ภูหินร่องกล้า

อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า

มกราคม 2566

ต่อเนื่องจากการมาชื่นชมพญาเสือโคร่งบานที่ ภูลมโล ทำให้ได้กลับมาอช.ภูหินร่องกล้าอีกครั้งหลังจากไม่ได้มาเที่ยวนานกว่าสิบปี นึกภาพสมัยก่อนเทียบกับตอนนี้แล้วอช.ภูหินร่องกล้าปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปมากมาย มีร้านกาแฟ มีร้านอาหาร บ้านพักมีหลายขนาด หลายหลัง ดูสวยงามน่าพัก พื้นที่กางเต๊นท์ก็มีกว้างขวาง ปรับพื้นไว้เรียบดี อยู่ใต้ป่าสนร่มรื่น มีห้องน้ำบริการหลายจุด รวมกับพัฒนาการของชาวแคมป์ที่ดีขึ้น มีระเบียบ เคารพกฏกติกา ทำให้การแคมป์ปิ้งที่นี่น่าจะเป็นกิจกรรมที่มีความสุข

จากกรุงเทพฯเราขับรถมุ่งตรงขึ้นไปที่จ.พิษณุโลก ไปทางอ.วังทอง เข้าอ.นครไทย เพื่อขึ้นไปที่อช.ภูหินร่องกล้า ถนนดีตลอดทาง ช่วงเลยจากอ.วังทอง มีทางขึ้นเขาแต่ไม่ได้สูงชัน และถนนกว้างขวางดี รถเก๋งขับไปได้สบายมาก

จุดชมวิวระหว่างทาง ร่องกล้าฮั้นแน้ว (ฮั้นแน้ว แปลว่า ใช่แล้ว ถูกต้องแล้ว ร่องกล้าฮั้นแน้ว ก็น่าจะแปลว่า ที่นี่ร่องกล้าถูกต้องแล้ว ถึงแล้ว ทำนองนี้…มั๊ย)

อช.ภูหินร่องกล้า ได้รับการประกาศจัดตั้งเมื่อปีพศ. 2526 หลังจากสถานการณ์สู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) คลี่คลาย มีการตัดถนนผ่านเขตพื้นที่อุทยานข้ามจากฝั่งจังหวัดพิษณุโลกไปจ.เพชรบูรณ์ได้เลย

นอนที่ภูหินร่องกล้าสักคืน

สำหรับคนที่ต้องการมานอนที่อช.ภูหินร่องกล้า จุดแรกที่ต้องไปติดต่อคือตรงที่ติดต่อบ้านพัก สำหรับคนที่จองบ้านมา (เข้าไปดูรายละเอียดและทำการจองได้ที่เวปไซต์ของอช. http://www.dnp.go.th ได้เลย จองล่วงหน้าได้ 60 วัน) ถ้าจะมากางเต้นท์ก็ไปแจ้งเจ้าหน้าที่ ชำระค่ากางเต้นท์ที่แสนถูก 30 บาท/คน/คืน หรือจะเช่าเต้นท์ของทางอุทยานฯเลยก็ยังได้ มีกางไว้ที่ลานแล้วเรียบร้อย มีหลายราคาตามขนาดของเต้นท์ ถ้าแค่มาแวะแล้วอยากได้กาแฟสักแก้วก็มีร้านกาแฟอยู่ตรงนี้ และร้านสวัสดิการที่ขายของที่ระลึก เครื่องดื่มเครื่องใช้เล็กๆน้อยก็อยู่บริเวณนี้ด้วย

ในที่ทำการมีรูปจุดเด่นๆของภูหินร่องกล้ากับดอกไม้เด่นประจำจุดด้วย ดูแล้วก็คือมาเที่ยวได้ทั้งปี เพราะดอกไม้ในแต่ละจุดก็บานตามฤดูกาล มีทั้งหน้าฝน หน้าร้อน หน้าหนาว อย่างถ้าอยากดูพญาเสือโคร่งสีชมพู ใบเมเปิ้ลสีแดง ก็ต้องมาหน้าหนาว อยากเห็นดอกลิ้นมังกรสวยๆก็ต้องมาหน้าฝน แต่ถ้าอยากเห็นกุหลาบขาวสวยๆก็ต้องมาหน้าร้อน

ลงทะเบียนและชำระเงินเรียบร้อยก็ขับรถไปตามป้ายบอกทางไปที่จุดกางเต้นท์ เลือกจุดกันตามสะดวก อช.ปรับที่ไว้เป็นระดับลดหลั่นกันไปใต้ทิวต้นสน บรรยากาศดีเลยทีเดียวแม้ว่าวิวจะไม่สวยมาก มีจุดห้องน้ำห้องอาบน้ำอยู่ 3-4 จุด กางเต้นท์ตรงไหนก็ใกล้ห้องน้ำหมด ทีเด็ดคือห้องน้ำจุดใหญ่ใหม่สุดคือจุดสุดท้ายก่อนทะลุไปแถวบ้านพัก ห้องน้ำตรงนี้มีน้ำอุ่นด้วยนะ เห็นว่ามีคนมาบริจาคให้ แต่เราเห็นว่าลานตรงนั้นเต้นท์เยอะมาก เลยมากางเต้นท์ช่วงกลางๆ คนน้อยกว่า เลยไม่ได้เดินใช้บริการน้ำอุ่น ฝั่งตรงข้ามลานกางเต้นท์เป็นลานหินที่เอาไว้จอดรถ แต่บางคนเป็นแคมป์คาร์ก็กางตรงนั้นได้ ตามสะดวก

บรรยากาศดีมากทั้งเย็น ทั้งเช้า แค่มานั่งจิบกาแฟอุ่นๆรับอากาศเย็นๆก็มีความสุขแล้ว สิ่งอำนวยความสะดวกอีกอย่างคือมีร้านอาหารอยู่ 3 ร้านใหญ่ อยู่อีกฝั่งของลานกางเต้นท์ ใครไม่ทำอาหารก็เดินไปกินหรือซื้อมากินที่เต้นท์ก็ได้ ช่วยกันรักษาความสะอาดด้วยก็แล้วกัน

ภูหินร่องกล้าคือสถานที่ประวัติศาสตร์ แม้จะเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีธรรมชาติสวยงามให้มาเที่ยว แต่ในทุกจุดที่กลายเป็นจุดท่องเที่ยวในปัจจุบัน ล้วนมีอดีต มีเรื่องราวให้ได้เล่าต่อกันไปสู่ลูกหลาน

ย้อนไป 70 กว่าปีที่ผ่านมา ชาวม้งจากทางเหนือได้อพยพกันลงมาตั้งเป็นหมู่บ้านกันตามเทือกเขาแถบภูหินร่องกล้า กระจัดกระจายกันเป็นหลายหมู่บ้าน ทำอาชีพปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ หาของป่า พื้นที่แถบนี้ยังเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ แต่การทำเกษตรของชาวม้งคือการทำไร่เลื่อนลอย ย้ายที่ปลูกไปเรื่อย จนทำให้ป่าแถบนั้นโดนเผาโดนถางจนโล้นเลี่ยนไปมากมาย รวมทั้งชาวม้งบางส่วนยังมีการแอบปลูกฝิ่นด้วย ทำให้เจ้าหน้าที่จึงต้องเข้ามาจัดการ มาจับกุม เกิดการกระทบกระทั่งกันอยู่เรื่อยๆ

ราวๆปี 2507 มีการก่อตั้ง พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) การมองหาแนวร่วมจากต่างจังหวัดจึงเกิดขึ้น พคท.ส่งคนเข้าไปตามที่ห่างไกลที่ความเจริญเข้าไม่ถึง และไปตามชนเผ่าต่างๆ นำเรื่องการแบ่งชนชั้น การกดขี่ ไปปลุกระดมให้ผู้คนมาร่วมขบวนการ ชาวม้งจำนวนหนึ่งจึงเข้าร่วมกับพคท. มีการส่งชาวม้งไปเรียนหลักสูตรการเมืองการทหารที่เวียดนาม แล้วกลับมาเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ให้กับคนในหมู่บ้าน ทำให้มีชาวม้งในแถบภูหินร่องกล้าเป็นแนวร่วมกับ พคม. มากขึ้น มีการจัดตั้งฐานปฏิบัติการสู้รบบนเขาที่มีมีชัยภูมิดีต่อการหลบซ่อน และในปี 2511 พคท.ภูหินร่องกล้าได้เข้าทำการโจมตีเจ้าหน้าที่คุ้มครองพื้นที่เพื่อที่จะยึดครองพื้นที่และหมู่บ้านต่างๆ มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

ต่อมามีการประท้วงรัฐบาลของประชาชนและนักศึกษาจนเกิดการปราบปรามขั้นรุนแรง คือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และตามมาด้วย 6 ตุลาคม 2519 ทำให้มีนักศึกษาหนีการปราบปรามเข้าไปร่วมกับพคท.มากขึ้น ฐานกำลังของพคท.ที่ภูหินร่องกล้าเริ่มขยายออกไปอย่างกว้างขวาง มีการจัดตั้งโรงเรียนการเมืองการทหาร สอนเรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างจริงจัง จากที่ตำรวจ-ทหารเคยสู้รบกับ พคท. ที่เป็นต่างชาติหรือชาวเขาอพยพ ก็กลายเป็นการสู้รบกับคนไทยด้วยกันเองไปแล้ว

การสู้รบทำให้ชาวม้งที่ไม่ได้ร่วมรบอพยพหนีตายลงจากเขากันมาเรื่อยๆ ที่เหลืออยู่ด้านบนก็คือพวกที่ตัดสินใจเข้าร่วมรบกับ พคท. และเหล่านักศึกษาที่หนีการปราบปราม การสู้รบในแถบภูหินร่อองกล้าต่อเนื่องยาวนาน จากปี พ.ศ. 2511 ไปจนถึงในช่วงปี พ.ศ. 2523 ในหลวง ร.๙ ทรงแนะนำให้เปลี่ยนยุทธวิธีการสู้รบใหม่ พระองค์ได้มองเห็นว่าคอมมิวนิสต์ก็คือคนไทยด้วยกันเพียงแต่มีความคิดที่ไม่ตรงกัน ไม่ให้เรียกพวกเขาว่าผู้ก่อการร้ายหรือผู้ทรยศ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รับพระราชโองการ มีคำสั่งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกับพคท. เข้ามอบตัวได้โดยไม่มีความผิด ทำให้มีชาวเขาเผ่าม้งลงจากเขาเข้ามอบตัวต่อทางการและรับที่ทำกิน เรียกว่าเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย รวมทั้งประชาชน นักศึกษา ก็ทยอยกันออกมามอบตัว

เหตุการณ์เริ่มคลี่คลายไปเรื่อยๆโดยไม่เสียเลือดเนื้ออีก จนในปี พ.ศ. 2526 ก็ได้ประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ชาวเขาเผ่าต่างๆก็อยู่กันเป็นหมู่บ้าน ทำมาหากินสุจริตต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน เหมือนกับชาวม้งที่หมู่บ้านร่องกล้า

สรุปเหตุการณ์คร่าวๆนี้มีที่มาจากผู้ที่อยู่ในพื้นที่ได้สัมผัสกับเหตุการณ์จริง บันทึกไว้ให้เป็นข้อมูลตามอ่านเรื่องเต็มๆได้ที่ - https://www.phitsanulokhotnews.com/2018/06/23/119997

โรงเรียนการเมืองการทหาร

ในอดีตเคยเป็นจุดที่พคม.ใช้เป็นที่สอนเกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์ ตอนนี้เหลือแต่อาคารไม้เก่าๆไม่กี่หลัง บางหลังก็ได้รับการบอกเล่าว่าสร้างขึ้นมาใหม่ มีรถแบ็คโฮเก่า 1 คันที่มีประวัติเล่าไม่เหมือนกันฝ่ายหนึ่งเล่าว่าพคม.ไปปล้นรถของทางการมาแล้วมาเรียกค่าไถ่ แต่อดีตพคม.บอกว่าเขาปล้นมาจริงแต่ไม่เคยเรียกเงินแค่ปล้นแล้วขับขึ้นมาเพื่อไม่ให้ทางการใช้รถมาขวางกั้นเส้นทาง ก็ต่างคนต่างเล่าความตามนี้ ถูกผิดอย่างไรก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญอีกแล้ว ตอนนี้บริเวณโรงเรียนการเมืองการทหารเป็นแค่จุดที่นักท่องเที่ยวจะมาถ่ายรูปโรงเรือนเก่าๆกับใบเมเปิ้ลสีแดง ในช่วงที่ใบเมเปิ้ลเปลี่ยนสีแล้วร่วงลงมาเต็มหลังคา เต็มพื้น ถ้ามาถูกช่วงเวลาก็น่าจะสวยเหมือนรูปในที่ทำการ

เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ลานหินปุ่ม ผาชูธง

เส้นทางเดินเป็นวงรอบ ระยะทางประมาณ 5 กม. เดินผ่านลานหิน ผ่านป่า ผ่านทุ่งหญ้า เดินง่าย มีจุดเช็คอินหลายจุดให้ไม่เบื่อ

เราเดินวนขวาตามคำแนะนำจากป้าย แปลกที่เดินสวนทางกับกลุ่มที่เดินพร้อมมัคคุเทศก์ที่พาเดินวนซ้ายทุกกลุ่มเลย งงมาก

สุสานนักรบ จุดที่เคยเป็นที่ฝังศพของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์บนภูหินร่องกล้า

เดินผ่านลานหินแดดแรงจัดแม้อากาศจะเย็นก็ทำให้ร้อนจนเหงื่อไหลได้ ควรพกน้ำไปด้วยสักขวด ถ้าเป็นไปได้ควรไปเดินแต่เช้าๆ

ลานหินตะปุ่มตะป่ำเต็มพื้นไปหมด ถ้ามาช่วงที่ไม่ใช่หน้าแล้ง จะมีดอกไม้ตามลานหินให้ถ่ายรูป ถ้ามาหน้าแล้งจะมีแต่หญ้าแห้งๆ (มาเดินเที่ยวช่วงมีฝนชุ่มชื้นสวยกว่า)

แต่หมุดหมายของคำว่าลานหินปุ่มคือลานหินตะปุ่มตะป่ำที่อยู่ริมหน้าผา มองเห็นวิวได้กว้างไกล ใช้เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกได้ด้วย แต่เรามาช่วงบ่าย แค่ผ่านมาดูแล้วเดินต่อไปผาชูธง

ลานหินปุ่ม เป็นความแปลกที่เกิดตามธรรมชาติ ผ่านฟ้าฝนแดดลมมาไม่รู้กี่ร้อยกี่พันปี จนทำให้พื้นหินกลายเป็นปุ่มปมกลมๆเต็มไปหมด จุดนี้เคยเป็นจุดที่พคม.นำผู้ป่วยมาพักฟื้น เพราะอยู่ริมผา อากาศปลอดโปร่ง มีการปลูกที่พักไว้แต่ผุผังไปหมดแล้วตามกาลเวลา วันนี้เป็นเพียงแค่จุดท่องเที่ยว ยืนที่ริมผาแล้วมองไปทางซ้ายจะเห็นเสาธงกับธงชาติไทยอยู่ลิบๆ ต้องเดินเลาะเลียบหน้าผาต่อไปอีกเพื่อไปผาชูธง

ผาชูธง เป็นจุดที่สูง 1,614 ม. ในอดีตเป็นจุดที่สมาชิกพคม.ใช้เป็นจุดชักธงสีแดงรูปฆ้อนเคียวเมื่อสู้รบชนะทหารไทย

จากผาชูธงเดินวนกลับไปที่จอดรถ (จุดที่เริ่มต้นเดินเข้ามา) หรือจะเดินต่อไปอีกที่ สำนักอำนาจรัฐ ที่หลับภัย ก็ได้ แต่คราวนี้เราไม่ไปเพราะตั้งใจจะไป จุดชมพระอาทิตย์ตกตรงลานหินแตก ซึ่งต้องขับรถย้อนกลับไปทางที่ทำการอุทยาน

ออกมาที่ลานจอดรถ เพิ่งสังเกตเห็นต้นพญาเสือโคร่งอยู่หน้าห้องน้ำ ต้นใหญ่กำลังออกดอกสวยแม้จะเริ่มแตกใบเขียวแซมแล้วก็เถอะ ถ้ามาถูกเวลา แม้แต่หน้าห้องน้ำก็เจอพญาเสือโคร่งสวยๆได้

ถนนสายหลักในเขตอช.ภูหินร่องกล้าค่อนข้างดี และไม่ได้สูงชันคดเคี้ยว สังเกตเห็นต้นพญาเสือโคร่งอยู่ตามริมทาง แต่ต้นยังไม่โตมาก พอมีดอกให้เห็นบ้าง ถ้าโตเต็มที่มีดอกออกแน่น สีสดๆ น่าจะเป็นถนนที่สวยไม่น้อย

เส้นทางศึกษาธรรมชาติลานหินแตก

จุดจอดรถเพื่อเดินเข้าไปที่ลานหินแตกเป็นลานกว้าง มีร้านขายของ ขายอาหารอยู่พอสมควร ติดกับลานจอดรถคือ ฐานพัชรินทร์ ที่เคยเป็นจุดปฏิบัติการทางทหาร มีป้ายว่ามีห้องพักบริการด้วย ใครไม่อยากนอนเต้นท์ นอกจากบ้านพักอุทยานที่ส่วนมากจะจองเต็ม ลองติดต่อห้องพักที่นี่ดูได้

ทางเดินเข้าไปที่ลานหินแตก เป็นทางราบแต่ไม่เรียบ เพราะเป็นพื้นหิน มีรอยแตกรอยแยก แต่มีทำทางเดินข้ามรอยแยกไว้ตลอด เดินไปตามทางก็จะไม่อันตราย อย่าเที่ยวไปทดลองกระโดดข้ามรอยแยกเล่นก็แล้วกัน ตัวไม่ตกลงไปก็อาจซวยทำกล้องหรือมือถือตกไปก็ได้นะ

ลานหินแตก ก็เป็นผลงานของธรรมชาติเหมือนที่ลานหินปุ่ม แต่ตรงนี้จะเป็นรอยแยก รอยแตกยาวๆ เหมือนแผ่นดินแยกแตกเป็นริ้วๆ บางรอยก็กว้าง ลึก บางรอยก็แยกเล็กๆ เหตุผลทางธรณีวิทยาก็คือการผ่านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศต่างๆมานาน เกิดการผุพัง การกร่อน จนทำให้พื้นหินแยกตัวออกจากกัน

จากบริเวณที่เป็นลานหินแตก เดินต่อไปอีก 500 ม. เพื่อไปที่ริมผา เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตก จุดแรกมุมมองไม่ค่อยกว้าง เดินต่อไปอีก 200 ม. เป็นลานที่กว้างกว่า หรือไปตรงหินต่างดาวที่อยู่ติดกันก็ได้

จากจุดชมพระอาทิตย์ตกจุดแรกให้เดินต่อไปอีกหน่อยมีลานกว้างกว่า เป็นจุดชมจุดที่ 2 คนนิยมมานั่งรอแสงกันตรงนี้เยอะพอสมควร พื้นบริเวณนี้มีทั้งรอยแตก มีทั้งหินปุ่มปม มีทั้งแนวร่องยาว ร่องลึก ร่องตื้น แปลกตาดี

เราเลือกขึ้นไปนั่งรอที่ริมผาตรงที่ป้ายบอกว่าเป็นจุดดู หินต่างดาว ก็ได้มุมมองที่ดีพอสมควรเลย

รูปขวาที่เห็นเป็นผาหินยื่นๆนั่นไงที่ป้ายบอกว่าหินต่างดาว ใครพอเข้าใจบ้างว่ามันต่างดาวยังไง

หากเป็นคนชอบถ่ายรูปจะรู้ว่า การมาดูพระอาทิตย์ตกไม่ได้สวยตรงที่เห็นพระอาทิตย์เคลื่อนตัวลงไปจนลับขอบฟ้าเท่านั้น แต่เป็นแสงหลังจากนั้นต่างหาก ในวันที่อากาศดี เมฆกำลังเหมาะอาจจะได้แสงสวยสุดๆ ที่เรียกกันว่าฟ้าระเบิด ก็จะรอกันต่อไปอีกหน่อย แต่เราไม่ได้รอเพราะพอพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าปุ๊บอากาศที่ว่ากำลังสบายก็หนาวขึ้นอย่างรวดเร็ว แล้วเราก็ไม่หยิบเสื้อกันหนาวมาด้วย และทางเดินก็ค่อนข้างเดินยากในที่มืด ก็เลยตัดสินใจเดินกลับ

สำหรับคนที่จะไปเที่ยวภูลมโล สามารถมาติดต่อรถพาไปภูลมโลได้ตั้งแต่เช้ามืดจนถึง 4 โมงเย็นที่เต้นท์บริการตรงสามแยกเข้าไปลานกางเต้นท์ (รถจะมีบริการในช่วงที่ดอกพญาเสือโคร่งบานเท่านั้น) ราคาเท่ารถที่หมู่บ้านร่องกล้า

นอกจากจุดท่องเที่ยวที่เราไปก็ยังมีน้ำตกอีกหลายที่ ซึ่งคราวนี้เราไม่ได้แวะเข้าน้ำตกเลย เพราะเวลาไม่พอต้องรีบกลับ และน้ำตกจะสวยก็ช่วงที่มีน้ำ ควรมาช่วงปลายฝนต้นหนาว คราวก่อนเคยเข้าไปบ้างแล้ว อย่างน้ำตกร่มเกล้าภราดรก็สวยใช้ได้เดินไม่ยาก น้ำตกหมันแดงเดินยากทางชันแต่จะสวยมากถ้ามาถูกช่วงเวลาที่มีดอกลิ้นมังกร

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: