว่า 3,000 ตารางเมตร

🎟 Fee : foreigner 200 INR / Camera 100 INR

การเข้าไปในศาสนสถานก็ตามมารยาทคือไม่นุ่งสั้น ไม่ใส่เสื้อโป๊ คอลึกหรือสายเดี่ยว และที่นี่ผู้หญิงต้องมีผ้าคลุมผม ถ้าไม่ได้เอามาด้านหน้ามีผ้าให้ยืม ด้านในให้ถ่ายรูปได้ แต่ต้องเสียค่ากล้อง 200 รูปี (มือถือก็ต้องเสียเงิน) ถ้าไม่ถ่ายรูปให้ฝากของไว้ที่ล็อคเกอร์ด้านนอก ถ่ายรูปทั่วไปได้ แต่ห้ามโพสต์ท่าถ่ายรูป คือแบบว่า เจอเสาสวยจะไปยืนพิงเสาถ่ายรูปไม่ได้ ประตูสวยจะไปนั่งถ่ายรูปไม่ได้ คือถ่ายทั่วๆไปได้ อย่าไปยืนถ่ายรูปหมู่ถ่ายรูปเดี่ยว เจ้าหน้าที่เยอะมาก คอยเป่านกหวีดเตือนตลอด

งานสลักมีแทบทุกพื้นที่ ทั้งเสา ทั้งประตู ทั้งบนเพดาน แล้วยังมีรูปสลักต่างๆอีกทุกห้องโถง

บริเวณกลางวิหารมีส่วนที่กั้นไว้ไม่ให้คนทั่วไปขึ้น อนุญาตเฉพาะคนนับถือศาสนาเชนให้ขึ้นไปสักการะคุรุ ศาสดาของของเชน ถ้าจะถ่ายรูปก็ห้ามยืนถ่ายเข้าไปตรงๆ ให้ยืนถ่ายเอียงๆแบบนี้ได้


Pushkar | พุชการ์ เมืองโบราณ 2000 ปี ที่มีทะเลสาบพุชการ์อันศักดิ์สิทธิ์ ช่วงปลายเดือนตุลาคมมี Pushkar fair กับเทศกาลอูฐ ที่อูฐหลายพันตัวจากทั่วอินเดียจะเดินทางมารวมตัวกัน เป็นตลาดค้าอูฐที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย นักท่องเที่ยว/ตากล้องทั่วโลกจึงนิยมไปเที่ยวถ่ายรูปกันในช่วงนี้

พวกเราตั้งใจไปเที่ยวเทศกาลอูฐกันมาก แต่ดวงกุดสุดๆ เพราะมีข่าวว่าเกิดโรคระบาดในสัตว์ ทำให้ปีนี้ไม่มีการรวมตัวของพี่น้องอูฐ จะพอมีให้เห็นก็เป็นอูฐท่องเที่ยว ที่คอยมาเดินเชิญชวนให้นั่งอูฐเที่ยว

พลาดเทศกาลอูฐ พวกเราก็เลยได้แต่เดินเที่ยว Pushkar Fair ที่เหมือนตลาดนัดขนาดใหญ่ ขายทั้งของกินของใช้ ถ้าคนชอบช้อปปิ้งคงเพลิดเพลินเพราะของเยอะและถูกมาก

Sand Art Festival อยู่ด้านหน้าของ Pushkar Fair

Jagtapita Brahma Mandir เดินฝ่าตลาดนัดเพื่อจะไปทะเลสาบพุชการ์ จะผ่านวัดฮินดูอันศักดิ์สิทธิ์ ที่ต้องถอดรองเท้าและฝากของทุกอย่างไว้ด้านนอก (มีร้านค้าที่มีตู้รับฝากของ) เดินขึ้นไปเพื่อนมัสการพระพรหมที่ว่ากันว่าศักดิ์สิทธิ์มาก 1 ใน 5 ของอินเดีย

ระหว่างทางเดินในตลาดนัดจะเจอ คนอินเดียกับการแต่งกายแปลกตาเยอะแยะ หลายคนมาเพื่อขอเงิน ถ้าใครยกกล้องถ่ายรูปจะโดนเรียกขอเงินทันที ถ้าอยากได้รูปก็ต้องจ่ายเงินให้ไปนิดๆหน่อยๆ

ทะเลสาบพุชการ์ เป็นที่ชาวฮินดูนิยมมาเพื่ออาบน้ำ ทำพิธีล้างบาปที่ท่าน้ำรอบๆทะเลสาบ (แบบเดียวกับที่แม่น้ำคงคา) เพราะมีความเชื่อว่าเป็นทะเลสาบของเทพเจ้า บางความเชื่อบอกว่าทะเลสาบพุชการ์เกิดมาเพื่อรองรับดอกบัวที่พระพรหมทิ้งลงมาบนพื้นโลก บางความเชื่อก็ว่าน้ำในทะเลสาบนี้คือน้ำตาของพระศิวะ เมื่อเสียภรรยาคนแรกคือพระนางสตีไป

ไม่มีเทศกาลอูฐแต่ก็ได้เจออูฐตามข้างทาง


ยังมีอีกหลายเมืองในราชาสถานที่น่าไปเที่ยว อย่างเช่น Bikaner | บิคาเนอร์ หรือ Ajmer | อัชเมียร์ หรือไปเที่ยวธรรมชาติเข้าป่าดูเสือเบงกอลที่ Ranthambhore ก็น่าสนุก แต่ละเมืองมีเสน่ห์ไม่เหมือนกันควรเที่ยวอย่างน้อย 1 วันเต็มๆและนอน 1 คืน แล้วย้ายเที่ยวเมืองต่อไป นักท่องเที่ยวนิยมเช่าเหมารถพร้อมคนขับพาเที่ยวไปเรื่อยๆ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: